เรามันก็มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ต้องดิ้นรนอยู่ในโลกที่แสนเหนื่อยเนอะ เรามีความหวัง ความฝันและความปรารถนา อยากมีชีวิตที่ดี ที่สบายเหมือนกับคนอื่นบ้าง ดังนั้นช่วงต้นปีแบบนี้ ก็มักจะมีทริปไปกราบไหว้ และขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละที่ เทพเจ้าแต่ละองค์นั้นก็จะมีความเชี่ยวชาญต่างกันไป
ทีนี้ การให้พรจากเทพเจ้าเนี่ย แน่นอนว่ามันเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งระหว่างมนุษย์และสิ่งเหนือธรรมชาติ หลายครั้งคือการแลกเปลี่ยน การทำตามเงื่อนไขเพื่อให้เราได้ดังใจหวัง บางครั้งอาจเป็นเงื่อนไขเล็กๆ ที่เราต้องทำ ต้องไหว้ให้ถูก สวดให้ถูก หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ใหญ่กว่านั้น
ในโลกแห่งความจริงการให้พรดูจะเป็นเรื่องเชิงบวก เราขอก็ขอไว้ก่อน แต่ถ้าเรามองไปที่วรรณคดี ดินแดนที่เทพเจ้าปรากฏตัวร่วมอยู่กับมนุษย์และสิ่งมหัศจรรย์กำเนิดได้จริง และวรรณดคีนี้เองก็เป็นเหมือนแนวทาง เป็นเรื่องแต่งบรรจุความคิดและใช้ความเหนือธรรมชาตินั้นเล่าถึงความคิดและความเชื่อบางอย่างอย่างซับซ้อน
ทีนี้ ไอ้การให้พรในวรรณคดีนั้น ส่วนใหญ่ดูทรงแล้วมักไม่ค่อยให้ผลดีดั่งใจหวังเท่าไหร่ พรนั้นบางทีมีค่าเท่ากับคำสาปและคำสาปก็กลายเป็นเหมือนพรเข้าไปเสียเฉยๆ
อนุภาคการให้พรในวรรณคดีนั้น ถ้าพูดง่ายๆ คือ พรที่ให้มักไม่ค่อยดีงามและง่ายดายนัก เวลาเทพเจ้าประทานพรใดใดมักนำมาซึ่งเรื่องราววุ่นวายซับซ้อน ไม่ก็ตัวพรเองมักจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขแสนปวดหัว ในทำนองเดียวกันนอกจากการให้พรแล้วสิ่งที่เทพเจ้าชอบทำกับมนุษย์ก็คือการสาป ไอ้การสาปนี้ก็เข้าทำนองเดียวกันคือตกลงดีหรือไม่ดี เพราะทั้งการให้พรและการสาปมักต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น เงื่อนไขไปจนถึงการแก้เสมอ
ด้านหนึ่งนั้น ความวุ่นวายของพระและคำสาปก็อาจสะท้อนบางความคิดที่ถูกเล่าผ่านวรรณคดีเหล่านั้น มนุษย์เองอาจพึงต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่าการพึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือความคลุ่มเครือของพรและคำสาปก็เหมือนปริศนาของชีวิตเราที่ในเรื่องดีมีเรื่องร้าย ในเรื่องร้ายมีเรื่องดี
กระนั้นแล้วในช่วงเวลาที่เราอยากได้พร อันที่จริงในวรรณคดีก็มีการให้พรและการสาปอย่างสำคัญที่สัมพันธ์กับความปรารถนาโดยทั่วไปของมนุษย์อย่างเราๆ The MATTER จึงชวนไปอ่านทวนพรและคำสาปสำคัญจากวรรณคดี ว่าเอ้อ ถ้าเราอยากได้พรแบบนี้ เราจะไปขอใคร ขออย่างไร และเตรียมรับผลเกินคาดไว้ได้ยังไงดี
จากพรคลาสสิกเรื่องความมั่งคั่งในสัมผัสทองคำของไมดาส คำสาปที่ทำให้เห็นอนาคตแต่ไม่มีคนเชื่อ มาจนถึงการขอพรที่นางเทราปติเผลอขอซ้ำไปจนได้สามีสุดแซ่บพร้อมกัน 5 คน(นางเอกนะจ๊ะ) และเผื่อว่าใครกำลังมีปัญหาเรื่องการจดจำเราก็มีคำสาปที่ทำให้คนที่เราคิดถึง ลืมเราโดยสมบูรณ์ เรียกได้โพลิแคทกันมาเลยทีเดียว
จับอะไรเป็นเงินเป็นทอง, กษัตริย์ไมดาส สาปโดยไดโอนิซัส
ใครอยากเป็นเศรษฐี… เอาจริงๆ ใครๆ ก็อยากเป็นเนอะ แต่กษัตริย์ไมดาสเป็นหนึ่งในนิทานสอนใจที่จะมาสอนให้น้องๆ หนูๆ ไม่โลภมาก ตำนานกษัตริย์ไมดาสมาจากปรณัมกรีก เจ้าของพรที่ขอเองเจ๊งเองเพราะความโลภ
ตัวเรื่องเล่าถึงคิงไมดาสที่แน่นอนเป็นกษัตริย์ที่จริงๆ ก็รวยอยู่แล้ว แต่ไมดาสเป็นกษัตริย์รักเงิน (สมัยนั้นคือรักทอง) กวีกรีกขับขานว่า ไมดาสนั้นอยู่ดินแดนที่ยอดเยี่ยม รายล้อมด้วยสวนที่เต็มไปด้วยกุหลาบอันเกิดหล่อเลี้ยงด้วยตัวเอง แต่เรื่องเงินก็ไม่เข้าใครออกใครเนอะ และตำนานพรอันลือเลื่องนี้ก็เกิดขึ้นจากวันที่เทพเจ้าไดโอนิซัส เทพขี้เมาเจ้าสำราญได้เดินทางมายังดินแดนของไมดาส
ในการมาเยือนของไดโอนิซัส สัมพันธ์กับ Silenus เป็น satyrs ตนหนึ่ง คล้ายๆ เป็นภูติ เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งแพะ ซึ่ง Silenus เป็นเหมือนอาจารย์และผู้ดูแลของไดโอเนซัส วันนึง Silenus ในสภาพชายแก่ก็ดันไปเมาหลับอยู่ในสวนสวยของไมดาส เมื่อคนไปพบเข้าก็นำตัวขึ้นไปแจ้งกับกษัตริย์
แต่เดชะบุญกษัตริย์ไมดาสจำได้ว่านี่ไม่ใช่คนธรรมดาแต่เป็นคนสำคัญของเทพเจ้าก็เลยไม่ลงโทษ แถมท้ายด้วยการเลี้ยงดูปูเสื่อ จัดมหรสพปาร์ตี้ยิ่งกว่าในโรงแรมหรูยาวนานไปสิบวัน พอวันที่ 11 ไมดาสก็เลยพาซีเลลียสกลับไปส่งคืนให้ไดโอเนซัส ไดโอเนซัสเห็นแก่ความดีความชอบก็เลยให้พรเป็นคำขอได้ 1 อย่าง
ตามท้องเรื่องไมดาสก็ขอให้ตนเองมีสัมผัสที่เมื่อสัมผัสสิ่งใดแล้วให้สิ่งนั้นกลายเป็นทอง จริงๆ ไดโอนิซัสก็บอกว่ามันไม่ดีนะ แต่ก็ต้องให้ไปตามนั้นเพราะออกวาจาไปแล้ว ผลก็ตามคาด แตะแรกๆ ก็ดีใจ แตะหิน แตะเตียง แตะมงกุฏก็กลายเป็นทอง แต่แตะไปแตะมาปราสาทก็กลายเป็นทองทั้งหลัง กุหลาบที่เคยหอมหวาน อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงลูกสาวก็ได้กลายเป็นทองคำเย็นยะเยียบไปหมดสิ้น
ในที่สุดคิงไมดาสก็ไปขอต่อไดโอนิซัสให้ล้างพรที่กลายเป็นคำสาปนี้ทำ เอาจริงไดโอนิซัสก็ใจดี ก็บอกว่าได้ไม่มีปัญหา ให้ไปล้างมือในแม่น้ำ Pactolus เป็นเหมือนการปล่อยของขวัญที่ได้รับมาให้กับคนอื่นต่อไป ไมดาสก็ไปล้าง และทองคำทั้งหลายก็หลุดลอยไปตามแม่น้ำ ตามตำนานจึงกล่าวว่าเพราะเหตุนี้ทรายของแม่น้ำนั้นจึงเป็นสีทอง และยังมีการกล่าวว่า พบเศษทองอันเชื่อกันว่าเป็นของกษัตริย์ไมดาสอีกด้วย
มองเห็นอนาคต แต่ไม่มีคนเชื่อ, แคสซานดรา สาปโดยอพอลโล
ปัญหาของคนสวย และอันที่จริงแคสซานดราถือเป็นตัวละครฮีโร่หญิงที่น่าสนใจ คือแคสซานดราเกิดในเมืองทรอย เป็นธิดาของกษัตริย์ Priam กษัตริย์ในตำนานที่มีโอรสเป็นฮีโร่ เช่น เฮกเตอร์และปารีส อีกทั้งเป็นผู้อยู่ในสงครามกรุงทรอยนั่นเอง
ทีนี้แคสซานดราก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่อยู่ในช่วงสงครามทรอย ตัวแคสซานดรานั้นว่ากันว่างามที่สุดในกรุงทรอย และบางฉบับก็บอกว่าเธอเป็นนักบวชในวิหารของอพอลโล่ด้วย บ้างก็บอกว่าแค่สวย ฉลาด เฉยๆ
แล้วก็ตามสไตล์เทพกรีก คือเรื่องวุ่นวายกับมนุษย์ขอให้บอก ด้วยความที่แคสซานดรานั้นเลอโฉมมาก อพอลโลก็ดีลว่าเรามาแต่งงานกันนะ แล้วจะให้พรสำคัญข้อนึงคือจะให้ความสามาถในการมองเห็นอนาคต ให้นิมิตร อันเป็นความสามารถสำคัญของวิหารของอพอลโล คาสซานดราก็ดันไปตกปากรับคำว่าเอาจ้า แต่ความซวยคือ พอรับปากได้พรแล้ว คาสซานดรากลับปฏิเสธอพอลโล ผิดสัญญาที่ให้ไว้ทั้งๆ ที่ได้พรไปแล้ว
หลายตำนานอธิบายว่าคาสซานดรานั้นไม่ยอมมอบกาบให้อพอลโล่ บ้างก็อธิบายว่าเพราะเธออุทิศและสมาทานพรหมจรรย์ไปแล้วจึงไม่อาจมอบให้ได้ แต่แน่นอนนึกภาพอพอลโล่มันไม่ไหวแล้ว มาเทกันแบบนี้มันไม่ได้ อพอลโล่ก็เลยสาปอย่างแสบสันต์ว่า อะได้พรที่มองเห็นอนาคตไปแล้วใช่มั้ย แต่ถึงเธอจะเห็นอนาคต แต่เมื่อเธอทำนายความจริงทั้งหลายออกไป จะไม่มีใครเชื่อเธอเลย
เหมือนโลกปัจจุบันเนอะ เห็นความจริง พูดความจริง แต่พอพูดเรื่องจริงออกไป กลายเป็นว่าคนไม่เชื่อแถมยังไม่ชอบความจริงไปอีก สิ่งที่แคสซานดราเห็นแน่นอนว่าก็เห็นความซวยสารพัด โดยเฉพาะการมาถึงของเฮเลนที่เธอเองรีบบอกกับทุกคนว่า เฮเลนเนี่ยจะมาทำให้อาณาจักรและราชวงศ์ของเราหายนะนะ ซึ่งก็ไม่มีใครเชื่อ ภาพของคาสซวานดราจึงถูกวาดให้เธอเป็นเหมือนคนบ้า คุ้มคลั่งพูดในสิ่งที่คนไม่อยากฟังทั้งๆ ที่เป็นความจริงทั้งหมด เธอเองก็อัดใจจนแทบบ้าเหมือนกัน
ชีวิตของคาสซานดราคือโคตรซวย แน่นอนว่าเป็นชาวทรอยคืออย่างซวยอยู่แล้ว แต่การไปสวยเตะตาอพอลโล ไปดีลแล้วหักดีลจนโดนสาปคือทำให้ชีเจ๊งไปทั้งชีวิต แน่นอนว่าการทำนายของเธอนั้นตรงและจริง แต่กลับถูกทั้งดินแดนตราหน้าว่าเป็นบ้า พูดไปพูดมาก็โดนพ่อตัวเองจับไปขังไว้ พอเมืองแตกก็โดนข่มขืนอีก สุดท้ายก็โดนฆ่าตายตามแบบของโศกนาฏกรรม แต่ยังดีที่พอตายไปแล้วก็ถือว่าทั้งชีวิตของเธอนั้นทำความดี ยึดหลักต่อเหล่าทวยเทพและชีวิตที่แสนรันทด เธอก็เลยได้รับเลือกให้เข้าสู่แดนสุขาวดีไปในชีวิตหลังความตาย
จริงๆ ถ้าแคสซาสดราได้พรในยุคนี้ ก็ไม่ต้องไปบอกใคร เอานิมิตไปซื้อหวย แทงบิทคอยน์ก็น่าจะมีชีวิตสบายๆ ได้ต่อไป
ขอให้ไม่ตาย แต่ลืมขอให้ไม่แก่, ไทโธนัส ให้พรโดยซุส
ในตำนานกรีกนี่ไม่ค่อยชอบทรอยเนอะ ตำนานลืมขอพรให้ครบเป็นอีกครั้งที่เรื่องเกิดที่ทรอย เป็นกษัติรย์และโอรสรุ่นก่อนสงครามทรอยรุ่นนึง ตำนานของไทโธนัส ว่าด้วย ไทโธนัสเป็นโอรสของ Laomedon กษัติรย์แห่งทรอย ตัว Tithonus นั้นเป็นหนุ่มหล่อที่จัดจ้านในย่านทรอย และความหล่อนี้ก็ดันไปเตะตาอีรอส เทวีแห่งรุ่งอรุณ โดยทั่วไปก็จะเล่าว่าเจ้าชายหนุ่มนี้ตกหลุมรักกับองค์เทวีและตกร่องปล่องชิ้นกัน บ้างก็ว่านางเทพธิดานั้นหลงรักเจ้าชายและลักพาไปก่อน
แต่เอาเป็นว่าทั้งคู่ ทั้งมนุษย์และเทวีนั้นได้กัน รักกันที่ใจ ทีนี้แน่นอนว่าการรักข้ามพรมแดนนี้ย่อมก่อปัญหา อย่างน้อยที่สุดคือมนุษย์นั้นสำคัญที่ว่าตายได้ mortal ย่อมไม่อาจครองรักกับเทพเจ้าที่เป็นอมตะได้ กระนั้นแล้วเทวีแห่งอรุณรุ่งก็ได้ขึ้นเขาโอลิมปัส เข้าเฝ้าซุสราชาแห่งเทพทั้งปวงและขอพรสำคัญให้กับหลัวของนาง ขอให้หลัวนางนั้นเป็นอมตะเฉกเช่นเดียวกับพวกตน
ตรงนี้ก็เป็นอีกปัญหาของเทพ คือบ้างก็ว่าซุสนั้นไม่ชอบใจนายหน้าหล่อที่มาสอยสมาชิกเทพเจ้าไปเป็นเมียอยู่แล้ว ไม่ก็เป็นปัญหาของมนุษย์ที่บังอาจข้ามเส้นบางประการ และรับพรในสิ่งที่มนุษย์ไม่พึงได้ กรณีนี้ก็คือความไม่ตายอันผิดธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง แทนที่จะหักหาญน้ำใจจบเรื่องว่าไม่ให้จ้า เทพเจ้าก็เหมือนเดิมคือให้พร แต่ให้มันฉิบหายกันไปกว่าเดิม ซุสให้พรตามที่ขอ คือให้ไทโธนัสไม่รู้จักตายตามนั้น แต่ไม่ตายอย่างเดียว เรื่องให้แก่นั้นไม่นับ
ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ชายหนุ่มที่เคยงดงามค่อยๆ กลายเป็นชายชราที่หง่อมลงๆ แถมซวยหนักคือแก่จนเหนียงยานถึงพื้นก็ไม่รู้จักตาย ถือเป็นพรที่แสนจะทารุณเพราะพระเอกรูปงามของเราก็โทรมแล้วโทรมอีก ใคร่ครวญอยากจะตายไม่ได้ ตรงนี้เองก็เลยเป็นควาเชื่อหนึ่งของกรีกคือในที่สุดไทโธนัสก็กลายเป็นจั๊กจั่น เป็นสิ่งมีชีวิตที่กรีกเชื่อว่าเป็นอมตะ แต่ร่ำร้องขอความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
อัปลักษณ์ แต่ทรงอำนาจ, เมดูซา สาปโดยอาธีนา
เมดูซาเป็นอีกตำนานสาวงามที่ถูกสาปทั้งๆ ที่ถ้ามองจากมุมมองร่วมสมัยก็ถือเป็นทั้งการกดขี่ และการสู้กลับของผู้หญิง เมดูซาตามท้องเรื่องเป็นสาวงาม เป็นกอร์กอนตัวเดียวที่ไม่ได้เป็นเทพ (คือตายได้) ความงามของเธอทำให้เป็นที่หมายปองของทั้งมนุษย์และเทพเจ้า
แต่เมดูซาเองก็ถือว่าตามรอยหญิงงามในยุคนั้น คือเธอหมายใจจะถือพรมจรรย์และอุทิศชีวิตกับการรับใช้เทพเจ้า เป็นนักบวชในวิหารของเทวีอาธีน่า ความงามของเมดูซานั้นเลื่องลือถึงขนาดว่าดึงดูดผู้คนเข้าสู่วิหารเพียงเพื่อได้มองเธอเพียงชั่วขณะ เรือนผมของเธองดงามเกือบขะเสมอเทวีอาธีนาที่เธอบูชา
ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ความงามของมนุษย์ล้ำหน้าความเป็นมนุษย์ โพไซดอนเทพเจ้าแห่งท้องทะเลก็ต้องตาต้องใจเมดูซา และทำการล่อลวงเมดูซาเข้ายังวิหาร และทำการข่มขืนเธอบนแท่นบูชาของเอธีน่าจนสำเร็จ แน่นอนว่าเรื่องเกิดจากโพไซดอน แต่โพไซดอนเป็นเทพเสมอกับอาธีน่า และยุคนั้นผู้หญิงก็ไม่ได้มีสถานะเสมอกับผู้ชาย
ด้วยมลทินที่เกิดขึ้นในวิหารจากการณ์นั้น เทวีอาธีน่าก็เลยสาปให้เมดูซากลายเป็นอสูรกาย เรือนผมที่งดงามต้อตาชายกลายเป็นงู ดวงตาของเธอก็ทรงอำนาจจนสาปให้ผู้สบตากลายเป็นหิน ผิวกลายเป็นสีเขียวและเนรเทศไปอยู่เกกาะอันห่างไกล
การตีความในยุคใหม่ก็เลยทบทวนว่า คำสาปของเอธีน่านั้นด้านหนึ่งอาจเป็นการช่วย คำสาปนั้นทำให้เมดูซากลายเป็นตัวแทนของอำนาจของผู้หญิง เป็นเสียง เป็นไอคอนที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับชายชาตรี ลำคำสาปนั้นทำให้ความงามของเมดูซาอันเป็นบ่อเกิดของปัญหาสิ้นสุดลง และการไปอยู่ในเกาะห่างไกลก็ทำให้ไม่มีใครไปกล้ำกรายเธอได้อีก
แต่สุดท้ายเทวีอาธีน่าก็ให้ของไปปราบเมดูซ่าอยู่ดีเนอะ ซึ่งในโลกแห่งความจริงเมดูซากลายเป็นตัวแทนของอำนาจ ใบหน้าและเรือนผมอสรพิษของเธอกลายเป็นเครื่องประดับอาคารเพื่อแสดงสถานะ หรือบางที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แหล่งพิทักษ์ผู้หญิง ทำหน้าท่สอดส่องคุ้มภัยให้กับผู้หญิงด้วยกัน
ร้องไห้เป็นไข่มุก หัวเราะเป็นทับทิม ล้างมือได้ปลา, เบียนกาเบลล่า ให้พรโดยงู
เรื่องนี้อาจจะไม่คุ้นหู แต่พอว่าด้วยนิทาน เทพนิยายแล้ว เรื่อง ‘Biancabella’ ก็คล้ายๆ ปลาบู่ทองอยู่ประมาณหนึ่ง ทั้งความโหด และการข้ามสายพันธุ์ ตัวเรื่องพูดเรื่องหญิงงามที่มีกำเนิดผิดธรรมชาติ การแต่งงาน กิมมิกสำคัญคือการถูกตัดมือและควักลูกตา ก็คือจะเรียกว่าเกิดเป็นผู้หญิงมีบุญหรือมีกรรม ซึ่งเธอได้พรอันประเสริฐมาก แต่ชีวิตก็คือบัดซบสุดๆ
‘Biancabella’ เป็นนิทานอิตาเลี่ยนเขียนโดย Giovanni Francesco Straparola (ทำนองฮาน คริสเตียน แอนเดอสัน) แบบเรื่องนี้ก็มีเล่าในหลายเวอร์ชั่น ส่วนใหญ่มีชื่อเรื่องแบบสาวแขนขาด (The Girl Without Hands) ในเวอร์ชั่นอิตาลีค่อนข้างยาวกว่านิทานทั่วไป
ตัวเรื่องเล่าถึงครอบครัวขุนนางที่ไม่มีลูก วันหนึ่งภรรยาของขุนนางก็ไปนอนหลับในสวน แล้วงูเลื้อยเข้ามดลูก หลังจากนั้นเธอก็ตั้งครรภ์ขึ้น เมื่อคลอดลูกออกมาก็เป็นสาวงามหน้าตาน่ารัก แต่มีงูขดพันคอออกมาด้วย- ว้อดดาฟักมาก ซึ่งพอคลอดแล้วงูก็เลื้อยหนีไป
ความวิเศษ ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าดีได้มั้ยกับการเป็นนางงู แต่ทารกหญิงนั้นมีรอยวงแหวนที่ลำคอ วงแหวนนั้นมีลักษณะเหมือนสร้อยคอ (คล้ายๆ โชเกอร์) เป็นสร้อยสีทองที่ถักทอขึ้นอย่างประณีต เปล่งแสงเจิดจ้าเหมือนกับอัญมณีที่สูงค่า ซึ่งรอยที่คอนี้ก็เหมือนกับรอยงูที่พันคอตอนที่เธอเกิดมา ทารกหญิงนั้นได้ชื่อว่า ‘เบียนกาเบลล่า’ จากความงดงามน่ารักอันมากล้นของเธอนั่นเอง
วันหนึ่งเมื่อ เบียนกาเบลล่าโตเป็นสาว เธอพร้อมพี่เลี้ยงก็ออกไปเดินเล่นในสวน และแน่นอนก็พบงูตัวหนึ่ง แถมงูนั้นก็พูดกับเธอได้ พูดคุยไม่พอ งูบอกให้เอาอ่างมาสองใบ ให้ใบหนึ่งเอาน้ำนมใส่ อีกใบเป็นน้ำกุหลาบ เริ่มแรกเจ้างูก็สั่งให้หญิงสาวเปลือยกายและลงอาบในอ่างน้ำนม
เจ้างูนั้นก็ได้ลงพันหญิงสาวพร้อมเลียเอานมนั้นจนทั่วสรรพางกายของเธอ (ฮือ) ผลคือ หญิงสาวที่งามน่ารักอยุ่แล้ว ก็กลายเป็นว่าหมดจดในทุดส่วน ความงามของเธอกลายเป็นหาที่ติไม่ได้ นำไปสู่ความงามอันสมบูรณ์ และเมื่อเธอลงไปยังอ่างน้ำกุหลาบ เธอก็เหมือนได้รับความอบอุ่นหอมหวานของความรู้สึก เธอเหมือนกับได้รับชีวิตอันเต็มตื้นขึ้นอีกครั้ง
เจ้างูนั้นสั่งว่าห้ามเบียนกาเบลล่าพูดเรื่องนี้กลับใคร มันต้องการให้เธอเป็นหญิงสาวที่สมบูรณ์พร้อมอันไม่มีหญิงใดทัดเทียมเธอได้ทั้งกาย กิริยาและจิตใจ แน่นอนว่าพ่อแม่คนรอบตัวก็พากันงงว่าไปทำอะไรมาเธอถึงสวยผิดตาขนาดนี้ ยุคนั้นก็ยังไม่มีอาหารเสริมหรือคลินิกฉีดโบที่ไหน แถมยิ่งไปกว่านั้นเมื่อแม่ของเธอได้ลงมือสางผมอันสวยงาม ก็กลับมีไข่มุกและอัญมณีต่างๆ หลุดร่วงลงมาแทนรังแคของคนทั่วไป
เรื่องราวย่อมจบลงด้วยดีไม่ได้ หลังจากเบียนกาเบลล่า ตกลงแต่งงานกับ Ferrandino ราชาแห่งเนเปิลส์ แน่นอนว่าพระราชามีแม่เลี้ยงขี้อิจฉาพร้อมลูกสาว เรื่องนี้ผสมระหว่างนางซิน ปลาบู่ทอง และสโนว์ไวท์ วันนึงพระราชาไปรบ แม่เลี้ยงก็ให้คนรับใช้เอาเบียนกาเบลล่าไปฆ่า แต่สุดท้ายคนรับใช้ไม่ได้ฆ่า ไม่รู้เมตตากันภาษาอะไรคือแค่ตัดมือและควักลูกตาทิ้งพร้อมปล่อยให้ระหกระเหินกลางป่า เจ้างูเทพที่หายไปนานตอนนี้ก็ยังไม่กลับมาช่วย เบียนกาเบลล่าก็ได้รับการช่วยเหลือจากชายชรา อัญมณีจากเส้นผมของเธอก็ช่วยให้พ้นจากความยากจน
เรื่องก็พลิกกลับไปเมื่อเข้างูนั้นกลับมา ใช้อำนาจรักษาดวงตาและแขนที่ขาดพร้อมกลับไปร้องเพลงเล่าเรื่องให้พระราชาฟังโดยไม่ออกชื่อ พร้อมตั้งคำถามว่าใครควรจะถูกลงโทษ เฉลยว่าเป็นแม่เลี้ยงนั่นแหละ ผลคือพระราชาก็สั่งให้โยนแม่เลี้ยงเข้าเผาในเตายักษ์ และเรื่องก็จบลง
ในเรื่องนอกจากเบียนกาเบลล่า ที่เกิดและมีความวิเศษออกมา เจ้างูยังได้ให้พรหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในสามของชายชรา โดยให้พรให้เธอมีความวิเศษคล้ายเบียนกาเบลล่า แต่สกิลอาจจะใช้ยากหน่อยคือบ้านเธอจนเนอะ ก็ให้พรว่าเมื่อเธอร้องไห้จะร่วงเป็นไข่มุก เมื่อหัวเราะจะหลุดเป็นเมล็ดผลทับทิมและเมื่อล้างมือจะเกิดเป็นปลาขึ้นในมือ
เปลี่ยนเพศได้ทุกเดือน, อิลราช สาปและให้พรโดยพระอิศวรและพระอุมา
อิลราชเป็นเรื่องราวที่มาจากวรรณคดีสันสกฤตเรื่องหนึ่ง ปรากฏครั้งแรกเป็นเรื่องแรกในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 6 ตัวเรื่องเป็นนิทานแรกที่พระภรตเล่าให้พระลักษณ์ฟัง และหลังจากนั้นทางพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ก็ได้นำมาแต่งเป็นคำฉันท์ขึ้นเป็นวรรณคดีนอทานในชื่ออิลราชคำฉันท์ (ซึ่งอ่านสนุกและไพเราะมากเรื่องหนึ่ง)
อิลราชคำฉันท์เล่าเรื่องถึงที่สุดวายป่วง ความซวยหรือไม่รู้โลกโผนสนุกสนานของท้าวอิลราช ที่ตัวท้าวเธอก็ไปเดินล่าสัตว์ตามกวาง ซึ่งตามไปตามมาก็ดันหลุดเข้าไปในเขตเขาไกรลาส เขตแดนของพระอิศวร ซึ่งแน่นอนว่าการรุกล้ำเขตของเทพเจ้าย่อมไม่ถูกต้อง
แต่ที่ซวยสุดๆ คือ ในเขตนั้นพระอิศวรกำลังเล่นกับพระแม่อุมาด้วยการเสกให้ในอาณาเขตมีการ ‘แปลงเพศ’ คือพระอิศวรทรงแปลงเป็นผู้หญิง และเสกให้ทุกอย่างในเขตนั้นกลายเป็นเพศหญิงทั้งหมด รวมทั้งท้าวอิลราชและไพร่พลที่อยู่แถวนั้น ก็เลยมีนมผมยาวในทันที
ทั้งท้าวอิลราชและข้าราชบริพานก็เลยต้องดั้นด้นเข้าไปทูลขออภัยและขอให้พระอิศวรถอนคำสาปเพื่อจะให้กลับมาเป็นผู้ชายเหมือนเดิม ในตอนนั้นพระอิศวรไม่ทรงแก้คำสาปให้ มีแต่พระแม่อุมาที่ยอม ก็เลยให้พรเพื่อถอนคำสาปครึ่งนึง ซึ่งครึ่งนึกที่ว่าก็ให้เป็นชายได้หนึ่งเดือน เป็นหญิงได้หนึ่งเดือนวนเวียนสลับกัน โดยในแต่ละช่วงที่เป็นแต่ะเพศนั้นจะจำช่วงที่เป็นอีกเพศไม่ได้
เรื่องของท้าวอิลราชก็บันเทิงสุดๆ มีการผจญภัยไปต่างๆ นานา ตอนเป็นนางอิลราชนั้นก็มีสามีไปวุ่นวาย เอาเป็นว่าใครที่อยากแปลงเพศ ได้รับรสทั้งการเป็นชายและหญิงเพื่อความเต็มที่ของชีวิต ก็ลองหาทางไปที่ตีนเขาไกรลาสดู
มีสามีทีเดียว 5 คน, นางเทราปตี ให้พรโดยพระศิวะ
หลังจากเล่าถึงพรเลอะๆ เทอะๆ มาอย่างยาวนาน นางเทราปตีนี่แหละ ที่จะเป็นต้นแบบการขอสามีที่รอบคอบ และ ‘กำไร’ มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณคดีโลก เพราะนางได้ขอสามีกับพระศิวะ แต่ดันลั่นไปห้ารอบ สุดท้ายในชาติที่มาเกิดใหม่ นางจึงได้ 5 พี่น้องสุดเพอร์เฟ็กต์แห่งบ้านปาณฑพเป็นสามีพร้อมกัน 5 คน โดยมีเงื่อนไขเก๋ๆ ที่ทั้งฟิน และทั้งยังเป็นผู้หญิงดีงามได้ต่อไป ซึ่งนางเทราปตีถือเป็นต้นเรื่องของมหาภารตะ และสงครามสำคัญที่ทุ่งกุรุเกษตร
นางเทราปตีนั้นในชาติก่อนเธอเป็นหญิงที่มีศรัทธาในพระศิวะ ทำการภาวนาอ้อนวอนไม่ขาด จนวันหนึ่งพระศิวะก็ปรากฏตัวขึ้และประทานพรให้ ตรงนี้มีสองแนวทาง แต่สิ้นสุดคล้ายกัน (แต่ก็โก๊ะกังไม่แพ้กัน) ฉบับเรียบง่ายคือนางได้ตกใจและขาสามีกับพระศิวะโดยออกปาก 5 ครั้ง พระศิวะก็เลยแจกสามีให้ 5 คน
กับอีกด้านเล่าว่านางเล่นขอสามีโดยจดลิสเป็นข้อๆ 5 ข้อ คือโลภเกิน คือขอให้ 1 คุณธรรมสูง 2 มีกำลังมาก 3 เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ 4 หล่อ 5 ฉลาดและรักนางมาก พระศิวะก็แบบเปลี่ยนมั้ย คนแบบนั้นไม่มี นางว่าโนจ้ะ ท่านก็ว่างั้นต้องมีผัว 5 คน แต่ไม่เป็นไรจะให้พรว่าทุกเข้าเธอจะได้พรหมจรรย์คืน
ทีนี้กลับม่าที่ชาติของนางเปราปที นางเป็นหญิงที่เกิดจากการทำพิธี ออกจากกองไฟศักดิ์สิทธิ เป็นเจ้าหญิง ทีนี้ก็ตามท้องเรื่องว่าพอมีหญิงงามมากๆ ก็ต้องจัดชาเลนจ์คัดเลือกเพื่อชิงนางไป ในตอนนั้นก็มีแฟมิลี่สำคัญคือตระกูลปาณฑพ มีเป็นลูกชายบอยแบนด์ 5 คน แต่ดังสุดน่าจะเป็นอรชุน กำลังแขนมาก ยิงธนูระดับเทพ ในการแข่งขันนั้นอรชุนยิงธนูชนะและได้นางมา
ทีนี้พอกลับมายังป่า ลูกชายก็เนอะ ดีใจ บอกนางกุนตีผู้เป็นแม่ว่าได้ลาภ ได้ของสำคัญมา นางกุนตีก็ไม่ทันอะไรก็เอ่ยปากว่า ให้แบ่งเท่าๆ กันกับพี่น้อง ลูกชายคนดีก็เอ้อ ซื่อหรือไงก็ถือคำแม่เป็นแม่นมั่น จัดการแบ่งเมียให้เป็นเมียกับพี่น้องทั้ง 5 เป็นเมียคนละวัน แต่นางเองก็รักอรชุนมากที่สุด
พรของพระศิวะในเรื่องนี้จริงๆ ก็ป่วนอยู่ แต่ด้านนึงก็ฟินๆ นางเทราปตีนี้เป็นชนวนการรบสำคัญของมหาภาระ คือนางถูกกระทำอนาจาร ดึงสาหรีต่อหน้าธารกำนัล ก็จะเป็นซีนที่นางถูกเปลื้องผ้า แต่ผ้านั้นด้วยอำนาจของพระกฤษณะก็เลยยาวไม่สิ้นสุด
สาปให้ถูกคนรักลืม, ศกุนตลา สาปโดยฤาษีทุรวาส
ศกุนตลาเป็นอีกวรรณคดีสำคัญของสันสกฤต เป็นเรื่องย่อย แทรกอยู่ในมหาภารตะ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ‘ศกุน์ตโลปาข๎ยาณ’ ตัวเรื่องพูดถึงกษัตริย์ในตระกูลจันทรวงศ์คือท้าวทุษยันอันเป็นพ่อของทั้งเกรพและปาณฑพ ตัวเรื่องพูดเรื่องความรักกับนางศกุนตลา โดยความโด่งดังนั้นมาจากเวอร์ชั่นที่กาลิทาสนำมาแต่งเป็นร้อยกรอยเรื่องยาว คืออภิชฺญานศากุนฺตล (ศกุนตลา)
ซึ่งกาลิทาสจากกรณีศกุนตลานี้ กาลิทาสถือเป็นกวีโรแมนติกคล้ายๆ เชคสเปียร์ คือเอาเรื่องรักมาแต่งให้เป็นเรื่องหลัก ว่าด้วยการพลัดพราก และค่อยๆ กลับมาคืนคู่กัน มีการใช้เทคนิคทางเรื่องเล่าต่างๆ ในเรื่องศกุนตลาดนี้ก็มีคำสาป เป็นตัวขวางกั้นความรักสำคัญระหว่างนางศกุลตลาและท้าวทุษยัน
ชีวิตนางศกุนตลาก็ระหกระเหิน นางศกุนตลาเป็นสาวงาม เกิดและเติบโตขึ้นในป่า มีนางนกเป็นผู้เลี้ยง(ตามชื่อศกุนตลา) และมีฤาษีเก็บไปชุบชู วันหนึ่งท้าวทุษยันเข้าไปล่าสัตว์ก็ไปเจอ ไปชอบงี้ ก็ให้แหวนไว้เป็นสัญญาและเครื่องแสดงตัวว่าชอบจริงอะไรจริง
ความซวยของนางศกุนตลาคือวันหนึ่งนางก็ป่วยเป็นไข้ แล้วตอนนั้นฤาษีทุรวาส อวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ที่จริงๆ แล้วฤาษีตนนี้มีฤทธิ์มาก ขี้โมโห ชอบสาปและสร้างเรื่องทั้งมหาภาระให้วุ่นไป ในครั้งนั้นคือฤาษีก็มาเยี่ยมที่พักนางศกุนตลา ร้องเรียกก็ไม่มีคนตอบ สุดท้ายพอนางออกมาอีก็สาปว่าให้ตอนนั้นนางคิดถึงใคร ให้คนนั้นลืมให้หมด คือสาปแรงมาก แต่ตอนหลังพบว่าไม่ตั้งใจ ก็เลยลดโทษให้ว่า ถ้าเห็นของต่างหน้าก็ถึงจะจำได้ ทั้งเรื่องก็แหวนหายบ้างอะไรบ้าง กว่าจะจำสัญญาได้
อ้างอิงข้อมูลจาก