เทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาล กรีดเลือดในศาลเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อน กรีดข้อมือเป็นคำว่า 112 และนำเลือดประทับบนแถลงการณ์
TW: มีการพูดถึงเลือด และการทำร้ายตัวเอง เพื่อเรียกร้องสิทธิ
วิธีข้างต้นล้วนแต่เป็นการใช้เลือดในการประท้วง และเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยแม้ว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละบริบท แต่การเรียกร้องเหล่านั้น แต่ผู้ที่ใช้วิธีเหล่านี้ ต่างก็มองว่าการใช้เลือดเป็นสันติวิธี และเป็นการใช้ร่างกายเรียกร้อง ท่ามกลางการกดขี่ และความรุนแรงจากรัฐในการชุมนุม
ซึ่งไม่เพียงประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ ก็มีการประท้วงแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แม้จะไม่ได้ใช้เลือดจริงๆ แต่ก็พยายามสื่อสารถึงเลือด และการสูญเสียด้วยเช่นกัน
จากเสื้อแดงเทเลือด สู่ราษฎรเทสีแดง
หากจะพูดถึงการชุมนุมที่ใช้เลือดในการแสดงออกแล้ว เราต้องย้อนกลับไปพูดถึง การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ที่ได้จัดกิจกรรม ‘เอาเลือดไพร่ไปล้างอำมาตย์’ ด้วยการเจาะเลือดของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงคนละ 10 cc และนำไปเทตามสถานที่อย่างทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านของนายกฯ ซึ่งในตอนนั้นก็คืออภิสิทธิ์ เวชาชีวะ
จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.เองก็ได้พูดบนเวทีถึงการใช้เลือดว่า มีคนเสื้อแดงไปขอเลือดตามโรงพยาบาลต่างๆ “ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ได้ร่วมบริจาคเลือดให้กับเราที่อาคารรัฐสภาจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน เพื่อจะมาร่วมกันเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ พี่น้องในต่างจังหวัดก็พยายามหาเลือดเพื่อมาสมทบกับเราที่นี่ด้วย” ทั้งยังมีการระบุว่า เลือดนี้เป็นเลือดของพวกเราไม่ใช่เลือดศัตรู และ “หากนายอภิสิทธิ์ ไม่เห็นความสำคัญของเลือดคนเสื้อแดงก็ให้มันรู้ไป”
วิธีการเทเลือดนี้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงยังชี้ว่าเป็นวิธีที่สันติ อหิงสา รวมถึงว่ายังเป็นการแสดงถึงการสละเลือดเพื่อชาติ ไปถึงการทำพิธีกรรมสาปแช่งระบอบการปกครองที่กดขี่คนข้างล่างด้วย ซึ่งแม้ภายหลังจะมีการถกเถียงว่าเป็นพิธีสาปแช่งที่ถูกต้องตามหลักจริงไหม หรือมีพราหมณ์ที่ชี้ว่า การเทเลือดของคนเสื้อแดงหลักการเป็นมนต์ดำด้วย
มาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในช่วงปี 2563-2564 นั้น แม้จะยังไม่เห็นการใช้เลือดจริงๆ ในการสาด หรือเทเหมือนอย่างที่ นปช.ทำเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็เรียกได้ว่ามีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แทนด้วยเลือด อย่างการสาดสีแดงด้วย เช่นกิจกรรม การปาสี หรือสาดสีลงบนท้องถนน ซึ่งใน #ม็อบ25กันยา ของกลุ่มทะลุฟ้าเอง ก็มีการพูดถึงกิจกรรมปาสีลงถนนตามเส้นทางไปธรรมเนียบรัฐบาลว่า “ถนนเส้นนี้จะมีแต่สีแดงที่บ่งบอกถึงเลือดของประชาชนที่ตายจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ล้มเหลว มันมากพอแล้วกับประชาชนที่ล้มตายขนาดนี้ มากพอแล้วกับการที่ประชาชนออกมาแล้วรัฐไม่ฟังเสียง เสียงของประชาชนบนท้องถนน รัฐบาลต้องฟัง ต้องออกมาพูดคุยกับประชาชน”
หรือ Performance Art ของ วิธญา คลังนิล นศ. ม.เชียงใหม่ ที่เทสีแดงลงบนเนื้อตัว และเสื้อผ้าสีขาวที่สวมใส่ ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักกิจกรรมคนอื่นๆ แต่สุดท้ายการแสดงออกในครั้งนั้น แม้จะเป็นไปอย่างสันติ ก็กลับถูกแจ้งความคดี ม.112 ภายหลังด้วย
กรีดเลือดให้หลั่งเรียกร้องความยุติธรรม
ตลอดปีที่ผ่านมานี้ มีการกรีดเลือดเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมหลากหลายครั้ง โดยทุกครั้งล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว และคดี ม.112 ทั้งสิ้น ทั้งกรณีเมื่อปลายปี 2563 ที่ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย นำมีดขึ้นมากรีดข้อมือตัวเองในสภา ระหว่างอภิปรายเรื่องการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม รวมถึงพูดถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผิดหลักสากล โดยเขากล่าวว่า “ผมคิดว่าผมต้องทำอะไรสักอย่าง ทุกคนทราบดีว่า ผมรักสภาแห่งนี้มาก แต่วันนี้คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยวิกฤติครั้งนี้ได้ เพราะไม่อยากให้เด็กๆ ต้องเลือดตกยางออกอีก” แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สมควร หรือคิดน้อยเกินไป
วิธญา คลังนิล นศ.ม.เชียงใหม่ ที่แสดง Performance Art ด้วยการเทสีแดงสเมือนเลือดนั้น ก็ได้ทำการเรียกร้อง ด้วยการกรีดเลือดจริงๆ เช่นกัน ระหว่างเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.ภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ โดยข้อหาในครั้งนั้น เป็นข้อหาก่อนการเทสีแดง แต่ถูกกล่าวหา ม.112 จากการแสดงศิลปะเกี่ยวกับธงชาติ ที่ก่อนจะเข้า สน. วิธญาได้ถอดเสื้อ และนำมีดกรีดหน้าอกเป็นเลข 112 พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้ทำผิด เพราะเป็นศิลปะด้วย
นศ.ม.เชียงใหม่รายนี้ ไม่ใช่ผู้ต้องถูกกล่าวหา ม.112 รายเดียวที่กรีดเลือด เพราะในช่วงตุลาคม 2564 นี้ โจเซฟ ผู้ถูกกล่าวหา ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี ใน #ม็อบ26ตุลา ก็ได้ลุกขึ้นกรีดแขนตัวเองหน้าบัลลังก์ศาล เรียกร้องความเป็นธรรม ให้เพื่อนนักกิจกรรมที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว รวมไปถึง รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่กรีดแขนเป็นตัวเลข 112 และขีดฆ่าตังเลข ระหว่างอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการยกเลิก 112 ก่อนจะนำเลือดมาประทับบนแถลงการณ์ ในม็อบวันที่ 31 ตุลาที่ผ่านมานี้ด้วย
เราได้พูดคุยกับโจเซฟ ในการชุมนุมวันหนึ่ง ซึ่งเขาก็ได้เล่าให้เราฟังถึงการตัดสินใจใช้เลือดของตัวเองว่าเป็นวิธีเรียกร้อง พร้อมโชว์รอยแผลมีดกรีด ที่ตอนนี้ยังเป็นรอยอยู่บนแขนของเขาว่า เขาคาดว่ามันจะเป็นแผลเป็น แต่มันจะเป็นสัญลักษณ์ถึงการเรียกร้อง และความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น บนร่างกายของเขา
โจเซฟบอกกับเราว่า เขา และเบนจา อะปัญ (หนึ่งในนักกิจกรรมที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว) โดน ม.112 ในคดีเดียวกัน ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี และเขาเองก็มองเบนจาเหมือนน้องสาวคนหนึ่ง “เรารู้สึกว่าคนที่โดน ม.112 มันเหมือนถูกรัฐทำร้าย และที่เบนจา หรือคนอื่นๆ ไม่ได้ประกันตัวในข้อหา 112 หรือไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองอื่น เรามองว่าอีกนิดเดียวมันอาจจะเป็นเราก็ได้ เพราะเขาเองก็ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่ผิด และเป็นหลักตามนานาอารยประเทศที่มันถูกต้อง และบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่พึงทำได้ การที่เขาแสดงออกอย่างนั้น และศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งๆ ที่ศาลก็ยังไม่ได้ตัดสิน แต่ก็มองไปแล้วว่าจะไปทำผิด ซึ่งมันอาจจะเป็นเราก็ได้ หรือถ้าไม่ใช่เราก็อาจจะเป็นน้องเรา คนในครอบครัวเรา เราจะรู้สึกยังไง และเราก็เอาใจไปแลกจริงๆ และเบนจา พี่ก็มองเขาเหมือนน้องคนนึง เราก็มองว่าถ้าเป็นเรา เราก็คงอยากให้ใครซักคนแสดงออกแบบนี้ ว่าสิ่งที่ศาล และตุลาการทำไม่ถูกต้อง”
เขายังให้สัมภาษณ์กับเรา ถึงวิธีการนี้อีกว่า เป็นอารยะขัดขืน และเขาไม่ได้ทำร้ายใคร เพียงแต่ทำร้ายตัวเองแทน “เราไม่รู้ว่าเราจะแสดงออกยังไง เพราะเราไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง เรารู้สึกว่าถ้าเราออกไป และไปเถียงศาล หรือโต้วาทีกับศาลเหมือนที่เพนกวินเคยลุกขึ้นคุยกับศาล เรารู้สึกว่าการทำแบบนั้นอาจจะไม่ได้ผล เพราะเราไม่รู้จะใช้หลักเหตุและผลไปคุยกับเขาจะได้หรือเปล่า เราเลยรู้สึกว่าเราเลยแสดงออกด้วยการทำร้ายตัวเอง และเรานอนคิดมา 1 วันว่ามันเป็นวิธีอารยะขัดขืนอย่างนึง เพราะว่าเราไม่ได้ทำร้ายเรา เราไม่ได้ทำร้ายศาล และเราไม่ได้แสดงท่าทีว่าไม่เคารพศาล แม้ว่าเราจะโดนคดีละเมิดอำนาจศาลที่ตั้งขึ้นมาหลังจากนั้น เรารู้สึกว่ามันคือเลือดเรา แขนเรา แต่เรากำลังจะบอกเป็นสัญลักษณ์กับเขาว่า เลือดที่มันหลั่งในศาล เลือดที่ไหลตรงนี้ มันน้อยกว่าที่เพื่อนๆ เราที่ถูกพรากอิสรภาพไป เขาเสียสละกว่าเรา เรารู้สึกว่ามันเป็นสันติวิธี
“ก่อนเข้าศาลเราก็พยายามคิดกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ เพราะว่าเลือดมันคือการสูญเสีย คือการที่ศาลไม่ให้ความยุติธรรม และเลือดมันคือสิ่งที่คนๆ นึงพร้อมเสียสละสิ่งที่เป็นเลือดเนื้อของตัวเอง เราก็เลยทำการแสดงออกสัญลักษณ์ว่ามันถึงที่สุด มันอัดอั้นนะ เราไม่รู้ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร เลยใช้วิธีนี้ ให้เป็นสัญลักษณ์ความเจ็บปวดของเพื่อนๆ เรา และก็ความอยุติธรรมที่ศาล ไม่รักษาความยุติธรรม ไม่เป็นเสาหลักของประเทศจริงๆ และเรารู้สึกว่า ถ้าเราออกไปพูดเฉยๆ ข้อความที่เราอยากจะส่ง มันอาจจะไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ ว่าจะให้ประกัน หรือไม่ประกัน แต่เรารู้สึกว่าถ้าเรากรีดแขน อย่างน้อยเขาก็จะเอาไปคุยกัน เวลากินข้าวก็คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ขอให้มันเป็นสิ่งที่เขาคุยกัน และไม่ลืมว่าเพื่อนเรายังอยู่ข้างใน เพราะเรากลัวว่าสังคมทั่วไปจะลืมคนที่รัฐเขาเอาไปขัง คนที่เขาคิดว่าเขาสามารถคุมได้ เพราะวันนึงมันอาจจะเป็นพี่ก็ได้
เรายังพูดคุยกับเขา ถึงวิธีต่างๆ ที่ประชาชนเลือกใช้ในการต่อสู้กับรัฐในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวของรุ้ง และเพนกวิน การแก้ผ้าเปลือยหน้า คฝ. ของป้าเป้า มาถึงการกรีดเลือดของตัวเขาเอง ซึ่งเขาก็บอกเราว่่า
“ทุกวิธีล้วนแต่เป็นสันติวิธี เราเป็นประชาชนธรรมดา เราเป็นประชาชนโดยแท้ และเป็นประชาชนที่ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นรากหญ้า เราไม่มีอำนาจอะไรไปต่อกรกับรัฐ เราก็มีแค่ตัวเองที่ต่อกรกับรัฐ มันถึงเป็นวิธีการนี้ขึ้นมา”
ทั้งสุดท้าย เขายังบอกกับเราถึงการเสียเลือดในครั้งนี้ ที่อาจจะนำมาสู่การสูญเสียอิสรภาพของเขาเอง เนื่องจากถูกศาลตั้งข้อหาลำเมิดอำนาจศาล และจะมีการไต่สวนในเดือน พฤศจิกานี้ ซึ่งเขาก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นในรูปแบบไหนด้วย
ไม่ได้มีแค่ไทย ที่แสดงออกสัญลักษณ์ถึงเลือด
แม้ว่าถ้าเราเสิร์ชเกี่ยวกับการประท้วงด้วยเลือดเป็นภาษาอังกฤษใน Google ภาพประเทศแรกๆ ที่ขึ้นมาคือไทย และแทบจะมีแต่ไทยให้เราเห็น แต่ที่ผ่านมาในการประท้วงของบางประเทศ แม้จะไม่ได้ใช้เลือดจริงอย่างของบ้านเรา แต่ก็มีการแสดงออกถึงเลือด และการสูญเสียเช่นกัน
อย่างการชุมนุมของกลุ่ม Extinction Rebellion (กบฏต่อต้านการสูญพันธุ์) ซึ่งก็เคยจัดชุมนุมกิจกรรม Blood Money โดยมุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงินและนายธนาคารในลอนดอน ที่มีนักกิจกรรมแต่งตัวคล้ายนายธนาคาร ด้วยมือเปื้อนเลือดปลอม ทั้งกลุ่มนี้เองก็ยังเคยจัดกิจกรรมเทสีแดง ที่แสดงถึงเลือด บริเวณนอกถนนดาวนิงเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่มากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงชี้ว่า เลือดมีไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “การตายของลูกๆ ของเรา” และอนาคตของคนหนุ่มสาวที่ชั่วร้ายต้องเผชิญ
ในประเทศเมียนมาเอง ที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพไปเมื่อต้นปี และประชาชนได้มีการต่อต้านรัฐประหาร ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยวิธีต่างๆ มากมาย ก็ได้มีกิจกรรมที่สื่อถึงเลือดเช่นกัน กับแต่งหน้าด้วยสีแดง เป็นน้ำตา เหมือนการร้องไห้เป็นสายเลือด และร้องเพลงต่อต้านรัฐประหาร ในวันครบรอบ 2 เดือนของการรัฐประหาร ซึ่งในกิจกรรมนั้นแม้จะไม่มีการเสียเลือดจริงๆ แต่ผู้ชุมนุมก็ได้หลั่งน้ำตาจริงๆ ออกมาคู่ขนานกับเลือดที่เป็นรอยแต่งบนใบหน้าด้วย
จะเห็นได้ว่าจากการเรียกร้องโดยใช้ทั้งเลือดจริง และเลือดปลอมในการแสดงสัญลักษณ์นั้น ล้วนแต่เป็นการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ การแทนถึงความสูญเสีย และการใช้ร่างกายตนเองเพราะไม่มีอะไรจะเสีย คับแค้นไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร