การรวมตัวของนิสิตนักศึกษาที่ลุกลามมาจนถึงระดับโรงเรียนมัธยมในรูปแบบของ ‘แฟลชม็อบ’ สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
แต่หลังจากการรวมตัวมีขึ้นและจบลง หลายฝ่ายก็ออกมาประเมินสถานการณ์กันว่า แฟลชม็อบครั้งนี้คงเป็นเพียงการออกมารวมตัวชั่วครั้งชั่วคราว และอาจจะไม่มีกลไกในการกดดันรัฐบาลต่อ เพราะอย่าลืมว่าการรวมตัวชุมนุมในสถานศึกษายังสามารถทำได้ตามข้อยกเว้นใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
แต่การจะกระโดดออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับการชุมนุมต่อไป อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้พลังของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ลดลงตามไปด้วย ?
ถ้าอย่างนั้นแล้ว การรวมตัวในลักษณะของ ‘แฟลชม็อบ’ ครั้งต่อๆ ไปจะสามารถยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นหรือบรรลุข้อเรียกร้องได้ไหม พลังของแฟลชม็อบแข็งแรงมากน้อยแค่ไหนกัน แล้วในประเทศอื่นๆ เคยเรียกร้องกดดันรัฐด้วยการขับเคลื่อนมวลชนในรูปแบบของแฟลชม็อบจนนำไปสู่ความสำเร็จในการผลักดันข้อเรียกร้องกันหรือไม่อย่างไร
เล็กๆ แต่สม่ำเสมอ คือไม้ตายของ ‘แฟลชม็อบ’
นิยามและจุดเด่นของการรวมตัวแบบแฟลชม็อบมีข้อสังเกตหลักๆ 3 อย่าง คือ 1.เป็นการรวมตัวในที่สาธารณะแบบฉับพลัน 2.รวมตัวในระยะเวลาที่สั้นและ 3.สลายในเวลาอันรวดเร็ว โดยการนัดหมายจะทำผ่านโซเชียลเดีย ด้วยนิยามแบบนี้แฟลชม็อบจึงไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการรวมตัวทางการเมืองเท่านั้น หรือเอาเข้าจริงแล้วในตอนแรกความหมายของ ‘แฟลชม็อบ’ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการรวมตัวทางการเมืองด้วยซ้ำไป
ทว่า หลายๆ ประเทศได้ใช้กลยุทธขับเคลื่อนข้อเรียกร้องในการชุมนุมด้วยแฟลชม็อบที่เล็กๆ แต่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากการรวมตัวชุมนุมในแบบเก่าที่เราคุ้นเคยกัน ถ้าพูดถึงการชุมนุมแล้ว คนไทยอาจจะคิดถึงภาพของการกิน-นอนกลางถนนด้วยระยะเวลานานต่อเนื่องหลายเดือน
ในทางตรงกันข้าม วิธีการของแฟลชม็อบจะไม่ใช้ทรัพยากรมากขนาดนั้น พวกเขาเลือกใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องมือแบบใหม่ที่ทำให้การรวมตัวในยุคนี้แตกต่างจากหลายสิบปีก่อนไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งได้มีการประเมินจากนักวิชาการหลายสำนักว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารในกลุ่มมีความผิดพลาดน้อยลง เข้าใจประเด็นร่วมกันทั่วถึงมากขึ้น และสามารถวางกลยุทธ์กับแบบเรียลไทม์ในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การรวมตัวของแฟลชม็อบฮ่องกงที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่อีกหลายประเทศ ม็อบคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงเลือกใช้ยุทธวิธีแฟลชม็อบเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมและการสลายการชุมนุม พวกเขาเรียกวิธีนี้ว่า ‘blossom everywhere’ คือจะกระจายตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ ไปทั่วเมือง และมีการนัดหมายกันทุกวันอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ วิธีแบบนี้จะช่วยลดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ บ้านใครใกล้ตรงไหนก็ให้ไปรวมตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ ใกล้บ้านแทนการเข้ามารวมเป็นกลุ่มใหญ่ วิธีนี้จะช่วยลดการปะทะและตกเป็นเป้าของรัฐได้ดีกว่า
นอกจาก ‘blossom everywhere’ แล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงยังรับปรัชญาของ บรูซ ลี มาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การชุมนุมด้วยนั่นก็คือ ‘formless shapeless, like water’ หมายความว่า แฟลชม็อบครั้งนี้ต้องทำให้เป็นรูปเป็นร่างน้อยที่สุด ล้อไปกับสถานะของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีลักษณะเหมือนน้ำที่สามารถลื่นไหล-เคลื่อนตัวไปตามหน่วยงานราชการต่างๆ ได้คล่องแคล่ว
ขณะเดียวกัน การปราบปรามผู้ร่วมชุมนุมประท้วงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งการปิดล้อมสลายการชุมนุมในรถไฟใต้ดินจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะ ก็ทำให้ผู้ชุมนุมเหล่านี้ได้รับการอุปมาอุปไมยว่า ‘be strong like ice’ แม้จะวางตัวให้มีสถานะแบบน้ำ แต่ก็เป็นน้ำที่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนกันอย่างไม่ลดละความพยายาม
แฟลชม็อบของคนหนุ่มสาวฮ่องกงไม่เพียงแต่ชุมนุมกันเป็นระยะๆ ต่อเนื่องเท่านั้น แต่พวกเขายังเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อปรับทิศทางการชุมนุมให้มีความปลอดภัยและบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
ผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อของอังกฤษ The Guardian ว่า การกระจายตัวแบบนี้ทำให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องอาศัยรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อมสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงยังมักจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการพ่นสีสเปรย์ลายกราฟิตี้ตามหน้าต่างประตูกันบ่อยๆ ด้วย
ความสำเร็จของแฟลชม็อบฮ่องกงคือ พวกเขาสามารถคว่ำกฎหมายส่งตัวผู้ร้านข้ามแดนที่เป็นชนวนในการชุมนุมครั้งนี้ได้สำเร็จ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ข้อเรียกร้องสุดท้ายที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการ ม็อบฮ่องกงยังคงนัดรวมตัวเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นโมเดลของคนรุ่นใหม่ในเวลาต่อมา
ฮ่องกงโมเดล: ว่าด้วยการขับเคลื่อนประเด็นแบบ ‘แฟลชม็อบ’
ความต่อเนื่องและยาวนานขอม็อบฮ่องกง ทำให้บางประเทศที่เกิดวิกฤตเลือกการรวมตัวชุมนุมของคนหนุ่มสาวฮ่องกงเป็น ‘โมเดล’ ในการขับเคลื่อน หนึ่งในนั้นคือ การชุมนุมที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งมีชนวนเหตุจากกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ โดยเนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้คือ รัฐจะแก้ไขให้สัญชาติอินเดียแก่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมจากบังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ที่เข้ามาอยู่ในอินเดียอย่างผิดกฎหมายก่อนหน้า
ผู้ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้มองว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้จริงจะทำให้ความสำคัญของชาวมุสลิมเดิมถูกลดทอนลง ซึ่งหลังจากมีการรวมตัวชุมนุมขึ้นก็ได้เกิดความรุนแรงตามมาอีกมากมาย และยังขยายวงกว้างไปถึงการถูกทำร้ายด้วยเรื่องของศาสนา ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้นับถือศาสนาฮินดูและอิสลามนั่นเอง
การชุมนุมของผู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านพวกเขาเลือกใช้แอพพลิเคชั่น whatsapp ในการสื่อสารกับกลุ่มผู้ชุมนุม ตัวแทนกลุ่มจะส่งข้อความไปยังกลุ่มแชทใน whatsapp เพื่อนัดหมายรวมตัวกัน จากนั้นไม่นานก็มีผู้คนหลายสิบคนมารวมตัวกันใจกลางเมือง ซึ่งในเวลาต่อมา ตำรวจก็ได้กักตัวผู้ชุมนุมเหล่านี้ไว้จำนวนหนึ่ง
แม้จะเป็นการรวมตัวจำนวนไม่มากและด้วยระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่พวกเขาก็บอกว่า การใช้ whatsapp เพื่อนัดหมายครั้งนี้นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการใช้กลยุทธ์แบบฮ่องกงมาผสมผสาน และปรับเปลี่ยนเข้ากับการชุมนุมครั้งนี้ด้วย เป้าหมายของพวกเขาคือ ทุกคนในกลุ่มต้องได้รับข้อความภายใน 30 นาที และตำแหน่งของการรวมตัวประท้วงจะเปลี่ยนทุกวัน โดยมีการบอกล่วงหน้าเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
นักศึกษาในกรุงเดลีที่ออกมาต่อต้านกฎหมายนี้เปิดเผยด้วยว่า พวกเขายังได้แรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวมาจากการชุมนุมในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ใช้สิ่งของในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนการประท้วงในรูปแบบเดิม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้วางป้ายข้อความใดๆ พวกเขาจึงเลือกนำก็อปปี้ข่าวเก่าจากเมื่อกว่าห้าสิบปีมาเยอะๆ แล้วโปรยทิ้งไว้แทน
“แม้ว่าสิ่งที่เราทำอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคนรุ่นหลังมาถามเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถตอบพวกเขาได้ว่า เราได้ลองทำมันดูแล้ว” หนึ่งในผู้ชุมนุมในกรุงนิวเดลีกล่าว
แม้แฟลชม็อบจะยังเป็นนวัตกรรมในการชุมนุมที่ยังใหม่มาก และต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ แต่การที่คนหนุ่มสาวออกมารวมตัวกันส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ยิน ‘เสียง’ ของพวกเขานั้น ก็ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาเหล่านั้นยังห่วงใยประเทศชาติ อยากให้สังคมเดินไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง และอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชาติบ้านเมือง
สิ่งที่ผู้มีอำนาจที่ฉลาดควรทำก็คือ ‘ฟัง’ ว่าพวกเขาต้องการอะไร และนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาว่ามีโอกาสทำให้เกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก