รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มีความพิเศษในตัวเอง ไม่เพียงเป็นรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังจากกองทัพต้องกลับเข้าสู่กรมกองเนื่องจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ซึ่งผลของมันก็คือ การทำให้กองทัพกลับเข้าสู่แวดวงแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน
รัฐประหารครั้งนั้น ยังมีการบันทึกแง่มุมประวัติศาสตร์ออกมามากมายในรูปแบบของหนังสือ ทั้งในมุมของ ‘ผู้ชนะ’ และ ‘ผู้แพ้’ ทั้งเหตุการณ์หน้าฉากและหลังฉาก ทั้งเรื่องราวก่อนที่รถถังจะเคลื่อนออกมาบนท้องถนน ไปจนถึงผลกระทบของมันที่กลายเป็นมรดกในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้
ในโอกาสครบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ The MATTER จึงอยากแนะนำหนังสือบางเล่ม ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทุกคนได้หยิบจับมาอ่านกัน เพื่อทำความเข้าใจรัฐประหารครั้งนั้น ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อชะตากรรมบ้านเมืองของไทย? ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของพวกเราในปัจจุบัน?
และที่เขามองกันว่าทหารเป็น ‘คนกลาง’ เป็น ‘ฮีโร่’ เข้ามาช่วยชาติบ้านเมืองให้พ้นจากวิกฤต แท้จริงแล้ว มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่?
รู้ทันทักษิณ เล่มที่ 1-5 / เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บรรณาธิการ (ตีพิมพ์ในปี 2547 – 2552)
ชุดซีรีส์หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ ผ่านข้อเขียนและการสัมภาษณ์ของนักวิชาการชั้นนำ รวมถึงบุคคลซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับทักษิณ โดยมีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพ ขณะนั้น เป็นบรรณาธิการ มีทั้งหมดด้วยกัน 5 เล่ม วางแผงขายระหว่างปี 2547 – 2552
หลายๆ ข้อเขียนในซีรีส์หนังสือ ‘รู้ทันทักษิณ’ ได้ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย ซึ่งต่อมาเจิมศักดิ์ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่ง ผ่านการจัดรายการ ‘รู้ทันทักษิณ’ บนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ปรากฏการณ์สนธิ : จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า / คำนูณ สิทธิสมาน (ตีพิมพ์ในปี 2549)
บันทึกการก่อกำเนิดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างปี 2548-2549 โดยคนวงใน อย่างคำนูณ สิทธิสมาน นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเครือผู้จัดการ นับตั้งแต่รายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ ของสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกโมเดิร์นไนน์ทีวีระงับการออกอากาศ หลังการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคไทยรักไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การจัดเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ตามที่ต่างๆ ก่อนจะปักหลักที่สวนลุมพินี ขยายตัวกลายเป็นม็อบขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีคนเข้าร่วมมากเรื่อยๆ จน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น เคลื่อนรถถังออกมายึดอำนาจในวันที่ 19 ก.ย.2549
ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือบันทึกเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ และมีบางเรื่องราวที่หาอ่านจากที่ไหนไม่ได้
รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ฟ้าเดียวกัน (ตีพิมพ์ในปี 2550)
รวมบทความของนักวิชาการชื่อดัง อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ธงชัย วินิจจะกุล, ชัยวัฒน์ สถาอานันต์, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐฯ ฯลฯ ที่พูดถึงการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ในแง่มุมต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และการต่างประเทศ
ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ชี้ชวนให้เห็นว่า อุดมการณ์เบื้องหลังการเคลื่อนรถถังออกมาของ คมช. ก็คืออุดมการณ์ของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาในปี 2502 ที่ถูกฝ่ายตรงการล้มทักษิณ ชินวัตร นำไปเป็นคู่ขัดแย้งกับ ‘ระบอบทักษิณ’ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่า หากปล่อยให้ทักษิณอยู่ต่อไปอีกสักวินาที จะเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย / วาสนา นาน่วม (ตีพิมพ์ในปี 2551)
เล่าเบื้องหลัง รัฐประหารปี 2549 ในมุมมองของ ‘ผู้ชนะ’ โดยวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เข้าถึงแหล่งข่าวลึกๆ ในกองทัพมากมาย
ข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คิดถึงการยึดอำนาจล่วงหน้าไว้ 6-7 เดิอน รวมถึงเหตุระทึก ที่ทำให้ต้องเลื่อนเวลาการทำรัฐประหารเร็วขึ้นถึง 2 ครั้ง เพราะตอนนั้น ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เริ่มระแคะระคาย จะกลับประเทศก่อนกำหนด แต่ท้ายสุดก็ยึดอำนาจสำเร็จ ในเวลาห้าทุ่มของวันที่ 19 ก.ย.2549
แม้กระทั่งเบื้องหลังเหตุการณ์เล็กๆ เช่น คำว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก” ที่ปรากฎในแถลงการณ์ยึดอำนาจ หรือ พล.อ.สนธิเลือกใช้ใครเป็นเนติบริกร ก็หาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้
ในคืนยะเยือก / อิศรินทร์ หนูเมือง, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ และจำนง ศรีนคร (ตีพิมพ์ในปี 2552)
เล่าเบื้องหลัง รัฐประหารปี 2549 ในมุมมองของ ‘ผู้แพ้’ ผ่าน 7 ขุนพลใกล้ชิด ทักษิณ ชินวัตร ในคืนวันรัฐประหาร ว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหน ทำอะไร และมีบทบาทอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเล่าเหตุการณ์เดียวกัน ของแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน ดังที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับศัพท์ ‘ราโชมอน’ แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ความพยายามในการตั้งกองบัญชาการต่อต้านรัฐประหาร
โดยบุคคลที่เป็นตัวละครสำคัญในการชี้วัดผลแพ้-ชนะ แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 7 ขุนพลที่ถูกสัมภาษณ์ ก็คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม ในขณะนั้น
สมุดปกขาว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 / คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (เผยแพร่เมื่อปี 2549)
แม้ไม่ได้ทำออกขายในรูปแบบของหนังสือ แต่เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เราอยากให้คุณไปหามาอ่านกันดู เพราะมีสาระสำคัญคือคำชี้แจงว่า ทำไมต้องรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.2549
เอกสารมีทั้งสิ้น 35 หน้า แต่ใจความสำคัญ ถึงเหตุผลที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องยึดอำนาจจากทักษิณ ชินวัตร มีด้วยกัน 6 ข้อ อาทิ ความพยายามในการแทรกแซงองค์กรอิสระและสื่อมวลชน ปัญหาเรื่องการทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน การละเมิดจริยธรรมและคุณธรรมของผู้นำประเทศ ฯลฯ
ทักษิณ Where Are You? / ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต (ตีพิมพ์ในปี 2550)
เป็นหนังสือที่เผยชีวิตเบื้องหลังการถูกรัฐประหารในต่างแดนของทักษิณ ชินวัตร ความจริงแล้ว ยังมีหนังสืออีกเล่มตามมา คือ ทักษิณ Are You OK?
ทั้งสองเล่ม เขียนโดย ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือหมวดเจี๊ยบ ที่ขณะนั้นยังรับราชการในกองทัพบก ก่อนจะลาออกมาเล่นการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย พูดถึงชีวิตของทักษิณ หลังเหตุการณ์ 19 ก.ย.2519 ทั้งการใช้ชีวิตในคฤหาสน์ที่อังกฤษและในสถานที่ต่างๆ ทรัพย์สินที่มีเหลืออยู่ การพบปะกับเพื่อนฝูงใกล้ชิด การบินไปทำงานในประเทศต่างๆ ตามคำเชิญ หรือการตอบโต้ข้อกล่าวหาของกองทัพและรัฐบาลไทยในขณะนั้น
รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) / คอป. (เผยแพร่เมื่อปี 2555)
คอป. ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน กำเนิดขึ้นมาภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สี่แยกราชประสงค์ และบริเวณใกล้เคียง ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ของปี 2553 เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีหน้าที่ในการสืบหาที่มาที่ไปของความขัดแย้ง ที่นำไปสู่การปะทะกัน และทำให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อกันมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. 276 หน้า ได้ระบุถึงการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะทำให้คนจำนวนหนึ่งมองว่า กองทัพได้เข้ามาแทรกแซงการเมืองแล้ว จนเกิดวาทกรรม ‘ไพร่-อำมาตย์’ รวมไปถึง ‘สองมาตรฐาน’ และกลายเป็นที่มาของสงครามสีเสื้อที่ยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน
หลายๆ เล่มสามารถหาโหลดได้จากเว็บไซต์ หลายๆ เล่มยังหาซื้อได้จากร้านหนังสือชั้นนำ ขณะที่อีกหลายเล่มหาอ่านได้ตามห้องสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ
ลองไปตามหามาอ่านกันดู แล้วจะรู้ว่า แม้จะผ่านมา 12 ปีแล้ว แต่รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก็ยังผลกระทบในบางด้านกับชีวิตของพวกเรา และที่อ้างกันว่า ‘ทหาร’ นั้นเป็นคนกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของชาติ โดยไม่มีผลประโยชน์ของตัวเองเกี่ยวข้อง จริงหรือไม่