อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา OMG BOOKS
“ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ผมเป็นคนมีปัญหาชีวิตเยอะ การได้อ่านหนังสือดีๆ ช่วยคลี่คลายปมที่คั่งค้างในใจ ผมอยากนำสิ่งนั้นมาแชร์ให้ผู้คน เลยตัดสินใจทำสำนักพิมพ์เมื่อราวสิบปีก่อน ผมมีไฟ มีความมุ่งมั่น แต่ไม่มีความรู้การทำหนังสือเลย อาศัยรู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นบรรณาธิการ เล่มแรกที่ทำชื่อ ‘คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์’ (ดร.ไสว บุญมา-ผู้เขียน) ยังไม่ใช่หนังสือตามอุดมคติ เป็นการอิงจากกระแส เอาหนังสือที่นายกฯ ทักษิณเอามาแนะนำ สรุปเนื้อหาหลายๆ เล่มออกมา ได้เงินมาพอสมควร ผมเอาเงินก้อนนั้นมาซื้อลิข
“สำนักพิมพ์ (OMG BOOKS) มีหุ้นส่วน 3 คน เนื้อหาจะเกี่ยวกับการทำความเข้าใจชีวิตด้านใน ทั้งแนวจิตวิทยาและจิตวิญญาณ และเนื้อหาอื่นๆ ยอดขายแต่ละเล่มจะใกล้ๆ กัน สำนักพิมพ์เกือบไม่รอดหลายครั้ง มีช่วงที่ต้องไปกู้มา ผ่อนอยู่ห้าปี ตอนนี้หมดแล้ว (หัวเราะ) ช่วงนั้นต้องค่อยๆ ไป พยายามหมุนเงินสด ออกหนังสือมากขึ้น และชัดเจนในตัวเองมากขึ้นว่ากำลังทำอะไร เรามีอารมณ์ร่วมกับหนังสือแนวไหน ผมเคยทำหนังสือตามกระแสไป ยอดขายไปได้เรื่อยๆ แต่ตอนทำไม่มีความสุข ทำไปแบบแห้งๆ เป็นแบบนั้นสัก 4 เล่ม หลังจากนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองหนักๆ เคยมีเล่มหนึ่งขายได้น้อย แต่ตอนทำมีความสุขมาก เนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นรวมคอลัมน์ของอาจารย์อรรถจักร์ (สัตยานุรักษ์) ชื่อ ‘จะรักกันอย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน’เป็นการทำความเข้าใจสังคมไทยเชิงโครงสร้างในยุคเปลี่ยนผ่าน เคยมีอาจารย์ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งเดินมาบอกว่า เขาให้นักศึกษาอ่านเล่มนี้ประกอบการเรียนด้วย
“โดยกระบวนการทำหนังสือ เราได้เรียนรู้ตัวเองตลอด พอไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยาก เราจะได้เห็นด้านที่ไม่เข้าท่าของตัวเอง และการได้อยู่กับเนื้อหาของหนังสือ ผมเก็บเกี่ยวไปตามเส้นทาง มันช่วยคลายปมในใจ ลดความทุกข์ เคยขุ่นข้องหมองใจ เกลียดสังคม ไม่พอใจนู่นนั่นนี่ ก็เริ่มเข้าใจว่า ‘อ๋อ…ที่เขาทำพฤติกรรมแบบนี้ เพราะแบบนี้’ ผมเป็นอิสระจากแรงขับที่ทำลายตัวเอง หรือพูดให้สั้นที่สุด ผมรู้ทันตัวเองมากขึ้น การทำสำนักพิมพ์ของผม ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกสะเทือนใจในความทุกข์ของคน หนังสือเล่มนี้มีความหมายกับชีวิตเรา มันคงมีความหมายกับชีวิตคนอื่น ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่มีความหมายกับตัวเอง และมันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและมีความหมายกับคนที่ได้อ่าน”
หนึ่งเล่มที่แนะนำ
Notes to Myself / บันทึกจากก้นบึ้งถึงกลางใจ
Huge Prather : เขียน / วิภาดา กิตติโกวิท : แปล
“คนเขียนเป็นคนไม่มีชื่อเสียง เขาเขียนบันทึกเรียบๆ มาเกือบห้าสิบปี ทำความเข้าใจชีวิตตัวเองผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซื่อตรงต่อการสังเกตตัวเองอย่างตรงไปตรงมา พอถึงจุดหนึ่ง ความเป็นมนุษย์ข้างในก็ไม่ต่างกันเท่าไร เป็นคู่มือจิตวิทยาในการทำความเข้าใจตัวเอง สภาวะอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด จากนักเขียน หลังจากเขียนหนังสือออกมา เขาไปเป็นผู้ให้คำปรึกษา และสุดท้ายไปเป็นนักบวช”
สมศักดิ์ เดชจำเริญ บูทโฆษิต
“ปี 2537 ผมเปิดร้านหนังสืออยู่แถวบางขุนศรี ชื่อร้าน มายบุ๊ค ขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเรียน การ์ตูน และพ็อคเก็ตบุ๊ค ตรงนั้นใกล้โรงเรียนและย่านชุมชน เป็นป้ายรถเมล์ด้วย เลยได้กลุ่มลูกค้าเป็นเด็กๆ และคนที่มารอรถ รายได้ก็พอเลี้ยงตัวเองได้นะ ทำไปสามปีผมเริ่มอิ่มตัว คนทำร้านหนังสือต้องเฝ้าทุกวัน-ทั้งวัน ไม่ค่อยมีวันหยุด ผมเลยเซ้งร้านให้คนอื่น ผมเป็นคนอ่านหนังสือ สะสมหนังสือเก่าๆ ไว้ เพื่อนที่ทำสำนักพิมพ์มีหนังสือจำนวนหนึ่งที่ถึงอายุแล้ว เป็นหนังสือหายากชื่อ สงครามและสันติภาพ ผมขอเหมามา แล้วลองออกบูทขายหนังสือเป็นครั้งแรก ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยอดขายครั้งนั้นถือว่าพอได้เลย
“เราเริ่มเห็นช่องทางธุรกิจ ข้อดีของการออกบูทคือใช้เวลาช่วงสั้นๆ ไม่ต้องเฝ้าทุกวัน ผมเลยลองสมัครมาขายที่งานหนังสือ เป็นครั้งที่เพิ่งย้ายจากแถวกระทรวงศึกษาธิการมาที่นี่ (ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) ตอนนั้นใครสมัครมาได้ขายทั้งหมด ผมเหมาหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ค้างสต็อค รวมกับหนังสือเก่าที่ซื้อเก็บไว้ เราขายหนังสือมา จะรู้ความต้องการลูกค้า กลุ่มลูกค้าของ ‘โฆษิต’ จะเป็นคนอ่านวรรณกรรมหนักๆ วรรณกรรมเยาวชน นิยายสืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ ฯลฯ นอกจากงานหนังสือปีละ 2 ครั้ง ผมยังไปขายตามมหาวิทยาลัย เวลาไปออกบูทตามมหาลัย ก็ต้องเลือกหนังสือนะ แนวนี้เหมาะกับที่นี่ไหม มันขึ้นอยู่กับคณะที่ไปตั้งบูทด้วย แต่ถ้าเป็นงานหนังสือ เราเอาหนังสือมาได้ทุกแนวเลย เพราะกลุ่มลูกค้าหลากหลาย
“หนึ่งเดือนผมจะออกร้านเฉลี่ยหนึ่งอาทิตย์ เวลาที่เหลือก็ขายออนไลน์และหาหนังสือเก่ามาขาย เกือบยี่สิบปียอดขายของโฆษิตจะเรื่อยๆ มาตลอด ไม่มีสวิงขึ้นหรือลง ช่วงหลังๆ ซบเซาลงบ้างตามสภาพสังคม ถ้าพูดถึงความก้าวหน้าในอาชีพ ผมว่าคงไม่หนีจากตอนนี้แล้วล่ะ (ยิ้ม) ที่อยู่ในอาชีพนี้ได้นาน เพราะเริ่มจากเราชอบหนังสือ เป็นคนอยากรู้อยากเห็น เรื่องราวในหนังสือมันเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ”
นิวัต พุทธประสาท สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม / Alternative Writers
“ผมทำสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเมื่อปี 2543 พิมพ์หนังสือ 2,000 เล่มตามระบบสายส่ง แล้วฝากขายตามร้านหนังสือทั่วไป ปรากฏว่าหนังสือแนวที่ทำสู้กับหนังสือในกระแสไม่ได้ ไม่นานก็ถูกเสียบสัน คนอ่านเห็นน้อย ผมเลยลองเอาไปฝากตามบูทต่างๆ ที่งานหนังสือ แต่ก็ยังไม่เวิร์ค เราเป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่ คนยังไม่ค่อยรู้จัก ยอดขายไม่มากอย่างตั้งใจ จนมีคนแนะนำว่า ลองเปิดบูทของตัวเองไหม ผมเริ่มเปิดบูทปี 2544 ซึ่งจัดที่นี่ (ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) เป็นครั้งที่สอง ตอนนั้นเรามีหนังสือไม่กี่เล่ม เลยใช้ชื่อว่า Alternative Writers เป็นการรวบรวมสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่อนๆ กลัวเราขายไม่ได้ ก็ช่วยส่งหนังสือมาให้ขาย รวมไปถึงหนังสือทำมือ จนบูทเรามีหนังสือหลากหลายกว่าบูทใหญ่ๆ คนไม่เคยเห็นก็ตื่นเต้น บอกกันปากต่อปาก เราทำเรื่อยมาสิบกว่าปี จนเป็นที่รู้กันว่า บูทเรารับหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ มาขาย
“แต่จริงๆ ยอดขายของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ส่วนใหญ่มาจากร้านหนังสืออิสระ ซึ่งเราส่งหนังสือเอง ไม่ผ่านสายส่งแล้ว ส่วนงานหนังสือปีละ 2 ครั้ง เป็นเหมือนการพบปะเพื่อนๆ สร้างคอนเน็คชั่น ได้คุยกับนักเขียนหน้าใหม่ที่เอาหนังสือมาฝากขาย และอัพเดทข่าวสารในวงการหนังสือ โดยมีรายได้พิเศษมาไว้ทำหนังสือเล่มต่อไป เกือบสองสัปดาห์ที่มาลุย ทั้งต้นปีกับปลายปี มันมีความคุ้มค่านะ หนังสือที่พิมพ์สามารถเดินทางโดยตรงไปสู่คนอ่านได้ สองสามปีหลังเราได้อัพเดทข้อมูลข่าวสารเยอะมาก ทั้งจากเพื่อนสำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ แต่ยังมีสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ต้องการคอนเน็คชั่นแบบที่เราได้พูดคุยอีก ซึ่งผมเองมองว่างานหนังสือควรมีบทบาทนี้นะ อาจมีวันที่เจ้าของโรงพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสืออิสระ ฯลฯ มาพบปะกัน ผมว่าโครงสร้างใหญ่ของกระบวนการทำหนังสือยังไม่เชื่อมกัน
“จากวันแรกที่มาออกบูท คนอ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ ปี 2544 งานมีแค่โซน C1 และ C2 คนมาเดินก็ยังน้อย เวลาผ่านไป โซนขยายออกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เต็มพื้นที่แล้ว ส่วนงานครั้งไหนคนจะมามากขึ้นหรือลดลง ผมว่าขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการเข้ามาของสื่ออื่น คนอ่านหนังสือมีอยู่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง
เราเพิ่งมาบันทึกยอดไม่กี่ปีหลัง สามปีที่ผ่านมายอดตกเป็นขั้นบันได พอวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจ หลังรัฐประหารเศรษฐกิจมันตกลงเรื่อยๆ ผมก็ไม่รู้จะขึ้นเมื่อไร มันไม่ใช่แค่วงการหนังสือ แต่มันเป็นสภาพโดยรวม ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ตก แต่จะไปถึงไหนผมก็ไม่แน่ใจ”
หนึ่งเล่มที่แนะนำ
ยูโทเปียชำรุด / วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
“ถ้าถามว่าในสิบปีนี้ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มไหนควรอ่าน ผมว่าคือเล่มนี้ ไม่ใช่เพราะผมเป็นคนทำ แต่ถ้าคนอ่านหนังสือจะรู้เลยว่ามันน่าสนใจ วิวัฒน์เขียนเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนเขียนถึง เช่น พูดถึงคนโรคจิตโดยไม่ตัดสิน ชีวิตฆาตกรในฐานะมนุษย์จริงๆ ฯลฯ เนื้อหาค่อนข้างหนักหน่วง แต่เขานำเสนอเรื่องเหล่านั้นได้ดี มีชีวิตชีวา จนเรารู้สึกว่า เฮ้ย…เหมือนชีวิตเราเลย”