‘สงคราม’ ที่เคยเป็นเรื่องไกลตัว กลับมาใกล้ชิดกับทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน และสร้างการสูญเสียต่อประชาชนยูเครนมากมาย
นอกจากคนต้องหลบกระสุน หนีออกนอกเมือง เศรษฐกิจรัสเซียก็ถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งตลาดหุ้นรัสเซียที่ดิ่งลง นักลงทุนถอนตัว ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าต่อเนื่อง แน่นอนว่าประเทศไทยก็เจอผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทั้งตลาดหุ้นขาลง ราคาน้ำมัน* และเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
แต่รัสเซียก็ยังไม่หยุดโจมตียูเครน จนทำให้ประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริก ยุโรป หาทางกดดันรัสเซียให้หยุดโจมตี และกดดันผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ มาดูกันว่ารัสเซียโดนแบนหรือคว่ำบาตรทางการเงินหนักขนาดไหน? แล้วผลกระทบต่อรัสเซีย มาจนถึงประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
‘ราคาที่ต้องจ่าย’ หลังรัสเซียสั่งเปิดฉากโจมตี
สถานการณ์เศรษฐกิจรัสเซียตอนนี้ดูไม่ดีสักเท่าไร เพราะวิกฤตนี้ยืดเยื้อกว่าที่คิด นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าที่จริงแล้วรัสเซียตั้งใจโจมตีและปิดฉากสถานการณ์นี้ใน 2-3 วัน (24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022) โดยหวังว่าประเทศอื่นๆ จะยอมต่อเงื่อนไขของรัสเซีย
ทว่ามาถึงตอนนี้ก็เกือบครึ่งเดือนแล้ว เรียกว่าเศรษฐกิจรัสเซียเจอผลกระทบไปเต็มๆ ทั้งตลาดหุ้น MOEX ที่ดิ่งลงหนัก ต่ำกว่า 1,700 จุด จากช่วงก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 จุด ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยร่วงตามไปด้วย ไหนจะค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงรุนแรง จากเหตุการณ์ก่อนประกาศโจมตียิงขีปนาวุธที่ราว 81 รูเบิล/ดอลลาร์สหรัฐฯ (23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022) แต่ตอนนี้มาอยู่ที่ 137.5 รูเบิล/ดอลลาร์สหรัฐแล้ว (10 มีนาคม ค.ศ.2022) เรียกว่าอ่อนค่าเพิ่มขึ้นกว่า 69% จากวันก่อนสั่งโจมตี
เมื่อเศรษฐกิจรัสเซียเกิดผลกระทบก็จะส่งผลไปถึงค่าเงินรูเบิลของรัสเซียด้วย
กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เล่าไว้ว่า สงครามค่าเงินรูเบิลถือว่าดุเดือดมาก หลังจากมีข่าวสงคราม ค่าเงินรูเบิลก็อ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจาก (1) ข่าวการส่งกองทัพเข้ายูเครน (2) การปิดกั้นไม่ให้ BOR ดึงเงินสำรองมาใช้ และไม่ให้ทำธุรกรรมผ่าน SWIFT (3) ข่าวสหรัฐจะไม่รับน้ำมันจากรัสเซีย
แต่เมื่อถามถึงผลกระทบจากเงินที่อ่อนค่ารุนแรง ก็ได้ยกตัวอย่างจากกรณีการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งสร้างผลกระทบหลายด้าน เช่น เงินเฟ้อสูงขึ้น, ใครที่กู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น (ส่งผลให้เกิดหนี้เสีย), เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุนของรัสเซีย แต่รัสเซียยังต้องเจอ ‘ตอ’ อีกหลายด้านที่จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียระยะกลางและยาวอาจจะแย่กว่าเดิม
โลกคว่ำบาตรรัสเซีย รูเบิลอ่อนค่า แต่รัสเซียสะเทือนไหม?
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บอกกับ The MATTER ว่า รัสเซียเคยโดนคว่ำบาตรโดยตะวันตกมาแล้วจากบทเรียนกรณีไครเมียเมื่อปี ค.ศ.2014 ทำให้ครั้งนี้รัสเซียเตรียมตัวมาอย่างดี ผ่านการจัดการให้หนี้ต่างประเทศเหลือ 20% และเงินสำรองที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติ
แต่ครั้งนี้เป็นตะวันตกเองก็ไม่ได้คว่ำบาตรแบบปกติแต่ มากดดันผ่านตลาดการเงิน เพื่อลดความเชื่อมั่นของรัสเซีย เช่น
- การสั่งปิดกั้นธนาคารและสถาบันการเงินรัสเซียจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) แบบเฉพาะเจาะจง
- หยุดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในรัสเซีย
- ไม่รับเงินรูเบิลในการซื้อขาย
- ประกาศให้ธนาคารในสหรัฐอเมริกา ห้ามปล่อยกู้รัสเซีย
- ฝั่งสหภาพยุโรปและชาติพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซีย (BOR) ดึงทุนสำรองที่เก็บไว้ในต่างประเทศไม่ได้ (ทางรัสเซียเลยพยุงเงินรูเบิลที่อ่อนค่าได้ยากขึ้น)
รัสเซียถูกตัดจาก SWIFT แล้วยังไง?
อมรเทพ เล่าต่อว่า เรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การสั่งปิดกั้นธนาคารและสถาบันการเงินรัสเซียบางส่วนในระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT : ระบบที่มีเครือข่ายสถาบันการเงินทั่วโลกกว่า 11,000 แห่ง ใน 200 ประเทศ) ซึ่งจะทำให้บริษัทในรัสเซียโอนเงินไปต่างประเทศและค้าขายยากขึ้น จึงกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด เพราะแม้รัสเซียจะมีการส่งออกน้ำมันสูงมาก แต่อีกครึ่งหนึ่งของรัสเซียคือการส่งออกสินค้าอื่นๆ ดังนั้นคนที่จะค้าขายกับรัสเซียก็ต้องหวั่นใจว่า ถ้าซื้อ-ขายกับรัสเซียแต่ใช้ระบบ SWIFT ไม่ได้ จะได้รับเงินค่าของที่ขายไปจากไหน?
การถูกตัดออกจาก SWIFT ยังเชื่อมกับปัญหาใหญ่ในระบบการเงินว่า ธนาคารพาณิชย์ในรัสเซียจะล้มรึเปล่า เพราะเมื่อโดนปิดช่องทางการโอนเงิน คนอาจจะกังวลจนแห่ไปถอนเงินและเกิดปัญหากับสภาพคล่องของธนาคาร
แม้ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นมาตรการที่แรง แต่กลับไม่ได้ตัดขาดการชำระเงินระหว่างคู่ค้าและรัสเซียเจ้าใหญ่ๆ โดยเฉพาะ ‘ด้านพลังงาน’ ตรงนี้เลยเป็นอีกจุดสำคัญว่า สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะออกมาตรการในรูปแบบไหนอีก ซึ่งหากจะคว่ำบาตรด้านพลังงานก็อาจจะกระทบยุโรปด้วย
“ในระยะสั้น รัสเซียจะบอกว่าเขาอยู่ได้ด้วยตัวเองแต่ระยะยาวจะกระทบมาก เพราะการขาดเงินจากต่างประเทศก็จะกระทบโอกาสการเติบโต” อมรเทพกล่าว
ประเทศไทยแม้ภูมิศาสตร์จะอยู่ห่างจากรัสเซีย-ยูเครน แต่ผลกระทบทางอ้อมก็มีไม่น้อย บทวิเคราะห์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สรุปไว้ว่า แม้การส่งออกจากไทยไปรัสเซียยังมีขนาดเล็กมากอยู่ที่ราว 0.7% ของการส่งออกไทยทั้งหมด (เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ, ยาง, เครื่องจักร,ผลไม้แปรรูป ฯลฯ) แต่ที่ต้องจับตาคือ การที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก หากสงครามยืดเยื้อก็จะกระทบ supply chain ในไทย และอาจจะกระทบการส่งออกไทยโดยรวม เพราะหากทั่วโลกยังเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ก็อาจจะกระทบการส่งออกไทยไปยุโรปที่มีสัดส่วนสูงถึง 8-9%
การกดดันจากบริษัทยักษ์และใหญ่-นักลงทุน
ภาคเอกชนที่เป็นอีกส่วนสำคัญของเศรษฐกิจก็มีบทบาทต่อการคว่ำบาตรไม่น้อย เพราะเมื่อกระแส และประเทศมหาอำนาจยังแสดงจุดยืน บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็ออกมาคว่ำบาตรรัสเซียด้วยเช่นกัน
ในฝั่งธุรกิจขนาดใหญ่ด้านพลังงานเช่น บริษัท BP ผู้ผลิตน้ำมันค่ายใหญ่ของอังกฤษประกาศถอนหุ้นจากโครงการ Rosneft ของรัฐบาลรัสเซีย ส่วนบริษัท Shell และ ExxonMobil ก็ประกาศยกเลิกการลงทุนในโครงการด้านพลังงานของรัสเซีย และยังมีอีกหลายอุตสาหกรรม ทั้งเทคโนโลยี (Google, Apple, Netflix), รถยนต์ (Toyota, Mercedes-Benz, Ford), การเงิน (Visa, Mastercard), แฟชั่น (Nike, H&M), และโซเชียลมีเดีย (Facebook, Tiktok, Twitter) ที่ต่างระงับการให้บริการเพื่อแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการรุกรานของรัสเซีย
อมรเทพมองว่า รัสเซียยังเป็นตลาดเกิดใหม่ (BRIC) ที่น่าสนใจเสมอ ดังนั้นการที่บริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติประกาศถอนตัว-ถอนการลงทุนยังเป็นเรื่องระยะยาวทำให้เราต้องติดตามสถานการณ์ การเจรจาที่อาจเกิดขึ้นเพราะมีความไม่แน่นอนสูง แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจ SMEs ที่เข้าไปทำธุรกิจในรัสเซีย เพราะจะไม่สามารถกระจายการลงทุนได้หลายประเทศเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นแนะนำว่าต้องรอดูสถานการณ์ซึ่งอาจไม่ต้องย้ายฐานการผลิต หรือการส่งออกกับรัสเซียในทันที
แล้ววิกฤตรัสเซีย-ยูเครนนี้จะเป็นอย่างไร?
อะไรจะเกิดขึ้นกับรัสเซียและโลก?
ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน หรือธุรกิจ ก็ต้องรอดูความชัดเจนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนในระยะสั้น อมรเทพมองว่า ผลกระทบแรกต่อรัสเซียคือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน แต่จะเสียหายและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโลกและไทยยังไง อาจต้องติดตามการเจรจาและข้อตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
ถ้ารัสเซียยืดยูเครนได้ทั้งหมด ก็น่าจะเข้าสู่โต๊ะเจรจากันว่า ข้อตกลงที่รัสเซียจะไม่บุกเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่ว่ามีการเจรจาแล้วการคว่ำบาตรจากนานาประเทศจะหายไป แค่การคว่ำบาตรจะไม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
เมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนขึ้น อาจหมายถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและไทยจะลดลง แต่แน่นอนว่าปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจะไม่สามารถลดลงอย่างรวดเร็วและทันที แม้จะเกิดการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ดังนั้นไทยต้องเดินหน้าแผนการพึ่งพิงพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาราคาพลังงานธรรมชาติที่เหวี่ยงขึ้นลงตามสถานการณ์โลก
ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า ผลกระทบสำคัญที่เราต้องประเมิน คือ เมื่อยุโรปเปลี่ยนนโยบายเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้น้อยลง อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น เพราะเมื่อฝั่งยุโรปลดการซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย แปลว่าต้องเกิดการแย่งกันซื้อน้ำมันในที่อื่น
ล่าสุดฝั่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามีการพูดคุยเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซียกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงกดดันทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจทำให้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ยาวนานกว่าที่คาดไว้
นอกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว วิกฤตนี้ยังทำให้ราคาสินค้าหลายอย่างเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ปุ๋ยยูเรีย น้ำมันทานตะวัน ฯลฯ รวมถึงเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น และอาจยืดเยื้อไปอีกนานด้วย
“น้ำมันทานตะวันที่เราใช้ทำกับข้าวกว่า 46% มาจากยูเครน ผลที่ตามมาคือ ผู้ที่ใช้น้ำมันเยอะอย่างอินเดียหันมาซื้อน้ำมันปาล์ม ดังนั้น ราคาน้ำมันปาล์มก็เลยขึ้น ถ้าใครไปซื้อที่บิ๊กซี โลตัส ราคาน้ำมันปาล์มเราขึ้นไปแล้ว”
สุดท้ายนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก ก็สามารถย้อนกลับมาสร้างผลกระทบในชีวิตเราแบบที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้
*ราคาแก๊ซโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.08 บาทต่อลิตร (ราคาน้ำมันที่ PTTOR ประกาศเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565)
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ilusstration by Sutanya Phattanasitubon