‘Taco Bell มาไทยแล้ว’ วันศุกร์แบบนี้ ชาวสมาคมคนรักอาหารนานาชาติ หรือคนรักวัฒนธรรมอเมริกันอาจกำลังเตรียมมุ่งหน้าไปตึกเมอร์คิวรี่กันอยู่ Taco Bell ดูจะเป็นอีกหนึ่ง ‘วัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน’ ที่เวรี่อเมริกันในแง่ของการมีส่วนผสมจากหลายๆ ชาติ เวลาเราดูซีรีส์ เราจึงมักเห็นชาวอเมริกันกิน ‘อาหารนานาชาติ’ ไม่ว่าจะ บะหมี่กล่อง ทาโก้ เรื่อยไปจนถึงอาหารไทยเสมอ
ถ้าเรามองวัฒนธรรมเม็กซิกัน กระทั่งวัฒนธรรมกลุ่มละตินอเมริกา เราคงพอเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรมกลุ่มรอง’ คือเป็นวัฒนธรรมของคนที่ถูกกดขี่ คนละตินอเมริกามักถูกวาดภาพให้เป็นชนชั้นแรงงาน พูดง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ลำบากๆ หน่อย สำหรับ Taco Bell เองที่ปัจจุบันได้รับการสถาปนากลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนฟาสต์ฟูดจนอิมพอร์ตไกลออกไปทั่วโลก
ซึ่งเจ้า ‘ทาโก้’ ในฐานะอาหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความยากลำบาก และการเติบโตขึ้นของชาวเม็กซิกัน จากจุดกำเนิดในเหมือง เรื่อยมาจนถึงยุคที่ผู้หญิงต้องดิ้นรนจากค่าแรงงานอันน้อยนิด อาหารชนิดนี้ก็มาจากแผงอาหารริมถนน จนวันหนึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกันชน
‘ห่อระเบิด’ ในเหมืองแร่ และการเอาตัวรอดของแรงงานหญิง
ทาโก้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนสำคัญของวัฒนธรรมอาหารเม็กซิกัน เป็นตัวแทนอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบาก เกี่ยวข้องกับการทำงานหนักในยุคอุตสาหกรรม
นักวิชาการกล่าวว่า การใช้แป้งข้าวโพดมาทำให้แบนๆ เพื่อใช้แทนช้อนนั้น ปรากฏในวัฒนธรรมมนุษย์มานับพันปีแล้ว ส่วนคำว่า ‘ทาโก้’ สันนิษฐานกันว่า เกิดขึ้นจากคำเรียกของคนงานเหมืองแร่ชาวเม็กซิกันในช่วงทศวรรษ 1800s ในยุคนั้นชาวเหมืองจะมีการทำระเบิดในเหมือง โดยการห่อดินปืนเป็นแท่งด้วยกระดาษสีเงินหน้าตาคล้ายซิการ์ ซึ่งเรียกว่า ทาโก้ (Taco) Jeffrey M. Pilcher อาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ จาก University of Minnesota เจ้าของหนังสือตำราทาโก้ Planet Taco: A Global History of Mexican Food เขาบอกว่าจากการทำระเบิดดินปืนนี้เอง ทำให้ชาวเหมืองเริ่มเรียกห่ออาหารของตัวเองว่าทาโก้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่พบว่าทาโก้ประเภทแรกมีชื่อว่า ‘ทาโก้ของชาวเหมือง’ (tacos de minero—miner’s tacos)
แม้จะกำเนิดขึ้นในเหมืองแร่ แต่ทาโก้ก็ยังไม่กลายเป็นอาหารประจำชาติ จนกระทั่งเม็กซิโกกลายเป็นดินแดนอุตสาหกรรม เมืองหลวงเช่นเม็กซิโก ซิตี้ก็กลายเป็นเมืองใหญ่ เป็นแหล่งโรงงาน ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างเดินทางเข้ามารวมตัวกันเพื่อทำงาน
ในโลกของโรงงานอุตสาหกรรม งานบางประเภทต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะของแรงงานหญิง ผู้หญิงก็เริ่มเข้ามากระจุกรวมตัวอยู่ในเมืองเพื่อทำงานในโรงงาน เช่น โรงงานมวนบุหรี่ หรือโรงงานทอผ้า และด้วยความที่ค่าแรงนั้นถูกแสนถูก แถมพอเมืองหลวงกลายเป็นเมืองใหญ่ เหล่าแรงงานหญิงที่พกทักษะการทำอาหารติดตัวมาด้วยก็เริ่มหาลำไพ่พิเศษด้วยการขายอาหารริมทาง จุดนี้เองที่ทาโก้ อาหารห่อแป้ง ที่ซื้อง่าย รับประทานได้ด่วนๆ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการเป็นสตรีทฟู้ดของคนใช้แรงงาน
วัฒนธรรมเสี่ยงๆ แบบเม็กซิกันในอเมริกากับกลุ่มราชินีพริก
ในช่วงปลายทศวรรษ 1800s ถึงต้น 1900s ชาวเม็กซิกันเริ่มอพยพจากเม็กซิโกไปใช้แรงงานในเหมืองและการก่อสร้างทางหลวงในสหรัฐฯ ยุคนั้นชาวเม็กซิกันก็เลยพาเอาอาหารและแผงอาหารติดตัวไปด้วย อาหารเม็กซิกันในยุคแรกจึงถูกมองว่าเป็นอาหารริมทาง เป็นอาหารของคนใช้แรงงาน หรืออาหารของชนชั้นล่าง
คล้ายๆ กับตอนที่ทาโก้กำเนิดในเม็กซิโก ทาโก้ในสหรัฐเองก็เกิดขึ้นจากกลุ่มแรงงานหญิงที่ตั้งแผงขายอาหารในนามกลุ่ม ‘The Chili Queens’ กลุ่มสาวสวยนี้เปิดแผงขายอาหารช่วงกลางคืน ในงานเฟสติวัลที่เมือง San Antonio ช่วงทศวรรษ 1880s โดยนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาเที่ยวที่ San Antonio มากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือการมาเพื่อซื้ออาหารของราชินีพริกนี่แหละ
นึกภาพงานเฟสติวัลที่มีคนมากมาย และมี The Chili Queens เป็นกลุ่มสาวๆ ที่ขายอาหารเม็กซิกัน ในยุคนั้นถือกันว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่อันตราย การมากินอาหารเม็กซิกันของกลุ่มราชินีพริกจึงดูเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้เสพอาหารที่เผ็ดร้อนเหมือนถูกงูพิษกัด แถมสาวๆ ที่ขายทาโก้ก็ถูกมองในเชิง sexy ยั่วยวนหน่อยๆ
ฟังดูแล้ว อาหารเม็กซิกันอาจจะมีมุมที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนทางวัฒนธรรม อาหารเม็กซิกันเริ่มมีที่ทางดีขึ้นหลังช่วงปี 1910-1920 เมื่อชาวเม็กซิกันรุ่นต่อๆ มาเริ่มมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เริ่มมีสิทธิทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม จุดนี้เองที่ลูกหลานเม็กซิกันยังคงกินอาหารบ้านเกิด สุดท้ายอาหารชนิดนี้ก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่โลกของอุตสาหกรรมอาหารและดินแดนฟาสต์ฟู้ด และอาหารเม็กซิกันก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองอาหารอเมริกัน
Taco Bell เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมอาหารเม็กซิกัน’ ที่กลายเป็น ‘วัฒนธรรมอาหารเม็กซิกันอเมริกัน’ โดยเริ่มต้นจากการเป็นแผงฮอตด็อกเล็กๆ ในเมือง San Bernardino ของ Glen Bell สุดท้ายแผงฮอตด็อกนี้ดูจะไม่เวิร์ค นาย Glen Bell เลยไปเห็นว่าร้านอาหารเม็กซิกันตรงข้ามที่ชื่อ Mitla Cafe ทำไมมันคนเยอะจัง เฮียแกเลยจัดการลองทำสูตรทาโก้กรอบแล้วเปิดเป็นแผงใหม่ โดยขายทาโก้ในชื่อ Taco-Tia ในช่วงต้นปี 1952
ในปี 2018 Taco Bell มีชื่อเสียงจากการเป็นเมนูกินง่าย ราคาประหยัดที่ดัดแปลงจากอาหารเม็กซิกัน ไม่ว่าจะเป็น ทาโก้ เบอริโต้ เคสซาดีย่า นาโช่ ร้าน Taco Bell จึงขยับขยายสาขาไปมากกว่า 7,000 สาขา มีลูกค้ากว่าสองพันล้านคน ซึ่งจะว่าไป Taco Bell ดูจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เวรี่อเมริกัน คือมีที่มาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ในทางกลับกัน นาย Glen Bell ก็ไม่ได้มีความเป็นเม็กซิกันแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก