ช่วงนี้หลายคนอาจรู้สึกหมดไฟโดยไม่มีสาเหตุ แม้ปริมาณงานเท่าเดิม ลักษณะงานเหมือนเดิม ระยะเวลากำหนดส่งเท่าเดิม เงินเดือนที่ได้ก็เท่าเดิม แต่ทำไมถึงไม่มีแรงกาย แรงใจ หรือไม่มีแม้แต่อารมณ์จะทำงานซะอย่างงั้น
อย่างที่รู้กันว่าภาวะหมดไฟ (burnout syndrome) คือภาวะที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังหรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ที่ส่งผลให้เราไม่มีความสุข เศร้า หดหู่ ไม่อยากทำงาน รวมถึงประสิทธิผลก็ลดลงตามไปด้วย แต่บางครั้งจะสังเกตว่า งานที่ต้องรับผิดชอบในตอนนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อก่อนซะเท่าไหร่ ทั้งปริมาณ ลักษณะ หรือระยะเวลากำหนดส่งก็เหมือนเดิมทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้รู้สึกเบื่อหน่ายหรือหมดไฟที่จะทำมาก่อน จะมีก็แต่การทำงานในช่วงโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ที่ต้องเปลี่ยนมา work frome home นั่งเหงาๆ อยู่บ้านคนเดียวนี่แหละ
หรือว่า?
เหตุเกิดจากความเหงา
ทุกวันนี้ คนวัยทำงานสัมผัสกับความเหนื่อยล้าและความโดดเดี่ยวในที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการสำรวจทางสังคมปี ค.ศ.2016 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลายสิบปีที่แล้ว ผู้คนมีแนวโน้มจะรายงานว่าตนเองหมดแรงมากขึ้นถึงสองเท่า และเกือบ 50% กล่าวว่า พวกเขามักจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น ผลการสำรวจยังพบความเกี่ยวข้องบางอย่าง ระหว่าง ‘ความเหงา’ และ ‘ความเหนื่อยล้า’ กล่าวคือ ยิ่งพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกเหงามากขึ้นเท่านั้น
ความเหงาที่ว่าไม่ได้เป็นผลมาจากการแยกตัวทางสังคม (social isolation) เสมอไป แต่เกิดได้จากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่มาจากภาวะหมดไฟในการทำงาน จากหนังสือเรื่อง The Happiness Track พบว่า 50% ของผู้คนจากทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานแสวงหากำไรหรือไม่แสวงหากำไร ล้วนแล้วแต่ประสบกับภาวะหมดไฟกันทั้งสิ้น และนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร ที่มีงานยุ่งหรือภาระที่หนักจนเกินไปเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ได้แพร่หลายไปยังทั่วทุกอาชีพ และทุกลำดับชั้นในองค์กร
แต่ไม่ว่าความเหงาจะเป็นผลมาจากการแยกตัวทางสังคมหรือความเหนื่อยล้า ผลกระทบต่อมนุษย์ก็ถือว่าร้ายแรงอยู่ดี จอห์น คาซิโอโป (John Cacioppo) นักประสาทวิทยา ผู้ศึกษาเรื่องความเหงามาเป็นเวลาหลายปี และแต่งหนังสือเรื่อง Loneliness: Human Nature and the Need for Social Connection เคยกล่าวไว้ว่า ความเหงาเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง เรารับรู้เพียงแค่พื้นผิว แต่ยังมีที่ลึกลงไปกว่านั้นอีกมาก ซึ่งเรามองไม่เห็น และเขาก็มักจะเน้นย้ำถึงผลกระทบที่ความเหงามีต่อสุขภาพและร่างกายของมนุษย์อยู่เสมอ
“ความเหงาเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง
เรารับรู้เพียงแค่พื้นผิว
แต่ยังมีที่ลึกลงไปกว่านั้นอีกมาก
ซึ่งเรามองไม่เห็น”
“ความเหงาเรื้อรังสามารถเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 20% ซึ่งมีผลพอๆ กับโรคอ้วน แม้ว่าโรคอ้วนจะไม่ได้ทำให้เราทุกข์ระทมเท่าความเหงาก็ตาม โดยเราได้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของคนเหงา พบว่า ความเหงาทำให้ประสิทธิภาพการนอนหลับลดลง และทำให้เวลาตื่นมักจะมีอาการเหนื่อยล้า นอกจากนี้ ร่างกายจะสึกหรอสะสมไปเรื่อยๆ หากเรารู้สึกเหงามากกว่าที่ควรจะเป็น แม้ไม่สามารถบอกได้ว่าความเหงาเชื่อมโยงกับโรคหัวใจหรือมะเร็งก็ตาม แต่อย่างน้อยเราจะเห็นผลกระทบที่มีต่อระบบถูมิคุ้มกันแน่นอน” จอห์นกล่าวกับสำนักข่าว The Guardian
เช่นเดียวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ การพักผ่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมทำให้เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าในเช้าวันรุ่งขึ้น และจะสะสมไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลหรือ performance ในการทำงานในภายหลัง
แม้บริษัทต่างๆ จะพยายามรับมือกับความเหนื่อยหน่ายในที่ทำงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาความเครียดของพนักงาน หรือการลดภาระงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ แต่พอเชื่อมโยงไปถึงอีกปัจจัย นั่นก็คือความเหงา ก็พบว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในที่ทำงาน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟด้วย
มีผลการวิจัยที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่าง 1.การสนับสนุนสังคมในที่ทำงาน 2.อัตราการเกิดภาวะหมดไฟ และ 3.ความพึงพอใจในการทำงานและประสิทธิที่มากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วก็พบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการมีความสุขในที่ทำงาน ก็คือการมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนร่วมงาน หรือการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงาน เนื่องจากจะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ได้รับการสนับสนุน ความเคารพนับถือ และความปลอดภัย
พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะรู้สึกดีหากเวลามีปัญหาในที่ทำงาน อย่างน้อยก็มีเพื่อนร่วมงานคอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา หรือให้ความช่วยเหลือ ทำให้ปัญหาที่เจอนั้นไม่หนักหนาสาหัสเกินไป จนเกิดภาวะหมดไฟในที่ทำงาน และเราจะรู้แย่หากไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เพราะเวลาเจอปัญหาต่างๆ แปลว่าเราจะต้องผ่านมันไปเพียงลำพัง และการต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้านั่นเอง
นอกจากนี้ ยังพบว่าความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคมส่งผลให้เกิดความผาสุกทางจิตใจที่มากขึ้นด้วย เพราะเมื่อผลผลิตและประสิทธิภาพในงานสูงขึ้น พนักงานก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และทำให้พวกเขามีความไว้เนื้อเชื่อใจ เห็นอกเห็นใจ และยินดีให้ความร่วมมือกับผู้อื่นมากขึ้นเช่นกัน จึงเป็นเรื่องดีหากองค์กรควรสนับสนุนวัฒนธรรมให้มีการทำงานร่วมกัน หรือเอาใจใส่ซึ่งกันและกันในที่ทำงานมากขึ้น เพราะการเอาใจใส่ระหว่างเพื่อนร่วมงานจะเป็นปัจจัยป้องกันความเหนื่อยล้าจากปัญหาต่างๆ ที่นำไปสู่ภาวะหมดไฟในอนาคตได้
ภาวะหมดไฟในช่วงโรคระบาด
มีผลการรายงานภาวะหมดไฟของผู้คนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงโรคระบาดใหญ่ COVID-19 เนื่องการการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ กลายเป็น remote working ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น และเส้นแบ่งสมดุลชีวิตกับการทำงานเริ่มจางลง แต่หลายครั้งการหมดไฟกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนเรามักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังหมดไฟ จนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกหมดแรงทั้งทางกาย ทางใจ และทางอารมณ์ ซึ่งการระบุว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่สะสมมาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว และบางครั้งเราอาจมองไม่เห็นถึงสัญญาณบางอย่าง ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ เช่น ความเหงาหรือความโดดเดี่ยว
ความเหงาเกิดจากการแยกตัวทางสังคม ซึ่งการแยกตัวทางสังคมก็อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น บุคลิกภาพส่วนตัว ลักษณะของงานที่รับผิดชอบ หรือวัฒนธรรมในองค์กร แต่พอเป็นสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ที่เราต้องกักตัวเองหรือ self-isolate อย่างไม่มีทางเลือก ความเหงาก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแบบปฏิเสธไม่ได้
กล่าวคือ ถึงแม้เราจะเป็นคนที่เข้าสังคมเก่งหรือเข้ากับคนอื่นๆ ในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะหนีพ้นจากความเหงาในช่วงนี้ไปได้
ความเหงาซึ่งเป็นความรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ และเป็นสภาวะทางจิตใจที่รับรู้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของเรามีคุณภาพและปริมาณต่ำกว่าที่ต้องการ ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะภาวะซึมเศร้า ความจำที่แย่ลง และความเครียดที่เพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ ความหมายและลักษณะของความเหงาคล้ายกับภาวะหมดไฟอยู่หลายประการ ซึ่งปลายทางก็คือทำให้เรามองหลายอย่างในชีวิตในแง่ลบ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ เหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว และต้องยอมรับกว่า remote working หรือการ work from home ทำให้ความเหงาเกาะกินจิตใจพนักงานได้จริงๆ โดยสิ่งที่ผู้คนคิดถึงในการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ นั่นก็คือ office small talk หรือการเมาท์มอยเล็กๆ น้อยๆ ในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และการสร้างความเชื่อใจของคนในที่ทำงาน
ซามีร์ ปาริกห์ (Samir Parikh) ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพจิตและพฤติกรรมศาสตร์ที่ Fortis Healthcare กล่าวว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานสามารถเป็นเครือข่ายการสนับสนุนทางสังคมที่ดีได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะพลาดการติดต่อแบบเห็นหน้ากัน จึงอาจนำไปสู่ความรู้สึกเบื่อหน่าย
ช่วงนี้จึงอยากชวนทุกคนสำรวจความรู้สีกของตัวเองว่า ต้นเหตุของความเหนื่อยล้าที่เราเผชิญอยู่ เกิดจากการไม่ได้พบปะผู้คนในช่วงนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การขาดการสนับสนุนทางสังคมทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าได้เช่นกัน บางครั้งปัญหาที่เจอ ความเบื่อหน่ายที่พบ อาจลดลงได้หากได้แชร์หรือระบายออกมาให้คนอื่นรับฟัง หากรู้สึกเหงาก็ติดต่อกับผู้คนบนโซเชียลมีเดียบ้าง วิดีโอคอลบ้าง นัดเจอเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ตามสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่านบ้าง
เพราะต้นตอของความเหนื่อยล้าจนเกิดภาวะหมดไฟ เป็นไปได้ว่าอาจจะเริ่มจากความเหงาหรือความโดดเดี่ยวที่ไม่ได้เจอผู้คน แม้จะสักเล็กน้อยก็ตาม ลองหาโอกาสดึงบรรยากาศเหล่านั้นกลับมาเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการชาร์จแบตให้กับตัวเอง และกลับมาทำงานได้อย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก