วางฟอนต์อย่างไรให้สวย งานแบบนี้ใช้ฟอนต์แบบไหนดี เอ.. แต่ทําไมฟอนต์นี้อ่านยากจัง
ถึงจะไม่ใช่กราฟิกดีไซน์เนอร์หรือคนในวงการออกแบบ แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องพยักหน้าตาม คือ “ไม่มีวันไหนที่เราไม่เห็นตัวอักษร” และนี่คือประโยคที่ สมิชฌน์ สมันเลาะ นักออกแบบตัวอักษรจาก คัดสรร ดีมาก เอ่ยขึ้นมา เมื่อเราชวนเขาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องฟอนต์และงานอักขระศิลป์ประจําปีอย่าง BITS (Bangkok International Typographic Symposium) ซึ่งกําลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ความเข้าใจเรื่องฟอนต์มีผลต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นกันในชีวิตประจําวันอย่างไร สวยไม่สวยเป็นเรื่องส่วน บุคคลจริงไหม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมีผลต่อการอัพเดตของฟอนต์ยังไงบ้าง แล้วในสายตาของคน ออกแบบฟอนต์เขาเห็นรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากคนปกติอย่างไร
..และนี่คือบทสนทนาที่ถอดเป็นตัวอักษรมาให้อ่านกัน
ทำไมจึงจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับฟอนต์อย่างงาน BITS ทุกปี มีเหตุผลอย่างไร
หลายคนอาจคิดว่าฟอนต์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นมาเป็นแบบเดียวไปตลอด แต่จริงๆ แล้ว ฟอนต์มีวิวัฒนาการอยู่เสมอ ฟอนต์ชุดนึงจะเปลี่ยนฟอร์แมตไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยี อย่างสมัยก่อนใช้เทคโนโลยีตะกั่วในการพิมพ์ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องเปลี่ยนจากตัวตะกั่วเป็นไฟล์ดิจิทัล หน้าตามันยังคงอยู่ แต่ฟอร์แมตมันเปลี่ยนไป
พอเป็นไฟล์ดิจิทัล มันก็จะเหมือนโปรแกรมต่างๆ ที่เราใช้ คือมีการอัพเดตอยู่เสมอ พออัพเดต iOS แอปพลิเคชั่นก็ต้องอัพเดตให้รองรับ iOS ได้ ฟอนต์ก็เหมือนกัน ต้องอัพเดตเพื่อให้สามารถอยู่บนฟอร์แมตใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ อีกอย่างที่เปลี่ยนในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือสิ่งพิมพ์ถูกใช้งานน้อยลง ตัวอักษรที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจําวันก็อยู่บนหน้าจอเป็นหลัก ซึ่งรูปแบบของจอก็มีหลากหลายมาก หลายยี่ห้อ หลายขนาด แน่นอนมันก็ทำให้การออกแบบต้องปรับเปลี่ยนไป ปัจจุบันงานออกแบบจึงเป็นงาน ‘responsive design’ การออกแบบฟอนต์ก็กลายเป็น ‘Variable Font’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฟอนต์ที่รองรับงานออกแบบดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น เวลาเราใช้ตัวน้ำหนักกลาง (regular) บนจอคอมพิวเตอร์เราก็รู้สึกว่าความหนาโอเคแล้ว แต่ถ้าตัวอักษรขนาดนี้ไปแสดงผลบนอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กลง หน้าจอที่เล็กลงจะทําให้มันดูหนาขึ้น เราจึงต้องการฟอนต์ในน้ำหนักกลางที่บางลงเล็กน้อย เพื่อใช้ในจอขนาดเล็กและได้น้ำหนักกลางที่พอดีตามต้องการ
ตามที่กล่าวมาข้างต้น เพื่ออัพเดตข้อมูลต่างๆ งานสัมมนาด้านการแบบตัวอักษรหรือการออกแบบในมิติอื่นๆ ในโลกจึงมีจัดงานกันอยู่ทุกปี ซึ่งไม่เพียงแค่เฉพาะงานบิทส์เท่านั้น เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
นอกจากเรื่องเทคโนโลยี เทรนด์ของฟอนต์ในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปด้วยไหม
ไม่เชิงเรียกเป็นเทรนด์นะครับ ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่คอนเซ็ปต์ของตัวอักษร ว่ามันคือการแทนน้ําเสียงออกมาเป็นภาพ แล้วการแทนน้ําเสียงของภาพก็มีสัญญะอยู่ในนั้น อาจจะเป็นรูปร่างเรขาคณิต หรือ Humanist style ซึ่งแต่ละแบบก็ให้น้ําเสียงที่แตกต่างกันไป
ตัวอักษรก็เปรียบเหมือนเสื้อผ้าที่ใส่ตามโอกาสต่างๆ มีตัวอักษรแบบเล่นๆ ตัวอักษรแบบทางการ มีความจริงจังในการใช้งานแตกต่างกันไป ต่อให้เราซื้อเสื้อผ้ามาใส่เพื่อโอกาสที่เป็นทางการ แต่ถามว่าชุดตัวนี้ที่เราซื้อวันนี้จะอยู่ไปถึง 40 ปีไหม ก็ไม่ เพราะเสื้อผ้าก็มีรายละเอียดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ฟอนต์ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแล้วดูใหม่ขึ้นโดยที่ยังมีภาพหรือสัญลักษณ์ที่คนใช้งานแล้วยังได้น้ําเสียงแบบเดิมอยู่
พูดถึงฟอนต์ไทยกับการออกแบบ คิดอย่างไรกับการที่มีคนบอกว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยป้ายหรือดีไซน์ที่รู้สึกว่าเป็นมลพิษทางสายตา
จริงๆ ในคำถามนี้มีหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวอักษรรกๆ หรือป้ายที่ดูไม่สบายตา ถ้าเป็นมิติของความสวยงามก็อาจจะต้องลงในรายละเอียดยิบย่อย คนนึงอาจมองว่าสวย อีกคนอาจมองว่าไม่สวย แต่ถ้าเป็นมิติเรื่องการใช้งาน การผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ แต่หลักๆ คือในช่วงก่อนหน้านี้ การเรียนการสอนวิชาเรื่องการออกแบบตัวอักษร (Typography) ในบ้านเรามีน้อย ในช่วงตอนที่มีคอมพิวเตอร์ช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่มีการเรียนการสอนที่หลากหลายเท่าปัจจุบัน คนที่ใช้โปรแกรมเป็นก็สามารถวางตัวอักษรได้ วางเลย์เอาท์ได้ แต่ขาดทักษะในการเลือกว่าจะใช้แบบตัวอักษรแบบไหน เพื่อจุดประสงค์อะไร เวลาออกแบบจึงนำมาใช้ปนกันไปหมด ทําให้ในช่วงก่อนหน้านี้ป้ายต่างๆ อาจจะไม่โอเคนักในมุมของคนที่ทํางานดีไซน์ แต่ด้วยความที่เป็นรูปแบบที่ใช้มานาน ก็อาจมีคนมองว่าการใช้แบบนั้นสวยไปแล้วก็มี แต่ต้องแยกว่าอาจจะไม่ดีก็ได้ ซึ่งความผิดเพี้ยนมันก็อาจกลายเป็นวัฒนธรรมอีกแบบ เป็นความสวยงามที่เกิดจากความเคยชิน
แล้วความสวยงามเป็นเรื่องส่วนบุคคล (subjective) จริงไหม มีหลักการอะไรที่เป็นสากลหรือเปล่า
มันก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นหลักสากลพื้นฐาน กับส่วนที่เป็นรสนิยมส่วนบุคคล ถ้าเราพูดถึงเส้นสาย รายละเอียดต่างๆ มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวมาก แต่ในเรื่องของการใช้งาน หลักๆ ก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการอ่าน (legibility) สัดส่วนของตัวอักษร ทั้งภาษาไทยและตัวละติน โดยปกติก็จะมีสัดส่วนที่ถูกใช้ต่อๆ กันมา จนกลายเป็นภาพจําของตัวอักษร
เปรียบเทียบว่าถ้าเป็นช้างก็ต้องมีงวง ถ้าไม่มีก็จะเป็นช้างประหลาด ตัวอักษรก็เหมือนกัน อย่างตัว ช.ช้าง ถ้าหางสั้นก็จะไปใกล้เคียงกับ ข.ไข่ ก็เลยเป็นค่ากลางที่หางช้างต้องยาวจนเห็นได้ชัด ไม่ได้เป็นเรื่องความงาม แต่เป็นค่ากลางที่ทุกคนศึกษาและใช้ร่วมกัน ซึ่งค่ากลางเหล่านี้ก็มีหลักการ ทฤษฎีอ้างอิงและการวิจัยรองรับ รวมถึงมีประวัติศาสตร์ที่สามารถเอามาเล่าได้ว่าทําไมถึงเป็นแบบนี้
อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งคือ เวลาออกแบบอะไรแล้วใช้ฟอนต์ภาษาไทย จะไม่สวยเท่าฟอนต์ภาษาอังกฤษ คิดว่าเหตุผลคืออะไร
สาเหตุมีหลากหลายมาก อย่างหนึ่งคือภาษาอังกฤษไม่มีสระและวรรณยุกต์หลายชั้น เพราะฉะนั้นพอเอาฟอนต์ละตินมาใช้งาน ดีไซน์เนอร์ก็จะรู้สึกว่าทํางานได้ง่ายกว่า เพราะช่องว่างระหว่างบรรทัดไม่ได้ห่างกันมาก การจัดอะไรก็จะดูง่าย แล้วก็เคยชินกับแบบนั้น
ทีนี้พอเปลี่ยนจากฟอนต์ละตินมาเป็นฟอนต์ไทย ก็จะพบข้อจํากัดที่ว่าตัวอักษรภาษาไทยมันไม่เรียบง่ายเท่าตัวละติน ทําให้รู้สึกไม่คล่องเวลาหยิบฟอนต์ไทยมาใช้ ทั้งที่ถ้าลองใช้จริงๆ แล้ว ตัวอักษรไทยก็สามารถใช้ได้ดีเช่นเดียวกับตัวละติน เพียงแต่อาจจะต้องใช้ทักษะในการใช้มากกว่าตัวละตินแค่นั้น
อีกสาเหตุหนึ่งคือ สมัยก่อนตัวภาษาไทยอาจจะมีให้เลือกใช้ไม่มาก เลยมีข้อจํากัดเพราะมีแบบตัวอักษรไม่กี่แบบ พอนำมาใช้ก็จะรู้สึกว่ามันช้ำและซ้ำ แต่ปัจจุบันทางเลือกก็มีเยอะขึ้นมากแล้ว ปัญหานี้ก็มีทางแก้ไขมากขึ้น
นักออกแบบประเทศอื่นๆ มีปัญหาในลักษณะเดียวกันไหม (อย่างเช่นเกาหลีหรือญี่ปุ่น)
เท่าที่ทราบและวิเคราะห์เอานะครับ เกาหลีมีปัญหาค่อนข้างน้อย เพราะตัวอักษรของเขาถูก simplified มา และรูปทรงก็จะมีความเป็นเรขาคณิต ซึ่งใช้งานได้งานสำหรับกราฟิกดีไซน์เนอร์ ญี่ปุ่นอาจใช้งานยากกว่านิดนึง แต่ข้อดีของตัวอักษรในกลุ่ม CJK (Chinese, Japanese, Korean) คือตัวอักษรเหล่านี้มีการจัดการพื้นที่อยู่ในบล็อกสี่เหลี่ยม เลยทําให้จัดการอะไรได้ง่าย ไม่มีบน-ล่างเหมือนตัวอักษรไทย แต่ก็จะมีปัญหาอื่นๆ เช่น มีอักขระเยอะมาก มีเป็นพันตัวอักษร โดยเฉพาะตัวอักษรจีน ถึงแม้จะเป็น Simplified Chinese ก็ตาม กว่าจะทําฟอนต์เสร็จชุดนึงจึงใช้เวลาหลายปี ในทางกลับกัน การมีสระหรือวรรณยุกต์อาจจะทําให้การออกแบบฟอนต์ไทยยาก แต่อักขระเราไม่เยอะ สามารถทําฟอนต์ให้เสร็จโดยใช้เวลาน้อยกว่ากลุ่ม CJK สามารถสร้างแบบใหม่ๆ ให้เลือกใช้ได้หลากหลายกว่า
จําเป็นไหมที่คนออกแบบฟอนต์ภาษานั้น ต้องเป็นคนชาตินั้น
จริงๆ คนต่างชาติที่ออกแบบฟอนต์ไทยก็มีเยอะนะ เขาก็เข้าใจอักขระของไทยในระดับนึง แต่เขาจะไม่มีความคุ้นชินกับการใช้ภาษา เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาตัวอักษรไทยที่คนต่างชาติออกแบบมาให้คนไทยดูก็จะรู้สึกแปลกๆ ไม่คุ้นเคย มันอาจจะเป็นการสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวอักษรจะมีค่ากลางที่เราเอามาใช้แล้วน่าเชื่อถือหรือเป็นทางการ เราก็อาจจะไม่หยิบฟอนต์เหล่านี้มาใช้
ในมุมมองของนักออกแบบชาวต่างชาติเขาอาจรู้สึกว่ามันโอเคแล้ว แต่จริงๆ ความเข้าใจในสิ่งนี้อาจจะต้องเกิดจากการใช้ชีวิต หรือต้องมาพบเจอการใช้งานจริงๆ ที่ผมเคยเจอคือตัว ธ. ธง อย่างที่เราทราบกันคือ ธ. ธงจะมีร่มอยู่ข้างบน ลำตัวหลักอยู่ข้างล่าง แล้วเส้นขาล่างทางซ้ายสูงไปเกือบถึงร่ม เคยมีคนต่างชาติ ออกแบบ ธ. ธงให้เส้นข้างๆ ลงมาต่ำ ซึ่งมันก็จะคล้าย ร. เรือ บริบทก็อาจจะมีส่วนช่วยให้เราอ่านได้แต่ พอเราดูเราก็จะรู้สึกว่ามันควรขึ้นมาอีกนะ มันก็เป็นจุดที่ทําให้คนไทยรู้สึกแปลกๆ เมื่อเห็น ธ.ธง แบบนี้ ดังนั้นแล้วคนออกแบบฟอนต์ภาษาใดก็ตาม ถ้าเป็นคนชาตินั้นก็จะได้เปรียบในเรื่องมุมมอง เพราะในฐานะของเจ้าของภาษาและความคุ้นชินกับภาษาที่ใช้ หรือที่เราเรียกว่า Native eyes นั่นเอง
ในสายตาของคนออกแบบฟอนต์ คิดอย่างไรกับความเป็นไทยที่รกๆ เยอะๆ และเราจะทําให้ทัศนียภาพของเมืองไทยดีได้อย่างไร
เรื่องทัศนียภาพนี่ยึดโยงอยู่กับหลายปัจจัย มีทั้งส่วนของรัฐและส่วนของประชาชน ส่วนของรัฐก็มีทั้งการวางผังเมือง การจัดการเรื่องป้ายโฆษณา การจัดการสายไฟ เสาไฟ สายโทรศัพท์ โดยรวมเรื่องการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทุกอย่างทำอย่างมีระบบ มีการควบคุมดูแลและคิดเผื่อการดูแลรักษา คิดเผื่อการทำความสะอาด ปัญหาเรื่องทัศนียภาพก็จะดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถทำได้ง่าย ถ้าวางแผนมาตั้งแต่เริ่ม ถึงแม้ไม่ได้วางแผนก็สามรถจัดการได้อยู่ดี แค่อาจจะยากขึ้น ประเด็นอยู่ที่ไม่มีการทำให้เกิดเสียมากกว่า
ขณะที่ในส่วนของประชาชน มักจะมีทัศนคติอย่างนึงที่รู้สึกได้ คือส่วนใหญ่ไม่คิดว่าของหรือพื้นที่สาธารณะเป็นของตนเอง มักจะคิดกันว่าช่างมัน ไม่ใช่ของฉัน ไม่ใช่ของเรา พอมีทัศนคติแบบนี้จึงทำให้ของส่วนรวม พื้นที่ส่วนรวมเละและพังอยู่เสมอๆ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มของความรกและทัศนียภาพที่ไม่งามตามมา
ถ้าเป็นในส่วนของการใช้งาน การยกระดับความเข้าใจจะอยู่ส่วนไหนของกระบวนการการศึกษาไทยได้บ้าง
ผมมองว่าปัจจุบันมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ การสอนวิชา Typography ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายสถาบัน แต่ปัญหาคือ คนสอนอาจจะมีน้อยหน่อย แต่พอพูดถึงการศึกษา เราอาจจะเคยรู้สึกว่า เราเรียนออกแบบก็จะศึกษาแต่เรื่องออกแบบเรื่องศิลปะ ไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ซึ่งจริงๆ เราปฏิเสธมันไม่ได้ เรื่องตัวอักษรหรือดีไซน์ก็เกี่ยวข้องกับมิติการเมือง สังคม วัฒนธรรม เราต้องเจอมันตลอดเวลา เราอาจจะสื่อสารสิ่งที่ตัวเองออกแบบไม่ได้ถ้าเราขาดจิตวิทยา ขาดเรื่องทักษะการนำเสนอเพื่ออธิบายให้คนอื่นเข้าใจ แล้วก็ไม่ใช่แค่การเรียนดีไซน์ แต่ยังรวมถึงการเรียนสาขาอื่นๆ ก็เช่นกัน ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป การศึกษาควรสอนให้คนสนใจรอบด้านไปพร้อมกัน เราถึงจะมีข้อมูล ทำความเข้าใจ และสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้
คนที่จะมาทํางานออกแบบฟอนต์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ต้องอธิบายก่อนว่า นักออกแบบตัวอักษรก็มีแยกย่อยออกไป จะเป็นนักออกแบบตัวอักษรที่เน้นศึกษาข้อมูลให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ หรือเป็นสายออกแบบโดยเฉพาะ (Design Production) หรือจะเป็นสายเทคนิค โดยเน้นเรื่องเทคโนโลยี ถ้าจะถามว่าคนแบบไหนที่จะมาทํางานนี้ก็ต้องถามก่อนว่าจะมาทําในประเภทไหน
ถ้าเป็นคนที่สนใจเทคโนโลยีมากๆ ก็อาจทํางานเบื้องหลัง (post production) หรือทำฟอนต์ออกแบบฟอนต์ที่เน้นเทคนิค แต่ถ้าใครถนัดเรื่องการออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ก็อาจจะทําด้านออกแบบอย่างเดียวโดยเฉพาะ ส่วนถ้าใครชอบเรื่องแบรนด์ดิ้งและช่างสังเกตเรื่องต่างๆ ก็มาทําในส่วนที่เป็นเตรียมงานออกแบบ สายประวัติศาสตร์ก็จะทําฟอนต์บ้าง แต่หลักๆ ก็ศึกษาและวิจัย รวมถึงเน้นสอนหรือบรรยาย ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของแต่ละคนก็จะแยกกันออกไปตามประเภทต่างๆ
คนที่ทํางานด้านนี้มักมีสายตาที่มองเห็นความพิเศษบางอย่าง สายตาแบบนี้มันคืออะไร
มันเป็นเหมือน specialist ในแต่ละด้าน ตัวอักษรที่มีรายละเอียดที่จํากัดเพราะไม่อย่างนั้นตัวอักษรก็จะไม่เป็นตัวนั้น เช่น ก ก็จะมีแค่ส่วนปากกับส่วนโค้ง ถ้ามีมากกว่านั้นก็จะไม่เป็นก. ไก่ ดังนั้นพออยู่กับมันซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็ต้องยิ่งลงลึกในรายละเอียด ว่ามีข้อจำกัดเพียงเท่านี้ ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างแบบใหม่ออกมาและแตกต่างจากเดิมได้
สายตาที่ละเอียดนี้ส่งผลต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน
ก็ทําให้บางทีพอมาเจอตัวอักษรในชีวิตประจําวัน ก็เอะใจเหมือนกันว่าตัวนี้ทําไมไม่เป็นแบบนี้ แต่เราก็เคารพในการตัดสินใจของเขา เพราะเราไม่รู้เงื่อนไขว่านักออกแบบไปเจออะไรมาบ้าง เราก็ต้องเคารพคนที่ออกแบบ แต่มันเป็นเรื่องปกติของเราว่าเห็นแล้ว เออ.. มันน่าจะเป็นแบบนี้นะ แล้วความละเอียดนี่ก็ลามไปถึงเรื่องการจัดการต่างๆ ในชีวิตด้วย
ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อวงการออกแบบฟอนต์อย่างไร
เวลาสื่อเปลี่ยน ตัวอักษรที่เคยใช้ในสื่อเดิมก็เปลี่ยนไป อย่างสื่อเดิมที่เป็นสิ่งพิมพ์ตัวอักษรก็จะถูกออกแบบไว้ในแบบสิ่งพิมพ์ ไว้เพื่อการใช้กับหมึกพิมพ์ แต่พอเป็นดิจิทัลก็เริ่มไม่เหมือนกันแล้ว เราอาจต้องเผื่อเรื่องแสง เรื่องความสว่าง เรื่องความชัดเจน สมัยก่อนจอสกรีนยังไม่ละเอียดมาก ตอนออกแบบเลยต้องมี hinting เพื่อให้มันรับกับสกรีนที่มันไม่คมชัด พอจอเป็น 4K hinting ก็อาจลดความจําเป็นลง เราสามารถใส่รายละเอียดได้มากขึ้น เพราะว่ามันเห็นถึงความชัดเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่คือตัวแปรที่ทําให้รูปแบบมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา
ตอนนี้เหมือนว่าเทรนด์การดูของคนจะเปลี่ยนเป็น ‘visual media’ มากขึ้น เน้นภาพเป็นหลัก สิ่งนี้ทํา ให้วงการฟอนต์เปลี่ยนไปไหม
ไม่มีวันไหนที่เราไม่เห็นตัวอักษรครับ ต่อให้ดูภาพอย่างอินสตาแกรม เราก็เห็นตัวอักษรในคอมเมนต์อยู่ดี สมัยก่อนจะใช้ตัวอักษรที่ดีไซน์เพื่อตกแต่งหรือเป็นดิสเพลย์ แต่ปัจจุบัน พอตัวอักษรถูกใช้งานเป็นตัวกลางในการตอบคอมเมนต์หรือพูดคุย ตัวอักษรก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้น เรียบง่ายมากขึ้น เพื่อเน้นประโยชน์ต่อการใช้งาน หรือจอที่เราใช้งานในปัจจุบันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ตัวอักษรที่มีลักษณะผอมๆ ก็จะมีออกมาเยอะ เพราะถ้าตัวอักษรถ้ามันกว้างก็จะบรรจุคําได้น้อย แบบตัวอักษรทรงผอมจะได้บรรจุคําเยอะขึ้น ทําให้การอ่านราบรื่นขึ้น ซึ่งนี่เป็นประสบการณ์ของผู้ใช้ที่บางทีอาจไม่รู้ตัวว่าดีไซเนอร์ออกแบบมาให้แล้ว
อยากให้วงการฟอนต์และคัสตอมฟอนต์พัฒนาอย่างไรบ้าง อะไรคืออุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาอยู่
จริงๆ อุปสรรคในบ้านเราเยอะมากเลย (หัวเราะ) มันมีหลายส่วนมากที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องคัสตอมฟอนต์ ก็อย่างเช่นการเริ่มมาจากเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าเศรษกิจไม่ดี ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องเงินทุนต่างๆ แม้ว่าเขาอาจจะเข้าใจเรื่องตัวอักษร แต่เขาอาจจะไม่สามารถเอางบประมาณมาใช้ได้เต็มที่ หรืออาจจะอยู่ในแผนงานหลังๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้วควรทำตั้งแต่แรก แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องที่ขาดความเข้าใจว่าการออกแบบฟอนต์เฉพาะเพื่อองค์กร โดยการประเมินในช่วงต้นอาจพิจารณาแค่เรื่องของงบประมาณ แต่ไม่ได้รู้ว่าการมีฟอนต์ของตัวเองนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ หรือแม้แต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายแทนการจ่ายค่าฟอนต์ขายปลีก (Retail Font) ได้ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการเองถ้าหาข้อมูลของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศก็จะเห็นว่ามันสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่าต้องมาทำคัสตอมกับทาง คัดสรร ดีมาก เท่านั้น สามารถทำกับผู้ออกแบบฟอนต์รายอื่นก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องดีกับการขยายอุตสาหกรรมออกแบบฟอนต์ในภาพรวมอยู่แล้ว
ส่วนถ้าเป็นเรื่องของฟอนต์โดยทั่วไป แนวโน้มความเข้าใจรวมถึงการใช้งานที่เข้าถึงคนหมู่มากก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะไปในความเร็วที่ช้าไปสักหน่อย ซึ่งถ้าเร็วกว่านี้ได้ย่อมต้องดีกว่าอยู่แล้ว อุปสรรคที่ทำให้ความเข้าใจเป็นไปอย่างช้าๆ การศึกษาก็มีส่วนอย่างมาก ซึ่งถ้ามีการพัฒนาเรื่องการศึกษาไปในแบบที่กล่าวไว้ในคำตอบก่อนหน้า ก็จะสร้างความเข้าใจ การใช้งานและพัฒนาวงการฟอนต์ได้ดีขึ้นตามไปด้วย
การที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้าถึงงานดีไซน์ของเมืองนอกได้ตั้งแต่ยังเด็ก มีส่วนช่วยให้วงการดีขึ้นอย่างไรบ้าง
เท่าที่ไปสอนมาหลายๆ ที่ก็มีหมดทุกรูปแบบ ทั้งงานอออกแบบที่ยังติดงานตัวอย่างหรือการอ้างอิง (Reference) แล้วก็มีทั้งแบบที่คิดงานจากโจทย์จริงๆ คิดงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งนักศึกษาหลายคนเก่งมากๆ ชนิดที่ถ้าเทียบอายุกัน เราในอายุตอนนั้นยังเก่งไม่เท่าครึ่งนึงของเขาเลย ผมว่าเรื่องแบบนี้มันเหมือนกันทั่วโลก พอมันมีอินเทอร์เน็ตมา ความรู้ทุกอย่างก็เสมอกัน อยู่ที่ว่าใครจะตั้งคําถาม เพราะเรามีคําตอบอยู่ทั่วไปหมด อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัจจุบันมันเป็นยุคของข้อมูล ข้อมูลล้นทะลักมาก คนที่จะหยิบจับรู้ว่าต้องใช้อันนี้รู้ว่าจะหาข้อมูลนี้จากไหนได้ก็จะได้เปรียบ ทําให้การพัฒนาหรือความเก่งของเขาก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
แต่การจะหาคําตอบที่ถูกต้องได้นั้น เราต้องรู้จักตั้งคําถามก่อน ถ้าเราไม่รู้จักตั้งคําถามเพื่อให้ได้คําตอบที่ถูกต้อง เราก็จะไม่รู้ว่าเราจะหาอะไร เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นตัวแปรสําคัญ ใครที่เข้าใจตรงนี้ได้เร็วกว่า ก็จะไปได้ไกลกว่า
Note : งาน BITS (Bangkok International Typographic Symposium) ครั้งที่ 8 นี้จัดขึ้นในวันที่ 5-7 ตุลาคม ที่ InterContinental Hua Hin Resort ดูรายละเอียดได้ที่ bitscon.asia
With assistance of Thanisara Ruangdej
Photos by Watcharapol Saisongkhroh