นอกจาก “ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน?” อีกคำถามโลกแตกที่ไร้คำตอบตายตัวคงจะเป็น “เงินซื้อความสุขได้ไหม?” บางคนอาจจะตอบอย่างมั่นใจว่า “ได้แน่นอน” บางคนอาจจะแย้งว่า “บางอย่างเงินก็ซื้อไม่ได้นะ”
เราจึงอยากชวนมาสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เงิน’ กับ ‘ความสุข’ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวิธีใช้เงินเพื่อซื้อความสุข หรือวิธีเติมความสุขแบบไม่ต้องใช้เงิน ในช่วงที่ต้องรัดเข็มขัดและสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างทุกวันนี้
ต้องรวยแค่ไหนถึงจะซื้อความสุขได้ ?
ย้อนไปในปี ค.ศ.2010 แดเนียล คาห์เนแมน (Daniel Kahneman) และ แองกัส ดีตัน (Angus Deaton) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ศึกษาเรื่องรายได้กับความสุขที่เพิ่มขึ้น จนได้ข้อสรุปว่า ความสุขสบายจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ แต่พอถึงจุดหนึ่ง คือ รายได้เกิน 75,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ประมาณ 2,500,000 บาท) เงินก็แทบจะไม่ส่งผลกับความสุขมากนัก งานวิจัยนี้ราวกับเป็นสุดยอดการค้นพบแห่งยุค และกลายเป็นตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ
จนกระทั่ง 11 ปีให้หลัง แมตต์ คิลลิงส์วอร์ท (Matt Killingsworth) ออกมาโต้แย้งทฤษฎีนี้ว่า “ถ้าคุณรวยขึ้น ความสุขของคุณก็เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ เช่นกัน” เพราะงานวิจัยของ คาห์เนแมนดีตันมีช่องว่างบางอย่าง เช่น การตอบแบบสอบถามโดยให้นึกถึงความรู้สึกในอดีต ที่บางคนจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จึงกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผลวิจัย คิลลิงส์วอร์ทจึงหาวิธีที่รับกับยุคสมัย ทำงานวิจัยชิ้นใหม่ด้วยแอพฯ Track Your Happiness โดยรวบรวมข้อมูลรายได้ ชีวิตทั่วไป และสอบถามความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างคือผู้ใหญ่ที่มีงานทำ 33,391 คนในสหรัฐอเมริกาเป็นระยะๆ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลความรู้สึกของผู้คนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งพบว่าหลังตัวเลข 75,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ความสุขของคนก็ยังเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ
อ่านถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า “อ้าว ฉันต้องรวยเท่านั้นหรือเปล่าถึงจะมีความสุข” แต่คำอธิบายเบื้องหลังงานวิจัยมีอะไรที่มากกว่านั้น…
เงินสัมพันธ์กับความสุข แต่ไม่ใช่ต้นตอของความสุข
สิ่งหนึ่งที่บางคนอาจจะมองข้ามไป คือ งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาความสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างเงินและความสุขว่ามีแนวโน้มเพิ่มหรือลดลงในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่ได้บอกว่าเงินเป็น ‘สาเหตุ’ (causation) ของความสุข หรือมีเงินเท่านั้นจึงจะมีความสุข
โดยคุณคิลลิงส์วอร์ทอธิบายว่า สิ่งที่ทำให้กราฟเงินกับความสุขสัมพันธ์กันมากๆ อาจเป็นเพราะเงินช่วยเติมเต็มปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ มีบ้านที่ปลอดภัย มีเงินพอจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้ไม่ต้องวิตกกังวลและแบ่งเบาความทุกข์ขั้นพื้นฐานลงไปได้
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน โดยพบว่าคนที่ให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่นิยามความสำเร็จจากความมั่งคั่งร่ำรวยหรือผูกคุณค่าของตนเองไว้กับตัวเลขในบัญชี ความสุขของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามรายได้มากกว่าคนที่มองเงินเป็นปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิต
How to ซื้อความสุข และมีความสุขแบบไม่ต้องซื้อ
นอกจากการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์แล้วยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า วิธีการใช้เงินก็ส่งผลต่อความสุขด้วย และต่อไปนี้คือตัวอย่างของวิธีใช้เงินเพื่อเพิ่มความสุขให้กับผู้คน
1. การใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์หรือสิ่งที่เราหลงใหล: เคยมีการศึกษาในปี ค.ศ.2014 ที่พบว่า การซื้อ ‘ประสบการณ์’ ทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ เช่น การวางแผนทริปไปเที่ยวกับครอบครัว การนัดเพื่อนๆ ไปดูหนัง ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้เปรียบเทียบกับคนอื่นได้ยากกว่าสิ่งของ ทำให้มีแนวโน้มจะเกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบได้น้อยกว่า
ถึงอย่างนั้น การซื้อของบางอย่างที่ชอบหรือหลงใหลมากๆ ก็ทำให้มีความสุขไม่แพ้การซื้อประสบการณ์ อย่างของสะสมจากศิลปินที่ชอบ หรือของเล่นที่ชวนให้นึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก
2. เงินกับศิลปะของการรอคอย: “ถ้าเธอเคยมาตอนบ่ายสี่โมง ประมาณสักบ่ายสามโมง ฉันก็เริ่มเป็นสุขแล้ว” นอกจากประโยคนี้จะอยู่ในหนังสือเจ้าชายน้อยแล้ว เชื่อว่าคงเป็นความรู้สึกของบางคน เมื่อรอพัสดุหรืออะไรบางอย่างที่จองไว้ล่วงหน้า เคยมีงานวิจัยที่พบว่า การรอคอยสิ่งของหรืออีเวนต์บางอย่าง เช่น คอนเสิร์ต การไปเที่ยว สินค้าพรีออร์เดอร์ ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมากกว่าการได้สิ่งนั้นมาทันที เช่นเดียวกับงานวิจัยงานที่พบว่าการจัดทริปบ่อยๆ ทำให้คนรู้สึกมีความสุขและตื่นเต้นได้มากกว่าทริปยาวๆ ที่ไปเพียงครั้งเดียว เพราะความสุขจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนแพลนก่อนจะเริ่มต้นทริปนั้นแล้ว
3. การจ่ายเงินเพื่อคนอื่น: มีงานวิจัยในปี ค.ศ.2008 ที่พบว่า การใช้จ่ายเพื่อคนอื่นสัมพันธ์กับความสุขอย่างมีนัยสำคัญ แต่งานวิจัยนี้ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเงินที่จ่ายไปกับความสุขที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย ๆ แค่ไหน หรือเป็นการแบ่งปันอะไรบางอย่างให้กับคนอื่นๆ ก็ช่วยเติมความสุขในแต่ละวันให้เราได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้เงินซื้อความสุข อาจไม่ตอบโจทย์หลายคนที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ การตกงาน เศรษฐกิจย่ำแย่จนต้องรัดเข็มขัด แต่อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าเงินไม่ใช่ต้นตอของความสุข นั่นแสดงว่าความสุขอาจมาจากปัจจัยอีกหลายอย่างในชีวิต และบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้วโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ อย่างการให้ความหมาย ให้คุณค่ากับสิ่งที่ลงมือทำในแต่ละวัน หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
แมรี รอร์โร (Mary Rorro) จิตแพทย์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวว่า “ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้โดยการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น เมื่อเรานึกถึงความสุขของผู้อื่นและมองพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราก็จะรู้สึกเติมเต็มและเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ” อีกเสียงยืนยันของประโยคนี้คือการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เก็บข้อมูลของชายหลายร้อยคนมานานเกือบ 80 ปี โดยพบว่า ‘ความสัมพันธ์ใกล้ชิด’ ทำให้ผู้คนมีความสุขตลอดการมีชีวิตของพวกเขา มากกว่าเงินทองหรือชื่อเสียง
แม้ว่าเงินทองจะสำคัญกับปากท้องและทำให้เราทุกข์น้อยลงได้จริง แต่ใช่ว่าโลกจะไม่อนุญาตให้เรามีความสุขจากเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เพราะท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพและการมีคนคอยอยู่เคียงข้างเราเสมอ คงจะเป็นหนึ่งในความสุขที่เต็มเติมหัวใจได้ในระยะยาว ไม่ว่าคุณจะกระเป๋าแห้งหรือร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan