ซื้อของมาตุนไว้สำหรับกักตัวในบ้านสองสัปดาห์ แต่ตัดภาพมาที่กินทุกอย่างหมด ภาย ใน สอง วัน!
หวั่นใจเหลือเกินว่าจะเป็นอะไรก่อนกัน ระหว่าง COVID-19 เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง หรือไขมันอุดตัน เพราะช่วงกักตัวอยู่บ้าน พฤติกรรมการกินของเราก็น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเพราะของกินที่ใกล้มือ หยิบจับเมื่อไหร่ก็ได้ แม้กระทั่งนั่งทำงานอยู่หน้าคอมก็สามารถเคี้ยวหงุบหงับ แถมยังมีของสำรองในตู้เย็นอีกเยอะแยะ ทำให้เราสปอยล์ปากตัวเองอย่างหนัก รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเครื่องจักรแห่งการกินไปซะแล้ว!
เอาน่ะ อย่าโทษตัวเองนักเลย ช่วงนี้ใครๆ ก็กินตามใจตัวเองกันทั้งนั้น เพราะจริงๆ แล้วพฤติกรรมการกินที่ผิดปกตินี้มาจากการเผชิญปัญหาด้านสภาวะอารมณ์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเรากำลังเครียดและหวาดกลัวกันแค่ไหน เมื่ออยู่ท่ามกลางโรคระบาดที่ไม่ยังรู้วันจบสิ้น ฉะนั้นทั้งหมดที่ลงท้องเราไป เราก็แค่ให้กำลังใจตัวเองเฉยๆ จริงมั้ย?
มาร์เซลล่า คอกซ์ (Marcella Cox) นักจิตวิทยาบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการกินที่ผิดปกติกล่าวว่า “ผู้คนที่กินตามใจปากหรือตามอารมณ์ อาจกำลังท่วมท้นไปด้วยอารมณ์เชิงลบมากมาย เช่น วิตกกังวล อับอาย หรือซึมเศร้า” ซึ่งการหันหน้าเข้าหาของกินนี่แหละ คือวิธีที่เบี่ยงเบนความสนใจของเราออกจากความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ ผลการสำรวจในปี ค.ศ.2013 โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 38 มีพฤติกรรมการกินที่มากเกินไป และกินแต่ของที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องมาจากความเครียด และร้อยละ 49 เผยว่า พวกเขาทำเช่นกันทุกสัปดาห์และเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุที่เรามองอาหารเป็นมิตรแท้ในยามวิกฤต นั่นก็เพราะว่าในขณะที่เนื้อสัมผัสและรสชาติลอยเข้าสู่ปาก ผ่านไปยังกระเพาะ สารเคมีแห่งความุขก็ได้ก่อเกิดขึ้นในสมอง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘โดปามีน’ จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกอบอุ่นและสบายใจเมื่อกินของอร่อยๆ
แต่เมื่อคำสุดท้ายได้หายลงไปในท้อง ความรู้สึกอุ่นใจเหล่านั้นก็เริ่มจางลง ถูกแทนที่ด้วย ‘ความรู้สึกผิด’ และคำถามที่เด้งขึ้นมาในหัว “นี่ฉันทำอะไรลงไปเนี่ยยยยยยย?” กว่าจะรู้ก็สายไป ไก่ทอดเกลี้ยงจานและขนมกรุบกรอบหมดถุง เรียกได้ว่าเป็นการกินคลีนรูปแบบใหม่แต่ได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม นั่นก็คือ ‘น้ำหนักขึ้น’
กินเยอะไปไม่ใช่ปัญหา ความเมตตาต่อตัวเองจะช่วยได้
ความเมตตาต่อตัวเอง หรือ self-compassion คือเครื่องมือทางจิตวิทยาที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและเคารพตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะช่วงนี้ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โรคระบาดให้ดีขึ้น แต่เราสามารถสร้างความเมตตาต่อตัวเอง เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาที่เจอในแต่ละวันได้
ดังนั้น เราจึงจะนำเครื่องมือนี้มาใช้เพื่อขจัดความหนักใจ 3 ประการ ได้แก่ กำจัดความรู้สึกที่นำไปสู่การกินตามใจปาก ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ และลดความรู้สึกผิดที่มาจากการกินที่ผิดปกตินี้
อย่างแรก เราจะต้องรู้ว่าต้นตอของความรู้สึกที่ท่วมท้นนี้คืออะไร โดย แอนน์ แซฟฟี่ เบียเซตติ (Ann Saffi Biasetti) นักจิตอายุรแพทย์คลินิก ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาความผิดปกติในการกินกล่าวว่า การมีน้ำใจต่อตัวเอง จะช่วยให้เราสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น และรู้จักที่ยอมรับมัน
ตอนนี้หลายคนวิตกกังวลกับเรื่องสุขภาพ การงานการเงินที่ไม่มั่นคง การกักตุนสินค้าที่ยากลำบาก รวมไปถึงการกักตัวในบ้านนานๆ ซึ่งส่งผลให้เฉา ฉะนั้นอย่าปฏิเสธเลยว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เพราะการรู้ที่มาจะทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
เมื่อรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับอารมณ์ของเรา ก็เดินหน้าต่อด้วยการใช้ความเมตตานี้แหละ สงบความเครียดที่เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ไม่ปกติ เพราะในขณะที่เราเครียดกับข่าวโรคระบาดและผลกระทบที่ตามมา กล้ามเนื้อของเราจะเริ่มแน่นตึงและหายใจไม่ปกติ เป็นความเครียดในระดับที่ก่อให้เกิด ‘ปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อตกอยู่ในอันตราย’ (fight-or-flight response) ซึ่งเป็นระดับที่นำไปสู่การกินที่มากเกินความต้องการ ความดันเลือดสูง รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา
แต่นักวิจัยต่างก็ออกมาแนะนำว่า การใจดีต่อตัวเองจะช่วยลดปฏิกิริยาตอบสนองนี้ เพราะเมื่อเราแสดงความเมตตาต่อตัวเองออกมา ส่วนที่ผ่อนคลายในสมองจะถูกเปิดใช้งาน และเมื่อร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะทำให้เราเริ่มรู้สึกถึงพฤติกรรมการกินของตัวเอง และเริ่มมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรู้สึกผิดก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และผลที่ตามมาจากการรู้สึกผิดก็น่ากลัวไม่น้อย เพราะมีผลการวิจัยจาก International Journal of Eating Disorders เผยว่า ความรู้สึกผิดทำให้เกิดความผิดปกติในการกินมากกว่าเดิม เพราะเมื่อเรารู้สึกผิดต่อตัวเอง เราจะยิ่งเครียด และเมื่อเรายิ่งเครียด เราก็จะยิ่งกิน กิน กิน แต่ในขณะเดียวกัน การเมตตาตัวเองจะช่วยลดความเครียดนี้
“วัฒนธรรมเราได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ด้วยการหมกมุ่นเกี่ยวกับความผอมจนมากเกินไป” เจนนิเฟอร์ ลอมบาร์ดี้ (Jennifer Lombardi) นักจิตวิทยาบำบัดกล่าว อาจเพราะพวกเราอยู่ในโลกที่ถูกประโคมว่าการมีรูปร่างที่ผอมคือการมีสุขภาพที่ดี จึงทำให้ผู้คนรู้สึกผิดกับการกิน แม้จะเป็นการกินเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม ความเห็นอกเห็นใจตัวเองช่วยให้เราลดการคิดลบต่อตัวเอง และมองว่าในช่วงนี้ใครๆ ก็สามารถเกิดความผิดปกติในการกินอาหารได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าความผิดปกติเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ตามมาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคไต ฉะนั้น การออกกำลังกายจะช่วยลดความรู้สึกผิดขณะหยิบพายชิ้นใหญ่เข้าปากได้ แต่ในช่วงที่ฟิตเนสปิดให้บริการ สวนสาธารณะก็เสี่ยงเกินไป การออกกำลังกายในบ้านจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่พอจะทำได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการออกกำลังกายในพื้นที่เล็กๆ เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ลองเปิด youtube ดู แล้วจะพบคลิปสอน หรือแนะนำการออกกำลังกายเยอะแยะเลย
นอกจากนี้ อาจจะลองหาของอร่อยๆ ที่มีปริมาณน้ำตาล หรือโซเดียมไม่สูงนักเพื่อทดแทน เพราะถ้าจะรักในการกินแล้ว ก็ต้องรักษาสุขภาพตัวเองจะได้มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อของกินอร่อยๆ ไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่แน่ใจว่าอะไรเสี่ยงต่อสุขภาพหรือเปล่า ก็ลองปรึกษานักโภชนาการอาหารดูได้ไม่เสียหาย
ว่าแล้วก็ขอตัวไปเปิดตู้เย็นหาอะไรกินก่อนนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก