“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน” คือข้อความในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2548
ข่าวเรื่องการลงโทษ และความรุนแรงในห้องเรียนมักกลับมาให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีที่พูดถึงกันค่อนข้างมากก็คือเรื่องที่ครูตบหัวนักเรียน และแสดงอาการโกรธอย่างรุนแรงที่นักเรียนไม่ส่งการบ้าน ซึ่งแน่นอนว่า เราก็เข้าใจในความหวังดีของคุณครูทุกคนแหละเนอะ แต่พอมันกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นมากมายถึงวิธีการเหล่านั้น
สังคมไทยเราคุ้นชินกับคำว่า “ไม้เรียวสร้างคน” กันมานาน ในสมัยก่อนถึงเคยกับมีการออกข้อกำหนดลงลึกไปในรายละเอียดเลยว่า ไม้เรียวที่ครูสามารถใช้ลงโทษเด็กได้ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.7 เซนติเมตร และครูจะไม่สามารถตีได้เกิน 6 ครั้งติดต่อกัน
แต่ถึงอย่างนั้น กระแสสังคมและบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป การลงโทษด้วยไม้เรียวก็ถูกยกเลิกลงไปในปี 2542 ก่อนที่ในปี 2548 จะมีการปรับปรุงเนื้อหาโดยกำหนดว่า ครูจะลงโทษนักเรียนได้ด้วยเหตุผลเพื่อการอบรมสั่งสอนเท่านั้น โดยทำได้ใน 4 รูปแบบ คือ
1. การว่าการตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3. ตัดคะแนนความประพฤติ
4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เราจะเห็นได้ว่า ‘การลงโทษ’ คือสิ่งที่อยู่คู่กับห้องเรียนไทยมายาวนาน และมีการปรับรูปแบบ และถูกควบคุมขอบเขตโดยกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงเห็นข่าวที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงรูปแบบการทำโทษกันอยู่บ่อยๆ ทั้งเรื่องการก้อนผมนักเรียน การให้คาบรองเท้า ตลอดจนการทำร้ายร่างกาย ว่ามันข้ามเส้นของความเหมาะสมเกินไปหรือไม่
ผลกระทบต่อการเติบโตจากการถูกทำโทษอย่างรุนแรง
ข่าวการลงโทษเด็กที่ไม่ทำการบ้านด้วยวิธีการซึ่งรุนแรง ได้ชวนเราคิดว่า ถึงแม้ครูจะตั้งใจดีและหวังดีอยากให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มีความรู้รอบในวิชาการ แต่วิธีการที่ว่านั้น มันจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กคนหนึ่งอย่างไรบ้างนะ?
กรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออสตินในสหรัฐฯ เคยทำการศึกษาเกี่ยวกับการลงโทษและผลของการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านกลุ่มตัวอย่าง 160,927 คน สิ่งที่ค้นพบก็คือ ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนจนยืนยันได้ว่า การลงโทษด้วยการตีเด็กนั้น จะทำให้เด็กได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
พวกเขายังค้นพบข้อน่ากังวลด้วยว่า การตีเด็กยังจะทำให้เด็กที่เป็นเป้าของความรุนแรง มีแนวโน้มพฤติกรรมที่อาจก้าวร้าวและใช้กำลังกับคนอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
รายงานจากยูนิเซฟเรื่อง ‘Child Protection in Educational Settings: Findings from six countries in East Asia and the Pacific’ ได้เสนอถึงผลกระทบของความรุนแรงที่โรงเรียนในนามของการลงโทษจากครูว่า เมื่อเด็กต้องเผชิญหน้ากับความเครียดอย่างรุนแรง (toxic stress) หลังจากถูกละเมิด ถูกทำโทษที่รุนแรงแล้ว ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาในระดับสูง ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาการทางด้านสมอง และการเรียนรู้ในระยะยาว
จากข้อมูลที่ว่านี้ เราจะอาจอ้างอิงได้ว่า แม้การทำโทษทั้งด้านร่างกาย รวมถึงการด่าทอด้วยอารมณ์ที่รุนแรง มันอาจจะช่วยให้เด็กรีบปรับพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่ครูต้องการได้ในระยะแรก แต่ในระยะยาวแล้ว มันอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเขา (ทั้งในแง่พัฒนาการทางร่างกาย และบาดแผลทางจิตใจ) ได้เหมือนกัน
การลงโทษ อำนาจ และความกลัวในโรงเรียน
การลงโทษและอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาเสมอ จนเราอาจจะพูดได้ว่า การลงโทษก็เป็นภาคปฏิบัติของการใช้อำนาจในรูปแบบหนึ่ง แถมยังเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดอีกด้วย
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเกิดขึ้นในโรงเรียนอยู่เสมอๆ ทั้งที่เราสังเกตได้ผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นักเรียน-ครู’ และ ‘ครู-ครู’ ด้วยกันเอง ที่น่าสนใจมากๆ อยู่ตรงที่ว่าการลงโทษมักเกิดขึ้นจากคนที่มีอำนาจมากในพื้นที่นั้นๆ
ยิ่งลงโทษมาก ก็อาจจะยิ่งตอกย้ำว่าเด็กกับครูมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็ยิ่งถ่างออกระหว่างกัน และการใช้อำนาจในห้องเรียนก็ยิ่งจะเป็นแบบ Top-down กันจนเคยชิน
เช่นเดียวกัน เมื่อเด็กถูกลงโทษ ความกลัวก็มักจะตามมาเป็นเงาเสมอ คำถามคือแล้วเราอยากให้นักเรียนซึ่งจะเป็นคนรุ่นใหม่ๆ มีระเบียบวินัยและเป็น ‘คนดี’ เพราะกลัวครูตี หรือว่าเราอยากให้พวกเขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในรูปแบบของตัวเอง
ถ้าจุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษา คือการช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง การลงโทษด้วยความรุนแรง และอารมณ์เป็นหลัก ก็อาจทำให้เด็กๆ ห่างไกลไปจากเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้นทุกวัน เพราะพวกเขาอาจทำได้แค่เพียงแค่ค้นหาวิธีการว่า ‘พรุ่งนี้จะต้องทำอย่างไรไม่ให้ถูกทำโทษ’ หรือ ‘จะแก้แค้นครูที่เคยทำโทษตัวเองอย่างไร’ สถานการณ์แบบนี้ ยิ่งทำให้โรงเรียนกลายเป็นสนามของความกลัวกันและกัน
[อ่านบทสัมภาษณ์เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ว่าด้วยเรื่องอำนาจในโรงเรียนไทยได้ที่ : https://thematter.co/pulse/power-relation-in-thai-school-netiwit/53626]
โครงสร้างการศึกษา ครูก็กดดัน เด็กก็กดดัน
อย่างไรก็ดี เราคงไม่สามารถพูดได้ว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มันมาจากแค่ปัจจัยภายในส่วนบุคคลเท่านั้น มีหลายคนพยายามชี้ชวนให้มองถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ในเชิงโครงสร้างไว้ด้วยเหมือนกัน
เฟซบุ๊กของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้อธิบายถึงปัญหาในกรณีครูคนหนึ่งใช้ความรุนแรงกับเด็กไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ปัจจุบันระบบถูกออกแบบให้การเรียนเป็นการช่วยครูซะส่วนใหญ่ เพราะถ้าเด็กขาดส่งงาน ขาดเรียน ขาดกิจกรรม หรือแม้กระทั่งเด็กสอบตกเยอะ ครูจะเป็นคนที่ถูกเพ่งเล็งตลอด หากครูไม่อยากมีปัญหา ก็มักจะกดดันเด็กแบบนี้ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราควรปรับเปลี่ยนระบบแบบนี้ นอกจากจะได้ประสิทธิภาพที่อ่อนด้อยแล้ว ก็ยังไม่เห็นประโยชน์อื่นใดกับการไปกดดันให้นักเรียนเครียด จนในบางกรณีก็มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น”
จะเห็นได้ว่า ครูเองก็กดดันเพราะต้องถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา มิหนำซ้ำภาระงานของครูไทยในวันนี้ก็มีปริมาณมากมายมหาศาล โครงการต่างๆ ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ไหนจะความกดดันจากผู้ใหญ่ชั้นบริหารโรงเรียน (กระทั่งระดับจังหวัด) ที่ก็ต้องการเห็นชื่อเสียงของโรงเรียนที่เด่นดัง

Businessman hands working in Stacks of paper files for searching information on work desk office, business report papers,piles of unfinished documents achieves with clips indoor,Business concept
ครูเองก็กดดันและถูกทำร้ายเพราะระบบการศึกษาไม่น้อย โดนเพ่งเล็งอยู่เสมอว่าต้องทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีความตั้งใจดีที่อยากให้เด็กๆ ได้เติบโตและมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี แต่ระบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้เหมือนจะไปกันคนละทาง และครูเองก็เหนื่อยเกินกว่าจะไปต่อสู้ เพราะกว่าจะจัดการภาระหน้าที่นอกห้องเรียนให้เสร็จก็ล้าจนเกินจะทำสิ่งใดต่อแล้ว เราจึงได้เห็นข่าวเรื่องปัญหาด้านภาวะจิตใจที่เกิดขึ้นกับครูไทยอยู่บ่อยๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้น หนึ่งในทางเลือกก็คือ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าหากเราจะคืนครูกลับสู่ห้องเรียน เพื่อให้ครู ‘มีเวลา’ อยู่กับเด็กๆ มากขึ้น รวมทั้งได้มีเวลาออกแบบการเรียนการสอน หรือกระทั่งได้มีเวลา ‘สนใจ’ หรือจับเข่าคุยกับนักเรียนแต่ละคนมากขึ้นด้วย
ถ้าทำได้จริงๆ การลงโทษก็คงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกแรกๆ ที่จะทำให้เด็กเติบโตและมีวินัย เพราะครูเองก็ช่วงเวลาได้เข้าหาและเข้าใจเด็กมากขึ้นจริงๆ ว่าพวกเขาแต่ละคนมีปัญหาหรือเงื่อนไขเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก