วันที่ 10 ตุลาคมเป็นวันต่อต้านโทษประหารสากล
ไม่นานมานี้ก็มีกระแสเรื่องข่มขืนเท่ากับประหาร คือสำหรับบ้านเราเวลาที่เกิดคดีสะเทือนขวัญ กระแสเรียกร้องสำคัญคือ ต้องจัดการมันให้เข้มข้น รุนแรง เลยไม่แปลกที่พอเกิดฆาตกรที่ก่อการชั่วร้ายผิดมนุษย์ เราเลยจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า ต้องกำจัดมันซะ ประหารมันซะ สังคมเราจะได้สะอาด
แต่ดูเหมือนว่ากระแสทิศทางของโลกที่มีต่อโทษประหารดูจะไปในอีกทาง คือไม่เห็นด้วยกับโทษประหารและพยายามลดทอนให้น้อยลง แนวโน้มทิศทางของประเทศต่างๆ มี 140 ประเทศยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ประเทศที่ยังคงโทษประหารไว้ก็มีหลายประเทศที่แม้จะมีโทษประหาร แต่ก็ไม่ได้ลงมือสังหารนักโทษจริงๆ
บ้านเราไทยแลนด์เองก็เป็นแบบเดียวกัน คือเรายังคงโทษประหารไว้ มีเช่นในปี 2015 มีการตัดสินโทษประหาร 5 ราย แต่ก็ไม่ได้มีการนำนักโทษไปลงมือประหารแต่อย่างใด บ้านเราประหารกันล่าสุดเมื่อปี 2552 โน่น สิริรวมไม่ได้ประหารกัน 7 ปี พอครบสิบปีสหประชาชาติก็จะถือว่าเราเป็นประเทศที่ไม่มีการประหารในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง
สรุปแล้วการประหารนี่มันเวิร์คไหมนะ การจำกัดจุดสีดำเป็นวิธีที่ทำให้สังคมสะอาดขึ้นจริงรึเปล่า หรือความรุนแรงอย่างการฆ่ากัน ถึงแม้ว่าจะกระทำต่อคนที่มันเลวจริงๆ มันชอบธรรมไหม ทำให้อะไรดีขึ้นมารึเปล่า
ล่าสุดประหารกันยังไง รายงานจากปี 2015
แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเขารวมไปถึงผู้กระทำความผิดด้วย เป็นกระแสหนึ่งที่ทำให้ประชาคมโลกพยายามลดทอนการประหารชีวิตลง ประมาณว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ต่อให้ทำความชั่วขนาดไหน การจบชีวิตคนๆ หนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกินเลยไป ในอีกด้านก็มีงานศึกษาบอกว่าเนี่ย การจะมีโทษประหารหรือไม่มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการก่ออาชญกรรมที่มากขึ้นหรือน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ…ประมาณว่า ถ้ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรชัดๆ ในการฆ่าคน ก็เลือกที่จะไม่ฆ่ากัน
น่าแปลกที่นับตั้งแต่ปี 1989 ที่มีกระแสให้ลดการประหารลง แต่กลายเป็นว่าเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา กลับมีรายงานการประหารชีวิตพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการ
องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) รายงานว่าในปี 2015 มีการประหารทั้งสิ้น 1,634 ราย (เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2014 ที่มีการประหารไป 1,061 ราย) ใน 25 ประเทศทั่วโลก 89% ของการประหารเกิดขึ้นใน 3 ประเทศคือ อิหร่าน ปากีสถาน และ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งที่เขาพยายามต่อต้านกันก็เพราะส่วนหนึ่งการประหารในประเทศข้างต้นมักไม่ได้มีที่มาจากข้อหาร้ายแรง ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานการเป็นรัฐศาสนาเนอะ การคบชู้ การแสดงความไม่เคารพต่อพระเจ้า ฉ้อโกง ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อนโยบายของผู้นำ ก็นำไปสู่โทษตายได้
ฟังแค่นี้ก็รู้สึกไม่ค่อยโอเค แต่พอถึงจุดที่เป็นคดีร้ายแรงล่ะ อย่างพวกคดีหลักๆ เช่น ค้ายาเสพติด ฆ่า ข่มขืน วางเพลิง พอถึงจุดนี้ก็รู้สึกว่ายากลำบากเลยเนอะ ว่า เออ ทำเลวแค่ไหนนะ เราถึงจะตัดสินว่าแกไม่คู่ควรจะหายใจให้รกโลกใบนี้อีกต่อไปแล้ว
ประวัติประหัตประหาร
‘ความยุติธรรม’ การทำให้สังคมเรายังสมบูรณ์ต่อไปได้ คนที่ผิดก็ต้องถูกลงโทษ โอเค แต่ก็อย่างที่ว่า ประมาณไหนดีถึงจะถึงโทษตาย แต่การประหารเป็นเครื่องแสดงออกถึงความยุติธรรมจริงไหม การประหารมันทำงานยังไง
สมัยก่อนหลักคิดของกฏหมายคือระบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ถ้าแกขโมยของต้องตัดมือ ฆ่าข่มขืนหรอ ก็ตายตกไปตามกัน ซึ่งในทัศนะของโลกสมัยใหม่มองว่าวิธีการสร้างความยุติธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟันมันป่าเถื่อนไปเนอะ ไม่เวิร์คป่าวแก
วิธีการลงโทษสมัยโบราณเป็นเรื่องของการประจานและแสดงการล้างแค้น พอมีคนทำผิดก็ต้องเอามาประจานที่ตะแลงแกงซึ่งมักอยู่ตามชุมชนที่คนเยอะๆ มีการเฆี่ยนตี ตัดหัว แขวนคอ โดยมีประชาชนคนอื่นๆ มายืนดู จะได้เกิดความกลัว แต่เดี๋ยวนี้การลงโทษสมัยใหม่ไม่มีลักษณะที่เป็นมหรสพอีกแล้ว วิธีการแบบโบราณอาจจะไม่เวิร์คแล้วก็ได้
ข้อแย้งสำคัญที่พวกนักคิดต่างๆ โต้แย้งกับเรื่องการให้ความเป็นธรรมคือ ไอ้การให้ความเป็นธรรมด้วยการฆ่า ด้วยความรุนแรง ด้วยแนวคิดแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเนี่ย มันจะนำไปสู่อะไรแน่ๆ จริงหรอ เพราะพื้นฐานของการประหารมันอาจจะเป็นแค่การ ‘ล้างแค้น’ เท่านั้นเอง
คือเราจะสามารถจัดการกับความรุนแรงด้วยความรุนแรงเท่าๆ กันได้ไหม หรือมันโอเคจริงรึเปล่าที่จะให้สังคมถูกขับไปด้วยความแค้น
Tsakhiagiin Elbegdorj ประธานาธิบดีแห่งมองโกลเลียพูดถึงความยุติธรรมไว้ว่า ‘รากฐานของความยุติธรรม (justice) คือความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้ความคิดดังกล่าว การประหารชีวิตเลยยอมรับไม่ได้’ ฟังดูแล้วก็น่าคิดว่าการที่จะทำให้สังคมเป็นสุข เป็นธรรม มันต้องใช้ความเคารพซึ่งกันและกัน หรือความกลัวกันแน่นะ
จุดสีดำที่หายไปตลอดกาล?
ประเด็นของการทำให้สังคมสะอาด ปัจจัยอาจจะไม่ได้อยู่ที่การลบจุดสีดำออกไปอย่างรุนแรง John Lamperti ศาสตรจารย์ทางคณิตศาสตร์ที่ Dartmouth College (ที่อเมริกาที่ยังมีการประหารอยู่นั่นแหละ) ก็ครุ่นคิสสงสัยว่า เอ๊ะ ตกลงแล้วไอ้การประหารมันทำให้อาชญากรรมร้ายๆ เช่นการฆาตกรรมลดลงไหมนะ ข้อสรุปที่พี่แกคนพบคือไม่มีนัยสำคัญเชื่อมโยงกับการมีโทษประหารและอัตราการฆาตกรรม โทษประหารไม่ได้ลดการฆาตกรรม รัฐที่มีการประหารกันเยอะๆ มันควรจะมีการฆาตกรรมกันต่ำสิ แต่ผลที่เจอกลับสวนทางเลยจ้า ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ การมีอยู่ของการประหารมันเหมือนเป็นการให้ความชอบธรรมกับการฆ่า การกำจัดศัตรู ซึ่งพอดูในรายงานหลายๆ ฉบับเช่นจากลอนดอนหรือนิวยอร์กก็พบว่าอัตราการฆากรรมนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นล้อไปกับการมีอยู่ของโทษประหารชีวิต
คือแทนที่จะเป็นไปตามที่เราเชื่อว่าการประหารเป็นการชะลอหรือลดการฆาตกรรม ผลกลับตรงข้าม
ข้อสังเกตเพิ่มเติมของศาสตรจารย์เองคือ ไปดูสถิติการฆาตกรรมในประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต สิ่งที่พบคือ อัตราการฆาตกรรมในประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
เป็นเรื่องน่าคิด อาจจะเป็นอย่างหลักในศาสนาพุทธท่ามกลางความคิดเรื่องกรรมตามสนอง เรายังมีเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การที่เราใช้ความแค้นและความรุนแรงมันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่หมุนเวียนไม่สิ้นสุดก็ได้ แต่มันก็มีในความรู้สึกบ้างแหละเนอะ ว่าไอ้นี่สมควรโดนแล้วอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็กลับไปสู่คำถามเดิม แค่ไหนดีถึงชอบธรรมที่จะกำจัด
ปัญหาสังคม การเกิดขึ้นของอาชญากรเป็นเรื่องซับซ้อน ที่ซับซ้อนไปกว่าการคิดแค่ว่าเราจะลบจุดสีดำๆ ยังไงดี
เพราะในที่สุด จุดสีดำมันก็ล้วนเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา เกิดขึ้นในสังคมที่เราอยู่
ความเข้าใจว่าจุดสีดำพวกนั้นมันมาจากไหน น่าจะสำคัญกว่าวิธีการกำจัดทำลาย