“ขอโทษค่ะๆๆ”
มิตรสหายพูดคำนี้ทุกครั้งที่ก้าวย่างไปบนผืนดินที่ไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีร่างของใครนอนอยู่ในวาระท้ายของชีวิตหรือไม่
เพราะแม้จะมีสิ่งปลูกสร้างบอกอาณาเขตเอาไว้ แต่เวลาอันยาวนานนับศตวรรษ ก็ทำให้หลายจุดกลายเป็นซากปรักหักพัง บางจุดเป็นเพียงเนินดินที่มีหญ้าขึ้นปกคลุม
จากการคะเนด้วยสายตาที่แห่งนี้น่าจะมีหลุมศพอยู่หลายร้อยหลุม แต่เคยมีงานวิจัยซึ่งตรวจสอบบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตและถูกนำมาฝังไว้ที่นี่ พบว่ามีมากกว่า 1,500 คน
สุสานโปรเตสแตนต์ กทม. หรือ ‘สุสานฝรั่ง’ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนเจริญกรุง ติดกับวัดราชสิงขร ไม่ไกลจากเอเชียทีค คือสถานที่ที่เรากำลังพูดถึง
กลางเดือนตุลาคมของปีนี้ ในช่วงเวลาที่ฝนเริ่มซาลง ท้องฟ้าสดใสแดดจัดพร้อมลมหนาวเริ่มเข้ามาแทนที่ แต่วันที่เราไปเยือนที่พำนักแห่งสุดท้ายของคริสต์ศาสนิกชนแห่งนี้ จู่ๆ ก็เกิดฟ้าครื้มตลอดทั้งวันพร้อมกับละอองน้ำโปรยลงมาบางๆ สร้างบรรยากาศขรึมขัง ชวนให้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้ด้วยความเคารพ
ทว่าหลังผลักรั้วเหล็กที่เขียนข้อความว่า Protestant Cemetery ไปด้านใน ความประทับใจก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้เห็น จนเราเดินวนเวียนสบตากับความตายและเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้ตายทิ้งไว้หลายชั่วโมงอย่างไม่รู้ตัว
“สวยมากๆๆ ดีมากๆๆ” มิตรสหายคนเดิมเดินถ่ายภาพวนไปเวียนมาอย่างไม่รู้เหนื่อย และเป็นที่มาของภาพประกอบที่คุณได้เห็นในบทความนี้
บนพื้นที่ขนาด 9 ไร่ (ภายหลังถูกขายให้ทำสุสานชาวยิว จนเหลือ 7 ไร่) ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้นำมาทำเป็นสุสาน ตั้งแต่ปี 2396 เต็มไปด้วยประติมากรรมบนป้ายหลุมศพสไตล์ยุโรป และจำนวนมากก็ถูกทำที่ยุโรปจริงๆ เนื่องจากเมืองไทยหรือสยามขณะนั้นยังขาดแคลนช่างแกะสลักหิน จึงต้องนำเข้าป้ายหลุมศพหรืออนุสาวรีย์หินที่ทำสำเร็จมาจากฮ่องกง, สิงคโปร์, กรุงลอนดอนของอังกฤษ หรือกระทั่งเมืองกลาสโกว์ของสก็อตแลนด์
ไม่ว่าจะ ไม้กางเขนธรรมดา, ไม้กางเขนแบบไอริช(ไม้กางเขนที่มีวงกลม), เสาโอเบลิกส์, เสาโรมันหัก, เหยือกน้ำ(โกศ), รูปปั้นเทวดานางฟ้า, รูปปั้นครึ่งตัวเจ้าของหลุมศพ, รูปสลักสมอเรือ ช่อดอกไม้ ไปจนถึงสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้นๆ
แน่นอนว่า ประติมากรรมทั้งหมดเป็นเรื่องที่คนข้างหลังทำให้กับผู้ตาย แต่มันล้วนแฝงความหมายถึงผู้จากไป นอกจากให้ข้อมูลเรื่องชื่อ นามสกุล วันเกิด-วันตาย อายุในวันสุดท้าย ประวัติส่วนตัวคร่าวๆ ยังสะท้อนเรื่องราวชีวิต หน้าที่การงาน ความใฝ่ฝัน ไปจนถึงคำอวยพรหลังวายชนม์ เช่น รูปสลักสมอเรือแทนอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือ ไม้กางเขนแบบไอริชแทนความเป็นนิรันดร์
ชาวต่างชาติซี่งถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์หลายคนเป็นผู้มีชื่อเสียงหรือเคยสร้างคุณูปการไว้กับสังคมไทย อาทิ
- แดน บีช แบรดลีย์ หรือ ‘หมอบรัดเลย์’ (มีชีวิตระหว่างปี 2347-2416) แพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่คนไทยรู้จักในฐานะผู้ทำหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย ที่รายล้อมด้วยหลุมศพของคนในครอบครัว
- จอห์น บุช หรือ ‘กัปตันบุช’ (มีชีวิตระหว่างปี 2362-2448) กัปตันเรือชาวอังกฤษ ที่มารับราชการในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4-5 ในฐานะเจ้าของอู่ต่อเรือและผู้บังคับเรือพระที่นั่ง จนได้บรรดาศักดิ์เป็น ‘พระยาวิสูตรสาครดิฐ’
- ตระกูลแม็กฟาร์แลนด์ ผู้ผลิตแป้นพิมพ์ดีดภาษาไทยและร่วมก่อตั้งโรงเรียนราชแพทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช)
- เฮนรี อลาบาสเตอร์ (มีชีวิตระหว่างปี 2379-2427) นักการทูตชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการเป็นล่ามและที่ปรึกษาส่วนพระองค์สมัยรัชกาลที่ 5 หัวหน้ากองจัดทำแผนที่ ที่มีส่วนในการสร้างถนนเจริญกรุงและวางโทรเลข รวมถึงสร้างสวนสราญรมย์ และเป็นต้นตระกูลเศวตศิลา
ฯลฯ
“คนตายก็จากไปนานแล้ว ทำไมไม่เอาที่ดินไปทำอย่างอื่น?”
ในเชิงประวัติศาสตร์ สุสานฝรั่งสะท้อนถึงช่วงเวลาที่ชาวต่างชาติเข้ามาใน กทม. ด้วยภารกิจชีวิตที่แตกต่างกัน ทั้งเพื่อทำการค้า แสวงโชค เผยแผ่ศาสนา รับราชการ ฯลฯ จนหลายคนต้องมาจบชีวิตในที่แห่งนี้
วิลเลียม จอห์น บัตเตอร์เวิร์ธ ผู้ว่าราชการดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษ บริเวณช่องแคบมะละกา เป็นผู้ทำหนังสือถึงรัชกาลที่ 4 เพื่อขอพระราชทานที่ดินสำหรับใช้เป็นสุสานของชาวคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ที่มาพำนักอยู่ในสยาม และได้รับอนุญาตในปี 2396 โดยชาร์ลส์ บัตเทน ฮิลเลียร์ กงสุลอังกฤษคนแรกของสยาม เป็นบุคคลแรกที่ถูกฝังที่สุสานแห่งนี้ ในอีก 3 ปีถัดมา
เซอร์ จอห์น เบาริง เคยทำหนังสือถึงเอิร์ลแห่งคลาเรนดอน อ้างอิงถึงกรณีพระมหากษัตริย์แห่งสยามพระราชทานที่ดินเพื่อใช้เป็นสุสานของชาวโปรเตสแตนต์ในครั้งนั้น ความว่า ก่อนหน้านี้การหาสถานที่ฝังศพของคริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์เป็นเรื่องยุ่งยากมาก “..เรื่องนี้แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม”
เหตุที่สุสานโปรเตสแตนต์ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน เนื่องจากในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 มันอยู่ใกล้กับชุมชนชาวต่างชาติใน กทม. ที่ขณะนั้น ถือว่าอยู่ห่างจากใจกลางของเมืองอยู่พอสมควร ถ้านับจากเกาะรัตนโกสินทร์
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมืองขยายตัว พื้นที่สุสานต่างๆ ก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นทั้งเรื่องของทำเลที่ตั้งและประโยชน์ใช้สอย ไม่ใช่เฉพาะสุสานชาวตะวันตก แต่ยังรวมถึงสุสานจีนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
The MATTER เคยทำสกู๊ปผู้ดูแลความตายที่ทำหน้าที่ฝังศพ ดูแลพิธีกรรมทางศาสนา และดูแลสุสาน แล้วมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นว่า น่าจะเอาพื้นที่สุสานซึ่งบางแห่งอยู่ใจกลางเมืองไปทำประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่าหรือไม่
นี่ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะถามกันมาหลายสิบปีแล้ว
นิภาพร รัชตพัฒนากุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยนำข้อมูลการสำรวจจำนวนหลุมฝังศพใน กทม. สมัยรัชกาลที่ 5 มาเผยแพร่ พบว่ามีทั้งสิ้น 15,884 หลุม เป็นสุสานจีน (แคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน บ้าบ๋า) 6,784 หลุม สุสานมุสลิม 6,345 หลุม คนเข้ารีดกับตะวันตก 845 หลุม และไม่สามารถระบุได้ 1,910 หลุม ซึ่งเป็นศพที่ฝังอยู่ในวัด
ที่ตั้งของหลุมศพเหล่านั้น ส่วนมากอยู่ทางตอนใต้ของพระนคร โดยเฉพาะสีลม บางรัก ถนนตก และถนนจันทร์ ในอดีตอาจดูห่างไกลจากย่านสำคัญใจกลางเมือง แต่ในปัจจุบัน ไม่เพียงถือว่าอยู่กลางเมือง บางจุดถือเป็นย่านธุรกิจสำคัญ เป็นเขต CBD (central business district) เสียด้วยซ้ำ
อย่างสุสานฝรั่งที่เราไป ด้านหนึ่งมีโรงแรมและคอนโดสูงตระหง่าน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โดดเด่นด้วยชิงช้าสวรรค์ของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเอเชียทีค
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน หลายๆ อย่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมเศรษฐกิจ คติความเชื่อ ความจำเป็น ไปจนถึงประโยชน์การใช้สอย
ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องถูกปล่อยทิ้งร้าง ไปจนถึงขั้นโดนรื้อถอน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีสุสานแต้จิ๋ว สาทร ที่เคยทรุดโทรมและดูน่ากลัวจนเกิดเรื่องเล่าสยองขวัญเป็นตำนานสุสานวัดดอนหรือป่าช้าวัดดอน (หมายถึงวัดบรมสถล ชื่อเดิมวัดดอนถวาย) ก็ถูกปรับให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่ปี 2539 ภายใต้ชื่อโครงการสวนสวยในป่าช้า จนปัจจุบันมีคนมาวิ่งออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นโยคะ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ
ศุภณัฐ อรุโณประโยชน์ เคยทำงานวิจัยเรื่องแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สุสานจีนในเขตชั้นใน กทม. โดยศึกษาลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์และสังคม เกี่ยวกับสุสานจีนภายในเขต กทม. ชั้นใน ทั้ง 7 แห่งที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งสุสานจีนบาบ๋า, สุสานฮกเกี้ยน, สุสานจีนแคะ สีลม, สุสานแต้จิ๋ว, สุสานจีนแคะ ถนนตรอกจันทน์, สุสานสมาคมเจียงเจ๋อ และสุสานกวางตุ้ง
ก่อนจะเสนอแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
- อนุรักษ์ในสภาพเดิม
- พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์
- พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชนโดยรอบ
โดยสุสานแต่ละแห่ง ต่างก็มีคุณค่า ศักยภาพ และปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
กลับมาที่สุสานโปรเตสแตนต์ ในวันที่เราเดินทางไปมีคนเข้ามาคอยตัดหญ้าและทำความสะอาดอยู่ พื้นที่บางส่วนเฉอะแฉะจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ล้นตลิ่งเข้ามาในบางช่วงเวลา
บางจุดน่าจะเคยจมน้ำอยู่นาน สันนิษฐานจากการที่มีหอยเชอรี่เปลือกสีชมพูเกาะอยู่บนป้ายหินหลุมศพ
เราถูกเชื้อเชิญให้ไปลงชื่อในสมุดเยี่ยมชม ก่อนจะพบว่า มีคนเข้าชมสุสานนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อลองสอบถามดูจึงพบว่า ยังมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาประกอบพิธีกรรมในสถานที่นี้อยู่เป็นระยะ
และถึงจะเปิดมานับร้อยปี บางหลุมศพก็ยังคงว่างอยู่
แตกต่างจากหลุมศพสาธารณะชาวต่างชาติหลายแห่งใน กทม. ทั้งชาวคริสต์และชาวจีน ที่หยุดรับฝังศพเพิ่มเติมไปแล้ว หรือใช้วิธีเก็บอัฐิในแท่งคอนกรีตที่ทำเป็นคอนโดแทนการฝังลงดิน จากปัญหาเรื่องที่ดินไม่เพียงพอ
ที่สะดุดตาเราคือแท่นหินใหม่เอี่ยมที่ระบุวันตายของเจ้าของหลุมนั้นไว้ล่วงหน้าเป็นอีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมข้อความเตือนใจเชิงมรณาณุสติ อาทิ “Have fun because time flies and before you know it, it’s over!” “A life well lived died happy” เป็นต้น ที่ผู้ดูแลสุสานบอกว่าเป็นของคนที่เข้ามาจองที่ให้กับตัวเองไว้ล่วงหน้า
ในปัจจุบัน ผู้คนนิยมฝังศพในสุสานน้อยลง หันไปเผาศพมากขึ้น และเริ่มมีนวัตกรรมอื่นในการจัดการร่างกายผู้ตายให้เลือก เช่น ทำเป็นปุ๋ย ให้พืชช่วยย่อยสลาย ฯลฯ จากปัจจัยเรื่องสภาพเศรษฐกิจสังคม ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ไปจนถึงภาระหน้าที่ของผู้คนในโลกสมัยใหม่
หลายประเทศปรับสุสานโบราณเป็น public space ให้ผู้คนได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนอย่างสุสานแต้จิ๋ว กทม. บางแห่งก็ถูกโปรโมตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างจริงๆ จังๆ จนนำเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล เช่น สุสานใต้ดิน (catacomb) ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส
นี่คือบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับมิตรสหายระหว่างเดินย่ำอยู่ในสุสานโปรเตสแตนต์ กทม. ว่าด้วยการหาจุดร่วมระหว่างพื้นที่ของคนเป็นกับคนตาย ระหว่างเมืองกับสุสาน ในยุคสมัยที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป – ทั้ง 2 สิ่งจะอยู่ร่วมกันอย่างไรได้บ้าง ?