“ถ้าซ้อมตายแล้วเกิดไม่ตายล่ะ ไม่ซ้อมฟรีเหรอ?”
“ไม่ตายไม่เป็นไร แต่ถ้าตายเราซ้อมตายเผื่อไว้แล้ว จะได้ไม่ขาดทุน”
เป็นธรรมดาสามัญ ที่เด็กตัวเล็กๆ จะกลายเป็นมนุษย์ช่างถามช่างสงสัย ส่วนพ่อแม่ก็ต้องรับบทบาทผู้รอบรู้หาคำตอบมาคลายความสงสัยให้ได้
แต่เรื่องบางเรื่อง – อย่างเช่นความตาย – ก็คงไม่ง่ายนักที่จะหาคำตอบมาอธิบาย
…แต่ก็นั่นแหละ คือความจริงของชีวิต บทสนทนาข้างต้นนี้ก็เป็นการถามตอบที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถูกบรรยายไว้ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ณัฐวีณ์ เครือวัลย์ ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ก่อนที่โพสต์นั้นจะถูกส่งต่อออกไปเป็นวงกว้าง
เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าค่าตาของ ‘น้ำแข็ง’ ผ่านภาพถ่ายที่แนบมากับโพสต์เดียวกัน ในภาพนั้น ปรากฏใบหน้าของเด็กหญิงคนหนึ่ง กับที่คาดผมสีแดง หน้าตาไม่ได้สื่ออะไร มีแค่เพียงรอยยิ้มจางๆ …ภาพที่ว่า คือภาพที่ถ่ายในพิธีรดน้ำศพของเด็กหญิงคนนี้ มาพร้อมกับคำบรรยายว่า “น้องไปแบบสดใส หน้าตายิ้มแย้ม เป็นการจากไปที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้ สิ่งที่ทางครอบครัวและตัวน้องได้ทำก่อนน้องตายจริง คือการซ้อมเตรียมตัวตายค่ะ”
คลิกเข้าไปที่เพจ รออินเทอร์เน็ตโหลดสักพัก ก่อนที่ตรงหน้าจะเต็มไปด้วยภาพถ่ายและคลิปวิดีโอของน้ำแข็ง บางภาพมีสายระโยงระยาง บางภาพไม่มี แต่ไม่ว่าแบบไหน ก็จะเห็นเธอคนนี้ยิ้มแย้มสดใสตลอดเวลา
ลองค้นดูไม่นาน ก็ปะติดปะต่อได้ว่า น้ำแข็งล้มป่วยเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยโรคมะเร็งกระดูก ที่เรียกว่า ‘อีวิงซาร์โคมา’ (Ewing sarcoma) ตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ เธอเข้ารับเคมีบำบัดมาแล้วเกิน 10 ครั้ง ผ่าตัดอีกหลายครั้ง แผลยาวที่สุดตั้งแต่ลิ้นปี่ถึงใต้สะดือ จนมะเร็งเคยหายไป
แต่มันก็กลับมาอย่างไม่ปรานี ส่งผลให้สุดท้ายน้ำแข็งต้องจากไปก่อนวัยอันควร ด้วยอายุเพียง 8 ขวบ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565
เด็ก 8 ขวบ, โรคมะเร็ง, การ ‘ซ้อมตาย’ – ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่ไม่ควรจะอยู่ด้วยกัน แต่โชคชะตา ไม่ว่าร้ายหรือดี ก็นำพาให้มันมาหลอมรวมอยู่ในตัวเด็กผู้หญิงชื่อน้ำแข็ง เด็กผู้หญิงที่ควรจะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดา
และอันที่จริงชีวิตของเธอก็คงจะเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีคำว่ามะเร็ง
แต่ในอีกแง่หนึ่ง องค์ประกอบเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวของน้ำแข็งกลายเป็นเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา เด็กผู้หญิงหน้าตาสดใส ทำไมต้องมาซ้อมตาย? แต่แล้วทำไมเธอถึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี? เมื่อรู้สึกว่าไม่อยากให้เรื่องนี้จบลงแค่โพสต์เฟซบุ๊กโพสต์นั้น เราจึงตัดสินใจทักไปที่เพจ …เพื่อขอไปพูดคุยกับพ่อแม่ของเธอ
1.
ซ้อมตาย
160 กิโลเมตรจากเมืองหลวง รถของเราเลี้ยวเข้าหมู่บ้านจัดสรรหน้าตาทันสมัย ใจกลาง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี “บอกยามว่ามาบ้านน้องน้ำแข็งได้เลยครับ” คือคำตอบที่ได้รับเมื่อเราสอบถามเส้นทางไปยังปลายสาย ก่อนจะเลี้ยวรถเข้ามาตามคำแนะนำของพนักงานรักษาความปลอดภัย
ลงรถเสร็จสรรพ ตรงหน้าของเราคือ ‘บ้านเครือวัลย์’ ไม่นานเกินรอ นิติชัย เครือวัลย์ พ่อของน้ำแข็ง ก็ออกมาต้อนรับ และพาเราเข้าไปในตัวบ้านที่ซึ่ง เฌอลิณญ์รฎา ฤทธาธนาเศรษฐา แม่ของน้ำแข็ง ซึ่งกำลังตระเตรียมข้าวของในบ้าน สำหรับการมาเยือนของเรา
พ่อกับแม่นั่งลงท่ามกลางตุ๊กตานับสิบตัว เวลาล่วงเลยทำให้ทั้งสองมีสีหน้าเกือบจะเป็นปกติ แม้เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตมาก็ตาม
“ซ้อมตายคืออะไร?” บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่เราพกมาตั้งแต่กรุงเทพฯ
แม่ของน้ำแข็งเป็นคนเริ่มตอบด้วยท่าทีสงบนิ่ง ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเพราะตกตะกอนมาแล้วหลังจากที่ออกไปพูดเรื่องนี้กับสื่ออยู่บ่อยครั้ง
“เป็นเรื่องของการอธิบายให้เค้าเข้าใจว่า เค้าควรจะต้องเตรียมจิตเตรียมใจตัวเองอย่างไร หากเค้ามีความจำเป็นที่จะต้องทิ้งโลกนี้ไป”
2 สัปดาห์หลังจากที่รู้ว่าน้ำแข็งกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง แม่ก็บอกว่า “เราก็เริ่มมาคุยเรื่องนี้กับน้อง เพราะว่าหน้าที่ของเราคือ ทำยังไงก็ได้ หากลูกต้องเผชิญกับสถานการณ์ตรงหน้า ลูกต้องไปอย่างมีความสุข ด้วยจิตใจที่ไม่เศร้าโศก
“มันต้องหาเหตุผล ก็ถามลูกเลยว่า เหตุผลอะไรบ้างที่หนูไม่อยากตาย เป้าหมายในการถามคือ เรามีหน้าที่แกะทุกประเด็นที่ลูกไม่อยากตายให้สำเร็จ
“ทันทีที่เราเห็นสถานการณ์ลูกไม่ดี เราแค่มาพูดอีกนิดนึงว่า น้ำแข็ง มาซ้อมตายกันนะลูก เราก็บอกว่า น้ำแข็ง หนูเห็นร่างกายหนูมั้ย มันเริ่มไม่ไหวแล้วนะ หายใจเหนื่อยมากเลย หนูสั่งไม่ได้ หนูอยากแข็งแรง หนูอยากสบาย แต่หนูสั่งไม่ได้ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรานะลูกนะ เรายืมเค้ามาใช้ชั่วคราว ทิ้งได้ทิ้งนะลูก ไม่ต้องไปหวงแหนไม่ต้องไปอะไร”
สำหรับการ ‘แกะทุกประเด็น’ ที่ว่า แม่จะเป็นฝ่ายหาคำอธิบายมาตอบจนกว่าน้ำแข็งจะพอใจ เพราะเมื่อน้ำแข็งจากไปจริงๆ แน่นอนว่าก็จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาแม้กระทั่งในใจของเจ้าตัว
…กลัวตายไปแล้วแม่จะเสียใจ? แม่ต้องคอยย้ำว่า “บางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรากำหนดไม่ได้ เราต้องยอมรับ”
…อยากดูแลแม่จนกว่าจะแก่เฒ่า? แม่ต้องคอยบอกว่า ไม่ต้องกลัวแม่เหงา เพราะยังมีพี่น้อง หรือไปปฏิบัติธรรมก็ยังเจอเพื่อน
“สิ่งที่จะทำให้คนไม่โศกเศร้าได้ คือ การทำให้เค้ามองเห็นความเป็นจริง ยอมรับได้ด้วยจิตใจที่เห็นได้ด้วยอย่างนั้นจริงๆ โดยไม่หลอกตัวเอง”
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ‘ศาสนา’ จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญ แม่ ผู้ยอมรับด้วยตัวเองว่าเป็นคนใฝ่ธรรมะและปฏิบัติธรรมเป็นปกติอยู่แล้ว บอกกับเราว่า ทั้งเธอและพ่อของน้ำแข็งจะใช้ ‘หลักธรรม’ เป็นเครื่องนำทางในวันที่วาระสุดท้ายของน้ำแข็ง จุดประสงค์คือ เพื่อ “ประคองไม่ให้ความโศกเศร้าหรือความหม่นหมองใดๆ มากระทบลูก” ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยส่งให้น้ำแข็งไปสู่ภพภูมิที่ดี
เสียงสวดมนต์จึงกลายเป็นเสียงคุ้นหูที่น้ำแข็งได้ยินจนเป็นปกติในช่วงที่ป่วย ถึงขนาดที่ว่า ก่อนจะหมดลมหายใจ อย่างเดียวที่พ่อกับแม่ทำก็คือ ท่องพุทโธ พลางสวดมนต์ตลอด 6 ชั่วโมง โดยไม่มีหยุดพัก
“ม๊าา ซ้อมขนาดนี้แล้วถ้าหนูไม่ตายล่ะ” แม่เล่าถึงคำพูดของน้ำแข็งที่แซวกลับมา
“ซ้อมไปก่อนน้ำแข็ง ไม่เป็นไร” เธออธิบาย “ถ้ารอนานกว่านี้ แล้วม๊าค่อยมาคุยเรื่องนี้ หากหนูฟังม๊าไม่ค่อยรู้เรื่องล่ะ ร่างกายหนูเริ่มไม่ค่อยมีสติ แล้วมาคุยตอนนั้นมันไม่ทัน ก็เลยบอกว่า ซ้อมตายตอนนี้ก่อนเลยลูก ถ้าไม่ตายไม่เป็นไร”
ไม่ตื่นตระหนก ไม่เศร้า ไม่ถามเลย ยอมรับได้แล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา คือท่าทีของน้ำแข็งจากปากคำของพ่อและแม่
“เค้าอยู่กับโรคนี้มา 2 ปี 3 เดือน เค้าผ่านมาเกือบจะทุกอย่างแล้ว เฉียดตายมาก็หลายรอบ เพราะฉะนั้น พูดถึงเรื่องความตาย เค้าเข้าใจ” พ่ออธิบายเสริม
ปรายตามองไปรอบบ้าน ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำแข็ง เหล่าตุ๊กตาที่ล้อมรอบพ่อแม่ขณะนั่งคุยกับเรา ก็มีน้ำแข็งเป็นเจ้าของทั้งหมด หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปตามความชอบของเจ้าตัว ที่จะมีอายุขัยตัวละไม่เกิน 1 เดือน แต่พ่อก็เล่าด้วยว่า ตัวที่ตราตรึงใจมากที่สุด กลับไม่ใช่ตุ๊กตาสีสันสดใส แต่คือ ‘เบนดี้’ ตัวการ์ตูนดำทะมึนและลึกลับ ที่น้ำแข็งเจอมาจากในยูทูบแล้วถูกอกถูกใจตามประสาเด็ก
นอกจากอุปกรณ์และหนังสือสอนวาดรูปที่ยังใช้และอ่านไม่หมด ก็ยังมี ‘ไวต์’ หนูแฮมสเตอร์ที่น้ำแข็งทิ้งไว้ให้ ขณะที่รอบๆ บ้าน จะมีของครอบครัวใส่กรอบวางเรียงราย ทั้งรูปตอนไปเที่ยวก่อนป่วย หรือรูปของน้ำแข็งตอนป่วยหนักแล้วก็ตาม บนผนังยังมีรูปน้ำแข็งใส่กรอบทองขนาดใหญ่โต – ที่ระลึกจากงานฌาปนกิจ
2.
จุดเริ่มต้นของนรก
3 มีนาคม 2563 คือวันแรกที่น้ำแข็งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แม้จะยังไม่แน่ใจทันทีว่าสาเหตุคืออะไร แต่แม่ก็เล่าถึงบรรยากาศวันนั้นว่า เป็น ‘จุดเริ่มต้นของนรก’ จากเดิมที่วางแผนจะไปเที่ยวช่วงปิดเทอม พอรู้ว่ามีก้อนเนื้ออยู่ในท้อง กลับต้องมาผ่าตัด ก็ได้แต่ทำให้พ่อแม่ได้แต่ใจหาย แม่เล่าว่า วันนั้นถึงกับโทรศัพท์ร่วงหล่นจากมือ
ทั้งหมดนี้เริ่มจากอาการปวดฉี่ตอนกลางคืน นอนดิ้นไปดิ้นมา เมื่อช่วงปลายปี 2562 จากเดิมลุกขึ้นฉี่วันละรอบ พอมาถึงเดือนมกราคม 2563 ก็เพิ่มความถี่จนกลายเป็นคืนละ 2 รอบ “ทีแรกก็คิดว่ามันเป็นเพราะว่าให้เค้ากินน้ำเยอะ” พ่อยังไม่เอะใจ คิดว่าเป็นผลมาจากความพยายามแก้ท้องผูกให้น้ำแข็ง
ผ่านไปร่วม 2 เดือน อาการยังไม่หายไป มิหนำซ้ำ ยังมีเรื่องไม่ขับถ่ายที่เพิ่มหนักขึ้นมา วันที่ 3 มีนาคม 2563 พ่อแม่จึงตัดสินใจแวะเข้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
ท้องที่แข็งและนูนทำหมอแปลกใจ จนสุดท้ายตรวจอัลตราซาวด์ก็พบ ‘อะไรบางอย่าง’ ในช่องท้อง ขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร
“โรงพยาบาลเรา ศักยภาพอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำเคสใหญ่ขนาดนี้” หมอพูด หลังแจ้งผลการตรวจ
“เคสใหญ่มากเลยเหรอครับ” พ่อยังแปลกใจ ก่อนที่หมอจะอธิบายว่า “คือเรายังไม่รู้ว่าคืออะไร เราอยากให้ไปโรงพยาบาลที่พร้อมในทุกๆ เรื่อง”
หลังติดต่อและย้ายมาที่โรงพยาบาลศิริราชได้สำเร็จ และผ่านช่วงที่พ่อแม่เรียกว่า ช่วง ‘มหาตรวจ’ ทั้งการเจาะเลือดนับไม่ถ้วน การเจาะไขกระดูก การตรวจสแกนกระดูก (bone scan) และการผ่าตัดเพื่อตรวจชิ้นเนื้อ จนกระทั่งผ่านมาทั้งหมด 2 สัปดาห์ หมอก็ยืนยันได้ว่า น้ำแข็งเป็นมะเร็งชนิด Ewing sarcoma
“หมอบอกว่า โอกาสเกิดน้อยมากในเด็กอายุเท่าน้ำแข็ง ในเพศหญิง อายุ 6 ขวบ แล้วเป็นก้อนขนาดนี้ ขนาด 13 เซนติเมตร ก็น่าจะ 1 ในล้าน” พ่อเล่าคำพูดที่รับรู้จากปากหมอในวันนั้น
“ผมก็ถามว่า แล้วน้องมีโอกาสหายแค่ไหน ก็ตามประสาเรา เราถามว่า โอกาสหายมีแค่ไหน อันตรายไหม ผมถามครั้งเดียว แล้วผมก็ไม่เคยถามอีกเลย หมอก็บอกว่า ตอบไม่ได้ ว่าจะตอบสนองกับตัวยาหรือเปล่า แต่ที่ตอบได้แน่ๆ คือ ผลข้างเคียง”
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือการให้ยาเคมีบำบัดมากกว่า 10 คอร์ส ด้วยความถี่ 14 วันต่อคอร์ส และการผ่าตัดอีกนับครั้งไม่ถ้วน กับอุปกรณ์ที่ได้มาเป็นของแถม คือ สายระบายปัสสาวะ หรือสาย PCN (Percutaneous Nephrostomy – คือการทำสายระบายปัสสาวะที่คั่งที่ไต) และเมื่อกินอาหารไม่ได้เพราะลำไส้โป่ง ก็ต้องผ่าตัดทำทวารเทียมใส่ถุงหน้าท้องอีก
“ตอนนั้นรู้สึกว่า น้ำแข็งจะไหวมั้ย แต่ลูกไม่ร้องไห้นะ เราเนี่ยแหละร้อง เพราะเราเห็นลูกสภาพอย่างนี้ จิตใจเรารู้สึกว่า ในชีวิตนี้ ให้เราเป็นเอง เรายังไม่เสียใจเท่ากับลูกเราเป็น” แม่ว่า
แม้จะผ่านมีดหมอมาครั้งแล้วครั้งเล่า ทรมาน ทุรนทรายจากผลข้างเคียงของการรักษา แต่แม่ก็เล่าว่าน้ำแข็งไม่เคยร้องไห้ ยังคงความร่าเริง หลักฐานเชิงประจักษ์คือคลิปแรกๆ ของน้ำแข็งที่ปรากฏในช่องยูทูบ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563
การปรากฏตัวบนโลกออนไลน์ของน้ำแข็งมีที่มาที่ไปทั้งจากไอเดียของพ่อ และความใฝ่ฝันของน้ำแข็งเอง ในมุมของพ่อ เขาเล่าว่า ตอนที่น้ำแข็งล้มป่วย เขาลองค้นหาในกูเกิลเกี่ยวกับโรค Ewing sarcoma แต่ก็ไม่เจอข้อมูลในไทยเลย “ไม่มีเลย ตลอด 4-5 เดือนเราอยู่กันแบบเคว้งคว้าง” นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขาอยากเริ่มทำเพจเล่าประสบการณ์ของน้ำแข็งขึ้นมา
“เอาๆ หนูชอบ หนูอยากให้กำลังใจคน” น้ำแข็ง เด็กที่โตมากับสื่อออนไลน์ และมีความฝันอยากเป็น ‘ยูทูบเบอร์’ เป็นทุนเดิม ตอบรับไอเดียของพ่อทันที
“ดูหนูสิ หนูทั้งมีไส้ ทั้งมีสาย แล้วหนูก็มี PICC line หนูมีเยอะขนาดนี้ หนูก็ยังมีความสุขได้เลยค่ะ” เสียงของน้ำแข็งก้องกังวานในคลิปนั้น
หลังจากนั้น น่าเหลือเชื่อว่า อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนแข็งแรงพอที่จะผ่าตัดและฉายแสงรักษามะเร็ง แม้ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่ตามมาอย่างหนักหน่วง แต่ในเดือนมีนาคม 2564 พ่อแม่ก็บอกได้เต็มปากว่า ‘หาย’ จากมะเร็งกระดูกแล้ว
แต่กระนั้นก็ดี ช่วงเวลาแห่งความสุขกลับไม่ยืนยาวนัก 11 เมษายน 2565 มะเร็งกลับมาหาน้ำแข็งอีกครั้งเป็นรอบที่ 2
ทำให้พ่อแม่ยอมรับแต่โดยดีว่า ครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้าย
และต้องปล่อยมือน้ำแข็งไป
3.
ทุกทางที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้
หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จในช่วงเช้า พ่อกับแม่น้ำแข็งขอเวลาปลีกตัวจากการนั่งคุยที่บ้าน เพื่อมาแจกไอศกรีมให้เด็กๆ ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านเตาถ่าน ไม่ไกลนักจากบ้านเครือวัลย์
พักกลางวัน เสียงเด็กเจี๊ยวจ๊าวกระหึ่มอาคารโดมกลางโรงเรียน แต่ทุกอย่างยังอยู่ในความเรียบร้อย และแม้จะมาเพื่อสังเกตการณ์ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงการต้อนรับเป็นอย่างดี กระทั่งคุณครูยังหยิบน้ำท่ามาเสิร์ฟให้พวกเรา ขณะที่เด็กๆ ทุกคนที่เดินผ่านยกมือไหว้ราวกับว่าเราเป็นแขกคนสำคัญ
หลังจากที่รถบรรทุกไอศกรีมถอยหลังเพื่อจอดข้างๆ อาคารโดม มาประจบกับแถวของเด็กๆ ที่คุณครูค่อยๆ พามาทีละห้อง ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 พ่อกับแม่ก็เริ่มแจกไอศกรีมนับพันถ้วย
“น้ำแข็งมองลงมาคงดีใจมากแน่นอน เป็นผู้ให้ใจก็ฟู” พ่อของน้ำแข็งเขียนบรรยายในภายหลังผ่านเพจ – นี่คงเป็นอีกวิธีหนึ่งของทั้งสองในการ ‘รับมือ’ กับการจากไปของน้ำแข็ง
ชั่วครู่ต่อมา เรากลับมาที่บ้านของน้ำแข็งอีกครั้ง คราวนี้เมฆเริ่มก่อตัวทำฟ้าครึ้ม แรงลมส่งมาถึงกังหันลมสีสดหน้าบ้าน ที่กำลังทำงานอย่างหนัก
“น้ำแข็งเลือกสีเองนะอันนี้ กังหันลมเนี่ยติดไว้เพื่อจะรับสิ่งดีๆ เข้ามา สิ่งไม่ดีจะได้ออกไป น้ำแข็งก็บอกว่า หนูก็ว่าดี หนูอยากได้ สวยด้วย” พ่อเล่า
พูดถึงกังหันลมแก้เคล็ด ก็ต้องบอกว่าเรื่องของการ ‘รับมือ’ กับการจากไปของน้ำแข็ง พ่อถึงกับยอมรับว่า “ทำทุกทางแล้ว” ในช่วงที่น้ำแข็งยังอยู่ “เผื่อวันที่มันเกิดอะไรขึ้นมา เราจะไม่ย้อนกลับไปเสียใจว่า ทำไมเราถึงไม่ทำ แค่นี้ง่ายๆ ถ้าทำแล้วมันอาจจะดีก็ได้นะ แต่ในเมื่อเราทำทุกอย่างที่มันดีที่สุดแล้ว ผลมันจะเป็นยังไง มันเป็นเรื่องของผล แต่เหตุเราทำทุกอย่างแล้ว เราจะไม่ย้อนกลับไปเสียใจ”
กังหันลมเพื่อความสบายใจก็อย่างหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้น ก็ยังมีทั้งการเปลี่ยนเลขที่บ้าน การปรับฮวงจุ้ยบ้าน กระทั่งการเปลี่ยนชื่อ – จะเห็นได้ว่าแต่ละปี ชื่อจริงของน้ำแข็งแทบไม่ซ้ำกัน
พิมพ์มาดา เครือวัลย์
…ชื่อเกิด ที่พ่อตั้งให้อย่างง่ายๆ หน้าห้องคลอด ตัดสินใจใช้เมื่อรู้ว่าไม่มีอักษรกาลกิณี ความหมายว่า ‘เหมือนแม่’ ยิ่งได้รับการตอกย้ำโดยนิสัยของน้ำแข็งตัวจริง ที่สุดท้ายแล้วสนิทใจและเชื่อมั่นในวิธีคิดของแม่
ณัฐวีณ์ เครือวัลย์
…เปลี่ยนชื่อครั้งแรก หลังเริ่มป่วย หวังใช้โหราศาสตร์ช่วยเสริมเรื่องสุขภาพของเจ้าตัว “น้องไม่เจ็บตัว ลำบากแต่เราที่ต้องไปเปลี่ยนชื่อ” จึงตัดสินใจเปลี่ยน
พิมพ์ธิฌาย์ ฤทธาธนาเศรษฐา
…เปลี่ยนชื่อครั้งสุดท้าย หันมาใช้นามสกุลตามแม่ หลังจากที่แม่เปลี่ยนชื่อ ก็ขอให้โหรคนเดียวกันตั้งชื่อใหม่ให้น้ำแข็งด้วย
“อย่างน้อยมันได้ความสบายใจ” พ่ออธิบาย
“เราได้ทำทุกทางที่มนุษย์คนนึงมันจะทำได้แล้ว”
นอกจากกังหันลมที่พ่อว่าน้ำแข็งเลือกมากับมือ เดินเข้าบ้านมาอีกนิดเดียว ก็จะเจอกับงานฝีมือของน้ำแข็งชิ้นโต “รักพ่อแม่” ลายมือน้ำแข็งยังฝากเอาไว้กับประตูกระจกของบ้านเครือวัลย์ ถัดมาในห้องครัว ที่บานประตูตู้เย็นในห้องครัวก็ยังมีงานศิลปะอีก 2-3 ชิ้น บนแผ่นกระดาษมีมนุษย์ก้างที่ปรากฏว่าเป็นพ่อกับแม่ของน้ำแข็งเอง “รักพ่อ” และ “รักแม่” คือถ้อยคำที่กำกับภาพวาดนั้น
เมื่อนับรวมตุ๊กตาที่รายล้อม ข้าวของเครื่องใช้ และรูปถ่ายน้ำแข็งที่เรียงอยู่ทั่วทุกมุมของบ้าน ยิ่งทำให้เราสรุปได้ว่า ชีวิตของทั้ง 3 คนพ่อแม่ลูก เกี่ยวพันกันเกินกว่าจะแกะมันแยกออกจากกัน และถึงแม้ร่างกายจะสูญสลาย แต่ข้าวของเหล่านี้ ประกอบกับที่เราได้นั่งพูดคุยกับพ่อแม่ ก็แทบจะทำให้เราสัมผัสได้ถึงตัวตนของน้ำแข็ง ราวกับเธอไม่เคยหายไปไหน
ที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความตั้งใจของทั้งพ่อและแม่ด้วย ที่เลือกปล่อยให้ข้าวของคงสภาพไม่ต่างจากในวันที่น้ำแข็งยังอยู่
เรื่องนี้ผิดกับตอนแรกที่พ่อเล่าว่า อยากจะเคลียร์ข้าวของของน้ำแข็งทุกอย่างเมื่อเธอจากไปแล้ว
“จริงๆ ทีแรก ผมอยากจะเคลียร์ทุกอย่างเลยล่ะ เพราะว่าเราผูกพันกันมาก แต่พอเรากลับมาบ้านจริงๆ แล้วเรามาเจอจริงๆ ความรู้สึกมันเปลี่ยนนะครับ มันกลายเป็นความทรงจำที่สวยงาม ว่าเค้าอยู่ตรงนี้นะ เค้าเล่นอยู่นะ หรือว่านี่คือเสื้อผ้าที่เค้าใส่นะ” ความทรงจำเหล่านี้ยิ่งส่งเสริมจนกลายเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตของพ่อแม่
เป็นกำลังใจที่พ่ออธิบายว่า เพื่อให้ “ทำความดี ทำสิ่งดีๆ ให้เค้า หรือทำให้ตัวเราสามารถพัฒนาจิตใจของตัวเอง ให้เป็นแบบเค้าได้”
4.
16 มิถุนายน 2565
“ไม่มีใครคิดหรอกว่าลูกจะตาย” พ่อบอกกับเราช่วงหนึ่งระหว่างการพูดคุย แน่นอน นี่คงเป็นความคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ แต่หลังจากที่มะเร็งกลับมาหาน้ำแข็งเป็นรอบที่ 2 ได้ประมาณ 2 เดือน – หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งมากว่า 2 ปี – วันที่ลูกตายก็มาถึงจริง
“น้ำแข็ง เราจะไม่ยื้อชีวิตหนูนะลูก เราจะไม่ปั๊มหัวใจหนูขึ้นมานะ ถ้าหนูหมดลม ป๊าจะไม่ให้หมอสอดท่อนะ” พ่อเล่าถึงบทสนทนา 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ในช่วงการประคับประคองระยะสุดท้าย
“ไม่เอา หนูไม่เอาเหมือนกัน” น้ำแข็งตอบ เป็นอันว่าทั้ง 3 คนตกลงให้น้ำแข็งเป็นคนตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
ด้านหมอประคับประคองจากโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้อธิบายให้กับน้ำแข็งฟังว่า เธอสามารถขอรับยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการได้ 3 ระดับ ตามความหนัก-เบา คือ มอร์ฟีนแบบน้ำ มอร์ฟีนแบบแปะ และสุดท้ายคือ มอร์ฟีนแบบฉีด แบบสุดท้ายคือชนิดที่พ่อกับแม่ได้บอกน้ำแข็งไว้ก่อนแล้วว่า “มันอาจจะทำให้หนูหลับแล้วสบายเลย”
“เค้าก็จะรู้เลยว่า ถ้าเค้าขอมอร์ฟีนแบบฉีด หมายความว่า เค้าจะไม่ตื่นแล้ว เพราะฉะนั้น เค้าจะกังวลตรงนี้ว่า ห้ามเลยนะ ห้ามให้ป๊าม๊าแอบให้พยาบาลมาฉีดหนู คิดแทนหนู เค้ากลัวว่าเราจะคิดแทนเค้า ทั้งๆ ที่เค้ายังไม่พร้อมที่จะไป เค้ายังสู้ไหวอยู่” พ่อเล่า
จนมาถึง 2 วันสุดท้ายของชีวิตน้ำแข็ง การรักษาก็ดำเนินไปตามขั้นตอนนั้นจริง คือ เริ่มจากการให้มอร์ฟีนแบบน้ำไปเรื่อยๆ ทุก 6 ชั่วโมง ก่อนที่สุดท้ายจะเริ่มขอมอร์ฟีนแบบแปะตั้งแต่คืนแรกที่มาโรงพยาบาล
การประคับประคองเป็นไปอย่างยากเย็น น้ำแข็งหายใจลำบากเนื่องจากปอดเหลือที่ใช้งานได้อยู่แค่ 20% ขณะที่ร่างกายก็ปวดร้าวจากการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ จนพ่อไม่สามารถจับนอนได้ ได้แต่นั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
บ่ายวันสุดท้าย พอรู้ว่าจะไม่ไหว น้ำแข็งหยิบพวงมาลัยที่พ่อกับแม่ได้เตรียมไว้ เพื่ออัดคลิปวิดีโอเป็นครั้งสุดท้าย
“หนูอยากจะบอกว่า ถ้าสมมติหนูตาย ขอให้ช่อดอกไม้นี้ทำให้หนูไปรอด ไปสวรรค์ ไปพบพระพุทธเจ้า ด้วยเถิด สาธุ”
เวลาประมาณ 20.00 น. คืนนั้น อยู่ๆ น้ำแข็งก็ลุกขึ้นมา หลังจากที่ปวดจนทนไม่ไหว แล้วบอกว่า “ป๊า ไปตามพยาบาลมาฉีดยา” พร้อมกับขอพวงมาลัยมากำไว้ในมือ
เมื่อพยาบาลมาถึง ก็ฉีดมอร์ฟีนเข้าเส้นเลือด ขนาดยาเท่าโดสผู้ใหญ่ น้ำแข็งจึงเริ่มที่จะหลับอย่างสบาย หลังจากนั้น พ่อก็พบว่าเท้าของน้ำแข็งเย็นมาก จึงเอาไดร์เป่าผมมาเป่าเท้า
จู่ๆ น้ำแข็งก็ลุกขึ้นมาอีกครั้ง “น้ำแข็งเป็นอะไรลูก” พ่อถาม
“ปะป๊า ดูเท้าหนูสิ หนูทำเต็มที่ สูงสุดแล้ว หนูไม่เอาแล้ว หนูปล่อยแล้ว”
“ปะป๊า หนูทำเต็มที่ สูงสุดแล้ว หนูไม่เอาแล้ว หนูปล่อยแล้ว”
“หนูทำเต็มที่ สูงสุดแล้ว หนูไม่เอาแล้ว หนูปล่อยแล้ว”
น้ำแข็งพูดประโยคเดียวกันอยู่ 3 ครั้ง นั่นถือเป็นการคุยกันครั้งสุดท้าย จากนั้นก็หลับไม่ตื่นอีก
“นึกแล้วใจหายว่าลูกต้องไปแล้ว ก็มีสะเทือนอารมณ์ น้ำตาก็ไหลออกมาเอง” แม่เล่าถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
“แต่เราเข้มแข็งเพราะเรารู้สึกว่า เป็นห้วงเวลาสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสดูแลลูกเป็นครั้งสุดท้าย ฉะนั้น เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ความเข้มแข็งก็มา จากที่แอบกลัวว่าเราจะอ่อนแอหรืออ่อนไหวหรือเปล่า ไม่มีเลย มันกลับกลายเป็นความเข้มแข็งมาก เป็นพลัง แล้วก็มีแต่ความตั้งจิตตั้งใจว่าจะทำแต่สิ่งดีงามให้ลูก”
จากที่ได้พูดคุยกัน 6 ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตของน้ำแข็งถือว่ามีความสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ความเชื่อทางศาสนา ที่พ่อกับแม่เชื่อว่าเป็น ‘จิตสุดท้าย’ อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะช่วยส่งลูกไปสู่ภพภูมิที่ดีต่อไป จนนำมาสู่ในแง่ของการเตรียมตัวตาย ที่พ่อกับแม่อยากให้น้ำแข็งจากไปอย่างสงบที่สุด
‘ความเข้มแข็ง’ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ว่านี้ ก็มีหลักฐานประจักษ์เป็นการที่พ่อกับแม่ต้องเตรียมตัวตายไปพร้อมๆ กับลูก ซึ่งนอกจากจะท่องพุทโธและสวดมนต์ให้น้ำแข็ง สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองทำคือ การอดทนไม่ร้องไห้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พ่อกับแม่เคยคุยกับน้ำแข็งมาก่อนแล้วว่า ที่ไม่ร้องไห้ ไม่ใช่ว่าไม่ห่วง แต่ถ้าร้องไห้ ก็จะเท่ากับทำให้น้ำแข็งสับสน
“ไม่ร้องไห้ไม่ได้หมายความว่าไม่รัก แต่หมายความว่าป๊าม๊ารักหนูมากที่สุด” พ่อบอกกับน้ำแข็ง
หลังจากที่น้ำแข็งหลับไป ช่วงแรกหัวใจเต้นเร็วสุดถึง 190 ครั้งต่อนาที ราวกับว่า “ร่างกายมันไม่อยากตาย” พ่อว่า
สุดท้าย จังหวะหัวใจก็ค่อยๆ ช้าลง …และช้าลง
จนชีพจรหยุดเต้นเมื่อเวลา 3.34 น. ของวันที่ 16 มิถุนายน 2565
5.
ความตาย …หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่น่ากลัว
“มันทำให้เรายิ่งคิดเลยว่า ไม่ว่าจะศาสตร์ไหน ไม่ว่าจะความเชื่อไหน สุดท้าย ความจริงก็คือความจริงที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะขอพร พระจะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน เค้าบอกขอพร 100 ครั้งแล้วสำเร็จ 100 ครั้ง บนอะไรแล้วได้ตลอด แต่ความจริงก็คือความจริง” พ่อเล่า
เช่นเดียวกับหมอประคับประคอง ที่เคยพูดกับน้ำแข็งว่า “น้ำแข็ง หนูต้องมีสตินะลูก หนูท่องพุทโธไว้ตลอดนะ หนูขอพรพระนะลูก หนูขอได้ทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวที่หนูห้ามขอ หนูห้ามขอให้หนูหาย เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ลูก”
ครอบครัวเครือวัลย์ใช้แนวคิด ‘3 ห่วง’ ในการประคับประคองวาระสุดท้ายในชีวิตของน้ำแข็ง “ผู้ป่วยเหมือนยืนอยู่บนหน้าผา ที่พร้อมจะก้าวเท้าไป” พ่ออธิบายถึง 3 ห่วงนี้ว่า คือห่วงที่พยายามรั้งไว้ไม่ให้โบยบิน ประกอบด้วย ห่วงของหมอ, ห่วงของพ่อแม่ และห่วงของเจ้าตัวเอง
ห่วงแรก – ห่วงของหมอ คือการรั้งไม่ให้ไป ด้วยการพยายามรักษาประคับประคองให้ยืดชีวิตให้ได้มากที่สุด ห่วงนี้ตัดได้ด้วยการคุยกับหมอ ว่าจะไม่รับการกู้ชีพใดๆ จะรับเฉพาะการบรรเทาความเจ็บปวดให้ไปได้อย่างสบายที่สุด
ห่วงที่ 2 – ห่วงของพ่อแม่ ที่ไม่อยากให้ลูกไป ตัดได้ด้วยการคุยกันว่า พ่อกับแม่ก็ต้องซ้อมตายด้วยเหมือนกัน ถึงเวลานั้นจะเตรียมจิตใจอย่างไร ใครที่รู้สึกว่ารับสถานการณ์ไม่ไหว มีอารมณ์เศร้า จะต้องรีบออกจากห้องหรือสถานที่นั้นๆ ทันที แล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่อย่างมีสติที่สุด
ห่วงที่ 3 – ห่วงของลูก แม่ของน้ำแข็งจะเป็นคนอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ไม่ต้องมาห่วงพ่อแม่อีกต่อไป ไม่ต้องสนใจว่าจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ถ้าไม่ไหวแล้ว ก็ต้องทิ้งร่างนี้ไปเลย
“เมื่อเคลียร์ 3 ห่วงนี้ได้ เค้าก็สามารถเหาะขึ้นไปได้อย่างสบายใจ” พ่อว่า
ทุกวันนี้ บ้านเครือวัลย์จะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อนั่งสมาธิและสวดมนต์ บางครั้งพ่อจะถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ระหว่างการสวดมนต์อีกครั้งในตอนค่ำด้วย พอถึงเวลาก็จะไปทำปฏิบัติธรรม หรือทำบุญทำทานตามโอกาส อย่างเช่นที่ได้ไปแจกไอศกรีมให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านเตาถ่าน
“พอเรามาอยู่จุดนี้จริงๆ ไม่ได้อยากให้ใครเลียนแบบที่ว่าลูกตาย ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้กับใครด้วย แต่พอมันเกิดแล้ว เราจะรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับตัวเราเองเป็นสำคัญ กับตัวลูก และกับคนอื่นๆ ที่เรารู้จัก” พ่ออธิบาย
“เรื่องของความตายจริงๆ ก็ไม่ถึงกับสวยงาม” แม่สะท้อนคิด
“มันก็กระท่อนกระแท่น กว่าจะมาตกผลึกอย่างสวยงาม ก็คือช่วงสุดท้ายของชีวิตจริงๆ”
ความตายของน้ำแข็งถือเป็นบทเรียนที่สำคัญในชีวิตของพ่อกับแม่เอง ซึ่งพ่อก็ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นคนตายอยู่ตรงหน้า ตั้งแต่ต้นกระบวนการของการเตรียมตัวตาย ไปจนถึงเฮือกสุดท้ายของชีวิต
“น้ำแข็งสอนเราอย่างนึงเลยว่าความตายไม่น่ากลัว ถ้าเราเตรียมตัวมาดี” พ่อย้ำ
และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น มันกลับมาทำให้เจ้าตัวทบทวนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของตัวเองด้วย แม่บอกกับเราว่า “ทันทีที่ลูกตาย เราก็รู้สึกว่า ลูกเราซ้อมตายอย่างดี มันก็ฉุกคิดกลับมาที่ตัวเองเหมือนกันนะว่า แล้วถ้าถึงเวลาสิ่งนั้นมันเกิดกับเรา เราจะทำได้ดีเท่าลูกมั้ย เราเคยเคลียร์ตัวเองหรือยัง ทุกสิ่งทุกอย่างมันย้อนให้เรากลับมาตรวจสอบตัวเอง”
เพราะทั้งหมดนี้ มีสาเหตุมาจากสิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิตของเรา นั่นก็คือ ความตาย “สุดท้ายแล้ว มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันไม่สามารถคัดง้าง คัดค้าน ถ้าจะถึงเวลานั้นจริงๆ ก็ต้องยอมรับมัน แค่นั้นเอง” พ่อว่า
แน่นอนแหละว่า เราทุกคนล้วนหนีความตายไม่พ้น แต่จะว่าไป การรับมือกับความตายก็เป็นเรื่องที่ปัจเจกเสียเหลือเกิน นอกเหนือไปจากพิธีกรรมที่ศาสนากำหนด และขั้นตอนทางกฎหมายที่รัฐกำหนด ความตายจะส่งผลอะไรกับเรา และเราจะทำอะไรกับมัน ก็สุดแล้วแต่ความตั้งใจของแต่ละคน
สำหรับพ่อกับแม่ของน้ำแข็ง การ ‘ซ้อมตาย’ คือทางเลือกที่ดีที่สุดที่พวกเขาคิดว่าควรจะทำ และมุ่งมั่นทำมันได้สำเร็จ
เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย พ่อกับแม่ก็เล่าให้เราฟังว่า มันน่าจะเป็น ‘หนังคนละม้วน’ อย่างแน่นอน นั่นคือคงจะต้องร้องไห้น้ำตาแตก ขณะที่ความเศร้าปกคลุมทั้งตัวพ่อแม่และลูก
“เค้าก็ต้องจากไปด้วยความเศร้า และเราก็ต้องอยู่ด้วยความเศร้าอีกยาวนาน”
โชคดีที่ไม่เป็นเช่นนั้น
และโชคดีที่ความตายของน้ำแข็งอย่างน้อยได้กลายมาเป็นอนุสรณ์ที่ทำให้พ่อกับแม่มีกำลังใจใช้ชีวิต และกลับมาทบทวนถึงเวลาที่เหลืออยู่ของตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็เป็นประตูให้เราๆ ขยับเข้าไปสัมผัสเหรียญอีกด้านหนึ่งของชีวิต นั่นก็คือ ความตาย และพอจะเข้าใจได้มากขึ้นอีกนิดว่า เราควรจัดการอย่างไรกับมันดี
ในมุมมองของคนทั่วไป ที่แน่นอนว่าสัญชาตญาณเอาตัวรอดยังสลัดทิ้งได้ยาก การต่อสู้กับโรคร้ายที่ต้องจบลงด้วยความตาย ก็อาจนับเป็นความพ่ายแพ้อย่างหนึ่ง
แต่กับน้ำแข็งที่สู้กับมะเร็งมากว่า 2 ปี และ – เท่าที่เรารับรู้ – ก็เตรียมพร้อมรับมือกับวาระสุดท้ายของตัวเองมาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่คงเป็นความสำเร็จครั้งสุดท้าย และเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดในชีวิตอันแสนสั้นของเธอ