1. ผู้กำกับชาวชิลีนาม ปาโบล ลาร์เรน อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูในไทยสักเท่าไหร่นัก ด้วยหนังที่ผ่านๆ มาของเขาล้วนแต่เข้าฉายอย่างจำกัดวง หรือเฉพาะแต่ในงานเสวนาเฉพาะกิจแค่เท่านั้น ทำให้ Jackie จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับคนนี้ที่ได้ฉายมากโรงที่สุด
ทั้งนี้สาเหตุหลักประการสำคัญ นอกจากที่ได้นางเอกเต็งรางวัลอย่าง นาตาลี พอร์ตแมน มารับบทนำแล้ว อาจเป็นเพราะผลงานที่ผ่านๆ มาของเขานั้นล้วนแล้วแต่จับจ้องอยู่กับประเด็นการเมืองในประเทศชิลี และเหล่าบุคคลสำคัญของประเทศนั้นเป็นหลัก เช่น ปาโบล เนรูดา กวีเจ้าของรางวัลโนเบล หรือ ออกุสโต ปิโนเช่ ผู้นำเผด็จการทหารของชิลี ต่างจาก Jackie ซึ่งลาร์เรนได้หันเข้าสู่ประเด็นการเมืองที่พูดได้ว่าเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา นั่นคือ การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐอเมริกานั่นเองครับ
2. ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ได้โฟกัสไปที่ประธานาธิบดีเคนเนดีเป็นสำคัญ แต่กลับเป็นตัวแจคเกอร์ลีน ‘แจ๊คกี้’ เคนเนดี ต่างหากที่หนังเลือกจะจับจ้อง และบอกเล่าเรื่องราวของแจ๊คกี้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เธอยังดำรงตำแหน่งในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง ผ่านเลยมาจนถึงวันที่สามีของเธอถูกยิงเสียชีวิต และลากยาวไปอีกเล็กน้อยสู่ช่วงเวลาหลังจากที่ร่างไร้ชีวิตของเคนเนดีได้ถูกฝังหลังพิธีศพอันยิ่งใหญ่
ด้วยเหตุนี้ เมื่อความสนใจของหนังคือตัวแจ๊คกี้เป็นสำคัญ มันจึงไม่ใช่แค่การไล่ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แค่ทั่วๆ ไป เพราะลาร์เรนได้พาเราเข้าไปสังเกต และสำรวจสภาวะจิตใจอันแหลกสลายของสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ เห็นถึงความเจ็บปวดและความโศกเศร้าที่เธอต้องเผชิญในยามที่ต้องสูญเสียสามีจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และไหนจะยังมีลูกอีกสองคนที่ต้องเลี้ยงดูอีก ด้วยความกดดันที่จู่ๆ ก็กดทับตัวเธอนั้นมหาศาล ทำให้ผมตั้งความคาดหวังต่อไปอย่างผิดๆ ก่อนที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ ด้วยเพราะหลายๆ ครั้งที่ภาพยนตร์แนวอัตชีวประวัติ (โดยเฉพาะกับกรณีของแจ๊คกี้ซึ่งเป็นถึงสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ และต้องรับมือกับการสูญเสียครั้งใหญ่) มักจะนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวละครหลักในลักษณะที่ประนีประนอมกว่า ชวนให้เห็นอกเห็นใจกว่า หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่รู้สึกอึดอัด หรือคลางแคลงสงสัย ไม่วางใจเสียจนกลับกลายเป็นว่า เมื่อหนังเรื่องนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่จะอยากเอาใจช่วยให้แจ๊คกี้ผ่านพ้นความเจ็บปวดไปให้ได้ เรากลับยิ่งจะรู้สึกไม่แน่ใจว่า แจ๊คกี้ในแบบที่เราคาดหวังว่าจะได้ดู กับแจ๊คกี้ที่เรากำลังดูอยู่นี้ เป็นคนๆ เดียวกันจริงหรือเปล่า
3. ความงุนงงสับสนระหว่าง expectation และ reality นี่เองครับที่เป็นกระบวนการซึ่งลาร์เรนนำมายั่วล้อและล้อเล่นกับประเด็นหลักของหนัง ซึ่งก็คือการเขียนประวัติศาสตร์นั่นเองครับ
Jackie ท้าทายเราด้วยการแสดงให้เห็นถึงการคัดง้างกันระหว่าง ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนลงบนหน้ากระดาษ กับประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับการจารึก ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ถูกเซนเซอร์เอาไว้
ในที่นี้ ตัวอย่างของกระบวนการคัดสรรประวัติศาสตร์นั้นถูกจำลองให้เห็นผ่านบทสนทนาซึ่งเกิดขึ้นระหว่างแจ๊คกี้ กับนักข่าวที่มาสัมภาษณ์เธอ ด้วยข้อตกลงที่ว่า เขาจะสามารถจดบันทึกได้แค่เฉพาะเรื่องที่เธออนุญาตเขาแล้วเท่านั้น เช่นนี้มันจึงเท่ากับว่าเรื่องราวต่างๆ ที่จะถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ให้สาธารณะชนรับรู้ผ่านบทสัมภาษณ์นี้คือตัวบทซึ่งผ่านการตัดต่อและชำระแล้ว จากตัวผู้ถือครองประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือตัวแจ๊คกี้เอง
แจ๊คกี้ในหนังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงที่สภาพจิตใจสับสนและย่ำแย่ หากกระนั้นเธอก็ไม่ใช่ตัวละครที่เราจะพูดได้ว่ารู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ชัดๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยเพราะในขณะที่เธอกำลังแสดงความเปราะบางออกมาให้คนนอกได้เห็นนั้น พร้อมๆ กัน สิ่งที่เธอกำลังทำอยู่คือการเล่นเกมการเมืองด้วยการชักโยงคนรอบข้างให้ดำเนินไปตามเป้าหมายของเธอ นั่นคือการไม่ยอมให้อเมริกันหลงลืมเคนเนดี้ไปเสียง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ขบวนแห่ศพจึงต้องยิ่งใหญ่ ซึ่งไปๆ มาๆ ไม่เพียงแต่สิ่งที่เป็นไปตามการจัดการของแจ๊คกี้เท่านั้นที่ส่งผลให้เคนเนดี้เป็นที่จดจำ เพราะการที่ Lee Harvey Oswald ถูกยิงก็กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เหตุการณ์สังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ คราวนี้ ถูกจดจำด้วยการซ้อนทับอย่างไม่สิ้นสุดของเหตุการณ์อันไม่คาดคิด
4. แต่ไม่เพียงแค่ตัวแจ๊คกี้เท่านั้นที่เราจะเห็นถึงท่าทีถือตัว เอาแต่ใจ และดูเป็นจอมบงการ เพราะยังมีครอบครัวเคเนดีอื่นๆ ทั้ง บ๊อบบี้ เคนเนดี น้องชายของประธานาธิบดี หรือแม่ของเขา ที่หนังก็แสดงให้เห็นว่าบุคลิกอันไม่ชวนไว้วางใจ หยิ่งทะนง นั้นคล้ายจะไหลเวียนอยู่ในตระกูลนี้ แจ๊คกี้ ซึ่งแต่เดิมมีสถานะเป็นคนนอกครอบครัวเองก็คล้ายจะถูกหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเคนเนดีไปแล้วด้วยพฤติกรรมและการกระทำของเธอ ซึ่งตรงนี้เองที่มันก็ได้กลับไปสะท้อนต่อความเป็นจริงกับสิ่งที่ถูกแสดงให้สาธารณะชนได้เห็น หาใช่ประวัติศาสตร์ซึ่งแม้จะถูกบันทึกลงไปเป็นที่น่าเชื่อถือ หาใช่ผ่านตัวบุคคลนั้นๆ ที่เราจะไว้วางใจได้ว่านี่แหละคือตัวตนอันแท้จริงของเขา หากแต่เป็นผ่านเรื่องเล่า คำกระซิบนินทา หรือบทสนทนาปากต่อปากเสียมากกว่าที่ดูจะน่าเชื่อยิ่งกว่า ดังที่แจ๊คกี้กล่าวเอาไว้ว่า เธอรู้จักสามีของเธอจากเรื่องเล่ามากกว่าในร่างของมนุษย์จริงๆ เสียอีก
5. เพลง Camelot ที่ประธานาธิบดีเคเนดีโปรดปรานมีเนื้อหาที่ร้องว่า
“It’s true! It’s true! The crown has made it clear. The climate must be perfect all the year. A law was made a distant moon ago here, July and August cannot be too hot. And there’s a legal limit to the snow here. In Camelot.”
ซึ่งแปลความอย่างย่อได้ว่า นครคาเมลอตนั้นมีการตรากฎหมายเพื่อควบคุมดินฟ้าอากาศให้ได้มาตรฐานและวางอยู่ตรงตามระดับที่กำหนดไว้แล้วไม่อาจเป็นอื่น เพลงคาเมลอตนี้เองคือการสะท้อนให้เห็นถึงการเขียนประวัติศาสตร์ของแจ๊กกี้ในเรื่องนี้ นั่นคือการเป็นผู้กำหนดสิ่งที่จะปรากฏ พูดในอีกทางหนึ่งคือ เรื่องราวของเคเนดีที่จะอนุญาตให้ประชาชนได้รับรู้นั้นก็เป็นเช่นเดียวกับสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ในคาเมลอต ด้วยที่ทั้งคู่ต่างก็อยู่ภายใต้การตีตราอนุญาติของผู้มีอำนาจนั่นเอง