‘ข่าวลือ’ สร้างประเด็นได้พอๆ กับข่าวจริง และเผลอๆ ผู้คนยังชื่นชอบข่าวลือมากกว่าเสียอีก เพราะทุกวันนี้คุณคงรับข่าวสารจากหลายช่องทางวันหนึ่งเป็นร้อยๆ ข่าว แน่ใจได้อย่างไร ข่าวไหนจริง? ข่าวไหนกุขึ้นมาเพื่อสร้างความปั่นป่วน? เมื่อข่าวที่บิดเบือนแพร่กระจายได้รวดเร็วราวโรคระบาด และสร้างความปั่นป่วนระดับมหภาคโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก
เพียงใช้ความความอ่อนไหวของผู้คนในสังคมเป็นตัวจุดเชื้อปะทุ ประกายไฟเพียงนิดเดียว ก็ลามลุกเหมือนไฟป่า
ข่าวลือไม่ได้ทำให้ผู้คนอยู่ภายใต้ความวิตกกังวลเท่านั้น ยังส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยเองก็อ่อนไหวไม่น้อย ส่วนใหญ่มาจากแรงกดดันเฉพาะตัวภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทของไทยอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวลือร่วมด้วย ‘ตลาดหุ้น’ จึงมีความอ่อนไหวเป็นที่แรกๆ นักลงทุนเกิดความวิตกกังวล และพยายามเทขายหุ้นออกไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยง สอดคล้องกับความสับสนของข่าวลือ
เมื่อความกลัวครอบงำเงินตราและการลงทุน จึงมีกลุ่มมิจฉาชีพ อาศัยสถานการณ์ชุลมุนมาเป็นผู้เล่นหลักในตลาดหุ้น โดยใช้กลยุทธ์ปล่อยข่าวลือออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักลงทุนขวัญหนีดีฟ่อ แล้วดันราคาขึ้นก่อนกอบโกยกำไรใส่กระเป๋า ข่าวลือทำให้แวดวงการลงทุนเสียสมดุล มันใช้กลไกของ ‘ความคลุมเครือ’ ในการหาประโยชน์จากสังคม
ข่าวลืออยู่ใกล้คุณนิดเดียว
ตั้งแต่ยุคบุกเบิกอินเทอร์เน็ต ข่าวลือก็อยู่ในวงโคจรรอบๆ พวกเราตั้งแต่ไหนแต่ไร ย้อนไปช่วงยุคปี 1980 มีกลุ่มออนไลน์ลักษณะกึ่งสมาคมที่มีชื่อว่า Usenet โดยสมาชิกนิยมเผยแพร่ข่าวลือกันเอง มีขอบเขตอยู่เพียงผู้คนที่นิยมอ่านทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theorists) และผู้ที่ชื่นชอบอ่านข่าวเรื่องแต่งเพื่อหาความบันเทิงเท่านั้น อย่างไรก็ตามข่าวลือในกลุ่มลับๆ ก็หลุดรอดและแพร่กระจายไปในสังคมวงกว้างได้อยู่ดี
แต่ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียครองเมือง ทุกข่าวที่เรารับมาจากสื่อดิจิทัลหลากหลายช่องทางทั้งใน Facebook ในกรุ๊ป Line ญาติสนิท หรือ Twitter โดยคนที่แชร์ต่อๆ กันมา มักเป็นผู้คนซึ่งคุณคุ้นเคยเป็นอย่างดี
มันทำให้ ผู้ปิดและเปิดประตูข่าวสาร (Gatekeeper) หน้าเก่าๆ ที่เคยเป็นผู้ส่งสารในกระบวนการสื่อสารมวลชน อย่าง ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ หรือองค์การที่ผลิตสาร เช่น สำนักพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ ถูกลดบทบาทไปหมดแล้ว ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้เปิดประตูข่าวสารหน้าใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น เพียงเขานั่งพิมพ์ข้อความไม่กี่ประโยค
มันจะเลวร้ายกว่าเดิม หากนักการเมืองหรือผู้ที่มีชื่อเสียง (Politicians & Celebrities) ตกเป็นเหยื่อข่าวลือคนแรกๆ พวกเขามีแนวโน้มในการแพร่กระจายข่าวลือให้กับผู้ติดตามได้อีกเป็นล้านๆ คน โดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ และการไถ่ถามตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อเพื่อนและตัวคุณเอง คือ ‘ข่าว’
ข่าวที่มาจาก เพื่อนสู่เพื่อน ครอบครัวหรือคนรู้จัก มักน่าสนใจกว่าเสมอ เพราะมันมาจากคนที่ใกล้ตัวเราที่สุด อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมเดียวกัน โดยพวกเขาไม่มีทางเข้าถึงแหล่งข่าวหลัก (Main Source) แต่เป็นลักษณะข่าวที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นแล้ว เป็นลักษณะลูกโซ่ (Chain Sourcing) ที่จับต้นชนปลายไม่ถูกว่า ต้นกำเนิดของข่าวมาจากไหน
มันทำให้ประชากรในโลกออนไลน์กลายเป็นแหล่งข่าวหลัก และผู้นำสารของพวกเรามักเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิด เพราะตามธรรมชาติเรามักเชื่อเพื่อนก่อนเสมอ ตัวกรองการตระหนักรู้ (Cognitive Filter) ของเราเบาบางลง เป็นเหตุจากความใกล้ชิดที่ทำให้เรามองข้ามความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย พื้นที่โซเชียลมีเดียอันรุ่มรวยไปด้วยข่าวลือที่ค่อยๆ แอบอำพรางตัวเองเข้าสู่มโนสำนึกของเราทุกๆ วินาที
ก็เพราะเรา ‘ถวิลหาความปลอดภัย’
งานศึกษาทางจิตวิทยาชิ้นใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจกระบวนความเชื่อของคนในสังคมได้อย่างน่าสนใจ วิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Applied Cognitive Psychology พบว่า คนที่เชื่อข่าวลือล้วนมีองค์ประกอบคล้ายๆ กัน คือ พวกเขาไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ รู้สึกว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนเป็นภัย ขาดความมั่นคงในการทำภารกิจให้ลุล่วงในแต่ละวัน
นักจิตวิทยา Jan-Willem van Prooijen จากมหาวิทยาลัย Amsterdam ผู้เชี่ยวชาญด้านความอยุติธรรมในสังคม ทฤษฎีสมคบคิด และอุดมการณ์ทางการเมือง กล่าวว่า “ผู้คนโหยหาข่าวลือ เพราะพวกเขามักใช้ความรู้สึกในการเชื่อมโยงแต่ละจุดเข้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับความเป็นจริง มันช่วยลดความวิตกกังวล มันไม่ต้องใช้สติปัญญามากในการพิจารณา นั่นล่ะทำให้ผู้คนนิยม”
ข่าวลือล้วนก่อตัวขึ้นจากช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกลัวและความไม่แน่นอนในสังคม เช่น หลังจากเหตุก่อการร้าย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแพร่ระบาดของโรคหรือภัยธรรมชาติที่มียอดคนตายมากๆ มนุษย์รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุม และต้องการคำตอบจากปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่เมื่อไม่มีใครให้เหตุผลได้ดีพอ ทฤษฎีของข่าวลือเหล่านี้จึงดูฟังขึ้นมากกว่า
เช็กให้ชัวร์ กับ เช็กก่อนแชร์.com
โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทย และเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้ใช้มากขึ้น พื้นที่ของข่าวเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันจึงจำเป็นที่เราต้องมีเครื่องมือที่ช่วยคัดกรองให้สังคมได้ฉุกคิด วิเคราะห์ และตระหนักถึงผลกระทบของข่าวลือ โครงการ เช็กก่อนแชร์.com จึงเป็นจุดริเริ่มครั้งสำคัญเพื่อรณรงค์ให้พวกเราใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ มีสติ และเช็กก่อนแชร์ข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ โดยการร่วมมือของ 3 ดิจิตอลเอเจนซี่รุ่นใหม่ บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด, บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด และ บริษัท ครีเอทีฟ จูซ แบงคอก จำกัด พร้อมด้วยการสนับสนุนและการผลักดันโครงการฯ จากองค์กรภาคเอกชน อาทิ เอสซีจี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA) ที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในโครงการฯ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ผลักดันคุณภาพให้สังคมออนไลน์ของไทยดีขึ้น
เช็กก่อนแชร์.com ทำอะไรบ้าง?
เช็กก่อนแชร์.com เกิดมาเพื่อ เช็กแต่ข่าวลือ หรือข่าวที่เป็นกระแสในขณะนั้น (มีการกล่าวถึงแชร์ หรือ Forward link เป็นจำนวนมาก) แสดงผลการตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่สามารถพิสูจน์ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง (Inspector) หรือแหล่งข่าว/ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Reliable Source) มาช่วยตรวจสอบ ซึ่ง เช็กก่อนแชร์.com ได้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่ให้ความร่วมมือด้านข้อมูลแก่เว็บไซต์อย่างตรงไปตรงมา และสามารถนำมาอ้างอิงต่อได้
1. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์
2. อ. ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์
3. นพ. พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม
4. พญ. เสาวภา พรจินดารัตน์ หรือ หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก
5. ทนาย วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
6. พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ หรือ ป้าหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กทารกแรกเกิด
7. อ. ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม
อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์จะไม่เช็กเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ดารา นักการเมือง ราชวงศ์ ทฤษฎีสมคบคิด UFO เป็นต้น
แล้วมันทำงานอย่างไรล่ะ?
- เข้าสู่เว็บไซต์ เช็กก่อนแชร์.com
- พิมพ์ข้อความ หรือคำค้นหา (Keyword) หรือแปะ Link ข่าวที่ต้องการตรวจสอบลงไปในช่อง ‘ค้นหา’
- หากพบข้อมูลในระบบ ระบบจะประมวลผลว่าข่าวดังกล่าวจริง ‘เช็กแล้ว แชร์โลด’ หรือข่าวเท็จ ‘เท็จแน่ๆ ไม่แชร์ดีกว่า’
- หากข่าวหัวข้อนั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ระบบจะประมวลผล ‘อย่าเพิ่งแชร์’
- กระบวนการจากนี้ จะนำสู่การส่งต่อข้อความ หรือข่าวดังกล่าว ให้ทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือนักวิชาการสาขาต่างๆ ให้คำตอบเพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้ง
- ระบบจัดเก็บข้อมูล หรือข่าวที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วเพิ่มเติม
มันอาจจะทำให้คุณใช้เวลามากขึ้นเพียงไม่กี่นาที แต่มันดีกว่าที่คุณจะเป็นต้นตอในการแชร์ข่าวผิดๆ ไปให้คนอื่น ซึ่งคุณเองล้วนมีส่วนรับผิดชอบสภาพแวดล้อมในโลกออนไลน์เช่นกัน
มีคนที่อยู่เบื้องหลังข่าวลือคอยตักทวงผลประโยชน์อยู่เสมอ อย่ายอมเป็นเหยื่อให้กับการข่าวที่ไม่ชอบธรรมกับใคร อย่างน้อยที่สุดคุณก็ไม่เอาเชื้อแห่งความไร้เดียงสาไประบาดกับคนอื่น ให้เวลากับตัวเอง เช็กก่อนแชร์.com สัก 2 – 3 นาที ก่อนที่จะกดปุ่มแชร์ข่าวใดๆ ออกไป ความยับยั้งช่างใจอันวิเศษของคุณจะสร้างโลกออนไลน์ให้น่าท่องอีกเยอะเลย