.
.
.
หวังว่าคุณจะไม่ใจเร็วด่วนได้คว้าจักรยานปั่นไปซื้อตะไคร้ หรือแชร์บทความนี้ไปโดยเชื่อแค่เพียงพาดหัว
เพราะนอกจากคุณจะแค่ดีขึ้นจากอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยแล้ว เราคงต้องบอกความจริงกับคุณว่า การกินตะไคร้ไม่ได้ช่วยป้องกันขาอันมั่นคงของคุณจากการถูกยุงรุมกินโต๊ะแต่อย่างใดเลย
หลายครั้งที่เรามักเห็นข่าวทำนองเชื่อหรือไม่ เตือนภัย หรือข่าวความรู้ที่ฟังดูแล้วชวนแบ่งปันให้คนที่รักได้รับรู้ อาทิ รู้หรือไม่! มะนาวโซดาช่วยรักษามะเร็งได้, ตะลึง! สาหร่ายจีนผลิตจากถุงยางอนามัย หรือ ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติเตือน ปีพ.ศ. 2563 กรุงเทพฯ จมน้ำแน่ แล้วความตื่นตระหนกปนหวังดีก็มักนำหน้าสติให้นิ้วกดปุ่มแชร์ข่าวเหล่านั้นขึ้นโซเชียลไปก่อนเสมอ โดยยังไม่ทันพิจารณาหรือเช็กข้อมูลให้แน่ใจเสียก่อน ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาไม่เพียงแค่สร้างความเข้าใจผิดในสังคมวงกว้างเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลเสียต่อคนใกล้ชิดของคุณได้โดยไม่ทันรู้ตัว
เจ็บมาเท่าไหร่ กับความไว้ใจในโลกโซเชียล
ถ้าสำนวนสุภาษิตไทยมีโอกาสได้บัญญัติกันใหม่ นักเรียนสมัยนี้คงได้ท่องจำวลีที่ว่า ‘อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจข่าวออนไลน์’ กันแทนวลีเดิมแน่ เพราะแม้คนเกือบทุกเจเนอเรชั่นในยุคนี้จะหันมาเสพข่าวผ่านทางโลกออนไลน์กันมากขึ้นจนตัวเลขพุ่งไปแตะถึง 99% ด้วยเหตุผลของความไวและการเข้าถึงที่ง่าย ได้ทุกที่ทุกเวลา ที่ทำให้หลายเพจหรือเว็บไซต์เลือกจะนำเสนอข่าวที่ยังไม่ทันตรวจสอบ-กลั่นกรองให้ดีเสียก่อน เพื่อจะแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ความสนใจของผู้คนในโลกโซเชียลให้ไวกว่าเจ้าอื่น หรือซ้ำร้ายกว่านั้น หลายแหล่งเลือกจะสร้างข่าวปลอมที่ฟังดูน่าเชื่อถือบ้าง เกินความน่าจะเชื่อบ้าง เพียงเพื่อหวังยอดคลิกไปดูโฆษณา โดยไม่ได้สนใจว่าจะสร้างความเสียหายอะไรให้กับบุคคลในข่าว หรือผู้ที่เชื่อข่าวปลอมเหล่านี้บ้าง
จากข้อมูลของโครงการ “เช็กก่อนแชร์” หนึ่งในโครงการของ ปตท. ที่สนับสนุนให้คนหันมาเช็กข่าวสารในโลกออนไลน์ก่อนแชร์เสมอ ซึ่งได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการแชร์คอนเทนต์ในโลกออนไลน์ของกลุ่มคนในแต่ละเจเนอเรชั่นเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อมูลอยู่ชุดหนึ่งให้ตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจว่า ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัยจำนวนรวม 400 คน มีเพียงแค่ 22% เท่านั้นที่คิดเช็กข้อมูลข่าวที่ถูกต้องก่อนแชร์ ในขณะที่คนจำนวนที่เหลือเลือกที่จะกดแชร์โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องใดๆ ทั้งสิ้น
ยังไม่พอ เมื่อมาดูตัวเลขของคนที่เคยเห็นพาดหัวข่าวเหล่านี้ผ่านตา แล้วเชื่อว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงมีสูงถึง 42% ขณะที่อีก 50% มีความไม่แน่ใจ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ส่วนคนที่คิดว่าข่าวเหล่านี้ก็เป็นแค่เรื่องเม้าท์มอยซอยเก้าของคนเหงาๆ ว่างงานเท่านั้นแหละ มีจำนวนน้อยจนน่าละเหี่ยใจ นั่นก็คือ 9% นั่นเอง
เซ็งมาเท่าไหร่ กับคำว่าหวังดี
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อก็คือ แล้วทำไมคนเหล่านั้นถึงเลือกจะแชร์ความช้ำในหัวใจมาให้ชั้น… แบ่งมันมาจนเธอนั้นสบายใจ คำตอบที่ตรงประเด็นและง่ายต่อการทำความเข้าใจที่สุดก็คือ พวกเขาทำไปเพราะความหวังดี ทำไปเพราะแอบคิดเองเออเองในใจว่าข่าวเหล่านี้เชื่อถือได้…ประหนึ่งใช้ GT200 ตรวจสอบ (ว้าย!) หวังว่าข่าวที่แชร์ขึ้นหน้าเพจ หรือในกรุ๊ปไลน์ส่วนตัวต่างๆ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ และคนในครอบครัว คิดว่าข่าวสารเหล่านี้มีสาระ มีความรู้ที่อาจช่วยเหลือญาติสนิทมิตรสหายในการดูแลสุขภาพ หรือรักษาโรคร้ายให้หายได้ ตลอดจนบางครั้งช่วยเตือนภัยเหตุการณ์ความวุ่นวาย หรือภัยพิบัติต่างๆ …แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะเกิดไปเมื่อสิบห้าปีก่อนก็ตาม
เล่ามาถึงจุดนี้ เหล่าเท้าแชร์ตัวแม่โซเชียลทั้งหลายอาจจะเริ่มทิ้งค้อนเล็กน้อย พร้อมแนบแคปชั่นใส่รัวๆว่า ชั้นแชร์ในที่ของชั้น มันผิดตรงไหนอ่ะ/ แชร์ๆ ไปก่อน ถ้าผิดเดี๋ยวก็มีคนแย้งเอง/ ใครไม่เชื่อ ชั้นเชื่อสาธุ ขณะที่ในใจก็กำลังคิดว่าลองดูก็ไม่เห็นเสียหายนี่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การร่วมด้วยช่วยกันแชร์ข่าวปลอมคนละไม้คนมือ จากหลักสิบ หลักร้อย ในที่สุดเมื่อมันยิ่งกระจายออกไปสู่วงกว้าง ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอุปทานหมู่ ทำให้คนจำนวนมากเลือกจะเชื่อโดยไม่ทำการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข่าวมาแชร์ให้กับบุคคลใกล้ชิด อย่างญาติผู้ใหญ่ เพื่อนสนิท หรือกรุ๊ปไลน์ครอบครัวหรือคนที่คุณรักที่พร้อมจะเชื่อคุณโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวก็คือนอกจากบางข่าวที่อาจสร้างความเข้าใจผิด และความเสื่อมเสียให้กับบุคคลอื่น อาทิ ข่าวการเตือนภัยอาชญากรรมโดยแนบรูปบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องแล้ว บางครั้งยังอาจสร้างผลเสียต่อคนที่คุณรักโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ลองคิดภาพดูว่าคุณคงไม่อยากเห็นอาม่าสุดที่รักต้องนั่งรถกู้ภัยเล่นกระทันหัน เพราะดันไปเหมาทุเรียนมากินรักษาอาการเบาหวาน หรือโดนชี้หน้าด่า เพราะเอาพริกขี้หนูไปให้คนข้างบ้านกินแก้พิษงู แล้วบอกว่าไม่ต้องไปฉีดเซรุ่ม
ข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องเล็ก โปรดเช็กก่อนแชร์
ทีโทรศัพท์แฟนยังเช็กได้เช็กดี กับข่าวสำคัญที่จะแชร์ทั้งทีจะไม่เช็กกันหน่อยเหรอ? วิธีหนึ่งที่ง่ายแสนง่ายในการตรวจสอบความมั่นใจก่อนแชร์ข่าวต่างๆให้เพื่อนในโลกโซเชียล หรือกรุ๊ปไลน์ครอบครัวคือการเช็กกับสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เช็กผ่านเซิร์จเอนจิ้นด้วยคีย์เวิร์ดต่างๆ หรือจะเช็กผ่านเว็บไซต์ เช็กก่อนแชร์.com (https://www.checkgornshare.com/) ที่รวบรวมเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบมาแล้วเป็นอย่างดีก็ได้
นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับข้อมูล ทั้งเพื่อนในโซเชียลมีเดีย และคนใกล้ชิดแล้ว ยังเป็นการสร้างสังคมแห่งข้อมูลคุณภาพที่น่าอยู่ ลดการสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ถูกแอบอ้าง ตลอดจนสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเอง แถมยังไม่ต้องคอยเก็บเศษแตกๆ ของโบท็อกซ์ เอ้ย! ใบหน้าทีหลังตอนรู้ความจริงอีกด้วย!