ทำไมเชียงใหม่เป็นเมืองศิลปะ เป็นที่อยู่ของศิลปิน เพราะอยากจะหาคำตอบ เราจึงเดินทางขึ้นเหนือในช่วงต้นเดือนธันวาคม ร่วมงาน ‘Chiangmai Design Week’ 2020 งานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ ที่จัดระหว่างวันที่ 5-13 ธันวาคม ค.ศ.2020 ทั่วตัวเมืองและอำเภอสันกำแพง
เพื่อพบคำตอบว่า ชุมชนคือศิลปะ และศิลปะคือชุมชน
ศิลปะอาจจะแอบซ่อนอยู่ตามหัวมุมถนน และงานดีไซน์อาจจะซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน เราจึงแวะแทบทุกมุมถนน และหยุดพูดคุยกับคนที่หลากหลาย กะเทาะเปลือกที่เห็นได้ด้วยตา และแก่นเรื่องราวเบื้องหลังงานดีไซน์ที่จัดแสดง มานำเสนอให้ได้อ่านกัน
เผื่อใครนึกคึกอยากจะจองตั๋วเครื่องบินขึ้นเหนือ ไปร่วมงานที่หนึ่งปีมีครั้ง สัมผัสลมหนาวที่มีอยู่จริง ก็ยังไม่สายเกินไปนะ
PAPER BLOG
โดย COTH STUDIO
Location: TCDC เชียงใหม่
5-13 ธันวาคม
แม้หน้ากระดาษทำมือจะว่างเปล่า แต่เท็กเจอร์ของมันได้เล่าเรื่องราวผ่านสายตาและสัมผัสเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
พูดถึงกระดาษสาที่ถูกทำอย่างปราณีต เรานึกถึงเชียงใหม่เสมอ นิทรรศการแรกที่เราแวะจึงเป็นนิทรรศการ ‘PAPER BLOG’ เล่าเรื่องราวของกระดาษทำมือที่ยังไม่หายตายจากไปจากยุคสมัย
แม้ยอดส่งออกจะตกลงกว่า 90% ในยุคหลัง เพราะมีประเทศจีนและอินเดียเข้ามาแข่งขันการผลิต แต่ผู้ผลิตสองเจ้าในเชียงใหม่ยังรักษาคุณค่าของกระดาษแฮนด์เมดนี้ไว้ ผ่านกระบวนกรรมวิธีต่อยอดที่หลากหลาย
‘Weruwana Paper Studio & Arts’ เป็นแบรนด์กระดาษสาเวฬุวัน เรียบง่าย แต่ดีที่สุด ด้วยการรักษาการผลิตแบบเทรดดิชั่นนอลเอาไว้ แต่ขยับมาทำกระดาษสาด้วยวัตถุดิบใหม่ เช่น ผสมเยื่อไผ่ลงไป และทำงานร่วมกับศิลปินท้องถิ่นด้วยการผลิตกระดาษทำมือให้ศิลปินไปทำงานต่อ
ส่วน ‘PAPA PAPER’ จากสันกำแพง ขอแตกต่างด้วยการเป็นมากกว่ากระดาษของฝาก ออกแบบกระดาษสากับนวัตกรรม เปลี่ยนเป็นเคสไอแพด หรือหน้ากากอนามัยที่ไม่เหมือนใคร
หลังกาแฟแล้วแรกหลังมื้อเช้า แค่ยืนมองกระดาษเปล่าๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวไม่สิ้นสุด ก็ถือว่าเป็นการเปิดวันแบบ Good Day แล้ว
นิทรรศการสามัญประจำบ้าน
โดย วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์, อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา, รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ
Location: หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
5-13 ธันวาคม
เมื่อของใช้ในบ้าน ถูกมองด้วยมุมมองแปลกใหม่ กลายเป็นงานศิลปะจัดแสดงที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน และชวนว้าวในระดับที่เราอาจจะตั้งคำถามว่า ฝาชีมันคูลขนาดนี้ได้ด้วยเหรอ
นิทรรศการสามัญประจำบ้าน รวม 18 ไอเดียว่าด้วยเรื่องราวของสิ่งของสามัญรอบตัว ดีไซเนอร์บอกถึงแรงบันดาลใจว่า ช่วงโรคระบาดทำให้พวกเขาได้พิจารณาของใช้ในบ้านอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และนำพวกมันถูกให้คุณค่าใหม่ ผ่านการตีความใหม่ โดยยังคงไว้ซึ่งคุณค่าเดิมของตัวมัน
แม้ของบางอย่างไม่ต้องทำอะไรใหม่ แค่จัดวางใหม่ ก็สวยแล้ว นอกจากฐานะของใช้ที่มีคุณค่า ยังเป็นศิลปะชุบเยียวยาจิตใจ
นิทรรศการนี้จึงสอนให้รู้ว่า… บางครั้งสิ่งที่ใกล้ชิด คือสิ่งที่ถูกมองข้าม
ENLIGHTEN
Location: ทั่วตัวเมืองเชียงใหม่
5-13 ธันวาคม
พลาดไม่ได้ที่ CMDW จะไม่มีงานแสดงแสงสี เพราะถือเป็นไฮไลต์ขึ้นชื่อและผู้เข้าชมงานก็มักจะรอคอยเวลาพลบค่ำ ที่จะได้ถ่ายรูปกับแสงสวยๆ อัพขึ้นโซเชียลมีเดีย
ปีนี้กลุ่ม HOMECOMING งานจัดขึ้น 14 จุดทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ ศิลปินทำงานร่วมกับร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร ที่ให้พื้นที่โปรเจ็กเตอร์เข้าไปฉายแสง
งานชิ้นหนึ่งที่อยากจะชวนไปดูคือ งานอินเตอร์แอคทีฟ ‘Everyone’s Growth Looks Different’ โดย MITTE MITTE X Napich ที่ให้ผู้ร่วมงานไปยืนหน้าโปรเจ็กเตอร์ อยู่กับตัวเอง และรู้จักตัวเองในฐานะดอกไม้
อีกชิ้นที่ใกล้กัน ‘This too shall pass’ โดยกลุ่ม Humanist.us เป็นงานจัดแสดงไฟที่ยิงจากหลังบ้านคาเฟ่ชั้นสองของ วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ ลงบนคลองแม่ข่า คลองเก่าแก่สำคัญของเชียงใหม่
ภาพไฟกลมๆ หลายร้อยเคลื่อนที่เป็นคลื่นเหมือนสายน้ำ ศิลปินต้องการเล่าให้ฟังว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบหนักต่อเมืองเชียงใหม่ แต่มันก็คือหนึ่งวิกฤติที่เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ เหมือนกับสายน้ำที่ไหลไปและไม่ไหลย้อนกลับนั่นแหละ
เรื่องตลกคือ คืนแรกที่เปิดแสดงยิงไฟลงบนคลองแม่ข่า เจ้าเหมียวประจำชุมชนกรูกันลงไปริมตลิ่ง และพยายามไล่จับแสงไฟกันอยากสนุกสนาน หรือไม่สนุกเพราะจับไม่ได้เสียทีก็ไม่รู้สิ ต้องลองไปดูเอง
ชามเริญ สะพรั่ง พี่น้องและผองเพื่อน
Location: ชามเริญ สตูดิโอ
5-13 ธันวาคม
เพื่อนคือของขวัญล้ำค่า นั่นคือสิ่งที่ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ ผู้ก่อตั้ง ชามเริญ สตูดิโอ สตูดิโองานปั้น ได้เรียนรู้
ดังนั้นพื้นที่ชามเริญสตูดิโอที่อยู่ติดกับทุ่งนา และมีอาคารก่อสร้างสไตล์เก๋ล้อมรอบสนามหญ้า จึงเป็นที่ๆ เขาและเพื่อนๆ นักออกแบบรวมตัวกันจัดแสดงงาน และดึงเวิร์กช็อปเก๋ๆ เข้ามาให้คนได้มาแวะเวียนเยี่ยมชม ทั้งเซรามิก ทำเครื่องประดับทองเหลือง ภายใต้ชื่อ ‘ชามเริญ สะพรั่ง พี่น้องและผองเพื่อน’
ฝันของชามเริญ สตูดิโอ คือการสร้างคอมมูนิตี้ของนักออกแบบที่มีใจเดียวกันในเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้ใช้ หรือเช่าพื้นที่เปิดร้านทำงานในระยะยาว แลกเปลี่ยนความคิดกัน
ที่นี่แม้จะมีงานจัดแสดงหลากหลาย ทั้งเซรามิก จิวเวอรี งานภาพพิมพ์ เฟอร์นิเจอร์ แต่บรรยากาศริมทุ่ง ที่มีศิลปินนั่งกระจัดกระจายทำงานหรือพูดคุยเรื่องงานของตัวเอง ทำให้ที่นี่เหมือนเป็นยูโทเปียของนักออกแบบเลยล่ะ
Craft Your Own Time Aromatic Room Spray กับ PATCHOULI.SCENT.DESIGN
Location: ชามเริญ สตูดิโอ
12 ธ.ค. 11:00–15:30
13 ธ.ค. 11:00–12:30
‘PATCHOULI.SCENT.DESIGN ’ คือหนึ่งในพรรคพวกที่ ณัฐพล จาก ชามเริญ สตูดิโอ ชักชวนให้เข้ามาทำเวิร์กช็อปในช่วงเทศกาลงานออกแบบ
วันนี้ ต๋อม – ศิริรัตน์ เหล่าทัพ นำ PATCHOULI.SCENT.DESIGN มาชวนคนที่สนใจร่วมออกแบบกลิ่น Room Spray สร้างเรื่องราวผ่านกลิ่นของตัวเอง ผ่านการผสมผสานกลิ่นของเอสเซนเชียลออย 17 กลิ่น ที่ชื่นชอบ
ปีนี้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ นอกจากจะขยายพื้นที่มาสู่อำเภอใกล้เคียงอย่างสันกำแพง ยังอัดเวิร์กช็อปแน่นๆ ในหลายจุด เพื่อดึงให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมและสัมผัสเชียงใหม่ในมุมที่แตกต่างออกไป
เช็กโปรแกรมเวิร์กช็อกเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://chiangmaidesignweek.com/program?catId=12
Earth & Us: Street Music & Performing Art festival
Location: ชุมชนล่ามช้าง
5-6 ธันวาคม
อดีตพื้นที่โรงเลี้ยงช้าง ที่มาของชื่อวัดล่ามช้าง อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนที่แปรเปลี่ยนเป็นชุมชนแห่งเกสต์เฮาส์ต้อนรับนักเดินทาง แม้วันนี้จะไม่คึกคักเท่าไหร่นักเพราะข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลก แต่ยังครึกครื้นด้วยเสียงเพลงจากวงดนตรีปี่พาทย์ของเด็กในพื้นที่ ที่ถูกฟื้นขึ้นมาบรรเลงอีกครั้งเมื่อ 7 ปีก่อน ที่สำคัญ – วัดล่ามช้างยังเป็นสถานที่เก็บฆ้องกระแต 1 ใน 3 ที่เหลืออยู่ในประเทศไทย
พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสแห่งวัดล่ามช้างรับหน้าที่ curator กิตติมศักดิ์ให้เราในวันไปเยือน ย้ำอีกครั้งชัดๆ ว่าเชียงใหม่นี่แหละคือเมืองแห่งการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะทางวัดเป็นคนจัดงานและชวนทั้งชุมชนมาสร้างถนนคนเดินกลางชุมชนไปด้วยกัน หลวงพ่อพาเดินทอดน่องและทักทายผู้คนในบ้านเรือนและร้านค้า ตลอดทางตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย
วงดนตรีของเด็กๆ มีเฉพาะวันที่ 5-6 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่มิตรไมตรีของชาวชุมชนที่หยิบยื่นให้ในวันนั้น เราจึงอยากเก็บภาพและเรื่องราวมาเล่าฝากกัน
Art Fest กิ๋นหอม ต๋อมม่วน #3
Location: Addict art studio และชุมชนควรค่าม้า
5-6 ธันวาคม
เพราะอยากทดลองว่าศิลปะจะขับเคลื่อนชุมชนที่เขาเกิดและเติบโตมาได้อย่างไรบ้าง คชภัค ศรีสังวาลย์ ศิลปินกราฟฟิตี้ในนาม ‘Dr.cas’ เจ้าของ Addict art studio จึงควงแขนคุณแม่ ป้าศรีทัย ไชยศิริ ร่วมกันจัดถนนคนเดินแห่งกราฟิตี้ในชุมชนควรค่าม้า
ศิลปินกราฟิตี้จากทั่วประเทศถูกชักชวนมาตีความเชียงใหม่ในแบบของตัวเองลงบนผนังบ้านของคนในชุมชน ร้านค้าแผงเล็กๆ ของชาวมอญและคนไทยในชุมชนตั้งแผงขายของ เคล้ากับเสียงอีเล็กโทรนิกส์บีทหนักๆ จากดีเจที่เปิดอยู่หน้าสตูดิโอ
Dr.cas บอกว่า นี่เป็นปีที่ 3 แล้วที่จัดสตรีทอาร์ทประจำชุมชน จุดเริ่มต้นคือการนำศิลปะทำงานร่วมกับคนในชุมชน สำคัญที่สุดของการจัดงานคือเอาคนที่อยู่อาศัยเป็นตัวตั้ง ว่าพวกเขาจะได้อะไรบ้างจากการจัดงานแต่ละครั้ง ส่วนคนที่มาร่วมงานและร่วมจับจ่ายซื้อของ ยิ่งเยอะเท่าไหร่ ถือเป็นกำไรที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม ชุมชนควรค่าม้ายินดีต้อนรับผู้ร่วมงานทุกคนในทุกปี ในปีนี้แม้งานสตรีทเฟสจะผ่านไปแล้ว แต่ความน่ารักของคุณแม่และลูกชายที่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ผ่านสิ่งที่ตัวเองถนัด เป็นเรื่องน่ารักที่เราอยากหยิบมาแชร์ให้ฟัง
POP MARKET
Location: โรงงานยาสูบ
5-13 ธันวาคม
เดินดูงานทั้งวันจนน่องร้องบ่นปวด ขอชวนมานั่งหย่อนขา (หรือจะเดินซื้อขอกันต่อก็ได้) ที่งาน POP MARKET ตลาดงานดีไซน์ที่มีผู้ร่วมขายกว่า 170 เจ้า ปีนี้จัดยาวสองสัปดาห์
ซื้อของกิน จับจองพื้นที่ แล้วนั่งฟังเพลงจากหลายวงดนตรีดังของเชียงใหม่ ทั้งแจ๊ซ อะคูสติกฟังสบาย เหมาะกับอากาศที่เย็นสบายยามค่ำคืน