การเหมารวมว่างานแบบนี้เหมาะกับเพศไหน หรือกีดกันบางงานไว้สำหรับคนบางกลุ่ม อาจเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างเก่าสำหรับยุคสมัยที่โลกกำลังเปลี่ยน เรื่องความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา สภาพร่างกายหรือรสนิยมทางเพศเริ่มพูดถูกพูดถึงในวงกว้าง และไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถทางการทำงานอีกต่อไป ความหลากหลากหลายและความเสมอภาคจึงไม่ใช่เรื่องที่ ‘มีก็ดีไม่มีก็ได้’ แต่เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ที่ทุกองค์กรควรผลักดันให้เกิดขึ้น
ทว่า ปัญหาเหล่านี้ทั้งละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือนโยบายภายในองค์กร จนบางทีอาจจะเกินขอบข่ายหน้าที่และกำลังคนของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) เพียงอย่างเดียว ทำให้ช่วงหลังๆ บางบริษัทเริ่มมีตำแหน่ง ‘chief diversity officer’ หรือ ‘CDO’ ขึ้นมา เพื่อดูแลด้านนี้โดยตรง
CDO คืออะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง?
CDO คือผู้บริหารที่รับผิดชอบงานด้านความเสมอภาคและความหลากหลายในบริษัทเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน การอุดรอยรั่วปัญหาด้านความหลากหลายและความเสมอภาคภายในบริษัทผ่านการให้ความรู้ จัดกิจกรรมหรือกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน โดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ข้อจำกัดทางร่างกายและด้านอื่นๆ ทั้งภายในบริษัท ไปจนถึงการสื่อสารกับลูกค้า
เรียกง่ายๆ ว่าทำทุกวิถีทางให้เรื่องความเสมอภาคและความหลากหลายไม่ได้เป็นแค่ภาพลักษณ์ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ DNA หรือวัฒนธรรมขององค์กร ดังนั้น CDO เลยเหมือนคนที่ทำงานอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่าย HR และ CEO นั่นเอง
ทำไมต้องมีตำแหน่งนี้?
อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่าขอบข่ายหน้าที่ของ HR อาจไม่ได้ครอบคลุมประเด็นความหลากหลายได้ทั้งหมด ขณะที่ CDO สามารถช่วยให้บริษัทลงรายละเอียดเรื่องนี้ได้มากขึ้นและสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากมองในฐานะพนักงานบริษัทคนหนึ่ง สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเหยียด หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถโฟกัสเรื่องงานได้อย่างเต็มที่ แถมยังสร้างความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมของคนในองค์กรอีกด้วยนอกจากนี้การจ้างงานผู้คนหลากหลายเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือด้านอื่นๆ ยิ่งทำให้เราได้มุมมองที่หลากหลาย เอื้อต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลดีต่อธุรกิจด้วยเช่นกัน อย่างการสำรวจโดย McKinsey & Company เมื่อปี ค.ศ.2014 พบว่าบริษัทที่มีความหลากหลายนอกจากจะมีผลงานโดดเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งแล้ว ยังทำกำไรเพิ่มขึ้น 15% อีกด้วย
บริษัทไหนเริ่มมี CDO แล้วบ้าง?
แม้เราจะไม่คุ้นหูกับตำแหน่ง CDO สักเท่าไร แต่จริงๆ แล้วหลายบริษัทในต่างประเทศได้เริ่มมีตำแหน่ง CDO มาก่อนหน้านี้แล้วพักใหญ่ อย่างกรณี Uber ในปี ค.ศ.2017 เคยมีอดีตวิศวกรออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสมสำหรับพนักงานหญิง Uber จึงแต่งตั้งโบ ยอง ลี (Bo Young Lee) ขึ้นมาเป็น CDO คนแรกของบริษัท เพราะต้องการแก้ปัญหานี้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงในระยะยาว มากกว่าแค่รักษาภาพลักษณ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งนอกจาก Uber แล้ว ยังมีบริษัทชื่อดังอีกหลายแห่งที่มีตำแหน่ง CDO ภายในองค์กร เช่น Apple, Google, Microsoft, Facebook, Uber, WalMart, Gucci, Zoom ฯลฯ
อ้างอิงข้อมูลจาก