ภาพของเด็กน้อยร้องไม่เป็นภาษา ในยามที่เขาเป็นเพียงเด็กแบเบาะ เด็กน้อยที่ล้มกลิ้งครั้งแล้วครั้งเล่าในวัยเตาะแตะ เด็กน้อยในสระว่ายน้ำเป่าลม กำลังสนุกสนานกับการแช่น้ำในวัยเด็กเล็ก เมื่อก่อนภาพเหล่านี้อาจเคยเห็นแค่ในอัลบั้มภาพวัยเด็กของแต่ละคน แต่ในยุคนี้เราเห็นภาพพวกนี้บนโซเชียลมีเดียได้แทบทุกครั้งที่เลื่อนนิวส์ฟีด ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ ของเหล่าเซเลบฯ หรือเพื่อนๆ รอบตัวของเราเอง จนเราแทบจะได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ กันตั้งแต่แบเบาะไปจนถึงวัยโตกันเลย แต่เจ้าตัวจะรู้สึกอย่างไรกับภาพเหล่านี้ในภายหลังเมื่อพวกเขาโตขึ้น หรือเราไม่ได้คำนึงถึงความยินยอมของพวกเขาตั้งแต่แรกกันนะ?
การมาถึงของเจ้าตัวน้อย เป็นช่วงเวลาแสนพิเศษและที่น่ายินดี เราเลยอยากเก็บช่วงเวลาแสนประทับใจนี้ไว้ให้อยู่กับเรานานเท่านานด้วยภาพถ่ายหรือวิดีโอ หากมันอยู่บนโลกออฟไลน์ มันจะเป็นเพียงกล่องความทรงจำที่นำมาฉายซ้ำทุกครั้งที่เปิดดู แต่เมื่อมันอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว มันจะสามารถเดินทางข้ามเวลาไปได้ไม่จบสิ้น ด้วยพลังของ Digital Footprint จะทำให้ภาพนั้นคงอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไปอีกนาน รวมทั้งอาจถูกเผยแพร่และบันทึกต่อๆ กันจากต้นฉบับ โดยที่เจ้าของภาพอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าใครมีภาพนี้อยู่ในมือบ้าง
ปรากฏการณ์ Sharenting
อาจเพราะโซเชียลมีเดียกลายมาเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เหล่าพ่อแม่ก็อยากบันทึกความทรงจำ แจกจ่ายความสดใสของลูกให้เหล่าเพื่อนๆ บนอินเทอร์เน็ตได้เชยชม แม้ว่าจะอยู่คนละที่ แต่ภาพที่โพสต์ไปนั้นก็ตามไปเสิร์ฟถึงหน้าจอ ด้วยความต้องการแจกจ่ายโมเมนต์ดีๆ มีมากเกินไป อาจทำให้กลายเป็น ‘Sharenting’ หรือพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ คำเรียกของพ่อแม่ที่เผยแพร่รูปหรือเรื่องราวของลูกมากเกินไป โดยมาจากคำว่า oversharing และ parenting คำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกบนสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Wall Street Journal และคำนี้ก็กลายมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงปี ค.ศ.2010 และได้ถูกบันทึกใน Word of the Day ของนิตยสาร Times ในปี ค.ศ.2013 และ Collins English Dictionary ในปี ค.ศ.2016
ผลสำรวจที่ปรากฏบนบทความของ The Guardian พบว่า 63% ของเหล่าคุณแม่นั้นใช้เฟซบุ๊ก และพวกเขาเหล่านั้นกว่า 97% กล่าวว่าพวกเขาเคยโพสต์ภาพของลูกๆ 46% โพสต์วิดีโอ และ 89% โพสต์สเตตัสเกี่ยวกับเรื่องราวและการเจริญเติบโตของเจ้าตัวน้อย ก็พอจะช่วยชี้ทางได้ว่าปรากฏการณ์ ‘Sharenting’ นั้นไม่ได้เกินจริงสักเท่าไหร่
ในฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ในภาพของตนเอง โดยที่พ่อแม่นั้นอยู่ในฐานะผู้ปกครองเท่านั้น ไม่ได้ทำให้พ่อแม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของตัวเด็กไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเด็กที่ยังเล็กมากเสียจนไม่สามารถบอกได้ว่า พวกเขาให้ความยินยอมหรือเต็มใจให้โพสต์รูปหรือถ่ายรูปพวกเขาหรือไม่ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหาในเรื่องความเป็นส่วนตัวในภายหลังเมื่อพวกเขาโตขึ้นอีกด้วย
แม้แต่เด็กก็ต้องการ consent
เราอาจจะเห็นภาพของเหล่าลูกๆ ดารา เซเลบฯ ในบ้านเราจนชิน เห็นตั้งแต่อยู่ในท้อง ออกมาเป็นเบบี๋เดินเตาะแตะ จนโตที่จะเจื้อยแจ้วอยู่หน้ากล้อง พวกเขาช่างสดใสตามวัยของตัวเอง จนเราเคยชินกับสิ่งเหล่านี้ว่า ขนาดดาราเขายังโพสต์ภาพลูกได้เลย ทำไมเราจะทำไม่ได้? ดาราบ้านนั้นทำไมเขาถึงไม่ยอมให้เห็นหน้านะ จะหวงไปทำไม? เด็กไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ไม่มีใครเอาไปทำอะไรไม่ดีหรอก สารพัดความคิดเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต ต่อกรณีโพสต์ภาพเด็กบนโซเชียลมีเดียอาจทำให้เห็นว่า เราละเลยความยินยอมพร้อมใจของลูกๆ มามากแค่ไหนแล้ว
เราสามารถมองในมุมใจเขาใจเราได้เช่นกัน เวลามีใครโพสต์รูปที่มีเราอยู่ในนั้น เรายังเลือกที่จะให้ลงหรือไม่ให้ลง ให้แท็กหรือไม่ให้แท็ก เพราะเราต้องการได้รับความยินยอมก่อนรูปนั้นจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ แล้วทำไมเด็กจะไม่กังวลเรื่องนี้กัน? ทั้งที่ภาพในตอนเด็กนั้น อาจเป็นภาพที่มีความล่อแหลม ภาพที่เจ้าตัวไม่อยากเห็นเมื่อเติบโตขึ้นมา หรือแม้แต่ในตอนนั้นเองก็ตาม
แม้เราจะเห็นกันบ่อยว่าเซเลบฯ ในบ้านเรามักจะมีภาพน่ารักของลูกๆ มาเสิร์ฟถึงหน้าจออย่างสม่ำเสมอ แต่เซเลบฯ ระดับโลกหลายคนก็เลือกที่จะปิดบังตัวตนของลูกๆ จนกว่าจะถึงวัยอันควร สเตซี่ สเตนเบิร์ก (Stacey Steinberg) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจาก University of Florida Levin College of Law ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิเด็ก เราเชื่อว่าเด็กๆ นั้น มีความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลของพวกเขา ก่อนที่จะถูกเผยแพร่ออกไป”
เราพร่ำสอนเด็กๆ ในเรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ ให้คอยระแวดระวังหากใครมาแตะเนื้อต้องตัว มาละเมิดสิทธิ์ ละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ เราระแวดระวังสิ่งนี้จากคนรอบข้าง คนที่ไม่รู้จัก แต่พ่อแม่เองกลับกำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกอยู่หรือเปล่า? อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การถ่ายภาพของลูกๆ ในช่วงเวลาแสนประทับใจ มันจะไม่เป็นภัยร้ายอะไรกับตัวเด็ก หากมันเป็นเพียงภาพส่วนตัวที่ไม่ถูกเผยแพร่ที่ไหน แต่เมื่อมันก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว การถามหาความเป็นส่วนตัวนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก (แม้ว่าเราจะตั้งค่าเฟซบุ๊กไว้เฉพาะเพื่อนก็เถอะ)
หากเป็นไปได้ ควรรอถึงวัยที่เขาพร้อมจะบอกความต้องการของตัวเอง ด้วยคำถามง่ายๆ อย่าง “จะโอเคไหม ถ้าหากพ่อแม่แบ่งปันภาพนี้ให้เพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กได้เห็น?” “หนูยินดีให้คนอื่นนอกจากพ่อแม่เห็นภาพนี้หรือเปล่า?” ก็พอจะบอกความยินยอมของลูกๆ ได้ในระดับหนึ่ง และเราควรทำแบบนี้ทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะไม่รู้สึกแย่กับภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อเขาโตขึ้นแล้วกลับมาเห็น ถูกล้อเลียนจากภาพที่ลูกท่าทางแปลกประหลาดในตอนเด็ก หรือแม้แต่ภาพอนาจารของเด็กที่ถูกถ่ายโดยพ่อแม่เอง
โพสต์ภาพของลูก มีความเสี่ยงอย่างไร?
นอกจากเรื่องความยินยอมพร้อมใจของลูกแล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับตัวเด็กๆ ได้ วิคตอเรีย แนช (Victoria Nash) ผู้กำกับการแสดงจาก Oxford Internet Institute ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “หากต้องการโพสต์สิ่งใดๆ ที่เกี่ยวกับลูกบนโซเชียลมีเดียมีอยู่สองเรื่องที่ต้องระวัง อย่างแรก คือ ข้อมูลที่เราเผยแพร่ออกไป อาจจะรวมถึงวันเกิด สถานที่เกิน ชื่อสกุลจริง หรือระบุสถานที่ของรูปนั้น เพราะมันสามารถนำพาไปสู่การขโมยข้อมูลส่วนตัวของเด็กได้ ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงตัวเด็กได้จริงๆ จากสิ่งที่เราโพสต์เอง ต่อมาคือความยินยอมของเด็ก”
หากพ่อแม่ระบุข้อมูลส่วนตัวของลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยไหนก็ตาม ชื่อสกุล โรงเรียน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล มีความเป็นไปได้ที่เด็กจะถูกติดตามตัวได้จากสิ่งที่พ่อแม่โพสต์ ถูกคุกคาม หรือเกิดเรื่องไม่พึงประสงค์จากผู้ไม่หวังดีที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จากโซเชียลมีเดีย หลายคนอาจเลือกที่จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อคัดกรองคนที่เข้าถึงข้อมูลได้ เพราะต้องการใช้โซเชียลมีเดียในการผูกสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะไม่ได้ปลอดภัย 100%
เราไม่ได้กำลังจะบอกว่า มีลูกแต่ละครั้ง ห้ามพูดถึงให้ใครฟังทั้งนั้น แต่เรากำลังอยากให้พ่อแม่ควรทบทวนให้ดีทุกครั้ง ว่าสิ่งที่กำลังโพสต์นั้น มีข้อมูลที่มากเกินความจำเป็นหรือเปล่า มีข้อมูลที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกของเราหรือไม่ และถ้าหากลูกของเรามาเห็นสิ่งนี้ในอนาคต เขาจะรู้สึกอย่างไร หลายครั้งที่ผู้ปกครองเอง เป็นผู้ลงภาพละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็กอย่างไม่ได้รับการยินยอม
ไม่ให้ข้อมูลที่นำไปสู่อันตราย และนึกถึงใจเขาใจเรา อาจจะเป็นการทบทวนที่ดีที่สุดก่อนจะโพสต์อะไรลงไป
อ้างอิงข้อมูลจาก