แค่เพียงเข้าไปในสื่อออนไลน์ เราก็จะได้เห็นพัฒนาการของเด็กสักคน ตั้งแต่หัดคลานเตาะแตะ เริ่มเรียกพ่อแม่ด้วยเสียงอ้อแอ้ไม่เป็นคำ ร้องไห้ไม่เป็นภาษาตอนเข้าโรงเรียนวันแรก จนกระทั่งเติบโตมากพอที่จะรู้ความ แต่เชื่อไหมว่า ชีวิตของเด็กที่เราได้เห็นอย่างใกล้ชิดนั้น เราไม่จำเป็นต้องรู้จักมักจี่กับพ่อแม่ของเด็กเป็นการส่วนตัว หรือรู้จักเด็กคนนี้มาก่อนเลย เพราะพ่อแม่ของเด็กเป็นคนนำเสนอสิ่งนี้ให้เราได้เห็นถึงหน้าจอ
แม้จะเป็นความปรารถนาดี ความตั้งใจที่อยากเก็บภาพความทรงจำดีๆ ของเด็กเอาไว้ แต่ความหวังดีนั้นเดินทางมาไกลถึงวันที่เด็กกลายเป็นคอนเทนต์ของพ่อแม่ จากอัลบั้มบรรจุภาพเด็กน้อยยืนยิ้มในวันสำคัญต่างๆ ที่มีแต่พ่อแม่และญาติสนิทได้พลิกดูเท่านั้น กลายมาเป็นคอนเทนต์ เป็นเรื่องราวทุกย่างก้าวในชีวิต ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเข้ามาดูได้
โดยเราไม่รู้เลยว่าสักวันหากย้อนกลับมา เด็กจะพอใจไหมหากเห็นคลิปร้องไห้โยเยของตัวเอง จะยังพอใจในคำตอบของตัวเองเมื่อผ่านพ้นไปถึงอีกช่วงวันแล้วหรือเปล่า วันเหล่านั้นยังมาไม่ถึง ผู้ปกครองเองไม่สามารถคาดเดาสิ่งนี้ได้ แม้แต่เด็กเองก็ยังไม่อาจตอบได้ 100% ด้วยซ้ำ
หากมันอยู่บนโลกออฟไลน์ มันจะเป็นเพียงกล่องความทรงจำที่นำมาฉายซ้ำทุกครั้งที่เปิดดู แต่เมื่อมันอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว มันจะสามารถเดินทางข้ามเวลาไปได้ไม่จบสิ้น ด้วยพลังของ Digital Footprint จะทำให้ภาพนั้นคงอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไปอีกนาน รวมทั้งอาจถูกเผยแพร่และบันทึกต่อๆ กันจากต้นฉบับ โดยที่เจ้าของภาพอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าใครมีภาพนี้อยู่ในมือบ้าง
เรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงความน่ากลัวของโลกอินเทอร์เน็ตหรือ Digital Footprint ที่จะติดตัวเด็กน้อยคนนั้นไป แต่เราอาจจะต้องย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของเรื่องว่าเด็กมีความยินยอมแค่ไหนในเรื่องนี้ เราพร่ำสอนเด็กๆ ในเรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ ให้คอยระแวดระวังหากใครมาแตะเนื้อต้องตัว มาละเมิดสิทธิ์ ละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ เราระแวดระวังสิ่งนี้จากคนรอบข้าง คนที่ไม่รู้จัก แต่ตอนนี้กลับเป็นพ่อแม่เองหรือเปล่ากำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูก?
The MATTER ชวนมาหาคำตอบในเรื่องนี้กับ ‘รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว ว่าความยินยอมพร้อมใจ ความเต็มใจของลูกอยู่ตรงไหน ในวันที่ลูกกลายเป็นคอนเทนต์ให้พ่อแม่
‘Sharenting’ คือคำเรียกของพ่อแม่ที่เผยแพร่รูปหรือเรื่องราวของลูกมากเกินไป โดยมาจากคำว่า oversharing และ parenting คำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกบนสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Wall Street Journal และคำนี้ก็กลายมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2010 และได้ถูกบันทึกใน Word of the Day ของนิตยสาร Times ในปี 2013 และ Collins English Dictionary ใน2016
ผลสำรวจที่ปรากฏบนบทความของ The Guardian พบว่า 63% ของเหล่าคุณแม่นั้นใช้เฟซบุ๊ก และพวกเขาเหล่านั้นกว่า 97% กล่าวว่าพวกเขาเคยโพสต์ภาพของลูกๆ 46% โพสต์วิดีโอ และ 89% โพสต์สเตตัสเกี่ยวกับเรื่องราวและการเจริญเติบโตของเจ้าตัวน้อย ก็พอจะช่วยชี้ทางได้ว่าปรากฏการณ์ ‘Sharenting’ นั้นไม่ได้เกินจริงสักเท่าไหร่
“อย่างแรกเลย ต้องเข้าใจว่าดารา เซเลบ บางคนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาได้ เพราะเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ กลายเป็นบุคคลสาธารณะ จะทำอะไรก็มีคนอื่นมอง เข้ามาข้องแวะตลอด แต่อย่าลืมว่าเวลาที่เรามีลูก พื้นฐานอารมณ์ของลูกอาจจะไม่เหมือนกับเรา
การตัดสินใจแทนลูกแล้วดำเนินการใดๆ แทนลูกทั้งหมดนั้นต้องอยู่บนฐานอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และต้องกลับไปคำนึงถึงหัวจิตหัวใจของเด็กด้วยเหมือนกันว่า เรากำลังตัดสินใจอะไรบางอย่างที่กำลังไปละเมิดหรือสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไหม”
“อย่างการเอาลูกลงพื้นที่สาธารณะ (Social Media) มันอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อมิจฉาชีพ สุ่มเสี่ยงต่อคนอื่น เด็กไม่ได้อยู่ในสถานะที่ปกป้องตนเองได้ พอเขาไปอยู่บนนั้นมันก็จะกลายเป็น Digital Footprint ปรากฏไปทั่วบ้านทั่วเมือง
ลองไตร่ตรองดูว่าสิ่งนี้มันใช่กิจกรรมที่เราจะต้องสนับสนุนส่งเสริมไหม ถ้ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดปลอดภัย พัฒนาการ การปกป้องคุ้มครอง ถ้ามันไม่ได้เกี่ยวแล้วทำไมเราถึงต้องทำ อันนี้เป็นคำถามสู่พ่อแม่เลยนะ”
เรื่องนี้จึงย้อนกลับมาที่ต้นทางว่า การแชร์เรื่องราวของลูกบนโลกอินเทอร์เน็ตของพ่อแม่นั้น เกิดจากความต้องการของเด็กเอง หรือความต้องการของพ่อแม่กันแน่ แน่นอนว่าคำตอบมันอยู่ในคำถาม ในวันที่เด็กยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เองแบบ 100% ทุกความเคลื่อนไหวในชีวิตขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของพ่อแม่ทั้งสิ้น อย่างนี้แล้วการปรากฏตัวบนโลกออนไลน์ของเด็ก ก็กลายเป็นความต้องการของพ่อแม่เสียเองหรือเปล่า ถ้าใช่ แปลว่าพ่อแม่กำลังก้าวข้ามเส้นการตัดสินใจของลูกไปแล้วอีกหนึ่งเรื่อง
เด็กแต่ละคนเกิดมามีนิสัยต่างกัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะโอเคกับการอยู่บนโลกออนไลน์ในแบบเดียวกับที่เรารู้สึก เพราะการตัดสินใจของเขา ยังตัดสินใจผ่านการมองโลกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่พ่อแม่ที่รู้ถึงอันตรายต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต จึงควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ต่างหากที่จะปกป้องลูกจากอันตรายเหล่านั้นด้วยตัวเอง
“โปรดเข้าใจด้วย เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาว แล้วเราคอยแต่งแต้มสีสัน ตามการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม อย่าเข้าใจผิดกัน หมอคิดว่าเด็กแต่ละคนเป็นผ้าสีพื้น มีสีของเขาเอง มีเด็กเลี้ยงง่าย มีเด็กเลี้ยงยาก มีเด็กหวั่นไหวง่าย มีเด็กบ้าพลัง ซึ่งพวกเขาเป็นตั้งแต่เกิด
เมื่อพื้นฐานอารมณ์ต่างกัน ก็จะมีเด็กที่อ่อนไหวง่าย ไม่ต้องการเป็นเป้าสายตาใคร ชอบอยู่เงียบๆ ของเขาเอง เขาจะลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ตัวเองก็ต่อเมื่อเขารู้ประสีประสา ตอนที่ยังเล็กๆ อยู่เขายังเรียกร้องไม่ได้ เขาไม่ได้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องปกป้อง ดูแลให้เขาเติบใหญ่ขึ้นมา จนเขามีวุฒิภาวะ มีชุดประสบการณ์ เข้าใจสังคม เขาก็จะเริ่มเรียกร้องจากพ่อแม่แล้วว่า เลิกถ่ายหนูได้ไหม หมอเลยอยากสะท้อนสิ่งนี้กับพ่อแม่ว่า เมื่อเด็กอยู่ในสถานะที่ยังไม่เข้าใจมิติทางสังคม การนำลูกลงพื้นที่สาธารณะจึงไม่สมควรอย่างยิ่งเลย
แม้เด็กบางคนดูเหมือนมีภูมิต้านทาน พ่อแม่คิดว่าเอารูปลูกลงไปเขาคงไม่เจ็บปวด
แต่ท่านแน่ใจนะว่าลูกเราโตขึ้น แล้วเขาเรียกร้องว่าให้กลับไปลบภาพทั้งหมดที่พ่อแม่ลงไว้ แล้วพ่อแม่จะลบจริง
เด็กไม่สามารถหาข้อกฎหมายไปฟ้องร้องพ่อแม่ตัวเองในเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว
แต่ในทางพฤตินัยเนี่ย ผมขอฝากคำถามผ่านทาง The MATTER ไปสู่พ่อแม่ ท่านแน่ใจหรือว่าลูกของท่านเป็นเด็กที่ต้องการชื่อเสียงในสังคม อยากมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ท่านกำลังใช้อำนาจของการเป็นพ่อแม่อยู่หรือเปล่า อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย เขาอาจถูกลักพาตัวได้ง่าย หรือมีคนเอาใบหน้าไปใช้ในทางที่ผิด อย่างพวก deepfake
อาจต้องกลับไปถามตัวเองว่าท่านกำลังทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม เพื่อชื่อเสียง เงินทอง รายได้มากขึ้น เรื่องของการรุกล้ำสิทธิส่วนตัว เรากำลังคิดน้อยกับเรื่องเหล่านี้เกินไปหรือเปล่า เด็กอาจจะบาดเจ็บจากการถูกนำไปลงพื้นที่สาธารณะ เขาคงไม่บอกพ่อแม่โดยตรง แต่เขาอาจมีแผลใจเกิดขึ้น เพราะเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนอยากลงรูปต่างๆ นี้เลย”
และต่อให้เราถามความต้องการของเขาตั้งแต่เล็ก แต่อย่าลืมว่าในครอบครัว เด็กไม่ได้มีอำนาจต่อรองเท่ากับพ่อแม่ แน่นอนว่าพ่อแม่หยิบยื่นอะไรมาให้ด้วยความหวังดี ไม่มีเด็กคนไหนกล้าปฏิเสธ จนกว่าจะถึงวัยที่พวกเขาสามารถใช้วิจารณญาณของเขาเองได้
“ถ้าลูกปฏิเสธขึ้นมาแล้วพ่อแม่อยากทำมาก คิดหรือว่าจะไม่มีการสร้างแรงจูงใจจากพ่อแม่ เอาน่า มาให้ลงรูปหน่อย รูปนี้น่ารักมากเลย ไม่ได้มีเรื่องเสียหายอะไรนี่ แล้วท่านคิดว่าจะมีลูกคนไหนปฏิเสธ ยกเว้นว่าอยากจะทะเลาะกับพ่อแม่ ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นก่อนเด็กอายุ 10 ปี อาจมาเริ่มปฏิเสธตอนวัยรุ่นตอนกลาง 12-15 ปี
พ่อแม่บอกว่าถามลูกทุกครั้ง ลูกก็โอเคทุกครั้ง เขาก็ต้องโอเคสิครับ เพราะเขาไม่ได้พร้อมจะสู้กับพ่อแม่ ไม่ได้อยากให้มีข้อขัดแย้ง ยิ่งเป็นเด็ก เขายิ่งไม่มีชุดประสบการณ์ ยังไม่เข้าใจมิติทางสังคม เพียงพอที่จะปกป้องตนเอง ยังไม่เคยโดนล่อลวง ไม่เคยโดน Deepfake ไม่รู้จัก Digital Footprint ผู้ใหญ่ต่างหากที่รับรู้ว่ามันมีสิ่งเหล่านี้ แต่ผู้ใหญ่กลับประมาท แล้วเอามาใช้กับเด็ก ทั้งที่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ควรปกป้องคุ้มครองลูก ด้วยการไม่ลงในพื้นที่สาธารณะ”
“ลูกไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ทำ หรือทำยังไงกับเขาก็ได้ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด สิทธิของพ่อแม่ อำนาจของพ่อแม่ มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองลูกให้อยู่รอดปลอดภัย เติบโตขึ้นมา จนเขามีวุฒิภาวะอยู่ร่วมกับสังคม โดยที่อำนาจของพ่อแม่ต้องถอยห่างออกไป ยิ่งโตเท่าไหร่ พ่อแม่ยิ่งต้องถอยมาเท่านั้น
ในช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อำนาจของพ่อแม่ยังเต็มอยู่ แต่พอเริ่มก้าวไปมีสังคมของเขาแล้ว อำนาจของพ่อแม่จะค่อยๆ หายไป พอขึ้นมาเป็นเยาวชนจะยิ่งน้อยลงไป จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ จะเหลือเพียงการดูแลอยู่ห่างๆ แต่พ่อแม่ทุกวันนี้ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย ไม่มีศิลปะในการลดทอนอำนาจตัวเอง ตามพัฒนาการของลูก ไม่ได้สอนวิธีคิด วิธีจัดการ แต่กลับควบคุมเด็กมากเกินไป
พอเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะปฏิบัติแบบนี้กับคนอื่นเหมือนกัน จะไม่เข้าใจ ไม่เคารพสิทธิของคนอื่น เพราะเขาเติบโตมาในบ้านที่ไม่เคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ขออนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น พ่อแม่มีอำนาจ จัดการทุกอย่างเอง หนักข้อที่หมอเจอมา ที่บ้านร่ำรวย มีชื่อเสียง แต่ลูกเป็นเด็กที่ชอบหยิบของจากที่สาธารณะโดยไม่ขออนุญาต กลายเป็น sense of propriety พัง ชั่งน้ำหนักแล้วมันไม่คุ้มกัน”
สอดคล้องกับในฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ในภาพของตนเอง โดยที่พ่อแม่นั้นอยู่ในฐานะผู้ปกครองเท่านั้น ไม่ได้ทำให้พ่อแม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของตัวเด็กไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเด็กที่ยังเล็กมากเสียจนไม่สามารถบอกได้ว่า พวกเขาให้ความยินยอมหรือเต็มใจให้โพสต์รูปหรือถ่ายรูปพวกเขาหรือไม่ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหาในเรื่องความเป็นส่วนตัวในภายหลังเมื่อพวกเขาโตขึ้นอีกด้วย
“หมอฝากไว้เป็นประเด็นสุดท้าย พ่อแม่ที่ต้องการจะลงรูปของลูก สามารถทำได้ แต่ทางที่ดีไม่ควรเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะเลย อาจให้เห็นแค่ในกลุ่มเพื่อนของตัวเอง เรานึกถึงตอนเราเด็กๆ เหมือนพ่อแม่พาลูกไปเจอกันในชุมชนก็เข้าใจได้ สิ่งนี้ก็เช่นกัน เราใช้วิจารณญาณของเราตัดสินใจแล้วว่าภาพนี้ไม่ทำให้ลูกเสียหาย แม้เขาเติบโตขึ้นมาแล้วย้อนกลับมาดูภาพนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เขาเสียหายขึ้นมา”
หากเป็นไปได้ ควรรอถึงวัยที่เขาพร้อมจะบอกความต้องการของตัวเอง ด้วยคำถามง่ายๆ อย่าง “จะโอเคไหม ถ้าหากพ่อแม่แบ่งปันภาพนี้ให้เพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กได้เห็น?” “หนูยินดีให้คนอื่นนอกจากพ่อแม่เห็นภาพนี้หรือเปล่า?”
ก็พอจะบอกความยินยอมของลูกๆ ได้ในระดับหนึ่ง และเราควรทำแบบนี้ทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะไม่รู้สึกแย่กับภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อเขาโตขึ้นแล้วกลับมาเห็น ถูกล้อเลียนจากภาพที่ลูกท่าทางแปลกประหลาดในตอนเด็ก หรือแม้แต่ภาพอนาจารของเด็กที่ถูกถ่ายโดยพ่อแม่เอง
สุดท้ายแล้ว พ่อแม่ที่รู้เท่าทันอันตรายบนโลกใบนี้ ควรเป็นผู้โอบอุ้มไม่ให้ลูกของตัวเองต้องอยู่ในความเสี่ยงเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ผลักดันให้ลูกไปยืนอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง เพียงเพราะเห็นว่าใครๆ ต่างก็รับความเสี่ยงนี้ได้ทั้งนั้น และที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ การให้ความสำคัญกับความยินยอมพร้อมใจของลูก
แม้ในวันที่เขาไม่อาจตัดสินใจเองได้ เราก็ไม่ควรก้าวข้ามด้วยการตัดสินใจเรื่องใดๆ นอกเหนือจากชีวิต ความเป็นอยู่ ความปลอดภัย แทนตัวเด็กเอง
อ้างอิงจาก