ใน 1 วัน มีเด็กอย่างน้อย 1 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ยิ่งไปกว่านั้น เกินครึ่งของผู้กระทำ คือคนในครอบครัว
แม้สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง จะถือเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนควรได้รับ แต่สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมากลับสวนทาง เมื่อยังมีข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศอยู่ทุกวัน และอาจยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เป็นข่าว หรือยังต้องทนทุกข์ต่อไป เพราะไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร หรือถูกกรอบของสังคมครอบไว้ด้วยคำว่ากตัญญู
แนวโน้มสถานการณ์อาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร ใครคือผู้กระทำ สังคมและสื่อมีส่วนตอกย้ำอย่างไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเป็นเจ้าของร่างกายตนเองอย่างแท้จริง The MATTER ชวนสำรวจไปด้วยกัน
อาชญากรรมทางเพศต่อเด็ก คืออะไร?
อาชญากรรมทางเพศ หรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เป็นไปทั้งการล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส เช่น การเปิดอวัยวะเพศให้เด็กดู การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊ การสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเด็ก และการล่วงละเมิดโดยการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกอดจบลูบคลำร่างกายด็ก ให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้ การสอดใส่ และอื่นๆ
และนอกจากการล่วงละเมิดแล้ว ยังอาจนำไปสู่ ‘การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก’ ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อเด็กในรูปแบบการของเป็นทาส มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ได้นิยามไว้ 5 รูปแบบ ได้แก่
- การค้าประเวณีเด็ก : ใช้เด็กเพื่อกิจกรรมทางเพศ โดยมีค่าตอบแทนให้กับเด็กหรือบุคคลที่สาม
- วัตถุหรือสิ่งแสดงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก : นำเสนอสื่อที่ฉายภาพเด็ฏมีกิจกรรมทางเพศ หรือกิจกรรมที่ส่อไปในทางเพศ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก รวมถึงรูปที่ถูกสร้างหรือตัดต่อขึ้นก็ส่งผลร้ายต่อเด็กได้เช่นกัน
- การค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ : เป็นการค้ามนุษย์ โดยการส่งเด็กไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อให้ผู้ใหญ่กระทำการล่วงละเมิดเด็กได้
- การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการเดินทางและการท่องเที่ยว : เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังต่างถิ่น ต่างประเทศ ก็อาจเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่จะขายบริการทางเพศเด็กให้กับนักท่องเที่ยวได้ โดยนักท่องเที่ยวก็ซื้อเพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไรเนื่องจากไม่ได้อยู่ในประเทศตัวเอง
- การบังคับให้เด็กแต่งงาน : ผู้ปกครองอาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงบังคับแต่งงานในเด็ก และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางเพศได้
สถิติจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในปี 2564-2566 มีเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศรวม 1,097 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เข้าแจ้งความเท่านั้น แต่คาดการณ์ว่ายังมีเด็กอีกมากกว่า 50% จากทั้งหมดที่โดนคุกคามทางเพศแต่ไม่ได้แจ้งความ
ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวหรือญาติ ถึง 646 คน แบ่งเป็น ญาติ 273 คน พ่อเลี้ยง 242 คน และพ่อแท้ๆ 131 คน ส่วนผู้กระทำที่ไม่ใช่คนในครอบครัว 314 คน แบ่งเป็น เพื่อนบ้าน 133 คน คนแปลกหน้า 70 คน คนรู้จักจากโซเชียลมีเดีย 47 คน นักเรียนด้วยกัน 21 คน ครู 20 คน พระ 15 คน และนายจ้าง 8 คน นอกจากนั้นอีก 137 คน ณ ขณะที่เผยแพร่สถิติออกมายังอยู่ระหว่างการสอบสวน
แล้วการล่วงละเมิดทางเพศเหล่านั้น มาจากเหตุการณ์ใดบ้าง? หากเราดูประกอบกับข้อมูลจากมูลนิธิปวีณาฯ จะพบว่า ในปี 2566 มีจำนวนร้องเรียนกรณีข่มขืน/อนาจาร (ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น) ทะลุเกิน 1 พันราย ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2565 ซึ่งหากย้อนดูสถิติเมื่อปี 2565 พบว่า เด็กอายุ 10-15 ปี ถูกข่มขืนมากที่สุด 381 คน รองลงมาคือ อายุ 15-20 ปี 198 คน และอันดับ 3 คือ เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 10 ปี ถูกข่มขืน 110 คน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน เด็ก หรือแม้กระทั่งทารกแรกเกิด ล้วนตกเป็นผู้ถูกกระทำในเหตุอาชญากรรมทางเพศกันทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น
ผปค.ร้องครูโรงเรียนชายล้วน ล่วงละเมิดเด็ก 14
รุ่นพี่รุมขืนใจนักเรียนหญิง ม.1
พ่อละเมิดทางเพศลูกวัย 12 ปี อ้างเมา ควบคุมตัวเองไม่ได้
ล่วงละเมิดเด็ก 3 ขวบ ชาวบ้านสุดทนแจ้งความ
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดายก็ดูเหมือนจะยิ่งเข้ามาตอกย้ำอาชญากรรมเหล่านี้ โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติการจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตในปี 2565 พบว่า ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) สามารถจับกุมได้ทั้งหมด 482 คดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 403 คดี และขยายผลเป็นคดีค้ามนุษย์จำนวน 41 คดี ถือเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 8 ปี
แล้วชีวิตเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะเป็นอย่างไรต่อไป?
‘จิตใจ คุณค่า ความไว้วางใจ และพฤติกรรมทางเพศ’ คือผลกระทบที่จะเกิดต่อเด็กคนนั้น โดยข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กระบุว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นบาดแผลทางใจ โดยรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า หรือแม้กระทั่งรู้สึกผิด และไม่กล้าบอกกับผู้ปกครอง เพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมา นอกจากนั้น ยังทำให้ขาดความไว้วางใจผู้อื่น หรือขาดทักษะทางสังคม ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้อีกด้วย
สิทธิ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ.2532 อันเป็นข้อตกลงที่ได้รับการรับรองร่วมกันกว่า 196 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำหนดว่า ‘เด็ก’ คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่กฎหมายของประเทศจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น) ซึ่งหนึ่งในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง จากการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
ในเนื้อหาได้ระบุถึงการขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกเด็ก เพื่อประกันสิทธิในการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกนำไปแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางเพศอีกด้วย
ดังนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงเกิดขึ้น เพื่อปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งมีพัฒนาการ จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่ และเพื่อให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ประกอบกับกฎหมายอาญา ซึ่งได้กำหนดโทษเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศไว้เช่นกัน
มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 280 ได้กำหนดความผิดในการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นไว้ โดยแบ่งเป็นการกระทำต่อเด็กในช่วงอายุต่างๆ จะมีโทษที่แตกต่างกันออกไป เช่น มาตรา 277 หากกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท และถ้าหากเป็นเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
‘วัฒนธรรม และสื่อ’ สิ่งตอกย้ำวงจรความรุนแรงทางเพศ
แต่แม้ว่าตัวเลขจะสะท้อนถึงความรุนแรง และยังมีสิทธิ กฎหมาย ที่ตอกย้ำถึงความร้ายแรงอันไม่ควรจะเกิดขึ้นของสถานการณ์เหล่านี้ แต่วงจรความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น
1. ค่านิยม วัฒนธรรม
ถ้าหากการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เกิดจาก ‘ความต้องการทางเพศ’ อย่างตรงไปตรงมา ปัญหานี้ก็คงจัดการได้ง่าย แต่ในความเป็นจริง ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมีมิติที่ซับซ้อนกว่านั้น
เพราะการข่มขืนไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนองความใคร่ หากแต่เป็นการแสดงถึง ‘พลังอำนาจ’ ที่ฝ่ายหนึ่งมีเหนืออีกฝ่าย ซึ่ง รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ถึงความเชื่อมโยงของการข่มขืนกับโครงสร้างทางสังคม
จากการวางกรอบบทบาทของแต่ละเพศและการปลูกฝัง ทำให้ ‘ผู้ชาย’ มีอำนาจเหนือ และแสดงความรู้สึกทางเพศได้เพราะเป็นธรรมชาติของผู้ชาย ในขณะที่ ‘ผู้หญิง’ มีอำนาจต่อรองและศักดิ์ศรีที่ต่ำกว่า หรือถูกมองได้ว่าเป็น ‘สมบัติ’ ของผู้ชาย
สถานะความเป็น ‘เด็ก’ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ที่วัฒนธรรมได้ปลูกฝังว่าเด็กถือเป็นสมบัติของผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ และไม่ว่าจะด้วยสถานะทางอายุ หรือวุฒิภาวะที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้เด็กมีอำนาจในทุกๆ ด้านด้อยกว่าผู้ใหญ่ จนกลายเป็นเหตุผล (ที่ไม่ควรเป็นเหตุผลอันชอบธรรม) ไปว่าผู้ใหญ่จะสามารถทำอะไรกับเด็กก็ได้ และเด็กก็จะต้องสมยอมโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้อธิบายถึงกรณีเช่นนี้ไว้ว่า รากเหง้าการก่อเหตุข่มขืนในไทยมาจาก ‘อำนาจแบบชายเป็นใหญ่’ และอำนาจเหนือ ดังที่จะเห็นว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด จึงใช้สถานะที่เหนือกว่านั้นไปล่วงละเมิดทางเพศ
ประกอบกับการที่สังคมไทยยังมี ‘วัฒนธรรมการโทษเหยื่อ’ (Victim Blaming) ที่เมื่อเกิดเหตุขึ้น แทนที่จะคาดโทษกับผู้กระทำ กลับมาตั้งคำถามว่าเหยื่อทำอะไรจึงทำให้ถูกล่วงละเมิด ดังจะเห็นได้จากความคิดเห็นที่มีต่อข่าวเด็กล่วงละเมิด ว่า เด็กแต่งตัวโป๊เอง เด็กไม่ร้องขอความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่ง “เด็กมันสมยอมเอง”
เหล่านี้ จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุ เด็กจึงไม่กล้าที่จะขัดขืน หรือร้องข้อความช่วยเหลือกับคนอื่นๆ อาจจะด้วยถูกผู้กระทำซึ่งเป็นคนใกล้ชิดขู่ว่าห้ามบอกใคร หรือเด็กไม่กล้าบอกคนอื่นๆ เองเพราะกลัวว่าจะโดนดุ ทำโทษ หรือโดนกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัวต่อไปได้ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมแบบไทยๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วงจรความรุนแรงยังคงเกิดต่อไปอย่างไม่มีวี่แววจะลดลง
2. สื่อ
เมื่อเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น การสร้าง ‘สื่อ’ ก็เป็นสิ่งที่ง่ายดายที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
แต่เพราะอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น ก็คือสื่ออนาจารเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายจากเด็กที่มีตัวตนจริง หรือการสร้างสื่อโดยการตัดต่อ หรือเป็นภาพการ์ตูนเองก็ตาม ซึ่งมีเนื้อหาส่อถึงกิจกรรมทางเพศของเด็ก
แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่า เป็นแค่ ‘สื่อสมมติ’ ไม่ได้นำไปกระทำจริง แต่การสร้างหรือครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กก็ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และยังมีอิทธิพลต่อความคิดของคนทั่วไป ที่เมื่อมีการผลิตสื่อเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจมีมุมมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็น ‘เรื่องปกติ’ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศต่อเด็กจริง
และเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการที่เหตุการณ์นั้นจะกลายเป็น ‘ข่าว’ แต่หลายต่อหลายครั้ง นั่นก็อาจเป็นการตอกย้ำบาดแผลของผู้เสียหายได้
ผศ.ดร.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้อธิบายถึงวิธีการทำงานของสื่อในการรายงานข่าวการล่วงละเมิดทางเพศเด็กไว้ว่ามีปัญหาในการเลือกใช้ถ้อยคำ ซึ่งเป็นคำที่เห็นภาพชัดเจน โดยย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ยิ่งรายงานละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำบาดแผลให้ลึกลงไปในจิตใจมากขึ้นเท่านั้นและยากจะจางหาย เพราะนอกจากจะฝังลงในจิตใจแล้ว ทุกเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวยังทิ้ง Digital Footprint ไว้บนโลกออนไลน์อย่างยากที่จะลบเลือน”
ดังนั้น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจึงให้คำแนะนำเชิงจริยธรรมไว้ว่าการนำเสนอข่าวเรื่องเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น ไม่ควรมีข้อมูลที่สื่อถึงตัวตนของผู้ถูกกระทำได้ และในเนื้อหาให้ให้รายละเอียดแค่เท่าที่จำเป็น ระมัดระวังการใช้ภาษา หรือการอธิบายพฤติกรรมการก่อเหตุที่ละเอียดจนเกินไป จนกลายเป็นการกรีดแผลผู้กระทำซ้ำได้
ทำอย่างไรเพื่อให้ ‘เด็ก’ ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ
เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ กรมอนามัย ให้คำแนะนำ 6 ขั้นตอนสำหรับผู้ใหญ่ในการรับมือไว้ว่า ‘ตั้งสติ – รับฟัง – ถามหาผู้กระทำ – เก็บหลักฐาน – ขอความช่วยเหลือ – ตรวจรักษา’ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเด็กได้ครบวงจร
เริ่มจากการ ‘ตั้งสติ’ ไม่แสดงอารมณ์เชิงลบอย่างการโกรธ ตกใจ เสียใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกเชื่อใจว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ‘รับฟัง’ อย่างไม่ขัดหรือโต้แย้ง เพื่อให้เด็กเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา ‘ถามหาผู้กระทำ’ โดยไม่คาดคั้น แต่ให้สอบถามรายละเอียด ‘เก็บหลักฐาน’ เช่น เสื้อผ้า ถ่ายภาพร่องรอย และห้ามชำระร่างกาย ‘ข้อความช่วยเหลือ’ ผ่านสายด่วน 191 หรือสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และ ‘ตรวจรักษา’ ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บหลักฐาน และเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์และการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
การจะสร้างสังคมที่ปลอดภัยต่อเด็กจากอาชญากรรมทางเพศได้ จะต้องใช้ความร่วมมือตั้งแต่ระดับกฎหมาย วัฒนธรรม สังคม และหน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัว เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน หากขาดไปซึ่งหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่ละเลยสวัสดิภาพของเด็ก สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กก็จะยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีสังคมที่ปลอดภัยต่อเด็กอย่างแท้จริง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่าง The MATTER และองค์กร Save The Children เพื่อร่วมกันสื่อสารเพื่อรณรงค์ถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ และอาชญกรรมทางเพศต่อเด็ก หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนการทำงานของ Save The Children สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ที่ : https://donate.savethechildren.or.th/
อ้างอิงจาก