‘มินต์ช็อก’ เป็นอีกหนึ่งในอาหารที่แบ่งแยกผู้คนออกเป็น 2 ฝ่าย คือทีม #มินต์ช็อก และทีม #ไม่เอามินต์ช็อก ส่วนตัวเราเองขอออกตัวก่อนว่าเป็นฝ่ายมินต์ช็อก รวมถึงรับได้กับอาหารและขนมอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของมินต์ (เช่น ซอส)
สำหรับกระแสแบ่งแยกทีมของมินต์ช็อก ทั้งความชอบและไม่ชอบ รวมถึงหลายความเห็นของคนฝ่ายที่ไม่ชอบมินต์ช็อกว่า ใครกันนะช่างอุตริเอาอาหารที่รสชาติไม่เหมือนกันเลย คือสมุนไพรเย็นๆ ของมินต์ รสชาติหรือส่วนผสมที่เรามักพบในผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกสะอาด มาผสมกับของรสชาติความเข้มข้นอย่างช็อกโกแลต ในต่างประเทศ เช่น เว็บบอร์ดต่างๆ ก็มีข้อสงสัย และมีการถกเถียงเพื่อสนับสนุนว่าใครบ้างที่รับได้กับส่วนผสมอันแปลกประหลาดนี้
แน่นอนว่ามินต์ช็อกย่อมมีที่มา ส่วนใหญ่เรื่องเล่าของมินต์ช็อกมักอ้างไปยังประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ซึ่งกรณีของมินต์ช็อกก็ค่อนข้างมีเรื่องเล่าที่แย้งกันอยู่ เรื่องเล่ายอดฮิตหนึ่งมักชี้ไปที่ประเทศอังกฤษว่า มินต์ช็อกมีที่มาจากชนิดของบรรดาศักดิ์ เกิดขึ้นในพิธีเสกสมรสจนได้ที่มาว่าเป็นมินต์หลวง หรือ Mint Royale เรื่องเล่าอีกด้านหนึ่งมาจากสหรัฐอเมริกา คือร้านไอติมที่เรารู้จักกันดีที่บอกว่าฉันทำมินต์ช็อกมาตั้งแต่แรก ไปจนถึงขนมคุกกี้ที่ก็มีมินต์และช็อกโกแลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งก็เกิดขึ้นในทศวรรษใกล้เคียงกัน ด้วยความยุ่งเหยิงของมินต์ช็อก จึงมีความพยายามทำความเข้าใจมิติทางวัฒนธรรม เช่น ญี่ปุ่นเองก็ทำการสำรวจและพยายามไขคำตอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง
มินต์ช็อกมาจากไหน?
ที่มาของ ‘มินต์ช็อก’ ส่วนใหญ่จะหมายถึงรสชาติของไอศกรีม ตำนานของมินต์ช็อกมักชี้กลับไปในปี 1973 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์มินต์ช็อกที่สัมพันธ์กับราชสำนักอังกฤษ ว่ากันว่าในปีนั้นอังกฤษมีงานใหญ่คือ พิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงแอนน์กับมาร์ก ฟิลลิปส์ และงานเลี้ยงสำคัญทางราชสำนักก็มีการค้นหาขนมหวานพิเศษ เพื่อจะใช้เสิร์ฟในงานแต่งงานนี้
ในการแข่งขัน มีนักเรียนการครัวชื่อ มาริลิน ริกเค็ตเซีย (Marilyn Ricketts) จาก South Devon College เข้าแข่งขันด้วยไอศกรีมที่ผสมรสชาติระหว่างช็อกโกแลตกับมินต์ โดยใช้ชื่อว่า ‘Mint Royale’ ในการแข่งขันนี้เธอได้ถ้วยรางวัลเงินจากความสร้างสรรค์ และสรุปว่ามินต์ช็อกอันหมายถึงไอศกรีมรสมินต์ก็ได้นำขึ้นโต๊ะเสวย และใช้เสิร์ฟในมื้ออาหารเป็นคอร์สสุดท้ายต่อจากล็อบสเตอร์และนกกระทา หลังจากนั้น มินต์และช็อกโกแลตเลยกลายเป็นคู่สมรสใหม่ของวงการรสชาติอาหาร ได้รับความนิยมต่อเนื่องจนกลายเป็นสูตรอื่นๆ ในขนมและไอศกรีมในเวลาต่อมา
มินต์ช็อกสามัญ เรื่องเล่าจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากการจับคู่ที่ดูน่าประหลาดแต่ประสบความสำเร็จของราชสำนักอังกฤษแล้ว ทางสหรัฐอเมริกาเองก็มีร่องรอยการผสมผสานระหว่างมินต์กับช็อกโกแลตในของหวานมาก่อน ซึ่งก็ก่อนหลายสิบปีอยู่ หนึ่งในหลักฐานที่น่าสนใจนั้นเกิดในวงการเนตรนารีที่จะทำคุกกี้ขาย ทั้งขายที่โรงอาหารของโรงเรียนและเดินขายตามบ้าน จากการทำคุกกี้ขายครั้งแรกในปี 1917 และเริ่มปรากฏสูตรคุกกี้ในนิตยสารในปี 1922 ซึ่งเป็นสูตรง่ายๆ สำหรับขายราคา 25-30 เซ็นต่อโหล โดยคุกกี้มินต์เริ่มปรากฏตัวในวงการคุกกี้เนตรนารี คือราวปี 1939 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวัตถุดิบแพงขึ้น มีการจำกัดปริมาณน้ำตาล แป้ง และเนยในประเทศ วงการคุกกี้เนตรนารีจึงหันมาทำคุกกี้มินต์ เป็นคุกกี้ที่เคลือบด้วยช็อกโกแลตที่ใช้น้ำมันพืชและน้ำมันมินต์มาทำให้กลิ่นหอม
ดูเหมือนว่าวงการขนมหวานจะคุ้นเคยกับมินต์และช็อกโกแลตที่มาด้วยกัน ในแง่ของไอศกรีม ทางสหรัฐอเมริกามาจาก 2 ที่มา ที่มาแรกคือ ร้าน ‘The York Cone Company’ เปิดบริษัทในปี 1920 ที่เมืองยอร์ก เพนซิลเวเนีย ในช่วง 1940 ได้ออกขนมชื่อ York Peppermint Pattie เป็นขนมรสมินต์ ทำจากน้ำตาลและฉาบด้วยช็อกโกแลต และในทศวรรษเดียวกันที่ร้านบาสกิ้น รอบบินส์ (Baskin Robbins) เปิดสาขาในปี 1945 ก็บอกว่ารสชาติมินต์ช็อกชิปของตัวเองนั้น เป็นรสพื้นฐาน 1 ใน 31 รสตำนานของร้านมาตั้งแต่ต้น หรือบ้างก็ชี้ไปที่บริษัทนั้น
สำหรับอาหาร การคิดค้นเป็นเจ้าแรกอาจไม่สำคัญ จุดเริ่มนั้นๆ อาจหมายถึงความนิยมของเจ้ามินต์ช็อกที่ร้านอื่นๆ หรือครัวเรือนเริ่มผสมวัตถุดิบ 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน ในแง่ประวัติศาสตร์ ช็อกโกแลตและสมุนไพรไม่ใช่สิ่งที่แปลกจากกัน กล่าวคือนับตั้งแต่ที่ชาวยุโรปรับช็อกโกแลตหรือโกโก้เข้าสู่ทวีป การบริโภคช็อกโกแลตในยุคแรกคือการดื่ม ด้วยวิทยาการ ช็อกโกแลตในยุคนั้นยังไม่ได้รับประทานง่ายนัก ชาวยุโรปจึงนิยมปรับกลิ่นและรสของช็อกโกแลตด้วยการใส่สมุนไพรลงไปในแก้ว เช่น อบเชย (Cinnamon) หรือมินต์ ความคุ้นเคยกับช็อกโกแลตและสมุนไพรอาจเป็นพื้นฐานการครัวที่ทำให้เกิดคู่ผสมอย่างมินต์ช็อกที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในบ้านเราช่วงนี้
วันของมินต์ช็อกและเสียงส่วนน้อยในญี่ปุ่น
แม้ว่ามินต์ช็อกจะเป็นปรากฏการณ์เสียงแตก คือบางคนก็รับไม่ได้บอกว่าเป็นการกินยาสีฟัน แต่ในวงการไอศกรีม มินต์ช็อกถือว่าไม่ธรรมดา การจัดอันดับรสชาติไอศกรีมยอดนิยม รสมินต์ช็อกมักจะติดอันดับอยู่หัวตาราง คืออยู่ 1 ใน 5 รสชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุด
ที่ปรามาสไม่ได้มากกว่านั้น มินต์ช็อกยังเป็นรสชาติที่มีวันประจำชาติคือ ‘National Chocolate Mint Day’ เป็นวันเฉลิมฉลองให้กับรสชาติการผสมผสานที่ไม่เข้ากันแต่ก็มีคนชอบนี้ได้ อีกด้านคือมินต์ช็อกเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ รสเย็นของมินต์มีประโยชน์ทางยา ส่วนช็อกโกแลตก็กระตุ้นการหลั่งสารความสุขอย่างเซโรโทนินและโดปามีน แถมสำหรับสหรัฐอเมริกา ช็อกโกแลตและมินต์ยังสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมขนมหวาน รวมถึงกิจการไอศกรีมอีกด้วย
ข้อโต้แย้งเรื่องมินต์ช็อก นับเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกตะวันตก ในปี 2016 ญี่ปุ่นก็เผชิญกับภาวะเสียงแตกของมินต์ช็อก ในปีนั้น โกกิ มิซูโนะ (Koki Mizuno) จาก Japan Taste Association พูดถึงผลการศึกษาเรื่องมินต์ช็อกที่ค่อนข้างละเอียด และผลการสำรวจจากการศึกษาก็ได้ผลจากความเข้าใจที่น่าสนใจซะอย่างนั้น ในการสำรวจทีมมินต์ช็อก (โดยบริษัทอสังหาชื่อ At Home) ในปีนั้นใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,457 รายจากทั่วประเทศว่าชอบรสชาติมินต์ช็อกไหม
ผลลัพธ์ของชาวญี่ปุ่นต่อมินต์ช็อก นับเป็นสัดส่วนราวครึ่งต่อครึ่ง เกือบครึ่งคือ 48.5% บอกว่าไม่ชอบ ส่วนเสียงที่บอกว่าชอบนับเป็นเสียงส่วนน้อยโดยครองสัดส่วน 36% ที่เหลือ 15.5 % คือฝ่ายกลางๆ ที่เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร
จุดที่น่าสนใจคือ เมื่อนำโพลสำรวจนั้นมาแยกแฟนมินต์ช็อกออกเป็นรายจังหวัด ปรากฏว่าพื้นที่ทางเหนือ ซึ่งค่อนไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เป็นเขตของแฟนมินต์ช็อกอันดับต้นๆ เรียงตามลำดับคือ ฮอกไกโด มี 54% ของกลุ่มตัวอย่างที่ชอบมินต์ช็อก ตามมาด้วยจังหวัดมิยางิ จังหวัดยามากาตะ จังหวัดไซตามะ และจังหวัดอิวาเตะ สัดส่วนคนชอบมินต์ช็อกอยู่ที่ราวๆ 48-54% แต่เมื่อมาถึงเมืองทางใต้ลงมาหน่อย เช่น แถบคันไซและชูโงะคุ ความนิยมกลับตกลงอย่างสำคัญและอยู่ท้ายตาราง สำหรับฝ่ายสนับสนุนมินต์ช็อก เช่น โอซาก้า ได้ตัวเลขผู้สนับสนุนเพียง 9.7% เท่านั้น
ในมุมของหน่วยงานที่สนใจด้านรสชาติ แน่นอนว่ากิจการอาหารก็สงสัยว่าทำไมโอซาก้าที่มีความฉูดฉาดด้านอาหารถึงเกลียดมินต์ช็อกมากนัก ด้วยการคาดการณ์ก็คาดว่าอาหารของโอซาก้ามีรสจัดด้วยความเค็มและความหวานที่ค้างอยู่ในปากหลังกินเสร็จ ดังนั้น กลิ่นมินต์ที่อบอวลก้ำกึ่งมากับรสหวานขมของช็อกโกแลตจึงอาจจะไม่เข้าปากวัฒนธรรมอาหารรสจัด
ข้อสังเกตที่มากับภูมิภาค คือภูมิภาคที่อยู่ในลิสต์ลำดับต้นๆ ของคนรักมินต์ช็อก พื้นที่แถบนั้นมักเป็นแหล่งผลิตน้ำมันมินต์ (Mint Oil) ที่สำคัญของญี่ปุ่น ตรงนี้อาจทำให้คนจากเขตจังหวัดทางตอนเหนือคุ้นเคยกับรสมินต์มากกว่า
ข้อโต้แย้งสำคัญของรสมินต์ คือความรู้สึกของยาสีฟัน ถ้าย้อนกลับไปดู มินต์คือสมุนไพรที่ถูกใส่ลงในยาสีฟันตั้งแต่ทศวรรษ 1870 โดยทันตแพทย์ วอชิงตัน เชฟฟิลด์ (Washington Sheffield) เพื่อกลบรสจากสารทำความสะอาดอื่นๆ ส่วนมินต์นั้นเป็นพืชที่อยู่ในการครัวตะวันตกมาอย่างยาวนาน การใช้มินต์ปรากฏอย่างน้อยที่สุดก็ในศตวรรษที่ 16 มีรับสั่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ว่าการกินสัตว์ที่มีกลิ่นแรง เช่น แกะ ต้องกินคู่กับสมุนไพรรสขม หนึ่งในนั้นคือมินต์ ดังนั้น ในความคุ้นเคยนี้ อาหารจำพวกแกะจึงมักเสิร์ฟพร้อมกับซอสรสมินต์ แต่ฝ่ายต้านมินต์ช็อกกลับบอกว่า รับได้แค่มินต์ในซอสที่กินคู่กับแกะเท่านั้น การนำไปผสมอยู่ในช็อกโกแลตนั้นถือว่าไม่โอเค
ในระดับชีววิทยา ความชอบหรือไม่ชอบมินต์ช็อกอาจจะสัมพันธ์กับดีเอ็นเอ (DNA) คือลักษณะทางกายภาพของเราก็ได้ รัสเซลล์ คีสส์ (Russell Keast) ผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติและการเลือกกินจาก University’s School of Exercise and Nutrition Sciences ชี้ให้เห็นว่า เรามีต่อมรับกลิ่นที่ไวและรับกลิ่นต่างๆ นั้นได้ต่างกัน เช่น บางคนได้กลิ่นผักชีแล้วเหมือนสบู่ บางคนบอกหอมดี ส่วนตัวเข้าใจว่ากลิ่นเหม็นเขียวของผักที่บางคนก็บอกว่าโอเค ทางผู้เชี่ยวชาญบอกว่าตรงนี้อาจจะไม่ได้มีแค่มิติทางวัฒนธรรม แต่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของการรับกลิ่นของแต่ละคน (รวมถึงความรู้สึกชอบด้วย เช่น อาจจะชอบกินยาสีฟันเป็นการส่วนตัว)
จากความสนุกสนานของกระแสมินต์ช็อกในฐานะกระแสสดใหม่ที่ท้าทายต่อมรับรสชาติของชาวไทย การได้ท่องประวัติศาสตร์ทั้งไกลและใกล้ จากการกินช็อกโกแลตเก่าแก่ งานเสกสมรส ร้านไอศกรีม มาจนถึงข้อขัดแย้งเรื่องมินต์ช็อกและการพยายามไขข้อสงสัยของญี่ปุ่น คุณเองเป็นทีมมินต์ช็อกแบบไหน ไม่เอามินต์ในอาหารเลย ไม่เอามินต์ช็อกเฉยๆ หรือคุณคือแฟนของมินต์ช็อก?
อ้างอิงจาก
laurengilbertheyerwood.wordpress.com