ถ้าคุณโตมากับการ์ตูนอย่างมิกกี้เมาส์ ทอมแอนด์เจอร์รี่ เดอะซิมป์สัน มนุษย์หินฟลินท์สโตน หรือการ์ตูนอีกหลายเรื่องในยุคที่เรายังไม่รู้จักคำว่ายูทูบ แล้วได้มาเยือน Chumchum Grocery ในซอยปรีดี พนมยงค์ 31 เราคิดว่าคงต้องมีใจเต้นกันสักนิด หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีประโยคทำนองว่า “อ๋อ เจ้าตัวนี้ไงที่เราเคยดูตอนเด็กๆ”
Chumchum Grocery เป็นทั้งคาเฟ่และร้านชำขายของสะสมเกี่ยวกับการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา โปสเตอร์ ของเล่น ตุ๊กตา โปสการ์ด ไปจนถึงแผ่นเสียง ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่การตกแต่งธีมการ์ตูนแบบวินเทจ แต่ของเกือบทุกชิ้นวินเทจที่อายุจริงๆ เพราะผลิตมาตั้งแต่ยุคที่การ์ตูนเหล่านี้ยังโลดแล่นอยู่ในจอแก้ว
“เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามารู้สึกถึงความรักต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเคยมี หรือเราเผลอลืมมันไปแล้ว เอมอยากให้ทุกคนหวนนึกถึงมัน แล้วก็กลับไปดูที่บ้านว่าเราเผลอลืมทิ้งอะไรไว้ที่ไหนหรือเปล่า เอาออกมาตั้งตู้ มันอาจจะทำให้ห้องสดชื่นขึ้น น่ารักขึ้น หรือทำให้ตัวเราเองมีความสุข อย่างสิ่งนี้ เฮ้ย จำได้แม่ซื้อมาให้ตอนอายุ 10 ขวบ เราอยากให้เขารู้สึกแบบนั้น จริงๆ มีหลายคนบอกว่า เดี๋ยวกลับไปดูที่บ้านว่าของชิ้นนี้อยู่ตรงไหนนะ พอฟังแล้วเรารู้สึกมีความสุข ดีใจ เพราะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำให้คนรู้สึกแบบนั้น”
เอม—เอมนิกา ยิ้มอำพัน เล่าถึงความตั้งใจเบื้องหลัง Chumchum Grocery แม้ร้านแสนน่ารักนี้จะมีอายุแค่ 2 เดือน แต่ก่อนความฝันจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เอมสะสมความรัก ความหลงใหล รวมถึงความตั้งใจมาอย่างยาวนาน
และต่อไปนี้คือเรื่องราวการเดินทางของเอมตั้งแต่วันที่ตกหลุมรักการ์ตูนจนถึงวันที่ตัดสินใจเปิดร้าน Chumchum Grocery
นาฬิกา โปสเตอร์ กับความบังเอิญที่ทำให้เริ่มสะสม
ย้อนไปในช่วงที่เรายังไม่มีโซเชียมีเดีย เชื่อว่าเด็กหลายคนน่าจะเคยตื่นมาดูการ์ตูนช่องเก้า เฝ้าจอรอดูดิสนีย์คลับ หรือเปิดช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์คเป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าเอมก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ตั้งแต่จำความได้ เอมชอบการ์ตูนมาก จำได้ว่าไปดิสนีย์แลนด์บ่อยมาก ไปแล้วไปอีก เมื่อก่อนที่บ้านเอมจะต้องไปญี่ปุ่นเกือบทุกปี เราก็จะขอแม่ไปดิสนีย์แลนด์ เพื่อไปเฝ้าขบวนพาเหรด ทั้งๆ ที่เคยดูแล้ว แต่ก็อยากดูอีก แล้วก็รู้สึกว่า วันนี้เราแค่โตขึ้น อายุเรามากขึ้น แต่ความรักที่เรามีกับสิ่งที่เราเป็น มันไม่ได้โตขึ้นเลย เพราะถ้าเรารักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็จะรักสิ่งๆ นั้นตลอดไป เอมรู้สึกแบบนั้น”
ความหลงใหลในการ์ตูนค่อยๆ สะสมเรื่อยมาจนวันที่ความบังเอิญพาเอมเดินทางไปพบกับของสะสมชิ้นแรกนั่นคือ ‘นาฬิกาดิสนีย์’
“เริ่มแรกเลย เอมไปเดินตลาดมือสองกับเพื่อน เราชอบของเก่าอยู่แล้ว พอเดินไปเจอนาฬิกามิกกี้เมาส์สองเรือน คุณลุงขายอยู่ที่แบกะดิน เราก็แบบ เฮ้ย อะไรน่ะ ไม่เคยเห็น ตอนนั้นเปิดโลกเรามากเลยนะ น่าจะ 5-6 ปีได้แล้วมั้ง แล้วเอมเป็นคนชอบไปหา ไปเสิร์ชหาข้อมูลว่ามันคืออะไร เราอยากรู้ คิดว่ามันต้องมีมากกว่านี้สิ เพราะว่าสองเรือนหน้าตาไม่เหมือนกัน แล้วมันดูมีอยู่จริง ดูวินเทจ คือปกติมันจะดูได้เลยว่าอันไหนเป็นของใหม่ อันไหนเป็นของก๊อป แต่ชิ้นนี้ไม่ใช่ มันมีอยู่จริงแน่ๆ พอเราไปเสิร์ช เราไม่ได้เจอเรือนที่อยู่ตรงแบกะดิน แต่ว่าไปเจอเรือนอื่น แล้วกลายเป็นค้นไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งขุด ยิ่งเจอสิ่งต่างๆ เต็มไปหมดเลย”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการสะสมนาฬิกาดิสนีย์วินเทจ ก่อนที่เอมเริ่มจะขยับมาเปิดร้านออนไลน์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำเป็นกราฟิกในค่ายเพลงแห่งหนึ่ง
“เอมเป็นคนที่ไม่รู้ว่าคนอื่นชอบอะไร ไม่สามารถเดาใจคนไม่รู้กี่คนได้ เลยเอาตัวเองเป็นหลักเสมอมา ก็คือถ้าเราชอบแบบนี้ เราเชื่อว่าก็ต้องมีคนอื่นที่ชอบเหมือนเราด้วย ไม่รู้กลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ แต่แค่มีก็โอเคแล้ว เราเลยเริ่มขายของจากสิ่งที่เราชอบก่อน พอทำมาได้สักพัก แล้วงานประจำเริ่มหนักขึ้น เวลาผ่านไป เรารู้สึกว่าเราต้องเลือก ตอนแรกที่บ้านไม่ให้ คนรอบตัวก็บอกว่ามันเสี่ยงไปหรือเปล่าที่จะออกมาทำตรงนี้ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะเป็นยังไง เพราะตอนนั้นร้านเรายังไม่ได้มีคนติดตามเยอะ แต่รู้สึกว่าถ้าเราไม่เลือกอย่างหนึ่ง เราจะเสียอีกอย่างหนึ่งไป เราเลยลาออกมาทำร้านของตัวเอง”
แม้การตัดสินใจนี้จะฟังดูเสี่ยง แต่เอมเล่าว่าความคิดที่จะเปิดหน้าร้านไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ เพราะเอมแอบวาดภาพไว้ในใจตั้งแต่ทำร้านออนไลน์แล้วว่าอยากมีพื้นที่เล็กๆ เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงขั้นซื้อของมาตุนไว้ที่บ้านพร้อมกับภาพในหัวว่ากล่องนี้จะวางไว้มุมไหนในร้านเลยทีเดียว
“เริ่มแรกที่อยากมีร้านจริงๆ คือการไปออกงาน แล้วลูกค้าบอกว่า โห น่ารักมากเลย แล้วตอนทำออนไลน์เอมเจอคำถามหนึ่งบ่อยมากคือ ‘มีรอยไหมคะ’ เอมรู้สึกว่าอยากมีร้านเพราะอยากให้ทุกคนเห็นของจริง แล้วตั้งแต่เปิดร้านมา ไม่มีใครพูดถึงรอยเลย คงเห็นรอยแหละ แต่พอเห็นของจริงแล้ว เรื่องรอยมันลบไปเลย เอมอยากให้เข้าใจว่าของวินเทจ จริงๆ การมีร่องรอยเป็นเรื่องปกติมาก ถ้าเมื่อก่อนขายออนไลน์ เขาก็อาจจะถามว่าทำไมถึงมีรอย แต่พอมาขายเรือนเดิมในร้าน แปบเดียวไปเลย เราเลยชอบที่ลูกค้าได้เห็นของจริง”
ร้านชำที่บรรจุความทรงจำในวัยเด็ก
เมื่อกวาดสายตาไปรอบๆ จะพบว่าของสะสมที่เยอะจนสะดุดตาคงจะเป็นนาฬิกาวินเทจ โดยเฉพาะรุ่นที่เลิกผลิตไปแล้วในปัจจุบัน
“อย่างในตู้ทั้งหมด มีตั้งแต่ผลิตช่วง 1970s – 1990s ประมาณ 90% เลย ของยุค 1990s มีเยอะมากตั้งแต่ช่วง 1991-1999 ตอนนั้นดิสนีย์ผลิตเยอะมากเพราะว่ามีทั้งแบรนด์ Fossil แบรนด์ Seiko แบรนด์ดังต่างๆ ไปซื้อลิขสิทธิ์มาทำ อย่าง Fossil เอมชอบที่สุดแล้ว เพราะแพคเกจจิ้งอันดับหนึ่งในใจเลย แค่กล่องก็คือกินขาดแล้ว ยังไม่ถึงนาฬิกาเลย แล้วส่วนใหญ่มันก็ค่อนข้างมีอายุ แต่ถ้าปัจจุบันไปดิสนีย์ เอมเคยไปล่าสุดที่ฮ่องกง ก็เจอนะ แต่หน้าตาไม่เป็นแบบนี้แล้ว มิกกี้จะเป็นแบบสมัยใหม่มาก ทั้งลายเส้น ทั้งสี มันไม่เหมือนเดิมเลย ซึ่งเราชอบแบบเก่าเพราะเราถนัดมากกว่า แบบใหม่ไม่มีลูกเล่นแล้ว แต่แบบเดิมเข็มปีมีมิกกี้เกาะ จะสลับใส่สองด้านก็ได้นะ บางเรือน มี ปฏิทินอยู่ในหน้าปัดด้วย เจ๋งมาก น่ารักมาก”
แม้ของภายในร้านส่วนใหญ่จะชวนให้นึกถึงดิสนีย์ แต่เอมบอกกับเราว่าจริงๆ แล้วเธอหลงใหลทุกอย่างที่เกี่ยวกับการ์ตูนและแอนิเมชั่น ทำให้ของสะสมในร้านค่อนข้างหลากหลาย
“ตอนเด็กๆ เราก็เล่นฟิกเกอร์ มีพวกของสะสม แต่เราไม่ได้เล่นของชิ้นใหญ่ที่มันมีมูลค่าอย่างพวกศิลปะที่เป็นภาพ หรือว่านาฬิกามูลค่าสูงขึ้นมา เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก” เอมชี้ไปที่โปสเตอร์ที่เรียงรายอยู่ริมผนังพร้อมกับเล่าต่อว่า
“อันนี้คือเราบังเอิญหลงทางไปเจอโกดังๆ หนึ่งอยู่ในซอก พอหลงทางเข้าไป เราก็ เฮ้ย ทำไมมันมีภาพพวกนี้เต็มเลย แล้วไปเสิร์ชอีก ก็เจออีก เพราะเราอยากรู้ว่ามีอีกไหม ตอนแรกที่ไปเสิร์ช เราไม่ได้จะขายนะ แต่เราแค่อยากได้เป็นของตัวเอง เลยซื้อมาเก็บเองก่อน เซตแรกคือ Walt Disney เราซื้อมาเป็นล็อตใหญ่เลยแล้วเอามาแปะ พอลองโพสต์ขายด้วยปรากฏว่ามันมีคนทักมาให้ความสนใจเยอะ เราก็เลยลองซิ แล้วเอมเป็นคนที่ตั้งแต่เด็กเราคิดว่า ทำยังไงก็ได้ให้สิ่งที่เรารักสามารถเลี้ยงตัวเราได้ด้วย เราเลยคิดว่า เอาวะ อันนี้แหละ เพราะว่างานกราฟิกที่เราทำอยู่มันก็สนุก มีความสุขนะ แต่มันยังไม่สุด เหมือนไม่ใช่ตัวเราขนาดนั้น อันนี้คือแค่มองก็มีความสุขแล้ว มีลูกค้าหลายคนบอกว่าแค่เข้าร้านมาก็มีความสุขแล้ว”
เราเองก็อยากยืนยันว่าวินาทีที่เปิดประตูเข้ามาก็รู้สึกอบอุ่นใจและสบายตาเช่นกัน ทั้งได้เห็นการ์ตูนที่เราคุ้นเคย การจัดวาง การเลือกสีสันในร้านที่น่ารักลงตัวกับเพลงการ์ตูนที่เปิดจากแผ่นเสียงคลอเบาๆ หรือถ้าใครไม่ได้สันทัดเรื่องการ์ตูนแต่เป็นสายคาเฟ่ฮอปปิ้ง Chumchum Grocery ก็มีมีเมนูกาแฟ โกโก้ และเครื่องดื่มแสนอร่อยซึ่งเอมและเพื่อนตั้งใจทำอย่างสุดฝีมือพร้อมเสิร์ฟให้ผู้คนที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอีกด้วย
ชุมชนของคนรักการ์ตูน
“เวลาลูกค้าทักมาก็คือคุยให้เหมือนเพื่อน เพราะเรารู้สึกว่าเขาชอบเหมือนกันนะ เรามองว่าเขาไม่ใช่ลูกค้า เราไม่เคยเรียกลูกค้าว่าลูกค้าเลย ส่วนใหญ่จะเรียกว่าเพื่อนมากกว่า เราเห็นทุกคนเป็นเพื่อนๆ เพราะความฝันคือเราอยากให้พื้นที่ของเราเป็นชุมชนเล็กๆ ให้คนที่มีความชอบ ความรักในสิ่งเดียวกัน หรือว่าอาจจะชอบการ์ตูนคนละแบบแต่ว่าคุณมีความรักในสิ่งๆ หนึ่ง ก็มาที่นี่ได้นะอะไรอย่างนี้”
บรรยากาศในร้านที่อบอวลไปด้วยความรักและความทรงจำแบบนี้ ชวนให้เราสงสัยว่าเอมทำใจขายของทุกชิ้นในร้านได้จริงหรือเปล่า ?
“บางทีปีหนึ่งมันเจอครั้งเดียว เอมรู้สึกเสียดาย บางทีเอมเก็บนะ อย่างนาฬิกาสติชท์เรือนหนึ่งอยู่ในตู้ เอมไม่เคยลงออนไลน์ด้วย แต่เก็บไว้ ถ้าเกิดเรือนไหนมันหายากมากๆ เอมจะรอให้มีอันที่สองก่อนแล้วค่อยขาย รู้สึกอยากให้มันมีอยู่ สมมุติมันไม่ได้อยู่ที่ใคร แต่อย่างน้อยจะมีชิ้นนี้ที่ยังสภาพดีอยู่กับเราแน่ๆ”
“อย่าง Flintstones ตอนแรกจะสั่งมาขาย แต่พอเห็นของจริง เราขายไม่ลงจริงๆ มันเก่ามาก ยุค 70s เลยมั้ง Flintstones ยังเป็นสีวินเทจอยู่เลย ไม่ใช่เสื้อสีส้ม จริงๆ ตอนเอามาโปสเตอร์แอบขาดเหมือนกันนะ เอมเลยเอามาใส่กรอบให้มันดูกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะโปสเตอร์หลายอันอย่าง Felix นี่ก็น้ำเขรอะ เลยเอามาใส่กรอบก็ดูน่ารัก ดูใหม่ขึ้นมาอีก”
ส่วนชิ้นที่ตัดสินใจขาย เอมก็จะแนะนำลูกค้าเสมอว่าควรดูแลแบบไหนเพื่อให้ของชิ้นนั้นอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“เอมจะบอกลูกค้าเรื่องวิธีรักษานาฬิกาว่าทำยังไงให้เขายังอยู่กับเราไปอีก เอมอยากให้ต่อไป ผ่านไปอีก 20-30 ปี คนก็ยังเห็นสิ่งเหล่านี้ในสภาพสวยน่ารักอยู่ เราอาจจะไม่ค่อยเก่งมาก เราเองก็ไปถามช่างมาอีกทีหนึ่ง ช่างเขาดูนาฬิกาวินเทจเป็น เขาก็จะบอกว่าซื้ออันนี้ แล้วก็ทำแบบนี้ๆ นะ บอกลูกค้าว่าเก็บกล่องเก็บอะไรเอาไว้นะ เพราะวันหนึ่งจะได้ส่งต่อได้”
บาลานซ์แพสชั่นกับการทำธุรกิจ
เราแวะมาเยือน Chumchum Grocery ในช่วงสายของวันจันทร์ แต่กลับมีคนแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ และผลตอบรับก็ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
“มีคนถามเยอะมากว่าลูกค้ามาเยอะแค่ช่วงแรกหรือเปล่า ทำยังไงให้เขากลับมา จริงๆ มีหลายคนกลับมาแล้วนะ ชวนเพื่อนมานั่งคุยเล่น เรารู้สึกว่าเรามีของในมือ เราสามารถสร้างคอนเทนต์หรืออะไรก็ได้ตามยุคสมัยที่มันควรจะเป็นไป อย่างคริสต์มาส เราแพลนไว้ว่าสอยดาวต้องมาแล้วนะ เดี๋ยวมีต้นคริสต์มาส เพราะเอมมีพวกของตกแต่งที่สะสมไว้ด้วย”
“มันเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เพื่อนหรือคนรอบตัวยกประเด็นที่ทำให้เรากังวล เราเองก็แอบกังวล เพื่อนจะชอบบอกว่าคาเฟ่ร้านอื่นมันบูมได้แค่ 3 เดือนแรกแหละ แล้วสักพักก็เงียบ เพราะลูกค้าไปถ่ายรูปจนหมดแล้ว” แต่เอมมองว่า Chumchum Grocery เป็นมากกว่านั้น
“เอมต้องการนำเสนอของสะสมเป็นหลัก แต่ว่าคาเฟ่ต้องอร่อย ที่ผ่านมาก็คือไปเรียนทำกาแฟกับ Nips Café แล้วเขาน่ารักมาก ช่วยเต็มที่ ช่วยครีเอตเมนู ช่วยสอนทุกอย่างจริงๆ เพราะเราก็บอกเขาตรงๆ ว่าเราไม่เก่งนะ ไม่ถนัด เราถนัดแต่ขายของ ตอนนี้ก็คือเริ่มพอได้แล้ว”
“มันก็เป็นประสบการณ์เราเองด้วย เราก็เป็นคนหนึ่งที่เวลาเราไปคาเฟ่ อาจจะไปไม่เยอะ แต่เราชอบไปที่ที่มันอร่อย ถ้าที่ไหนที่เราจำได้ว่าอร่อย เราจะไปอีก เรารู้สึกว่าอยากให้ลูกค้ามาแล้วได้ประสบการณ์ที่ดี จำได้ว่ามีครั้งหนึ่ง ลูกค้าเดินเข้ามาบอกว่ากาแฟอร่อย คือเราไม่ได้คาดหวัง แล้วลูกค้าเดินมาบอก ซึ่งไม่ใช่เพื่อนด้วยนะ เราก็ดีใจมาก ตอนนี้อย่างที่บอกว่าลูกค้ามาเยอะมาก แต่เอมจะทำให้เขากลับมาอีกให้ได้ เพราะว่าเพื่อนจะได้โอเคด้วย เพราะเพื่อนทำคาเฟ่ เราอยากโตไปด้วยกัน”
นอกจากการทำให้ร้านเป็นที่รู้จักและลูกค้าอยากกลับมาอีกครั้ง เอมยังเจอความท้าทายอีกหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาอย่างน้ำรั่ว ไฟไม่ติด ไปจนถึงข้าวของพังหรือตกหล่นเสียหาย จนช่วงหลังๆ ต้องระวังมากขึ้น และติดป้ายให้ผู้มาเยือนหยิบจับของแต่ละชิ้นกันอย่างเบามือ
“เราอยากให้ร้านๆ นี้อยู่กับเราไปนานๆ” เอมเล่าถึงภาพอนาคต “จริงๆ ไม่ได้อยากขายแค่นาฬิกากับโปสเตอร์นะ ต่อไปเอมอยากทำของที่เราชอบด้วย ตอนนี้เราเล่นของเก่า แต่อยากมีของที่ทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเพื่อนอีกคนหนึ่งเขาจบด้านการทำแพคเกจจิ้ง มา เลยคิดว่าเดี๋ยวต่อไปคงหาอะไรทำด้วยกัน ให้ร้านเรามีของขายเยอะกว่าเดิม จริงๆ คิดไว้ว่าอยากให้โซนตรงนี้มีเวิร์คชอปด้วย เราคุยกับหลายคน อย่างลูกค้าที่ได้มาเป็นเพื่อน มีจัดดอกไม้บ้างอะไรบ้าง ต่อไปพอเริ่มอยู่ตัวแล้ว เราอาจจะมีจัดกิจกรรมอะไรสักอย่าง ตอนนี้รอคริสต์มาส ก็จะลองดูก่อนว่าลูกค้าจะชอบไหม”
เราอาจหลงลืมอะไรไประหว่างการเติบโต
พอพูดถึงการ์ตูน ของเล่น หรืออะไรที่เราคุ้นเคยในวัยเด็ก เราอาจจะได้ยินคำถามว่า เลยวัยไปแล้วหรือเปล่า? แต่สำหรับเอม สิ่งเหล่านี้ไม่มีเส้นแบ่งเรื่องอายุ
“เอมว่าต่อให้เราอายุมากขึ้น แต่ว่าตัวตน ความเป็นเรามันจะยังอยู่เหมือนเดิม ป๊าเอม ทุกวันนี้ก็ยังเด็กอยู่เลย มีดูช่องการ์ตูน ดูทอมแอนด์เจอร์รี่ทุกวัน เอาจริงๆ เอมอาจจะได้อิทธิพลมาจากป๊าด้วย คือเห็นเขาดู แล้วเราก็ดูด้วยเพราะเขาชอบเปิดทีวี เปิดทอมแอนด์เจอร์รี่ สมัยนั้นเขาดูเองหัวเราะเอง แล้วเราเข้าไปนั่ง เราก็หัวเราะด้วย ทุกวันนี้ก็ยังเปิดมือถือดู ซึ่งป๊า 60 กว่าปีแล้ว เอมเชื่อต่อไปว่าเอมอายุ 60 แล้วก็คงเป็นแบบนั้นเหมือนกัน หรือหนังเข้าโรงดิสนีย์ เอมก็ไปเกือบทุกเรื่องเลย ถ้ามีเวลาว่างก็ไป เก็บให้หมดเลย เพราะเราชอบ จริงๆ มันเหมือนเป็นเพื่อนที่โตมากับเรา แล้วทุกวันนี้ก็ยังคลาสสิคอยู่เลย”
การเดินเข้ามาใน Chumchum Grocery และบทสนทนากับเอมวันนี้ ไม่ได้ทำให้เราหวนนึกถึงการ์ตูนในวัยเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เราได้ย้อนไปปัดฝุ่นความทรงจำอีกครั้งว่าบนเส้นทางของการเติบโต เราอาจจะหลงลืมตัวตนหรืออะไรบางอย่างไประหว่างทางหรือเปล่า ซึ่ง ‘อะไรบางอย่าง’ ที่ว่านั้น อาจจะเป็นการ์ตูน ของเล่น หนังสือ ความฝัน หรือสิ่งอยู่กับเราและไม่เคยหายไป ไม่ว่าอายุจะเพิ่มขึ้นหรือเวลาจะผ่านไปสักแค่ไหนก็ตาม