ห้างใหม่ผุดขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะแลนด์มาร์ค สถานที่ท่องเที่ยว สร้างกันแต่ละที รถก็ติดเพิ่มยาวเป็นแถว วิวที่สวยงาม ก็ถูกบังด้วยตึกสูง บางทีก็ได้แต่สงสัย สร้างอะไรแถวบ้านเรา มีใครบอกเราบ้างไหม ตัดสินใจกันแต่ละครั้ง ถามอะไรเราบ้างหรือยังนะ กว่าจะรู้อีกที ก็วันเปิดให้บริการซะแล้ว
แม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญกันมาแล้วหลายฉบับ และต่างก็บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพ และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แต่ทำไม๊ ทำไม มองย้อนมาดู ก็ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย ว่าแท้จริงในการพัฒนาโครงการแต่ละแห่ง พื้นที่แต่ละที่ เหล่าคนที่มีอำนาจเค้าเปิดโอกาสให้เรา หรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปส่งเสียงมีส่วนร่วมกันบ้างไหมนะ บางทีก็เห็นว่ามีเปิดให้ออกความเห็นกัน แต่ก็ดูจะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ทำให้เสร็จๆ ไปตามขั้นตอนหรือป่าว เสียงที่เราเคยนำเสนอ ได้ถูกรับฟัง นำไปใช้บ้างไหมนะ
การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเรา ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกล หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นหัวใจสำคัญของระบบประชาธิปไตย ที่นักวิชาการอย่าง James L. Creighton ได้ให้ความหมายถึงกระบวนการนี้ไว้ว่า มันเป็นกระบวนการที่รวบรวมเอาความกังวล ความต้องการและค่านิยมต่างๆ ของประชาชนมาอยู่ในการตัดสินใจของรัฐและเอกชน เป็นวิธีที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้สื่อสารกัน และร่วมกันเพื่อการตัดสินใจที่ดีกว่า และเป็นการแสดงให้เห็นว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วย
Creighton ยังได้พูดถึงกระบวนการนี้ไว้ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะมันช่วยให้การตัดสินใจมีคุณภาพขึ้นจากการรับฟังหลายๆ ฝ่าย สร้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และช่วยลดการเผชิญหน้ารูปแบบอื่นๆ ที่อาจเลวร้ายกว่านี้ด้วย
ตัดภาพกลับมาที่บ้านเรา แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ แต่เราก็คงปฏิเสธความสำคัญของการมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนไม่ได้เนอะ
เริ่มต้นที่การมีส่วนร่วม เสียงของทุกคนช่วยกันกำหนด
อนันตา อินทรอักษร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม BIGTrees Project องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่รณรงค์และเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวบอกกับเราว่า กระบวนการมีส่วนร่วมคือเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะถือเป็นกลไกที่ทำให้คนในสังคมได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของเมืองร่วมกัน
“ไม่ว่าจะสร้างอะไรก็ตาม ทำอะไรที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องด้วย เราเชื่อว่าต้องมีกระบวนการการมีส่วนรวม ต้องดูว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของใคร เป็นพื้นที่ของภาครัฐ เป็นพื้นที่ของชุมชนที่ต้องมีภาครัฐมาเกี่ยวข้อง หรือเป็นพื้นที่ของเอกชน ไม่มีอะไรที่ถูกใจทุกคนโดยธรรมชาติ แต่การสร้างพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์คค่อนข้างมีคำจำกัดความว่าเป็นสัญลักษณ์พิเศษสำคัญที่เกิดขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของกลุ่มคน ของชนชาติ ของย่าน ของประเทศ การเปิดพื้นที่ให้คนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเข้ามาคิด ไม่ใช่นำความคิดของแค่คนเดียวหรือแค่กลุ่มเล็กๆ มาใช้ทั้งหมด”
เธอบอกว่า กระบวนการมีส่วนร่วมจะทำให้โครงการพัฒนาต่างๆ มีความยั่งยืน และช่วยให้เกิดทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของในเรื่องนั้นร่วมกันได้
“ความหลากหลายจะทำให้เกิดนวัตกรรมทางความคิด อะไรที่ใช่ อะไรที่โดน อะไรที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็จะถูกกลั่นกรอง ก่อนกลายเป็นข้อสรุปที่เห็นร่วมกันว่าจะสร้างอัตลักษณ์อย่างไร การสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ น่าจะสร้างความสนุกและความชัดเจน สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นของแท้ อยู่กับเราอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่เป็นทุกคนมามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ”
สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเปิดพื้นที่รับฟังอย่างจริงใจ
ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมารัฐจะไม่รับฟังความเห็นของประชาชนกันบ้างเลย เพราะเวลามีโครงการพัฒนาพื้นที่ รัฐก็เปิดเวทีพูดคุย และมีการลงพื้นที่ไปสอบถามคนในชุมชนบ้าง แต่วิธีการเหล่านั้นของรัฐมันได้ผลบ้างไหม เราจึงได้สอบถามความเห็นจาก คุณยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of river ที่เคยออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับกระบวนการและวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา
“วิธีของรัฐที่ผ่านมามันเป็นแบบ Top-Down คือรัฐมีคำตอบหรือนโยบายที่ชัดเจนไปแล้วว่าอยากจะทำอะไร จึงไม่มีการเปิดโอกาสให้ทางเลือกอื่นๆ แต่กลายเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วม ไม่ให้เวลาในการตกผลึกทางความคิด การถกเถียงที่มากพอหรือทางเลือกที่เหมาะกับชุมชนเมืองและอนาคตที่เรากำลังพัฒนา”
ยศพลยังให้ความเห็นว่า วิธีการส่วนร่วมที่จะดีนั้น ต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
“การมีส่วนร่วมมันมีหลายระดับ แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่กรณี สมมติว่าพูดถึงการพัฒนาโครงการขึ้นมาแต่ละโครงการ แน่นอนเราก็ต้องมีส่วนร่วมมาก มีข้อมูล มีความรู้เพียงพอต่อการตัดสินใจและให้ความเห็น ทีนี้ทุกฝ่ายทั้งประชาชน นักวิชาการ เอกชน และรัฐ ที่ต่างก็มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ต้องช่วยกันในแต่ละขั้นตอน ทั้งการระดมความเห็น หาข้อมูล ปัญหาผลกกระทบ สอบถามความเห็นประชาชน เพื่อให้เกิดการตกผลึก แต่ในระหว่างนั้นกระบวนการก็ควรจะโปร่งใส และเปิดรัยความแตกต่าง ทั้งยังต้องสามารถมองเห็นข้อสรุปจากการรับฟัง และอธิบายกับสังคมได้”
“เราควรตระหนักว่าการพัฒนามันต้องอยู่บนพื้นฐานของการเท่าเทียมและได้ประโยชน์ควบคู่กันไป ไม่ใช่จะคัดค้านทุกอย่าง หรือมองว่ามีแต่ฝ่ายที่ได้กับเสียอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองในแง่ความเป็นจริงและกลไกว่า มันมีโอกาสที่จะเกิดความร่วมมือ สร้างสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน และตื่นตัวในการตรวจสอบ มันก็ไปอยู่ในกระบวนการนี้ คือมันต้องตื่นรู้ ติดตาม มีข้อมูลที่จะให้ความเห็นเพื่อพัฒนาร่วมกัน”
แม้จะมีกฎหมายบังคับ แต่สุดท้ายอาจต้องพิสูจน์ที่ความจริงใจ
การรับฟังเสียงของประชาชนดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน และลดความเสี่ยงจากปัญหาที่ตามมาได้มากมาย โดยเราก็เห็น ข้อเสียของการไม่รับฟังเสียงของประชาชนได้จากหลายกรณี ที่สุดท้ายก็เกิดทั้งความล่าช้าในการพัฒนาโครงการ การสูญเสียทรัพย์สิน และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในชุมชน ไม่ว่าจะทั้งจากการฟ้องร้องที่ก่อให้เกิดความยืดเยื้อ หรือการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ที่มีให้เราเห็นกันตามหน้าข่าวอยู่เรื่อยๆ
ถ้าเรามาดูในรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่า มีการระบุแน่ชัดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างในฉบับปี 2550 ได้ระบุในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะมีการศึกษา ประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ทั้งยังต้องมีความเห็นจากองค์กรเอกชน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพรวมอยู่ก่อนการดำเนินการด้วย
และแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ปี 2560 ที่เพิ่งผ่านประชามติกันไปจะถูกโต้แย้งอย่างหนักเรื่องการสิทธิของชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่หายไป แต่อย่างน้อยก็ยังมีการระบุในหมวดที่ 5 มาตรา 58 ว่าต้องมีประเมินผลกระทบและการฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชน มาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติเช่นกัน
แต่แม้รัฐธรรมนูญจะระบุกันขนาดนี้ แต่ก็ยังมีช่องทางอีกมากมายที่เจ้าของโครงการทั้งหลายหลีกเลี่ยง เลือกที่จะละเลยเสียงของประชาชน และถึงจะมีพื้นที่เปิดให้ประชาชนพูดคุยได้บ้าง แต่เวทีนั้นก็มักจะไม่จริงใจและไม่จริงจัง ไม่ให้ข้อมูลรอบด้าน เสียงค้านและความคิดเห็นของคนในชุมชนไม่ได้ถูกนำไปรวมอยู่ในการดำเนินการได้จริง
เราคงได้แต่หวังว่าในอนาคต การมีส่วนร่วมของประชาชนจะถูกให้ความสำคัญ และมีการเปิดพื้นที่ให้เราเข้าร่วมได้กว้างขึ้น มากกว่าจะเป็นเพียงตัวอักษรที่ถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเสียงที่ไม่ได้ถูกรับฟัง
อ้างอิง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/
Cover illustrator by Namsai Supavong