Cognitive dissonance เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อสมองรับข้อมูลใหม่ที่ขัดกันกับความเชื่อหรือการกระทำส่วนตัวของคนคนหนึ่งเข้ามา
และเมื่อเกิดความขัดแย้งนั้นๆ แล้วสมองจะพยายามอย่างสุดฝีมือที่จะทำให้เราใจร่มๆ โดยการปรับพฤติกรรมหรือความเชื่อนั้นๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในหรือภายนอก โดย Cognitive dissonance ถูกค้นพบโดย ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) หลังจากเขาสังเกตการณ์ลัทธิบูชาวันสิ้นโลกเปลี่ยนพฤติกรรมหลังความเชื่อของพวกเขาไม่เป็นจริง
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่เข้ามาในประเทศไทยคือผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ได้คะแนนอยู่ที่ราวๆ 50% ของผู้ไปใช้สิทธิทั้งหมด และมันน่าจะเป็นข้อมูลที่สร้างความขัดแย้งในความเชื่อของคนจำนวนมากแน่ๆ ด้วยหลากหลายเหตุผล
ไม่ว่าจะในการเลือกตั้งครั้งไหน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเวลาเดินเข้าคูหาไปกาเบอร์ที่เราต้องการคือความไม่มั่นใจในตัวเลือกของตัวเอง โดยเฉพาะถ้ามีเบอร์ที่เราชอบมากกว่าเบอร์เดียว นี่เรียกว่า post decisions dissonance หรือความไม่ลงรอยหลังจากการตัดสินใจ โดยส่วนมากจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
โดยความไม่ลงรอยเกิดจากความ ‘รักพี่เสียดายน้อง’ จากตัวเลือกที่เราเห็นข้อดีในทั้งคู่ ในขณะที่เราติดตามผลเมื่อคืนนี้อาจมีแว๊บหนึ่งในใจคิดขึ้นมาว่า ‘น่าจะ strategic vote กันเนอะ’ ‘เสียดายนโยบายคนนี้’ ‘นโยบายดีแต่ทำจริงได้มั้ยนะ’ หรือ ‘คนนี้มีคนเลือกตั้งเยอะแล้ว ถ้าเราเลือกอีกคนคงชนะคนที่ไม่ชอบแล้ว’ โดยลีออนกล่าวว่า สมองมีวิธีการจัดการกับความไม่ลงรอยนี้ผ่านการเพิ่มข้อดีในตัวเลือกที่เราเลือก หรือหาข้อด้อยในตัวเลือกอีกตัวเลือก
อีกแหล่งที่มาของ Cognitive dissonance มาจากการโดนบังคับทำในสิ่งที่ไม่อยากทำโดยไม่มีผลตอบแทนมากพอ ในการทดลองโดยลีออนเอง เขาแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งคู่ต้องทำงานน่าเบื่อเป็นเวลานาน แต่กลุ่มแรกได้ค่าตอบแทน 20 ดอลลาร์ และอีกกลุ่ม 1 ดอลลาร์ พบว่ากลุ่มที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าจะบอกว่างานน่าเบื่อกว่า ส่วนกลุ่มที่ได้เงินน้อยกว่ารู้สึกว่างานนั้นสนุก เนื่องจากพวกเขาต้องปรุงแต่งจิตใจให้สนุกไปกับสิ่งที่ทำ เพราะค่าตอบแทนรูปธรรมไม่เพียงพอ
ความไม่ลงรอยในรูปแบบนี้ต้องใช้เวลาในการสังเกตเสียหน่อย หากพูดให้เห็นภาพต้องพูดถึงในบริบทของการทำงานก็คือการสามารถคิดได้ว่างานที่ทำถึงได้เงินน้อยก็ได้ประสบการณ์ แต่เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นคงต้องรอดูกันในระยะยาว ทั้งจากชั่วโมงบินในการทำงานของผู้ว่าฯ คนใหม่ แนวทางการทำงาน ไปจนการเปลี่ยนแปลงของระดับคุณภาพชีวิต
รูปแบบสุดท้ายคือความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นเมื่อความเชื่อที่เราเชื่อและทุ่มเทอย่างมากไม่สะท้อนออกมาในโลกความเป็นจริง ความเชื่อเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นมาจากความเคยชินในสถานภาพปัจจุบัน (Status Quo) หรือการปลูกฝัง อาจจะเห็นในรีแอ็กชั่นอย่าง ‘เสียกรุงซะแล้ว’
Cognitive dissonance สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายแบบ อาจจะจบที่การเปลี่ยนแปลงแนวคิด ปรับเปลี่ยนให้ความเชื่อของตัวเองนั้นเป็นไปกับ status quo มากขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากันกับความจริงใหม่ที่เพิ่งค้นพบ หรืออาจจะสุดโต่งไปทางการสร้าง cognitive bias ที่หยิบจับบางส่วนของความเป็นจริงมาปะติดปะต่อให้เป็นเรื่องราวที่เป็นไปในทางเดียวกับความเชื่อของตัวเองมากยิ่งขึ้น ผ่านการมองหาข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิม หรือมองข้ามข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อนั้นๆ
การประสบกับสภาวะเช่นนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเรื่องลบๆ เสมอไป ย้อนกลับไปสู่การสังเกตการณ์ลัทธิวันสิ้นโลกโดยลีออนในหนังสือ When Prophecy Fails ลัทธิเชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกเลือกจากมนุษย์ต่างดาวที่จะลักพาตัวพวกเขาออกจากโลกก่อนโลกจะสูญสลาย หลังจากความจริงเปิดเผยว่าความเชื่อที่พวกเขาเชื่อมาโดยตลอดนั้นไม่เป็นความจริงเมื่อวันที่กำหนดมาถึงแต่ไม่มียานอวกาศมารับพวกเขา
ท่ามกลางความสับสนและความไม่มั่นคงทางความเชื่อ บางกลุ่มละทิ้งความเชื่อแล้วกลับบ้าน บางกลุ่มยึดไว้ซึ่งความเชื่อแล้วบอกว่าพวกเขาเองที่เป็นผู้ช่วยโลกเอาไว้ แต่สุดท้ายบางกลุ่มในลัทธิเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวนั้นให้โอกาสโลกอีกครั้ง พวกเขาจึงเพ่งเล็งกำลังและความสนใจของพวกเขาไปสู่การเป็นลัทธิเพื่อสภาพแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนแทน
แม้ว่าในความเชื่อของเราแต่ละคนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาว หรือวันสิ้นโลก สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวคือไม่ว่าความเชื่อที่เรามีจะสุดโต่งขนาดไหน การเปิดรับข้อมูลใหม่ การตีความข้อมูลนั้นๆ และการเปลี่ยนแปลงภายในในแบบที่ถูกต้อง หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในแง่บวกได้
อ้างอิงข้อมูลจาก