ลากยาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม เป็นอีกช่วง high season ของการจัดงานแต่งงาน ในช่วงนี้เราคงได้เห็นภาพงานแต่งโผล่ในไทม์ไลน์แบบไม่เคยได้พัก จนนับไม่ถูกว่าวันหนึ่งเราเห็นคู่แต่งงานผ่านตาไปกี่คู่ คนดูจากทางบ้านอย่างเราก็ได้แต่ยินดีกับการไปถึงหมุดหมายของความรักอย่างการแต่งงานนี้ด้วย แต่ทว่า หากมีความรักต่อกัน แต่ไม่ได้แต่งงานกันนั่นหมายความว่าความรักนั้นไปไม่ถึงจุดหมายหรือเปล่า?
หากเอาคำถามที่ว่านี้ไปถามชาวมิลเลนเนียล เราอาจได้คำตอบว่า “ไม่จริงแต่อย่างใด” ผลสำรวจจาก Pew Research Center เลือกที่จะทดลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เพื่อตัดสินใจว่าจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาวได้หรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือ มาอยู่ด้วยกันให้รู้กันไปเลยว่า พอมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วสามารถอยู่ด้วยกันได้จริงหรือเปล่า แน่นอนว่า ไม่มีการพูดถึงการแต่งงานอยู่ในนั้นเลย จนกลายเป็นว่า การอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานของชาวมิลเลนเนียล กลายเป็นเรื่องปกติและเป็นที่ยอมรับมากกว่ารุ่นก่อนอย่าง Gen X เลยทำให้ในยุคสมัยของชาวมิลเลนเนียลนั้น จำนวนคู่รักที่แต่งงานกันน้อยลง แล้วคู่แต่งงานที่ว่านั้นมีอายุเพิ่มขึ้นด้วย
ชาวมิลเลนเนียลจึงนิยมอยู่กันอย่าง ‘Cohabitation’ หรือคำนิยามที่เอาไว้เรียกคนสองคนที่ไม่ได้แต่งงานกันแต่ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยส่วนใหญ่มักจะใช้คำนี้สำหรับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกในระยะยาว พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงานของคู่รักนั่นแหละ นั่นหมายความว่าชาวมิลเลนเนียลมองว่า ‘พิธีแต่งงาน’ ไม่ได้มีความสำคัญต่อชีวิตมากเท่าคนรุ่นก่อน และไม่สำคัญเท่าการได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากการอยู่ก่อนแต่งอยู่เล็กน้อย การอยู่ก่อนแต่ง อาจมีไอเดียคล้ายๆ กันอยู่บ้าง ตรงที่มาทดลองอยู่ด้วยกันให้รู้ไปเลยว่าใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ ได้มั้ย แล้วอาจจะมีพิธีแต่งงานในตอนหลังตามมา แต่สำหรับ Cohabitation การแต่งงานจะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่ได้มองว่าการแต่งงานเป็นหมุดหมายที่สำคัญของความรักอีกต่อไป
แล้วอะไรทำให้การแต่งงานแต่ละครั้ง จึงเป็นเรื่องยุ่งยากเสียจนหลายคนเลือกจะข้ามมันไปสู่การใช้ชีวิตร่วมกันไปเลยนะ
เพราะการแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน
ประโยคยอดฮิตที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเรื่องจริง แม้งานแต่งเกิดขึ้นได้เพราะคนสองคน ตกลงปลงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แต่ในขั้นตอนของพิธีแต่งงานนั้น กลับต้องให้ความสนใจกับผู้อื่นและมีผู้อื่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเสียอย่างงั้น อย่างความยุ่งยากของการรับมือกับความคิดเห็นในครอบครัว “แม่ว่าสีนี้ไม่มงคล” “จัดแค่นี้ไม่ได้หรอก อายญาติผู้ใหญ่เขา” จนกลายเป็นว่างานที่จัดขึ้นนี้ ต้องเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัว จนเจ้าของงานเองไม่ได้มีโอกาสเนรมิตงานแต่งให้เป็นไปตามฝันของตัวเอง
หรือจะเป็นสารพัดกิจกรรมที่เป็นที่ถกเถียงกันจนเสียงแตกเป็นสองฝั่ง อย่างการกราบตักเจ้าบ่าว แล้วทำท่าโชว์พาวเก็บภาพความประทับใจไปหนึ่งช็อต กั้นประตูเงินประตูทองแล้วถูกสั่งให้ทำอะไรประหลาดๆ เพื่อผ่านด่านไปหาเจ้าสาว ถามว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องผิดหรอ? ไม่เลย ไม่ผิดเลย ตราบใดที่เจ้าของงานอย่างบ่าวสาวเต็มใจ แต่หลายคู่ที่ไม่ได้ชอบในกิจกรรมเหล่านี้ เลือกที่จะเลี่ยงรายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ไป เพราะมองว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานนี้เลยด้วยซ้ำ
ยิ่งนับวันเรายิ่งได้เห็นงานแต่งที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่ายมากขึ้น มีเพียงญาติผู้ใหญ่ไม่กี่คนมารับรู้คำบอกกล่าวของบ่าวสาว ส่วนแก๊งเพื่อนๆ ก็มาแสดงความยินดี กินดื่มร่วมกันในวันนั้นก็เป็นอันจบพิธี ความเรียบง่ายที่ว่านั้นอาจถึงขั้น มองว่าพิธีโดยรวมมันช่างเยิ่นเย้อ จนเหลือเพียงการสวมแหวนแบบรับรู้กันสองคนเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายมหาศาลในวันที่ยังตั้งตัวไม่ได้
ก่อนจะไปเริ่มใช้ชีวิตด้วยกัน ต้องมีพร้อมทั้งบ้านและรถ เหมือนกับภาพฝันของ American Dream ที่ผลักดันให้ผู้คนแสวงหายูโทเปียของตัวเอง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราต้องแบ่งเงินก้อนใหญ่ไว้สำหรับการจัดงานแต่ง ยังไม่พูดถึงเรื่องสินสอด ลองนับนิ้วดูคร่าวๆ ว่า เราจะต้องเสียเงินไปเท่าไหร่กว่าจะได้เริ่มใช้ชีวิตกับใครสักคน
ยิ่งในช่วงที่ทรัพยากรและสภาพคล่องของเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ชาวมิลเลนเนียลตั้งตัวได้ง่ายกับดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนรุ่นก่อน พื้นที่แนวราบที่มีแต่คนจับจองแน่นขนัด จนต้องจับจองพื้นที่แนวตั้ง ยิ่งไม่ยอมปล่อยให้ชาวเราตั้งตัวได้ง่ายๆ เหมือนภาพฝันตอนมัธยม ที่เอาแต่คิดว่าอายุเท่านั้นจะได้ทำงาน ได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ มีรถ มีบ้าน แต่งงานตอนอายุที่ตั้งใจ ตัดภาพมาที่ความจริง ได้แต่นั่งหลังขดหลังแข็งอยู่บนเก้าอี้ ergonomic จนอายุล่วงเลยทุกหมุดหมายที่ตั้งใจไว้
จนเกิดคำถามว่า เราพร้อมแค่ไหนที่จะเสียเงินจำนวนมากไปกับพิธีการเหล่านี้ หากเรามีความพร้อม มีครอบครัวสนับสนุน ไม่ต้องลังเลเลยที่จะเลือกจัดงานได้ตามภาพที่วาดไว้ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลตรงนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะลดสเกลพิธีแต่งงานลงหรือเลือกจะข้ามมันไป เก็บเงินเหล่านี้ไว้กินไว้ใช้มากกว่า
ในบางแห่ง เขาไม่ให้แต่งน่ะสิ
ณ ดินแดนอันไกลโพ้น การจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกันยังไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่มีความรัก มีความยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างเหมือนกับคู่ชายหญิง พวกเขาสามารถจัดงานแต่งได้ แต่กลับไม่มีสิทธิ์เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ทำให้การแต่งงานอยู่กินกันของคู่รักหลายคู่ สามารถทำได้ในทางพฤตินัย แต่นางนิตินัยกลับไม่มีวี่แววว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้ สิทธิประโยชน์ในฐานะคู่สมรส ถูกปัดตกครั้งแล้วครั้งเล่า
ด้วยเหตุผลมากมาย ที่ทำให้การเลือกอยู่แบบ Cohabitation กลายเป็นทางออกของใครหลายคน ที่มองว่าการแต่งงานเป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และชีวิตสามารถดำเนินต่อไปในฐานะคู่รักได้ แม้ไม่ได้ผ่านพิธีแต่งงานก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก