แม้บ้านเราจะดูเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่การเปิดเผยต่อพ่อแม่ว่าเป็น LGBT ก็ยังถือเป็นปัญหาคลาสสิก จะบอกดีมั้ย จะรับได้หรือเปล่า แล้วถ้าเข้าหน้ากันไม่ติดขึ้นมาจะทำยังไง
The MATTER ส่งท้ายเดือน Pride เดือนแห่งการเฉลิมฉลองของชาว LGBT ด้วยประสบการณ์ come out พวกเขาบอกพ่อแม่ยังไง เหตุการณ์ออกมาในรูปแบบไหน และชีวิตหลังจากนั้นเป็นอย่างไร ให้พวกเขาเล่าให้คุณฟัง
บอลล่า-ชวนันต์ ศรีนวล
อาชีพ : รับจ้างอิสระ
“สำหรับบอลล่า เลือกที่จะ come out ตอนออกรายการ The Voice พอดี จริงๆ แล้ว พ่อและแม่ท่านก็คงรู้อยู่แล้ว หมายถึงว่าคนที่เป็นพ่อเป็นแม่เขาก็ผ่านประสบการณ์ทั้งชีวิตวัยเด็ก วัยรุ่น มีเพื่อนฝูง จนกระทั่งแต่งงานและมีเราเป็นโซ่ทองคล้องใจ ท่านก็คงมีเซนส์รับรู้ออร่าของเราอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่สำหรับบางครอบครัวเลือกที่จะปรับแต่ง ชักจูง หรือแม้แต่บังคับให้ลูกของตนกลับเข้ามาให้ตรงเพศสภาพดังเดิม สาเหตุอาจจะเพราะอายคนรอบข้าง เพราะกลัวลูกอยู่ในสังคมลำบาก และมีอีกหลายเหตุผลร้อยแปด
“ส่วนของบอลล่าก็จะว่าโชคดีก็ได้ ที่ทั้งพ่อและแม่รับรู้ในช่วงที่เรามีพื้นที่สื่อพอดี ก็คือตอนออกรายการ The Voice (ซีซั่น 3) และคอมเมนต์ในสื่อออนไลน์ของทางรายการ ทั้งเฟซบุ๊กและยูทูป มีแต่คอมเมนต์ที่ชอบและสนับสนุนในความสามารถโดยมองเรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องรองไปเลย ส่วนคอมเมนต์เชิงลบก็มีนะ แต่เทียบอัตราส่วนก็คือน้อยมากๆ เลยเป็นจุดสะท้อนให้ท่านทั้งสองมั่นใจว่า การวางตัวของเราเป็นที่ยอมรับในสังคมค่ะ
“หลังจาก come out พ่อและแม่ก็ภูมิใจกับเราเพราะเรา present ความสามารถผ่านทางรายการ ส่วนเรื่องการวางตัวท่านก็มั่นใจเพราะคอมเมนต์จากผู้ชม ทำให้ท่านมั่นใจในตัวตนและวางใจในลิมิตของเราค่ะ ;-)”
เอ
“จริงๆ การบอกที่บ้านเป็นเรื่องที่อยากทำมาตลอดเพราะไม่อยากปิดบังและพอเรามีคนที่เรารักเราก็อยากแชร์ให้ท่านทราบด้วย ประจวบเหมาะเป็นตอนที่อกหัก โดนบอกเลิก นอนอยู่กับบ้านใจมันเบลอๆ แต่อยากร้องไห้ ก็เลยตัดสินใจไปร้องไห้กับแม่ พอร้องไห้แม่ก็ถาม ตั้งใจไว้แล้วว่าต้องใช้โอกาสนี้แหละบอก ร้องไห้ไปแม่ก็ถามว่าเป็นอะไร ถามไปถามมาจนเข้าเรื่องว่าไปชอบผู้หญิงที่ไหน เราเลยบอกไปว่าไม่ใช่ผู้หญิงแต่เป็นเรื่องผู้ชาย เรื่องอกหักเราเลยกลายเป็นเรื่องรอง เพราะแม่ช็อกแล้วก็ร้องไห้แทน จากเรื่องอกหักเลยกลายเป็นเรื่องปรับความเข้าใจ ค่อยๆ อธิบายเรื่องความเป็นเกย์ เรื่องเพศ เพศสถานะ อธิบายถามตอบเป็นชั่วโมง จริงๆ สุดท้ายท่านก็ยังคงช็อกๆ แหละ แต่ได้บอกไปแล้วก็สบายใจมากๆ เพราะเราก็ไม่ผิดอะไร ถ้าจะผิด ก็ผิดที่ปิดบังมากกว่า”
ชลธภัจฐ์ นิ่มรัตนสิงห์
อาชีพ : ครีเอทีฟ
“ของเรายังไม่กล้าบอกตรงๆ ไม่ค่อยได้กลับบ้านเลยไม่มีโอกาสได้บอก แต่คิดเองคือเค้าน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะบางครั้งที่คุยโทรศัพท์กัน เหมือนเค้ารู้ว่าเราอยู่กับเพื่อนคนนี้บ่อยๆ เค้าก็จะบอกว่า “ให้ดูแลกันให้ดีๆนะ” “ฝากคิดถึงคนนั้นด้วยน้า” อะไรแบบนี้แล้วก็หัวเราะ จนรู้สึกว่าเค้าน่าจะรู้แล้วว่าเราเป็นยังไง เพราะที่บ้านเราไม่ค่อยได้คุยกันแบบเปิดอกเท่าไหร่ พอนานๆ ไป มันก็เลยกลายเป็นการแซวๆ กันบ้าง แต่ไม่ได้หนักหน่วงอะไรนะ
“แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเค้ารู้อยู่แล้วอีกอย่างคือ แม่จะชอบโทรมาปรึกษาเราเรื่องนู่นนี่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าบ้านอื่นเป็นยังไงนะ ว่าแม่คุยกับลูกชายแบบไหน แต่บ้านเรา แม่เราโทรมาคุยกับเราทุกเรื่องเลย จนรู้สึกว่าแม่สนิทใจกับเรามากๆ จนแอบตั้งคำถามว่าบ้านอื่นแม่เค้าคุยกับลูกชายตัวเองแบบไหนวะ อยากรู้จัง 555”
อรรถกร รัตนมนูจิต
อาชีพ : ธุรกิจส่วนตัว
“เรื่องนี้ยังไม่เคยบอกเองกับปาก แต่พ่อกับแม่ก็คงพอจะรู้ แต่ก็ไม่เคยจะถาม จนวันนึงพี่สาวที่อยู่ต่างประเทศเกริ่นเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็มีการแซวว่าจะเอาสามีบ้าง อะไรบ้าง แต่ก็เป็นการแซวแบบติดตลก ก็ 3-4 ปีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็รู้กันทั้งบ้านไม่ใช่แค่พ่อกับแม่เพียงเท่านั้น แต่การที่ครอบครัวรับได้กับสิ่งที่เป็น ก็ทำให้รู้สึกไม่อึดอัดไม่ต้องปิดบัง และไม่ต้องโดนบังคับให้เอาเมียค่ะ”
เปรมนรินทร์ กาฬหว้า
อาชีพ : Assistant Front Office Manager
“สำหรับการเปิดตัวของเทยบอมบ์ก็ไม่มีอะไรดราม่าเหมือนในละครค่ะ เพราะท่านคงไม่คาดหวังว่าจะได้ลูกชายคนเดียวของครอบครัวกลับมาแล้ว แต่ท่านก็เป็นห่วงการใช้ชีวิตกลัวว่าจะไม่มีจุดยืนในสังคม เทยจึงตัดสินใจแต่งหญิงขึ้นเวทีประกวดสาวประเภทสองประจำหมู่บ้านในตอนนั้น ถือเป็นการ grand opening ไปในตัวค่ะ สิ่งที่ทำให้เทยได้รู้ว่าท่านได้ยอมรับในการตัดสินใจเดินทาง Transgender ของเทยคือ ทั้งครอบครัวมานั่งเชียร์เทยประกวดด้วยความยินดี แถมยังทุ่มเงินซื้อดอกไม้มาเชียร์ด้วยค่ะและหลังจากนั้นทางครอบครัวไม่ได้พูดว่ารับไม่ได้แต่อย่างใด แต่กลับส่งเสริมในกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำในทางสร้างสรรค์ เช่น เป็นนางรำของโรงเรียนเป็นต้น และสิ่งที่ตอกย้ำการเป็นลูกสาวของครอบครัวคือ ตอนปีใหม่จะมีเพื่อนๆ ของพ่อแม่มาเยี่ยมแล้วท่านก็ได้แนะนำให้เพื่อนๆ ฟังว่า “นี่ไง อิเทยลูกสาวคนโตของบ้าน” มงลงสิคะ
ปัจจุบันก็เลยใช้ชีวิตแบบไม่มีปิดบังอะไร แต่จะใช้การเล่าประสบการณ์ที่เราได้เจอจากสังคมว่าในสังคมเขาเปิดรับและให้โอกาสกับเทยอย่างไร และเลือกที่จะไม่เล่าประสบการณ์ที่แย่ๆ ที่พบเจอในสังสมให้ท่านฟัง ท่านจะได้ไม่เป็นห่วงค่ะ”
ใหม่ ศุภรุจกิจ
อาชีพ : ฟรีแลนซ์
“ตอนเรียนปีสองที่จีน เราเพิ่งเกิดความรู้สึกว่าผู้หญิงสองคนสามารถรักกันได้นี่หว่า เพิ่งเข้าใจตัวเองว่าแบบนี้ก็ได้ เราชอบคนนี้จัง แล้วเราก็มีอะไรกัน เช้าวันรุ่งขึ้น เราโทร.บอกแม่ “เมื่อคืนมีอะไรกับผู้หญิงนะ” แม่ก็ตอบมานิ่งๆ ว่า “อืม แล้วแม่ต้องทำยังไง” แล้วแม่ก็บินมาหาเรา จำได้ว่าประโยคแรกๆ ที่บอกกับเราคือ เขารู้สึกสูญเสียลูกสาวคนเดิมไป เราก็เฮ้ย เราคือคนเดิม อวัยวะเพศหญิงก็ยังอยู่ ทุกอย่างเราเหมือนเดิม แค่เราค้นพบว่าเราสามารถรักผู้หญิงได้ รักผู้ชายได้ รักทุกอย่างที่ไม่ต้องนิยามก็ได้ไง
จากตรงนั้นก็ 8 ปีละ มีครั้งหนึ่งเราได้ยินแม่กำลังอธิบายให้เพื่อนเขาฟังเรื่องความหลากหลายทางเพศว่า “เวลาชอบคนนี้ เพราะเป็นคนนี้ไง มันไม่มีหรอกเพศน่ะ เข้าใจเปล่า งงอะไร”