งานบ้านเป็นงานที่เหนื่อยหน่ายและไม่รู้จบ ทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องทำใหม่
หลายบ้านมีประสบการณ์การจ้างแม่บ้าน ไม่ว่าจะแม่บ้านแบบจ้างชั่วคราว แม่บ้านประจำ แม่บ้านที่เป็นกึ่งพี่เลี้ยง แต่ส่วนใหญ่แม่บ้านที่เราคุ้นๆ ก็มักจะไม่เชิงเป็นแม่บ้านอาชีพที่ต้องแต่งชุดเมดแบบแม่บ้านฝรั่ง ดังนั้นเวลาที่เราเจอแม่บ้านใส่เครื่องแบบมา มันก็จะเขินๆ หน่อย
แม่บ้านมีประวัติศาสตร์คู่ครัวเรือนที่ร่ำรวยมาอย่างยาว ในอดีตแม่บ้านในคฤหาสน์เป็นเสมือนสังคมหน่วยหนึ่ง มีการจัดแบ่งหน้าที่ และมีลำดับชั้น การมีแม่บ้าน-พ่อบ้านที่ได้เรื่องได้ราว แต่งกายเหมาะสมเรียบร้อย ถือเป็นหน้าเป็นตา เป็นเครื่องแสดงความมั่งคั่งและบารมีของบ้านนั้นๆ ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้าน—ลูกจ้างและนายจ้างก็เป็นความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อน แม่บ้านที่มีความใกล้ชิดมักมีสถานะเป็น ‘คนสนิท’ ไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้านและผู้ว่าจ้างก็เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจรูปแบบหนึ่ง
แม่บ้านในฐานะผู้กุมความลับ
ในวรรณกรรมมีตัวละครประเภทที่เรียกว่า confidant ตามชื่อเลยตัวละครพวกนี้หมายถึงตัวละครที่เก็บงำความลับต่างๆ ของเรื่อง เป็นตัวละครรองที่ตัวละครเอกให้ความไว้วางใจและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ในแง่ของการประพันธ์บางครั้งนักเขียนหรือละครเวทีก็ใช้ตัวละครเหล่านี้เพื่อเล่าเรื่องให้กับคนดูและคนอ่านไปพร้อมๆ กัน
ระยะหลัง งานเขียนประเภทนวนิยายพาฝัน เรื่องรักโรแมนติกทั้งหลายที่มักพูดถึงความรักของชนชั้นสูง ตัวละครที่กุมความลับก็มักเป็นตัวละครคนรับใช้ พี่เลี้ยง คนสนิททั้งหลาย เพราะตัวละครประเภทนี้มักอยู่ในบ้าน ได้รับรู้ พูดคุยข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ทั้งจากคนในบ้านและจากนายจ้างใกล้ชิด เจ้าความลับที่เหล่าแม่บ้านทั้งหลายกุมไว้ก็มักจะไปเปิดเผยเป็นจุดพลิกผันสำคัญในตอนท้ายของเรื่อง
ถ้าเรามองย้อนไป ยุควิกตอเรียถือเป็นยุคหนึ่งที่แม่บ้านเป็นกิจกรรมและกิจการที่มโหฬาร ในครอบครัวที่มั่งคั่ง มีคฤหาสน์มหึมาจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากในการจัดการให้ธุระต่างๆ ในบ้านเป็นไปได้อย่างราบรื่น เหล่าแม่บ้านและพ่อบ้านในคฤหาสน์เป็นระบบการจ้างและทำงานที่แบ่งสรรหน้าที่และมีลำดับชั้น มีการแบ่งคร่าวๆ ว่าเป็นแม่บ้านบนตึก หรือแม่บ้านชั้นล่าง เป็นคนที่ทำงานโดยตรงกับนายจ้าง หรือทำงานซักล้าง การครัว ซึ่งในการทำงานนี้ก็มีการแบ่งสถานะย่อยๆ ต่อไป แม่บ้านบางตำแหน่งทำงานเฉพาะกับคุณนายของบ้าน รับหน้าที่คนสนิทติดตามไปไหนมาไหนไปในตัว
การเมืองเรื่องแม่บ้าน
ในยุควิกตอเรียมีรายงานว่าแรงงานในงานประเภทงานบ้านมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากแรงงานในกสิกรรม แน่นอนว่าการจ้างแม่บ้านและคนดูแลบ้านนับสิบคนต้องเป็นเรื่องของผู้มีอันจะกิน ความสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้านและคุณนายมักถูกวาดภาพให้เป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพากัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกียรติ ดูแลกันด้วยความเมตตา
อันที่จริง แม่บ้าน ก็เป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง ระบบค่าจ้างของคนทำงานบ้านนับตั้งแต่อดีตมักถูกวางไว้ในระดับที่น้อยนิด ในหนังสือ Life below stairs: Domestic servants in England from Victorian times บอกว่าชีวิตแม่บ้านไม่ได้สวยงามอย่างในนิยาย พวกเธอทำงานหนัก โดดเดี่ยว และเหงาหงอย การทำงานในคฤหาสน์แทบไม่ได้ออกไปพบเจอใคร ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน แถมพวกนายผู้หญิงก็ใช่จะเมตตาปราณี แถมยังชอบแสดงอำนาจ ชอบทำการทดสอบต่างๆ เช่น ทดลองทิ้งเหรียญไว้เพื่อลองใจ
ในงานเขียนชื่อ Maid to Order: The Politics of Other Women’s Work ของ Barbara Ehrenreich พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้านและคุณนายว่า ความสัมพันธ์แบบนี้มักเป็นเรื่องของผู้หญิง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงที่มีนัยของอำนาจแอบแฝงอยู่ในนั้น เธอบอกว่าความสัมพันธ์นี้แสดงความไม่เท่าเทียมที่ยังคงแอบแฝงอยู่ในสังคม
แต่ว่า ถ้าที่ไหนมีอำนาจ ใช่ว่าคนที่อยู่ใต้อำนาจจะต้องจำยอมเสมอเนอะ เราคงเคยเห็นเหล่าแม่บ้านที่มีการโต้กลับ ต่อรองกับเหล่านายจ้างด้วยวิธีการต่างๆ บางครั้งอาจจะบอกว่าอยากได้ชุดใหม่เพราะผ้าหยาบไป หรือพาเจ้านายไปเช็ดน้ำจะได้พอใจ
ถ้ามองในแง่ว่าแม่บ้านคืออาชีพ เป็นการจ้างงานหนึ่ง ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ยุควิคตอเรียจนถึงยุคปัจจุบัน แม่บ้านทั้งหลายกลับไม่ค่อยมีตัวตน ไม่มีกฎหมายครอบคลุมคุ้มครอง ชั่วโมงทำงานไม่แน่นอน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างเวลาพัก ไม่มีที่พัก ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล
สำหรับบ้านเราเองก็ค่อยๆ เริ่มให้สิทธิและมองแม่บ้านในฐานะอาชีพ ในฐานะแรงงาน ในปี 2555 มีการออกกฏหมายสำหรับอาชีพประเภท ‘ลูกจ้างทำงานที่บ้าน’ ความคิดที่มองแม่บ้านในฐานะคนรับใช้ มีประเด็นเรื่องบุญคุณ ควรเริ่มเปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์ของคนทำงาน เปลี่ยนเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก