หลังจากเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลมีมติขับ ‘วุฒิพงศ์ ทองเหลา’ สส.ปราจีนบุรี พ้นจากสมาชิกพรรค แต่ ‘ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์’ สส.เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ไม่ถูกขับออกจากพรรค เพราะเสียงไม่ถึง โดยทั้งคู่มีความผิดฐานคุกคามทางเพศเหมือนกัน
ทำให้จนถึงปัจจุบัน กระแสเรื่องนี้ยังคงคุกรุ่น เพราะทั้ง สส.ในพรรคและประชาชนยังคงแสดงความไม่พอใจ จนเกิดการแสดงความเห็นและถกเถียงกันเรื่อง ‘การยินยอมในการมีเซ็กส์’ เนื่องจากหนึ่งผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศระบุว่า เธอถูกล่วงเกินขณะที่มึนเมา ซึ่งมีคนบางส่วนชี้ว่า เท่ากับว่าเธอยินยอมหรือเปล่า? แต่ก็มีการแสดงความเห็นโต้กลับมากมายว่า “เมาไม่ได้แปลว่ายินยอม”
ดังนั้น The MATTER จะมาสรุปผลการสำรวจเรื่องความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์โดย ร็อกเกต มีเดีย แล็บ (Rocket Media Lab) ให้อ่านกัน
เริ่มต้นที่ประเด็น อยากหรือไม่อยากมีเซ็กส์ต้องพูดกันได้ เพราะการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ (sexual consent) อาศัยแค่ภาษากายอาจไม่พอ โดยอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นถึงประเด็นนี้จากมุมมองของบุคคลทั่วไปจำนวน 1,052 คน
พบว่า 80% มองว่าสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของการยินยอมหรือไม่ยินยอมมีเซ็กส์คือ การออกปากพูด ขณะที่ 27.1% หรือราว 283 คน เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ตนไม่ได้ยินยอม
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธคือ ‘ต้องการตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย’ ยิ่งกว่านั้นผลสำรวจยังชี้ชัดว่า 1 ใน 3 ของการมีเซ็กส์โดยปราศจากการยินยอมนั้นมักเกิดขึ้นกับ ‘คู่ที่มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว’
นอกจากนี้ เรื่องความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์ มักเป็นประเด็นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีเส้นแบ่งต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน ไม่ว่าด้วยสาเหตุอย่างมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มายาคติส่วนบุคคล หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ
พร้อมกับตลอดที่ผ่านมา ยังมีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เช่น
- แบบไหนกันแน่ที่แปลว่าอีกฝ่ายยินยอม?
- อะไรที่ทำให้คนไม่สามารถปฏิเสธการมีเซ็กส์ แม้จะไม่ต้องการ?
- คบกันแล้ว เรื่อง consent ยังจำเป็นแค่ไหน?
ทั้งนี้ ในความยินยอมพร้อมใจนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่หลากหลาย โดยอาจมีทั้งกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่กรณีที่เจ้าตัวไม่สามารถปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ครั้งนั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ “อยากตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย” ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า นี้เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องทำตาม แม้จะไม่ได้ยินยอมก็ตาม
รองลงมาคือ ‘ความรัก’ หรือ ‘กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์’ ดังนั้นจึงอาจคาดการณ์ได้ว่ากว่า 1 ใน 3 ของประเด็นดังกล่าว เกิดขึ้นกับคนที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัย ได้แก่ ความเกรงใจ, มึนเมา หรือไม่อยู่ในสติสัมปชัญญะครบถ้วน, อีกฝ่ายใช้กำลัง และอีกฝ่ายมีสถานะที่สามารถให้คุณหรือให้โทษกับตนได้
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนยังระบุถึงทัศนคติและมายาคติเกี่ยวกับการยินยอมต่อเรื่องนี้อีกด้วย เช่น
- ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถเป็นผู้ถูกกระทำได้
- การแต่งตัวโป๊ไม่เท่ากับว่า มีความต้องการทางเพศ
- กระทำโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมเท่ากับข่มขืน
- ผู้ล่วงละเมิดฯ ผู้อื่นจำเป็นต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะ
- การตั้งคำถามกับผู้ที่ออกมาพูดว่า ตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นการโทษเหยื่อ (victim blaming)
อ่านผลการสำรวจ ‘อยาก/ไม่อยากมีเซ็กส์ต้องพูดกันได้’ เต็มๆ ได้ที่: https://rocketmedialab.co/consent/