“ไม่รู้จักใช้ปัญญามาครุ่นคิด
ดัดจริตข้ารุ่นใหม่ให้ปวดเศียร
ปล่อยให้ถูกหลอกให้ฉงนวนเวียน
น่าอาเจียนรสนิยมต่ำตมจัง”
“วันที่ 24 มีนาคมนี้ เราจะปล่อยให้การเลือกตั้งอยู่ในเงื้อมมือของเด็กกลุ่มที่เพิ่งจะใช้สิทธิ์ครั้งแรก และไม่ใยดีกับสิ่งเลวร้ายที่นักการเมืองที่เขาหลงปลื้ม เคยกระทำมาหรือครับ”
กระแสร้อนแรงในสังคมไทยในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 หนีไม่พ้น #ฟ้ารักพ่อ กองเชียร์พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยออกเสียงเลือกตั้งมาก่อน ร้อนถึง ‘ผู้ใหญ่’ ที่ไม่ชอบพรรคนี้ ผู้ภาคภูมิใจว่าตน ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ หลายคนต้องออกมาสำทับ เกทับ และก่นด่าเด็กรุ่นใหม่ ตั้งแต่หาว่าพวกเขาโง่ ถูกหลอก รสนิยมต่ำ หรืออย่างเบาะๆ ก็หาว่า ‘ไร้เดียงสา’ ดังบทกวีและคำกล่าวของผู้ใหญ่ชื่อดังสองคนที่นำมาจั่วหัวเปิดบทความด้านบน
ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่เคยคิดในมุมกลับว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในทศวรรษ 2000 หรือที่เรียกว่า ‘มิลเลนเนียลส์’ เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต หาข้อมูลจากมือถือเป็นกิจวัตร เมื่อพวกเขาสนใจใคร ก็จะสืบค้นข้อมูลและประวัติในโลกออนไลน์ แต่ละคนตัดสินใจเองได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ
ความเป็น ‘ชาวดิจิทัลแต่กำเนิด’ (digital natives) ของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ทำให้พวกเขามีโลกกว้างไกลอยู่เพียงปลายนิ้ว แตกต่างจากคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างผู้เขียนที่หาข้อมูลอย่างยากเย็นสมัยเป็นวัยรุ่น ต้องพึ่งพาห้องสมุดโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองยามก่อนสอบ โชคดีว่าพอเข้ามหาวิทยาลัยก็มีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว ยากที่จะจินตนาการได้ว่าคนรุ่นก่อนหาข้อมูลกันอย่างไร ถ้ามิใช่การฟังสื่อทางเดียว หรือถูกพร่ำสอน(อย่างชี้นำ)จากคนรุ่นเก่ามาอีกที
โลกของคนรุ่นใหม่กว้างไกลกว่าคนรุ่นเก่า และพวกเขาก็เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คนรุ่นเก่าจะจินตนาการได้
แต่แม้กระนั้น ‘ผู้ใหญ่’ หลายคนในสังคมอำนาจนิยม ก็ยังชอบยกตนข่มท่าน ชี้นิ้วบงการคนที่เด็กกว่าตัวเอง และปรามาสคนรุ่นใหม่ที่คิดต่างจากเขาว่า ‘ถูกหลอก’ ‘เลว’ ‘โง่’ หรือ ‘รสนิยมต่ำตม’
ผู้ใหญ่ใจแคบเหล่านั้นควรสนใจเกมที่มองโลกจากมุมมองของเด็กดูบ้าง เผื่อจะได้ย้อนดูตัวเองว่ากำลังทิ้งโลกแบบไหนเป็นมรดกให้กับคนรุ่นหลัง และจริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่แย่อย่างที่ตัวเองปักใจเชื่อจริงไหม พวกเขาต้องเผชิญหน้าความท้าทายอะไรบ้างในการดำเนินชีวิต
Persona 5 จาก ATLUS ค่ายเกมอาทิตย์อุทัย ไม่เพียงเป็นเกมสวมบทบาทสไตล์ญี่ปุ่น (Japanese Role-playing Game: JRPG) ที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเล่นเท่านั้น แต่ยังเป็นเกมที่ตีแผ่ชีวิตของเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นได้ดีที่สุด ผ่านการเล่าเรื่องของการขึ้นสู่ ‘อำนาจ’ การถูกอำนาจครอบงำ การลุแก่อำนาจ และการควบคุมคนให้อยู่ใต้อำนาจ ในหลากหลายมิติและรูปแบบ ทั้งหมดนี้มองจากมุมมองของกลุ่ม ‘วัยรุ่น’ ชั้นมัธยมปลายในกรุงโตเกียว
เราๆ ท่านๆ เล่นแล้วก็น่าจะ ‘อิน’ เพราะชีวิตวัยรุ่นไทยก็เจอความท้าทายคล้ายกับที่วัยรุ่นในเกมนี้เจอเหมือนกัน ด้วยความที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมคล้ายกับญี่ปุ่น สังคมที่ ‘ผู้ใหญ่’ จำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า เด็กดีคือเด็กที่ว่านอนสอนง่ายและทำตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ย่อมดีที่สุด ดังสุภาษิต ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’
Persona 5 คล้ายกับเกมอื่นก่อนหน้านี้ในซีรีส์ ตรงที่ผสมเรื่องราวการใช้ชีวิตธรรมดาๆ ในโรงเรียนและละแวกบ้านของกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นชั้นมัธยมปลาย เข้ากับเรื่องราวการต่อสู้กับสัตว์ปีศาจในโลกแฟนตาซี ซึ่งเป็น ‘โลกคู่ขนาน’ ในเกมนี้ สิ่งที่เหมือนกันทุกภาคก็คือระบบการต่อสู้แนวสลับกันโจมตี (turn-based) เราจะสู้กับปีศาจด้วยการเรียก ‘เพอร์โซนา’ (persona) คู่ใจออกมา คล้ายกับสแตนด์ในอนิเมะเรื่อง JoJo ล่าข้ามศตวรรษ เราจะสู้ด้วยการใช้อาวุธในมือและปืนกลก็ได้ แต่ไม่สนุกเท่ากับการเรียกเพอร์โซนาออกมา เพราะเพอร์โซนาแต่ละตัวมีความสามารถต่างกัน และเราสะสมเพิ่มเติมได้จากการเอาชนะปีศาจในเกม ถ้าโจมตีจุดอ่อนหรือได้ critical hit ก็จะสามารถหว่านล้อมให้มันมาเป็นพวก กลายเป็นเพอร์โซนาใหม่ให้เรียกใช้ในการต่อสู้ครั้งต่อไป
ปีศาจต่างๆ ในเกมนี้รวบรวมมาจากตำนานและเทพปกรณัมยอดฮิตของหลากหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่ผีญี่ปุ่น เทพเจ้าในศาสนาฮินดูอย่างเช่นเจ้าแม่กาลี ไปจนถึงปีศาจแสนประหลาดที่ทีมออกแบบคิดขึ้นเอง เติมความสนุกไปอีกขั้นด้วยการให้ ‘หลอมรวม’ (fuse) เพอร์โซนาสองตัวหรือมากกว่านั้นเป็นเพอร์โซนาตัวใหม่ได้ แถมเพอร์โซนาทุกตัวยังสามารถอัพเลเวล เพิ่มความสามารถใหม่ๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง และเรียนรู้เวทใหม่ๆ ได้ด้วย
สิ่งที่ทำให้ระบบการต่อสู้ Persona 5 สนุกติดหนึบกว่าทุกเกมที่ผ่านมาในซีรีส์นี้ก็คือ สไตล์เหลือร้ายของฉากการต่อสู้ในเกมซึ่งผนวกกราฟิกแนวอนิเมะเฉียบๆ เข้ากับท่าเท่ๆ ของตัวละคร และเอกลักษณ์ของดันเจียน (dungeon) แต่ละแห่ง รวมถึงส่วนผสมของปริศนาแบบเบาๆ ก็ทำให้การสำรวจไม่น่าเบื่อ แถมยังตื่นเต้นตลอดเวลาเพราะถ้าเราซุ่มโจมตี (ambush) ไม่สำเร็จ ถูกปีศาจวิ่งไล่จนมุม การต่อสู้จะเริ่มโดยที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ปีศาจได้โจมตีก่อน ซึ่งก็อาจชี้เป็นชี้ตายได้เลยโดยเฉพาะในเลเวลแรกๆ ตอนที่เรายังไม่เก่ง
ระบบการต่อสู้ในเกมนี้ว่าเจ๋งแล้ว แต่เนื้อเรื่องคือตัวชูโรงของเกม ในภาคนี้เราจะควบคุมตัวละครสมญา ‘โจ๊กเกอร์’ (ตั้งชื่อนามสกุลในเกมได้) ซึ่งถูกผู้ใหญ่ปรักปรำขึ้นศาลโดยที่เขาไม่ได้เป็นคนผิด ต้องย้ายโรงเรียนมายังกรุงโตเกียว พบปะผู้คนมากหน้าหลายตาและหาเพื่อนใหม่ ในแต่ละวันของเกมเราจะใช้ชีวิตในสองโลก โลกแห่งความจริงที่เราต้องไปโรงเรียน ทำตามความคาดหวังของสังคม (ทน)เชื่อฟังผู้ใหญ่ กับโลกแฟนตาซีซึ่งเป็นการเดินทางเข้าไปในก้นบึ้งของจิตใต้สำนึก อุปมาเป็น ‘วัง’ (palace) ของคนที่กำลังทำสิ่งเลวร้าย
ในโลกแห่งแฟนตาซีเราจะได้เป็นตัวของตัวเอง ปลดปล่อยความคับแค้นใจออกมาในรูปเพอร์โซนา เรากับผองเพื่อนในนาม แก๊งภูตขโมย หรือ Phantom Thieves ต้องดั้นด้นเข้า ‘วัง’ เข้าไปขโมย ‘สมบัติ’ ซึ่งอุปมาเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเป้าหมายที่ทำให้คนร้ายจมดิ่งลงในความกระหายอยากได้อำนาจอย่างไร้ศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการข่มขืนเด็กนักเรียนหญิง ทรมานนักเรียนชาย ขโมยผลงานศิลปะของลูกศิษย์มาอ้างว่าเป็นของตัว สั่งมาเฟีย ‘เก็บ’ คู่แข่งทางธุรกิจ จัดการกับคู่แข่งทางการเมือง กดขี่แรงงาน และเรื่องเลวร้ายอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นรูปธรรมของภาวะจำยอมต่างๆ นานาในสังคมจริง ผู้ไร้อำนาจตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นศิษย์กับครู พนักงานกับซีอีโอ ลูกน้องกับนักเลง ฯลฯ
ทันทีที่เราขโมย ‘สมบัติ’ ของบุคคลเป้าหมายมาได้ เราก็จะกลับมายังโลกจริง ส่งไพ่สนเท่ห์ไปถึงเป้าหมายเพื่อเตือนว่าเรากำลังจะเปลี่ยนใจเขาหรือเธอ จากนั้นหลังจากที่เตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็กระโดดกลับเข้าสู่โลกแฟนตาซีเพื่อต่อสู้กับเพอร์โซนาของเป้าหมาย ถ้าชนะ คนคนนั้นในโลกจริงก็จะเปลี่ยนใจ ยอมสารภาพความผิดที่ได้ทำลงไป ถ้าก่ออาชญากรรมไว้ก็จะไปมอบตัวกับตำรวจ
เวลาแต่ละวันในเกมจะหมดไปกับการไปโรงเรียน ใช้เวลากับเพื่อนร่วมทีมและคนอื่นที่นับเป็น ‘คู่คิด’ (confidant) เช่น เจ้าของร้านคาเฟ่ที่ให้แหล่งพักพิง ท่องไปตามย่านสำคัญๆ ในกรุงโตเกียวอย่างชิบูยะ ชินจูกุ หรืออากิฮาบาระ ซึ่งก็เต็มไปด้วยร้านรวงให้เข้าไปซื้อไอเทมและเพิ่มพลังความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่งสำคัญในการต่อสู้ในโลกแฟนตาซี หรือปลดล็อกความไว้วางใจของคู่คิด ถ้าคู่คิดอัพเลเวล (ความสัมพันธ์ดีขึ้น) เขาหรือเธอก็จะมีความสามารถใหม่ๆ ใช้ในการต่อสู้ถ้าเป็นเพื่อนร่วมทีม หรือเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับเราถ้าไม่ใช่เพื่อนร่วมทีม เช่น ซักผ้า (เป็นเกราะในโลกแฟนตาซี) ให้เรา หรือสอนเราทำกาแฟหรือแกง (เติมพลังเวทในโลกแฟนตาซี)
เพื่อนและผู้ใหญ่ทุกคนที่เป็น ‘คู่คิด’ ของเราในเกมนี้ล้วนแต่มีเนื้อเรื่องที่น่าติดตามเป็นของตัวเอง และทุกคนล้วนแต่เผชิญแรงกดดันในชีวิตจากโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยว หรือการลุแก่อำนาจของคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ครูประจำชั้นเราถูกผู้ปกครองเด็กปั่นให้เชื่อว่าเป็นต้นตอทำให้เด็กตาย ถูกกดดันให้ส่งเงินให้ทุกเดือน จำใจหาลำไพ่ด้วยการทำงานเป็นเมด (maid บริกรในคราบสาวรับใช้) ใน maid cafe หลังเลิกเรียน หมอประจำละแวกบ้านถูกกีดกันโอกาสโดยแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่อยากให้เธอเด่นเกินหน้าเกินตา แฟนพันธุ์แท้ของแก๊งภูตขโมยอยากสลัดภาพ ‘ไอ้ขี้แพ้’ ของตัวเอง อยากมีหน้ามีตากับเขาบ้าง เพื่อนที่สนิทที่สุดของเรามีชื่อเสียงในแง่ลบว่าเป็นเด็กเกเรชอบหาเรื่องประจำโรงเรียน โปรแกรมเมอร์อัจฉริยะไม่กล้าออกจากห้องเพราะยังมีบาดแผลทางใจจากการตายของแม่ หัวหน้านักเรียนที่ภาพลักษณ์ภายนอกดูดีไร้ที่ติแท้จริงไร้ความมั่นใจในตัวเองเพราะไม่รู้จะเรียนดีไปเพื่ออะไร นักการเมืองที่เคยสูญเสียชื่อเสียงในอดีตกำลังพยายามกอบกู้ชื่อเสียงด้วยการลงเลือกตั้งอีกครั้ง
การจะติดตามเส้นเรื่องของคู่คิดเหล่านี้จนจบแปลว่าต้องใช้เวลาสานสัมพันธ์ ซึ่งเราก็ไม่มีทางตามจนสุดทางได้ครบทุกคนเพราะเวลาแต่ละวันมีจำกัด ทำให้เวลา 100+ ชั่วโมงของการเล่นเกมนี้ยังจะดึงดูดให้เรากลับมาเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ
สิ่งที่เจ๋งที่สุดของ Persona 5 คือการใช้เพอร์โซนาเป็น ‘อุบาย’ ในการสำรวจความกังวล ความท้าทาย และปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น
คนญี่ปุ่นทุกคนสัมผัสได้ทุกเมื่อเชื่อวันถึงความเครียดของการหาสมดุลระหว่าง ฮอนเนะ หรือเจตนาแท้จริงของตัวเราเอง (มักซ่อนจากสังคม) กับ ทาเทมาเอะ หรือพฤติกรรมที่ ‘ถูกต้อง’ ในสายตาของสังคม ซึ่งบ่อยครั้งมโนธรรมสำนึกของเราก็จะถูกรบกวนว่าสิ่งที่สังคมคาดหวังไม่น่าจะใช่สิ่งที่ถูกต้อง อย่างเช่นการที่คนทั้งโรงเรียนเก็บงำเรื่องการลวนลามและทุบตีนักเรียนของโค้ชพละจอมโหด (คู่ปรับคนแรกของเราในเกม) เอาไว้เพราะ 1) ไม่อยากมีเรื่อง (มุมมองของเด็ก) หรือ 2) ไม่อยากให้โรงเรียนเสียชื่อ (มุมมองของครูใหญ่) ความตึงเครียดระหว่าง ฮอนเนะ กับ ทาเทมาเอะ นี้อุปมาเหมือนกับการต่อสู้ระหว่าง ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ของเรา กับ ‘หน้ากาก’ ที่สังคมยัดเยียดให้เราใส่
เพอร์โซนาประจำตัวใน Persona 5 บอกกับเราด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึมว่า หมดเวลาแล้วที่จะควบคุมตัวเอง ตราบใดที่เรายังไม่ปลดปล่อย ฮอนเนะ หรือความเป็นตัวของตัวเองออกมา ตราบนั้นเราก็จะตกเป็นเบี้ยล่าง เป็นผู้ไร้อำนาจ ถูกเอาเปรียบกดขี่โดยผู้ใหญ่ใจแคบในโลกอยู่ร่ำไป เพอร์โซนาประกาศกร้าวว่า แกแก้ปัญหาอะไรไม่ได้หรอกถ้ายังไม่ลุกขึ้นสู้!
ทันทีที่เราปลดปล่อยตัวเอง ‘สัญญา’ ระหว่างเรากับเพอร์โซนาก็สมบูรณ์ เราจะเขวี้ยงหน้ากากทิ้ง เลือดพุ่งกระฉูดจากเบ้าตา เพอร์โซนาปรากฎกายด้วยรอยยิ้มเยียบเย็น พร้อมประมือกับปีศาจทุกรูปแบบ
แก๊งภูตขโมยของเราจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกคนก็ล้วนแต่เป็น ‘คนนอก’ ของสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วัยรุ่นเหล่านี้ ถูกป้ายสีหรือมีปมด้อยอะไรสักอย่างในชีวิต พวกเขาก้มหน้าสู้เสียงสบประมาทและทำทีเป็นเชื่อฟังผู้ใหญ่ใจแคบในโลกจริง แต่ในโลกแฟนตาซี พวกเขาจะแปลงกายเป็นแก๊งภูตขโมย โรมรันกับคนเลวที่กระหายอำนาจ ลุแก่อำนาจ และก็สามารถกอบโกยอำนาจได้เรื่อยๆ รองรับด้วยระบบและวัฒนธรรมที่เลือกที่จะนิ่งเฉยไม่เอาธุระ
Persona 5 ส่งเสริมให้ตัวละครในเกมรวมทั้งเราเองด้วยมีความกล้าที่จะโอบรับความแค้นทั้งหมดทั้งมวล แปลงมันให้เป็นพลังในการตอบโต้ อย่างน้อยถ้าเปลี่ยนแปลงเชิงระบบไม่ได้ เราก็ยังได้รู้สึกดีกับตัวเองที่ลุกขึ้นสู้ ได้รู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย
ความหมายที่เด็กทุกคน ทุกเพศทุกวัย ควรได้รับการเสริมพลังที่จะสร้างด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอผู้ใหญ่คนไหนมาสั่งสอน
ความหมายที่คนรุ่นใหม่เริ่มต้นสร้างได้ ด้วยการออกไปใช้สิทธิเลือกอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น.