‘ใครๆ ก็ทำได้’
บ่อยครั้งที่อาชีพ Content writer ถูกมองว่าเป็นงานง่ายๆ จะยากอะไร? ก็แค่เขียนให้รู้เรื่อง ไม่ตกข่าว แล้วก็มีอินเทอร์เน็ต มีแลปท็อป ก็หาเงินได้แล้ว
จริงเหรอ?
โดยมากแล้วอาชีพ content writer หมายถึงผู้ที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับ ข้อความของคอนเทนต์สักอย่างบนโลกออนไลน์ อาจครอบคลุมตั้งแต่ข่าว บทความ ตัวหนังสือที่อยู่ใน infographic ฯลฯ ในขั้นตอนการทำคอนเทนต์อาจอาศัยการอ้างอิงจากข้อเขียนวิชาการ คำพูดของผู้เชี่ยวชาญ การสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ในแขนงที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ฯลฯ โดยทำงานอยู่เกี่ยวโยงกับความสนใจของสังคมในห้วงเวลานั้นๆ คุณค่าที่องค์กรยึดถือ อัลกอริทึมสุดโหด และจรรยาบรรณสื่อ
เมื่อมองจากภายนอกอาชีพของนักเขียนคอนเทนต์ออนไลน์อาจดูทันสมัย คล่องตัว และง่ายดาย แต่สำหรับมนุษย์ที่ต้องอยู่เบื้องหลังหน้าจอ พิมพ์ตัวอักษรลงบนหลุมดำยักษ์ใหญ่ชื่ออินเทอร์เน็ตให้ผ่านสายตาคนนับร้อยพันทุกวัน คำว่า ‘ง่าย’ ดูค่อนข้างห่างไกลความเป็นจริงน่าดู
แล้วในความเป็นจริงอาชีพนี้เป็นยังไงกัน? ชวนไปฟังผู้มีประสบการณ์ในอาชีพนี้พูดคุยเกี่ยวกับงาน Content writer กันดีกว่า
กรณ์, 27 ปี, นักข่าว คอนเทนต์นิตยสารและเว็บไซต์
งานคอนเทนต์เป็นงานที่ดูหลากหลายและสื่อสารออกมาได้หลายแบบ แต่ในที่สุดแล้วไม่ว่าจากรูปแบบไหน แก่นของมันชัดเจนอยู่แล้ว “สิ่งที่ Content writer ควรให้ความสนใจที่สุดคือเนื้อหาและการเรียบเรียง ให้ทุกสิ่งที่เราเขียนออกไปเกิดประโยชน์กับผู้รับสาร หรืออย่างน้อยทำให้เกิดการกระตุ้นสังคม และไม่ต่างไปจากสื่อมวลชน ต้องคำนึงถึงความจริง ความถูกต้อง และจรรยาบรรณ” กรณ์ นักข่าวและคอนเทนต์นิตยสารและเว็บไซต์ตอบ
และในขณะที่ Content writer และ Content creator จะมีความแตกต่างกันในเชิงวิธีการสื่อสาร เพราะ นักเขียนมีหน้าที่เขียน ส่วนครีเอเตอร์มีหน้าที่สรรค์สร้างงานในรูปแบบใดๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้รับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายแล้วแก่นของมันไม่ต่างกันนัก “ขึ้นอยู่กับว่า งานที่คุณได้รับหรือถนัดที่จะทำคืออะไร เพราะสุดท้ายสิ่งที่ทำจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม รู้สึกว่าได้ประโยชน์ ได้สาระความรู้และความบันเทิงก็เป็นเรื่องที่น่าให้ความสำคัญมากกว่ามานั่งหาคำนิยาม”
บ.ล. 25 ปี, Content creator ลูกผสมระหว่างสาย social กับ business
การเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ไม่อาจแยกได้จากโซเชี่ยลมีเดียและยอดการเข้าถึงได้เต็มร้อย บ.ล. Content creator วัย 25 ปียังเชื่อว่ามีอย่างอื่นที่สำคัญกว่านั้น “เราเฉยๆ กับยอดอ่านยอดแชร์นะ เราเขียนเพราะเราอยากเขียน เขียนเพราะมันมีประโยชน์ เขียนเพราะมันมีคุณค่า” เธอตอบ
“เรายอมรับว่าการอยู่ในโลกทุนนิยม โลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน ยังไงการเขียนคอนเทนต์เกาะกระแสมันเรียกลูกค้าเข้ามาได้อยู่แล้ว แต่คุณเป็นนักเขียนเลยนะ คำคำนี้มันยิ่งใหญ่สำหรับเรา”
ยอดการเข้าถึงไม่ใช่สิ่งตายตัวที่จะไร้การขยับขึ้นลง หากคอนเทนต์แบบที่เขียนวันนี้ไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีคุณค่าในตัวของมันเอง “เราเรียนจบสายรัสเซียมา งานเขียนเราส่วนใหญ่ก็จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับรัสเซีย ในช่วงแรกคนอ่านเยอะมั้ย? ไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่พอมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน คนก็ให้ความสนใจกับคอนเทนต์เรามากขึ้น” เธอพูดต่อว่ายอดการเข้าถึงนั้นมีความสำคัญเพื่อบอกว่ามีคนได้รับประโยชน์ที่งานชิ้นหนึ่งให้ ไม่ใช่เพียงเพื่อความพึงพอใจส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น
เกว, 23 ปี, สื่อออนไลน์
แต่นอกจากจะเป็นการเปิดโลกให้แก่ผู้อ่านแล้ว งานคอนเทนต์เองยังทำหน้าที่อื่นอีกด้วย เกว นักเขียนคอนเทนต์อายุ 23 ปีมองว่านอกจากงานที่นำออกไปให้อะไรต่อสังคมแล้ว เธอยังมองว่าขั้นตอนการผลิตงานเองก็นำไปสู่การเปิดโลกของนักเขียนเองด้วย
“ดีในแง่ของการได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับสิ่งที่เราเขียน” เธอตอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงจุดที่เป็นข้อเสียของงาน “แต่ในขณะเดียวกัน well-being เราเสีย เพราะในหัวมีเรื่องที่ต้องคิดตลอดเวลา และไม่สามารถ social detox ได้เพราะต้องคอยติดตามข่าวตลอดเวลา” ธรรมชาติของงานที่ทุกอย่างสามารถเป็นประเด็นให้กับเราได้ก็ทำให้การหยุดพักนั้นทำได้ยากเหมือนกัน
เอพริล, 27 ปี, อดีต content writer ที่ผันตัวไปเป็นครีเอทีฟสาว
ในพื้นที่การเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งของคอนเทนต์แต่ละรูปแบบค่อยๆ เบลอออกจากกัน แล้วถ้าทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ แล้วนักสร้างคอนเทนต์ต้องเป็นทุกอย่างด้วยหรือไม่? เอพริล อดีต Content writer ไม่เห็นด้วย
“การลากเส้นแบ่งระหว่างรูปแบบคอนเทนต์ทำได้ ถ้าองค์กรแคร์เรามากพอเขาจะไม่ปล่อยให้เราทำงานที่เกิน job description ที่คุยกันไว้ ทีนี้ถ้าเราหรือเขาอยากทำเกินจากขอบเขตที่คุยกันไว้ ก็มาคุยกันใหม่” เธอตอบ ในฐานะของคนผลิตงานรูปแบบนี้มาก่อนเธอบอกว่างานคิดงานเขียนมีส่วนที่คนนอกอาจมองไม่เห็นอยู่มากอยู่แล้ว
“จริงๆ แล้วงานเขียนก็ต้องอาศัยอารมณ์ ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมในการทำงานเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเปิดคอมปุ๊บเขียนได้เลย ไปถามแต่ละคนได้เลย เปิดคอมแล้วได้เขียนจริงตอนไหน มันไม่ใช่แค่มีความตั้งใจแล้วจะทำได้ทุกอย่าง” นอกจากนั้นยังมีการต้องตามเทรนด์ เกาะกระแสสังคมเพื่อมาเป็นไอเดียเขียน และปัจจัยที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบอีกด้วย
เธอตอบต่อทิ้งท้าย “ถ้าเขาถามว่า ‘ไม่คิดจะทำเกินหน้าที่หน่อยหรอ’ หรือ ‘ไม่พัฒนาตนเองเลยหรอ’ คงต้องบอกว่าเอาไว้ให้มันอยู่ในจุดที่เราทำหน้าที่ตัวเองให้ดี มีแรงกายแรงใจกับทุกวันทำงานของตัวเองให้มากพอก่อน แล้วค่อยขยับไปจุดนั้น ซึ่งจะขยับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราอยู่ดี”
แม็กซีน, 26 ปี, อดีต Lifestyle Content writer ที่ผันตัวเป็น UX writer
ในสายงานของ Content writer บ่อยครั้งที่เบื้องหน้าที่ทุกคนเห็นงานเผยแพร่ออกไปอาจเป็นบริษัทผลิตคอนเทนต์ สำนักข่าว นิตยสาร ฯลฯ เมื่อมีความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย หรือเห็นจุดที่เรามองว่าแก้ไขได้ เราอาจตอบรับมันด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังคุยอยู่กับองค์กร แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังของงานทุกชิ้นคือผู้เขียน
“หลายคนอาจจะลืมไปว่า Content writer ก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ AI บทความหรืองานเขียนที่ทุกคนอ่านกันมาจากความตั้งใจของมนุษย์ที่มีความรู้สึก ถ้างานเขียนชิ้นนั้นมีอะไรผิดพลาด เราสามารถเตือนกันด้วยถ้อยคำดีๆ ได้นะ” แม็กซีนกล่าว ในอดีตที่เธอเคยเขียนงานออกมา ซึ่งคอมเมนต์เชิงลบก็เป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อตัวตนและคุณค่าในตัวเองของเธอ โดยวิธีการแก้ไขคือการถอยออกมาเพื่อมองภาพกว้างขึ้น
การเตือนใจถึงความเป็นมนุษย์ของนักเขียนนั้นไม่ได้เพื่อบอกผู้คอมเมนต์อย่างเดียว แต่ต้องเตือนใจทั้งต่อตัวเองอีกด้วย “ทุกอย่างไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าของผลงานเราเสมอไป” เธอพูด เพราะกระแสสังคม การปิดกั้นโดยแพลตฟอร์ม และปัจจัยอีกหลายอย่างนอกเหนือความควบคุมของเราในฐานะมนุษย์ล้วนส่งผลต่อฟีดแบ็กชิ้นงานแต่ละชิ้นของเธอ