“..ปพพ. มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรส คือการที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้..”
ข้อความข้างต้น คือช่วงหนึ่งจากคำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินออกมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 ที่ให้การสมรสทำได้เฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น ‘ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเมื่อคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มออกมา กลับเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาว่า เป็นคำวินิจฉัยที่พาประเทศไทยย้อนหลังไปหลายร้อยปี ไม่คำนึงถึงเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน
The MATTER จึงอยากชวนไปดูคำตัดสินของศาล ใน 3 ประเทศ ที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยขั้นตอนของตุลาการว่า เขาตัดสินแบบไหน และผู้พิพากษา มีการกล่าวถึงการแต่งงานของเพศเดียวกันว่าอย่างไรบ้าง
ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ (2015)
“No union is more profound than marriage, for it embodies the highest ideals of love, fidelity, devotion, sacrifice and family. In forming a marital union, two people become something greater than once they were.”
นี่คือหนึ่งในข้อความในคำพิพากษาเมื่อปี 2015 เมื่อ Supreme Court หรือศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติ 5 ต่อ 4 ตัดสินให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในทุกรัฐของอเมริกาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และยังสั่งห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นการขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ โดยผู้พิพากษา แอนโธนี่ เอ็ม เคนเนดี หนึ่งในผู้โหวตผ่านได้เขียนในคำพิพากษาว่า “เสรีภาพนี้ไม่อาจถูกปฏิเสธได้อีกต่อไป”
ทั้งหนึ่งในคำพิพากษายังชี้ว่า “ไม่มีการรวมตัวใดที่ลึกซึ้งไปกว่าการแต่งงาน เพราะมันรวบรวมอุดมคติสูงสุดของความรัก ความจงรักภักดี การอุทิศตน การเสียสละ และครอบครัว ในการจัดตั้งการสมรส คนสองคนกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา” รวมถึงผู้พิพากษายังชี้ว่า การแต่งงานเป็นหลักสำคัญของระเบียบสังคมของเรา และโจทก์ในคดีนี้กำลังมองหา “ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย” นี่คือสิ่งที่คำพิพากษาระบุ
จอห์น โกลเวอร์ โรเบิร์ตจูเนียร์ หัวหน้าผู้พิพากษายังเขียนถึงชัยชนะของการผ่านกฎหมายเพศเดียวกันในครั้งนี้ว่า “หากคุณเป็นหนึ่งในคนอเมริกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม ซึ่งเห็นชอบกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ให้เฉลิมฉลองการตัดสินใจของวันนี้ เฉลิมฉลองความสำเร็จของเป้าหมายที่ต้องการ เฉลิมฉลองโอกาสในการแสดงออกถึงการหมั้นหมายใหม่ต่อคู่ครอง เฉลิมฉลองต่อสิทธิประโยชน์ใหม่ แต่อย่าฉลองให้รัฐธรรมนูญ เพราะมันไม่ได้มีส่วนอะไรเลย” เขาระบุ
ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบีย (2016)
“all people are free to choose independently to start a family in keeping with their sexual orientation … receiving equal treatment under the constitution and the law,”
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2016 โคลอมเบียกลายเป็นประเทศที่สี่ในอเมริกาใต้ที่ออกกฎหมายให้การแต่งงานเพศเดียวกัน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 6-3 และวินิจฉัยว่า “คนทุกคนมีอิสระที่จะเลือกสร้างครอบครัวโดยอิสระ ตามรสนิยมทางเพศของพวกเขา และได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย”
ผู้พิพากษามาเรีย วิกตอเรีย คัลเล ที่เป็นประธานกล่าวกับศาลว่า “ผู้พิพากษายืนยันกับเสียงข้างมากว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ละเมิดคำสั่งรัฐธรรมนูญ” และ “คำจำกัดความปัจจุบันของสถาบันการแต่งงานในกฎหมายแพ่ง มีผลกับพวกเขาในลักษณะเดียวกับที่ใช้กับคู่รักเพศเดียวกัน” ผู้พิพากษาระบุ
ศาลสูงสุดออสเตรีย (2019)
“Today, the differentiation between marriage and legally registered partnerships can no longer be upheld without discriminating against same-sex couples,”
ในปี 2019 ออสเตรีย เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย และมีผลทางกฎหมายเทียบเท่ากับการแต่งงานของคู่รักต่างเพศ โดยศาลสูงสุด พิจารณาคดีที่ระบุว่า คู่รักเพศเดียวกัน จะได้รับสิทธิมากขึ้นเท่ากับคู่แต่งงานที่เป็นคู่รักต่างเพศ ซึ่งสิทธิเหล่านั้น รวมถึงการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและการสนับสนุนการรักษาภาวะเจริญพันธุ์
ซึ่งจากการตัดสินนี้ ทำให้รสนิยมทางเพศ ที่เป็นความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับอนุญาตแต่งงาน กับผู้ที่สามารถเข้าเป็นคู่ครองทางกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ .
“ในวันนี้ ความแตกต่างระหว่างการแต่งงาน และการเป็นคู่ครองที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถคงอยู่ได้ โดยมีการกีดกันคู่รักเพศเดียวกันอีกต่อไป” หนึ่งในเนื้อหา จากคำพิพากษาของศาลสูงสุดระบุ ทั้งยังชี้ว่า “ความแตกต่างของกฎหมายสองฉบับระหว่างคู่ชีวิตต่างเพศและเพศเดียวกัน ละเมิดหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งห้ามให้มีการเลือกปฏิบัติต่อปัจเจกบนฐานของลักษณะบุคคลเช่น รสนิยมทางเพศ”
อ้างอิงจาก