‘พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ผู้จัดหาวัคซีนโควิด’ มีปัญหาอย่างไร เหตุใดถึงมีคนจำนวนมากคัดค้าน และมาดูคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญกฎหมายนี้
- ชื่อเต็ม ‘พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….’
- เกิดจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 282 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2564 ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มอบให้ ‘กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ’ ไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- สาระสำคัญ คือ กำหนดให้บุคลากรสาธารณสุข 7 กลุ่ม และสถานพยาบาล 3 ประเภท ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย และการละเมิดของเจ้าหน้าที่
- กรณีที่เป็นประเด็น คือการยกเว้นความรับผิด “บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน” โดยกำหนดเงื่อนไขยกเว้นไว้ 3 กรณี 1.ทำตามที่ถูกแต่งตั้ง/มอบหมาย 2.ไม่ได้จงใจให้เกิดความเสียหาย เว้นแต่เพื่อประโยชน์ราชการ 3.ไม่ได้ประเมินเลินเล่ออย่างร้ายแรง
- มีผลย้อนหลัง นับแต่วันที่ประกาศให้ ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นมา
- การออก ‘พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)’ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสามารถออกได้ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมีอาจหลีกเลี่ยงได้ แล้วค่อยส่ง ส.ส.และ ส.ว.พิจารณายืนยัน หากได้รับความเห็นชอบก็จะเปลี่ยนเป็น ‘พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)’ ต่อไป
คำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข
“กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด
“รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีนมีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19”
“เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
- นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
“ในภาวะฉุกเฉิน ความจำกัดต่างๆ ย่อมมีเรื่องที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง การที่จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการมีภูมิต้านทานในการป้องกันการถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ และทางสมาคมรพ.เอกชนเสนอให้มีกฎหมายลักษณะนี้
“ร่างกฎหมายนี้ ครอบคลุมใครบ้างนั้น หลักสำคัญคือการจำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด19 บุคลากรที่จะได้รับการคุ้มครอง คือ บุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆที่มาช่วย บุคคลหรือคณะบุคคลต่างๆที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุทางการแพทย์ วัคซีน”
- พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา
“การมีกฎหมายมาคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย และทำงานได้เต็มที่ เพื่อดูแลประชาชนได้มากที่สุด ก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ติดขัด และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วยกับเรื่องนี้
“อย่างในโรงพยาบาลสนาม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดขึ้น เพื่อรองรับคนไข้ที่มีจำนวนมาก บางครั้งเครื่องมืออาจมีข้อจำกัด เรื่องสถานที่ ที่ไม่เหมือน รพ. 100% เรื่องทิศทางต่างๆ ทั้งแนวทางการรักษาที่เปลี่ยนไปตลอด หรือแม้แต่วัคซีน ความรู้ก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นมากในการมีกฎหมายนี้มาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร”
ความเห็นฝ่ายที่คัดค้าน
- เครือข่าย Nurses Connect
“จากร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว คลับคล้ายคลับคลาว่านี่คือการ ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ให้กับบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การสาธารณสุขล้มเหลว จนประชาชนล้มตายกว่า 6 พันคน
“หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่านี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่างๆ ทำงานเต็มที่โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้ หากท่านต้องการให้กำลังใจ จงรีบจัดสรรวัคซีน mRNA ให้พวกเขาทุกคน ไม่ใช่ต้องมากระเบียดกระเสียนเช่นนี้
“และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่าทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่าเพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเองที่นำพาประเทศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง!”
- พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
“คุณอนุทินไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนิรโทษกรรม เพียงแต่เอาแพทย์พยาบาลบุคลากรด่านหน้ามาบังหน้า ทั้งที่ในเอกสารดังกล่าวระบุชัดเจนว่า บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้อง นอกจากแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังรวมถึงคณะผู้จัดหาวัคซีนด้วย”
- มีการสร้างแคมเปญใน change.org
เพื่อคัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งคนจัดหาวัคซีน Change.org/AmnestyBill พร้อมแฮชแท็ก #คัดค้านพรกนิรโทษกรรมวัคซีน ที่ปัจจุบันมีคนร่วมลงชี่อแล้วกว่า 1.8 พันคน
อ้างอิงจาก
http://www.legal.moph.go.th/index.php?option=com_remository&Itemid=814&func=startdown&id=1351
https://drive.google.com/file/d/1QsC3KxcyVWtqJDZgYAedkrJz1ByZYmB7/view
https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1TQNVBGYIBbQxlkV4w_lZ7fAXRATBViZf
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/048/T_0001.PDF
https://www.hfocus.org/content/2021/08/22634
https://www.facebook.com/nursesconnectth/photos/a.109235137966103/165324829023800/
https://www.thairath.co.th/news/local/2162212