ในเวลา 400 วินาที (ประมาณ 6 นาทีกว่า) เราทำอะไรได้บ้าง? วิ่งรอบสนามได้หนึ่งรอบ ฟังเพลงได้เพลงกว่าๆ หรือว่าพรีเซนต์เมกะโปรเจ็กต์ได้หนึ่งเรื่อง
ใช่! พรีเซนต์หนึ่งเรื่อง นั่นคือสิ่งที่ PechaKucha กำหนดให้ทำภายในเวลา 400 วินาที
PechaKucha (อ่านว่า เพ-ชะ-คุ-ชะ) เป็นฟอร์แมตการพรีเซนต์ที่ Astrid Klien และ Mark Dytham ผู้ก่อตั้งบริษัทรับออกแบบชื่อดังระดับโลก Klien Dytham Architects (KDA) คิดค้นขึ้นมา เพื่อให้คนถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมาอย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2003 ไอเดียนี้ได้กระจายไปแทบทุกประเทศทั่วโลก และยังได้รับความนิยมอยู่จนทุกวันนี้
ในโอกาสที่ Mark Dytham แวะมาเยี่ยม Open House หนึ่งในผลงานการออกแบบของเขา ที่เพิ่งได้รับรางวัล DFA Design For Asia Award 2017 The MATTER เลยชักชวน Mark มาพูดคุย (แต่ไม่ได้ภายใน 400 วินะ!) เกี่ยวกับ PechaKucha ที่เขาคิดขึ้นมา วิธีการสร้างสรรค์งาน อนาคตของงานออกแบบ รวมถึงคำแนะนำสำหรับนักออกแบบรุ่นเยาว์ จากสถาปนิกรุ่นเก๋าที่มีประสบการณ์เกือบ 30 ปี
The MATTER : ช่วยเล่าเรื่อง PechaKucha ให้ฟังหน่อย
Mark : มันเป็นคำในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า chit-chat จริงๆ มันเริ่มจากการประชุมที่ออฟฟิศ เมื่อก่อนเราใช้เวลาตลอดเช้าวันจันทร์ไปกับการพรีเซนต์โปรเจ็กต์ของพนักงานแต่ละคน ซึ่งบางทีก็นานมากเลย คนเราบางทีก็พูดเยอะ ผมเองก็เป็นคนพูดเยอะ แล้วจะทำยังไงดีล่ะให้เราพูดกันเฉพาะสิ่งที่จำเป็น
เราก็เลยคิดฟอร์แมต 20×20 ขึ้นมา คือเวลาพรีเซนต์ ให้มีสไลด์หรือรูปภาพ 20 รูป แล้วให้เวลาเล่าแค่รูปละ 20 วินาที สไลด์จะเปลี่ยนหน้าโดยอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดเวลา ไม่มีเดินหน้าหรือย้อนกลับ เพราะฉะนั้นหนึ่งคนก็จะมีเวลา 400 วินาทีเท่านั้นในการเล่าเรื่อง เราก็ต้องคิดแล้วว่า จะเลือกอะไร มาเล่าแบบไหน เรียบเรียงยังไง
ต่อมา เราก็พบว่า เฮ้ย ฟอร์แมตนี้ไม่ได้ใช้ได้แค่กับพรีเซนต์งานเท่านั้นนะ จริงๆ มันก็น่าสนใจและดีเหมือนกันในการเอาไปใช้เล่าเรื่องอื่น เราเลยจัด PechaKucha Night ขึ้นครั้งแรกที่โตเกียวในปี 2003 กลายเป็นว่าตอนนี้คนเอา PechaKucha Night ไปจัดแทบทุกคืนใน 1,027 เมืองทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
The MATTER : คิดว่าทำไม PechaKucha ถึงได้รับความนิยมทั่วโลก
Mark : เพราะผมไม่ได้เก็บค่าลิขสิทธิ์ไง (หัวเราะ) แต่ผมตั้งใจให้เป็นแบบนั้น เพราะอยากให้วิธีคิดนี้แพร่กระจายออกไป บางคนเอาไปใช้ในคลาสเรียนก็มี บางคนใช้ฝึกพูดก็ได้ หรือบางทีก็เอาไปสร้างเป็นแคมเปญ อย่าง ‘How to rebuild the city of the earthquake’ ก็ใช้ฟอร์แมตนี้
นอกจากจะช่วยให้คนสื่อสารได้ดีขึ้น กระชับ ตรงประเด็นมากขึ้น PechaKucha Night ยังเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ให้คนทำงานสร้างสรรค์หรือมีความคิดสร้างสรรค์มารวมตัวกันด้วย
และทุกเรื่องที่เล่าใน PechaKucha Night ก็มีเก็บไว้ในเว็บไซต์ด้วย ลองเข้าไปดูได้ สนุกแล้วบางอันก็ได้ความรู้
The MATTER : ตกลงว่า Klein Dytham เป็นบริษัทรับออกแบบหรือออร์แกไนเซอร์จัดงานกันแน่
Mark : (หัวเราะชอบใจ) จริงๆ เราเป็นสถาปนิกนะ แต่เราพยายามทำอะไรให้มากกว่างานสถาปัตย์ เราพยายามทำงานแบบ Multi-disciplinary Design ทั้งตกแต่งภายใน จัดพื้นที่แสดงงานศิลปะต่างๆ นิทรรศการ งานแสดงดนตรี Design Week อีเวนท์ หรือคอนเทนต์เราก็ทำ เรามองว่าสถาปนิกน่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่การออกแบบ และเราควรจะรู้ทุกขั้นตอนของการสร้างโปรเจ็กต์ๆ นึงขึ้นมา เราควรทำงานที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างทักษะได้
The MATTER : ทำยังไงให้ทีมสามารถก้าวข้ามระหว่างทักษะและสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ
Mark : No Recipe! เราไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสไตล์เฉพาะตัว เราถือว่าทุกโปรเจ็กต์เป็นเรื่องใหม่หมด นับหนึ่งกันใหม่หมด เรียนรู้ด้วยกันใหม่ แล้วเราจะทำแต่ละโปรเจ็กต์ออกมาได้ไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนใคร
แล้วเราก็ทำงานกันแบบทุกคนเท่าเทียมกันหมด ทุกคนมีสิทธิ์ออกความเห็น มันไม่จำเป็นต้องเริ่มจากผม พอมีคนโยนไอเดียมา ก็มาช่วยกันปรับช่วยกันเปลี่ยน จนสุดท้ายจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตอนแรกเป็นยังไง หรือใครเป็นคนเริ่ม เราไม่ได้ใส่ใจตรงนั้นเลย ไม่มีใครเป็นเจ้าของไอเดีย แต่ทีมของเราต่างหาก ที่เป็นเจ้าของมัน
จริงๆ ผมชอบฟังเด็กๆ ที่ออฟฟิศ พวกเขามักจะมีไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ มาให้เซอร์ไพรส์อยู่เรื่อย อย่างมากผมก็แค่บอกว่า เฮ้ย ผมชอบอันนี้ อันนี้เจ๋งดี อันนี้น่าจะติดตรงนี้นิดหน่อย แนะนำบ้าง แต่ไม่สั่ง ไม่ได้ควบคุม เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีความเจ๋งที่แตกต่างกันไป 10 คนก็สร้างงานได้ 10 แบบแล้ว ดีออกที่เราจะได้อะไรที่หลากหลายมาให้เลือก
The MATTER : แล้วอย่างการออกแบบ Open House นี่มีความท้าทายอะไรไหม
Mark : โจทย์สำคัญเลยคือที่นี่มีพื้นที่กว้าง กว้างมากๆ มีวิธีไหนบ้างที่เราจะย่อยมันลงมาได้ แล้วมันก็ไม่ง่ายเลยตรงที่ถึงจะเป็นพื้นที่กว้างก็จริง แต่มีเสาเต็มไปหมด ทำยังไงที่เราจะซ่อนเสาเหล่านั้นให้กลมกลืนไปกับพื้นที่ได้ อีกอย่างคือการที่เราจับเอา ร้านอาหาร เลานจ์ แกเลอรี่ ร้านหนังสือ และ Co-working Space มารวมกัน เราจะออกแบบมันยังไง ให้คนเดินเข้ามาแล้วเก็ทเลยว่าที่นี่คืออะไร
The MATTER : นิยามจริงๆ ของ Open House ที่ตั้งใจสื่อสารคืออะไร
Mark : มันคือพื้นที่ว่างสำหรับการเปลี่ยนผ่าน (Transition Space) คนเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องแคบๆ เดินทางจากบ้านไปทำงาน ขยับจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งตลอดเวลา เราเลยอยากสร้างโอเอซิสกลางเมืองขึ้นมา ให้คนได้นั่งลงพักก่อน นั่งลงคุยกัน หรือไม่ก็ได้นั่งอยู่กับตัวเองในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังดี เมืองฝั่งยุโรปเขาก็จะมีพวกสวนสาธารณะเป็นพื้นที่แบบนี้ แต่เข้าใจว่ากรุงเทพฯ อากาศร้อน คนไม่ค่อยชอบออกไปข้างนอกมากนัก ก็เลยควรจะมีที่พักในร่ม ที่ไม่ใช่ห้าง หรือร้านที่ต้องจ่ายเงินให้คนกรุงเทพฯ ได้นั่งเล่นบ้าง แล้วจริงๆ ก็อยากสร้าง Open House ให้อีกหลายๆ เมืองเลยในเอเชีย
The MATTER : บางคนมาที่นี่แล้วจะนึกถึงการออกแบบของคุณที่ Daikanyama T-Site ในโตเกียว มีอะไรเชื่อมโยงกันหรือเปล่า
Mark : มันต่างกันนะ ไม่เหมือนกันเลย นั่นคือร้านหนังสือ แล้วบรรยากาศก็จะเคร่งขรึม เป็นทางการกว่า แต่นี่คือ Open House แรงบันดาลใจของสองที่ก็ต่างกัน อย่างที่บอกว่าเราทำงานทุกชิ้นไม่ให้เหมือนกันอยู่แล้ว
The MATTER : พูดถึงญี่ปุ่น ทำไมถึงตัดสินใจไปตั้งออฟฟิศที่นั่น (Mark เป็นคนอังกฤษ ส่วน Astrid เป็นคนเยอรมัน)
Mark : ย้อนกลับไปปีที่เราเริ่มต้น ประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว ต้องบอกว่าตอนนั้นการออกแแบบที่ญี่ปุ่นให้อิสระกับสถาปนิกมากกว่าในยุโรป อย่างที่ลอนดอนเวลาจะสร้างตึก เขาจะกำหนดเลยนะว่าต้องอิฐสีนี้ หน้าต่างต้องเป็นแบบนี้ หลังคาต้องหน้าตาแบบนี้ แต่ที่ญี่ปุ่น เขาดูเรื่องโครงสร้าง เรื่องความปลอดภัย แต่ไม่มี Visual Planning ที่เข้มงวดเหมือนยุโรป โตเกียวก็เลยเป็นเหมือนสวรรค์ของนักออกแบบตอนนั้นเลย เราสามารถออกแบบให้ตึกหน้าตาเป็นแบบไหนก็ได้ที่เราต้องการ แล้ววัสดุกับงานฝีมือของคนญี่ปุ่นก็ดึงดูดใจ จนเราตัดสินใจที่จะตั้งบริษัทที่โตเกียว
The MATTER : ในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบที่สร้างสรรค์งานมาเกือบ 30 ปีแล้ว มีคำแนะนำอะไรให้นักออกแบบรุ่นเยาว์บ้าง
Mark : สำหรับผม การออกแบบเป็นสิ่งที่สอนให้เราเปิดตาให้กว้างขึ้น รู้จักมองให้มากขึ้น ถ้าคุณคิดจะเป็นนักออกแบบ คุณต้องหาสิ่งรอบตัวมาเปลี่ยนเป็นสิ่งสร้างสรรค์ให้ได้ แต่ถ้าคุณหันไปรอบตัวตอนนี้ แล้วบอกว่าไม่มีอะไรน่าสนใจเลย คือคุณยังมองไม่รอบพอ ไม่ละเอียดพอ เหมือนที่ Paul Smith เคยพูดไว้ว่า “You can find inspiration in everything. If you can’t, then you’re not looking properly.”
อีกอย่างคือให้ถามตัวเองก่อนว่า คุณจะเป็นดีไซน์เนอร์หรือพ่อค้า คุณอยากสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือคุณแค่อยากได้เงินจากมัน ถ้าคุณอยากเป็นดีไซน์เนอร์ เป็นนักออกแบบ ก็จงสร้างสิ่งที่อยู่ได้ในระยะยาว สิ่งที่ทำให้คนจดจำ สิ่งที่คนจะอยู่กับมัน และสิ่งที่มีความหมายกับตัวเราและคนอื่น
The MATTER : อีกสัก 3-5 ปีข้างหน้า คิดว่าอนาคตของงานออกแบบและงานสถาปัตย์จะเป็นยังไง
Mark : มันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะเราเห็นจากไลฟ์สไตล์ของคนที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เห็นธุรกิจในลักษณะของ Airbnb หรือ Co-working Space ที่บูมขึ้น ในแง่งานออกแบบ ออฟฟิศหรือที่พักอาศัยต่อไปในอนาคตต้องมีลักษณะหน้าตาเปลี่ยนไปแน่นอน ธุรกิจร้านค้าก็เป็นอีกอย่างที่ต้องทำงานให้หนักและฉลาดขึ้น การออกแบบแบบไหนที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ ให้ลูกค้ามาที่ร้าน ใช่ ต่อไปเราคงต้องแข่งกันตรงนั้น เพราะเราซื้อของกันออนไลน์ก็ได้ไง แต่เราจะมาที่ร้านนี้ เพราะมีบางอย่างบางประสบการณ์ที่ออนไลน์ให้เราไม่ได้
อีกอย่างคือเราอาจจะต้องคิดเรื่องการ Reuse สิ่งก่อสร้างด้วย เราอาจจะต้องใช้หลัก Do more with Less ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้มากขึ้น ด้วยเหตุผลเรื่องทรัพยากร มลพิษ และขยะที่โลกเราต้องเจอ และต่อไปเทคโนโลยีอย่าง 3D Printing ก็น่าจะมาช่วยเราในการสร้างอะไรใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้น
The MATTER : อะไรคือสิ่งที่ชอบที่สุดในการทำงานคุณ