ครบรอบ 1 ปีเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ความกลัว การก่อการร้าย การโทษกลุ่มอำนาจเก่าบอกอะไรเราได้บ้าง? แล้วมีอะไรเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่?
แถม’กลุ่มอำนาจเก่า’ผู้เสียผลประโยชน์ทางการเมืองก็มักเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่รัฐออกมาบอกว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเสมอ เอ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันสามารถสรุปได้รวดเร็วทันใจขนาดนั้นเลยจริงไหม? แล้วที่สรุปได้จะแม่นยำตามมาตรฐานสากลแค่ไหนกัน?
ยังไม่รวมถึงสารพัดข้อสงสัยที่เถียงกันไม่จบสักทีว่า ตกลงเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตกลงเป็นการก่อการร้ายจริงหรือไม่? หรือเป็นแค่การก่อวินาศกรรมภายใน? ดังนั้น เราจะไม่ปล่อยให้ความสงสัยต้องครอบงำจิตใจให้เสียเวลา
The MATTER ชวนคุยกับ ‘กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช’ นักวิชาการอิสระด้านการก่อการร้าย และผู้เขียนหนังสือ ‘THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ’ ว่าตกลงแล้วการก่อการร้ายและการสร้างความหวาดกลัว มันอยู่ใกล้หรือไกลจากตัวเราสักแค่ไหนกัน?
The MATTER : ถ้าเทียบกับเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ที่เพิ่งครบรอบ 1 ปีไปหมาดๆ ซึ่งก็ในช่วงเดือนเดียวกันนี้ของปีก่อนที่เป็นความรุนแรงครั้งใหญ่จุดเดียว
กับเหตุการณ์ความรุนแรงถี่ๆ ในหลายๆ พื้นที่ที่กระจายตัวออกไปในครั้งล่าสุด ความแตกต่างนี้บ่งบอกอะไรได้บ้าง?
กฤดิกร : ประการแรกเลยคือ ความรุนแรงของระเบิดและช่วงเวลาที่วางระเบิด ในกรณีของเหตุการณ์ที่ราชประสงค์นั้น ด้วยชนิดและความรุนแรงของระเบิด รวมไปถึงเวลาที่ก่อเหตุแล้ว มีความชัดเจนถึงความจงใจที่มุ่งให้เกิด ‘เหยื่อจำนวนมาก’ (Massive Casualties)
ในขณะที่กรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคมนั้น บางจุดมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน อย่างกรณีการก่อเหตุในย่านบาร์ ย่านร้านอาหารที่หัวหิน ที่แม้ความรุนแรงของระเบิดจะต่ำกว่ามาก แต่การเลือกทำเลและช่วงเวลามีความใกล้เคียงกัน ในทางตรงกันข้าม การก่อเหตุในอีกหลายๆ จุด และการเลือกช่วงเวลา แม้จะเลือกในจุดที่ปกติเป็นจุดซึ่งมีคนพลุกพล่าน แต่กลับเลือกช่วงเวลาที่มีคนอยู่น้อย เพราะถ้าเลือกช่วงเวลาอื่นคงจะเกิดเหยื่อมากกว่านี้ไม่น้อย
จากลักษณะที่ว่านี้เอง อาจตีความแบบง่ายที่สุดได้ว่า กรณีเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหยื่อมากนัก แต่หากตีความลักษณะนี้อย่างละเอียดลออขึ้น ก็อาจจะมองได้ว่าการก่อเหตุระเบิดรอบล่าสุดนี้ อาจจะมีการคำนวณอย่างดีมากก็ได้ ว่าจุดไหนต้องการให้เกิดเหยื่อมากสักหน่อย เพื่อสร้างกระแสความสนใจ และจุดอื่นๆ ที่ตามมา
The MATTER : หลังจากสร้างกระแสความสนใจในบางจุดได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ?
หลังจากที่ได้รับความสนใจแล้ว ค่อยเลือกกำหนดช่วงเวลาระเบิดที่ไม่ก่อให้เกิดเหยื่อจำนวนมากนัก โดยเฉพาะกับการวางระเบิดที่จงใจก่ออย่างต่อเนื่องและกระโดดข้ามพื้นที่ไปมาอย่างที่เกิดขึ้น แต่กระทำในพื้นที่ที่ชัดเจนว่า “หากคิดจะทำให้มีคนตายจำนวนมากก็ทำได้” วิธีการนี้เรียกว่า
‘การจำกัดจำนวนเหยื่อ’ (Limited Victims) คือ ต้องการหรือจงใจให้เกิดเหยื่อขึ้น แต่พยายามควบคุมให้ปริมาณไม่มากจนเกินไป ลักษณะนี้ชัดเจนว่ามุ่งให้เกิดผลในเชิงการข่มขู่ และสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้างเป็นสำคัญว่า ‘หากคิดจะทำก็ทำได้’
จากลักษณะที่ว่ามานี้เอง มีความชัดเจนว่าเหตุการณ์ทั้งสองนั้นมีแนวโน้มสูงว่าจะไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะสารัตถะสำคัญของการก่อเหตุนั้นดูจะมีความแตกต่างกันมากจนเกินไป
ประการที่สอง คือเรื่องความยากหรือความซับซ้อนของการก่อเหตุ การก่อเหตุแบบต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก (อีกทั้งยังจงใจก่อเหตุในพื้นที่ชุมชนมากๆ) นั้น มีความยากและซับซ้อนในการก่อเหตุมากกว่าเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ลงมือกระทำค่อนข้างจะมาก
ในเรื่องความซับซ้อนและต้องการความละเอียดในการลงมือของเหตุการณ์ระเบิดในวันที่ 12 สิงหาคมนี้เอง ที่ค่อนข้างจะบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า
เป็นการก่อเหตุที่เตรียมการล่วงหน้ามานานแล้ว ไม่น่าจะเป็นการก่อเหตุในลักษณะที่เป็น ‘ปฏิกิริยาตอบโต้’ อย่างทันท่วงทีในทางการเมือง อย่างประเด็นเรื่องผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวอ้างกัน
เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง นั่นย่อมหมายความว่าผู้ก่อเหตุ ต้องก่อเหตุสเกลนี้ (ระเบิดสิบกว่าจุด) ภายในเวลาแค่ 3 วันเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้น้อยมากๆ จนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย
The MATTER : สิ่งหนึ่งที่ทั้งคนทั้งฝ่ายรัฐถกเถียงกันมากทุกครั้งหลังเกิดเหตุการณืความรุนแรงคือ ตกลงนี่คือก่อการร้าย หรือไม่ก่อการร้าย เอ๊ะ หรือแค่นี้คือแค่ก่อวินาศกรรม เราจะแยกอย่างไร เราจะเรียกเหตุการณ์แบบไหนได้ว่า ‘การก่อการร้าย’?
กฤดิกร : คำอธิบายเรื่องความต่างความเหมือนของคำว่า ‘วินาศกรรม’ กับ ‘การก่อการร้าย’ นั้นมีค่อนข้างหลากหลาย
นักวิชาการบางคนให้คำอธิบายว่า การก่อวินาศกรรม (Sabotage) นั้นจะมุ่งเน้นไปที่การก่อความรุนแรง ทางการเมือง ในเขตสงคราม ซึ่งมักกระทำโดยกองทัพ หรือโดยตัวแสดงซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐ
ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มก็มองว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งเดียวกัน คือ ‘การก่อวินาศกรรม’ เป็นรูปแบบ หรือยุทธวิธีแบบหนึ่งของการก่อการร้าย เหมือนกับ ระเบิดพลีชีพ, คาร์บอมบ์ หรือปล้นเครื่องบิน เป็นต้น
ในกรณีหลังนี้ จะเห็นได้ว่า แม้แต่เหตุการณ์อย่าง 9/11 ที่มีการจี้เครื่องบินชนตึกเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์และปีกตะวันตกของเพนตากอนนั้น ก็ได้รับการเรียกในหลายสื่อตลอดมาว่า ‘เหตุวินาศกรรมอาคารเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์’ เป็นต้น
แต่ถ้าเรากลับไปที่ ‘รากศัพท์’ จริงๆ เราจะพบว่าคำว่าวินาศกรรม หรือ Sabotage มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งสื่อถึงความรุนแรงที่ “มุ่งเน้นก่อความรุนแรงกับอาคารสถานที่ หรือสิ่งก่อสร้าง” ไม่ใช่เน้นความรุนแรงกับมนุษย์ ฉะนั้น หากเรายึดตามความหมายของรากศัพท์แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ในช่วงวันที่ 10 – 12 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น คงจะเป็นการยากที่จะเรียกว่าเป็นการก่อวินาศกรรม เพราะการก่อเหตุในหลายจุด ดูจะมุ่งเน้นให้เกิดเหยื่อที่เป็นมนุษย์ มากกว่าการจงใจทำลายสถานที่แต่เพียงอย่างเดียว
และหากมองตามนักวิชาการกลุ่มแรก ที่มองว่าต้องมีรัฐเข้ามาสนับสนุน การใช้คำว่าวินาศกรรมนั้นก็คงจะยิ่งแปลกประหลาดมากขึ้นไปอีก กลายเป็นว่ารัฐบาลออกมาบอกว่ารัฐบาลเป็นคนลงมือเอง? ที่ใกล้เคียงที่สุด คงเป็นการตีความการวินาศกรรมในฐานะ ‘ยุทธวิธี’ แบบหนึ่ง ซึ่งถูกใช้ในการก่อการร้ายด้วย
ทีนี้ ก็มาที่ความหมายของคำว่าการก่อการร้ายกัน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจัดเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ ก็พอจะบอกได้เลยว่า ‘ใช่’
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันคือ การก่อการร้าย ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม คือ เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การก่อการร้ายไม่ได้ต้องการการเคลมผลงาน ประกาศผลงาน ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะข้ามชาติอะไรอย่างที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามอ้าง
การก่อการร้ายมีทั้งการก่อการร้ายภายในประเทศ (Domestic Terrorism), การก่อการร้ายระหว่างประเทศ (International Terrorism), การก่อการร้ายลูกผสม (Hybrid Terrorism) และการก่อการร้ายโดยรัฐ (State Terrorism) ทั้งนี้เพราะการก่อการร้ายคือ “การสร้างความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่เลือกเหยื่อ (random victim) และมุ่งที่จะมีข้อเรียกร้องหรือสาร (conversation/message) ต่อรัฐ หรือสูงกว่ารัฐ”
โดยปัจจัยหลักของการก่อการร้าย ที่สำคัญก็คือ การไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเกิดเหตุขึ้นเมื่อไหร่ เกิดที่ใด และเกิดโดยใคร ซึ่งทำให้ ‘ทุกพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เสี่ยง’ ได้ (ต่างจากสงครามทั่วไป ที่มีพื้นที่ความรุนแรงที่ค่อนข้างชัดเจน)
The MATTER : การที่แทบทุกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วรัฐไทยสามารถออกมาระบุได้อย่างรวดเร็วว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอำนาจเก่าที่เสียผลประโยชน์ทางการเมือง ‘เฮ้ย ฝีมือแม้วแน่เลยว่ะ’ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง?
กฤดิกร : เบื้องต้นสุด มันก็สะท้อนการก้าวไม่ข้ามสิ่งที่สังคมนี้เรียกว่า ‘ผีทักษิณ’ นั่นแหละ คือ ในขณะที่ฝ่ายรัฐในปัจจุบันพยายามอย่างยิ่งที่จะบอกกับชาวบ้าน บอกกับมวลชนจำนวนมาก ให้ก้าวให้พ้นตัวทักษิณ ชินวัตร การที่ตัวรัฐบาลเอง เอะอะๆ ก็ทักษิณ เอะอะๆ นึกจะโทษอะไรไม่ออก ก็บอกรัฐบาลเก่าสร้างปัญหาไว้ หรือเกิดจากขั้วอำนาจเก่าทางการเมืองนั้น มันก็บอกกับเราด้วยว่า หนึ่งในคนที่ก้าวไม่พ้นทักษิณ ชินวัตร และคณะมากที่สุด ก็คือ ‘ตัวรัฐบาลเอง’ ที่เที่ยวป่าวประกาศให้มนุษย์ผู้อื่นก้าวข้ามให้ได้นั่นเอง
ประการที่สอง คือ ความมีประโยชน์ต่อตัวรัฐบาลในฐานะข้ออ้าง กล่าวคือ จุดขายหลักของรัฐบาลนี้ คือ การบอกว่าตนเองเข้ามาแก้ไขเรื่องความขัดแย้งและการเข้ามาจัดการดูแลเรื่องความมั่นคง โดยจุดขายแรกเป็นข้ออ้างจากปากรัฐบาลเอง ในขณะจุดขายที่สองคือภาพที่สังคมโดยทั่วไปมีต่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทหาร กล่าวอีกอย่างก็คือ เหตุผลของการมีอยู่ของรัฐบาลนั้นก็คือ การต้องมีความขัดแย้งอยู่ให้จัดการ และมีภัยบางอย่างที่จะมาสั่นสะเทือนโดยเฉพาะในทางการเมืองและชีวิตของประชากร
เพราะฉะนั้นแล้ว การกล่าวโทษ ‘ไอ้แม้ว’ จึงกลายเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดในการ ‘เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส’ คือ เปลี่ยนจากสภาวะข้อเท็จจริงของตนที่เป็นรัฐบาลทหารแต่ไม่มีความสามารถจะคุ้มครองความมั่นคงของประชากรได้ มาเป็น “เพราะแม้วยังคงมีอิทธิพลอยู่ ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถึงรากเหง้าอยู่ เพราะฉะนั้นตัวตนของรัฐบาลนี้จึงยังคงความจำเป็น”
พอจะเรียกได้ว่า การอ้างโทษคุณทักษิณ มีสถานะเหมือนเป็น ‘ตัวเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุด’ (The most rational choice) ของรัฐบาลไปโดยปริยาย
The MATTER : ตามหลักสากลแล้ว การที่รัฐไทยสามารถออกมาสรุปได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายว่าเป็นฝีมือจากกลุ่มใดหลังเหตุเกิดไม่นานคำตอบที่ได้น่าเชื่อถือจริงไหม เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าการสรุปอย่างรวดเร็วจะได้คำตอบที่ถูกต้อง? ตามหลักสากลแล้วการจะระบุว่าเป็นเหตุจากคนกลุ่มใด มีกระบวนการอย่างไรบ้าง?
กฤดิกร : ในเรื่องความถูกต้องของคำตอบว่าใครคือคนอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุระเบิดที่มักจะรีบ ‘สรุปออกมาอย่างรวดเร็ว’ นั้น คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบว่าจะตอบถูกไหม คือ มันเหมือนการอ่านโจทย์เสร็จแล้ว เห็นตัวเลือกคำตอบข้อแรก ก็อนุมานไปเลยว่าข้อนี้คือคำตอบที่ถูกต้อง โดยยังไม่ได้ชำเลืองดูตัวเลือกคำตอบอื่นๆ ซึ่งการทำแบบนี้ มันก็มีโอกาสถูกในตัวมันเอง คือ โชคดี เดาถูกไป
แต่หากพูดถึงความน่าเชื่อถือแล้ว มันก็คือการเดาล้วนๆ นั่นเอง ในทางสากลแล้วความเชื่อถือมันก็ไม่มีอยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยก็ตอบลำบาก เพราะประชากรจำนวนมากของประเทศนี้ ยังเชื่อหมอดูมากกว่านักวิทยาศาสตร์ เชื่อผีสางมากกว่านักวิเคราะห์ที่ชำนาญการด้านนั้นๆ จริงๆ อยู่เลย
เราเชื่อกระทั่งว่าประชาธิปไตยในมือทหารที่เป็นร่างตกผลึกของอำนาจเผด็จการจะดีกว่าประชาธิปไตยที่มาจากอำนาจของตัวเราเองได้ ฉะนั้นการที่ประชาชนประเทศนี้จะเชื่อมั่นในการ ‘สรุปคำตอบ’ อย่างรวดเร็วก็ดูจะมีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ดีในทางสากล การด่วนสรุป โดยเฉพาะกับคดีร้ายแรง เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีผลทางอาญา รวมไปถึงชื่อเสียงของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว
การด่วนสรุปนับเป็นสิ่งต้องห้าม กระบวนการปกติคือ การไล่ความเป็นไปได้ทั้งหมดออกมาก่อน (ไม่ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ต่ำปานใด) จากนั้นค่อยๆ สืบสวนสอบสวน หาพยานหลักฐานไป แล้วตัดตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด
แต่สิ่งที่ทางการไทยทำนั้น แทบจะเรียกได้ว่าสวนทางกันกับวิธีการอันเป็นสากลนี้ เราเริ่มจากการออกมาประกาศว่า “เป็นความขัดแย้งภายในแน่ๆ เป็นกลุ่มการเมืองเก่าแน่ๆ” ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ไม่ใช่กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (BRN) หรอก
เมื่อครั้งเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นด้วยการออกมา ‘ตั้งข้อสรุป’ ว่า เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง จากนั้นค่อยเพิ่มความเป็นไปได้ว่า เป็นกลุ่มค้ามนุษย์ กลุ่มค้ายาเสพติด ค้าอาวุธข้ามชาติ จนสุดท้ายจึงออกมายอมรับว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นกลุ่มอุยกูร์ แต่กระนั้น จนถึงที่สุดก็ยังไม่ยอมรับให้เรียกเหตุการณ์ระเบิดนั้นว่าการก่อการร้ายอยู่ดี
การแก้ปัญหาที่เน้นการเล่นตลกด้วยโวหารตลอดเวลา พร้อมกับการสรุปข้อเท็จจริงๆ สุ่มๆ ตามที่ “เข้าทางประโยชน์ทางการเมือง” ของตนนี้ พอพบว่าข้อสรุปที่ตนเองฟันธงไปไม่ใช่ ก็ค่อยเพิ่มความเป็นไปได้อื่นๆ เข้ามาทีหลังเรื่อยๆ นั้น ในกระบวนการจัดการและรับมือการก่อการร้ายสากลแล้ว คงนับได้เพียงว่าเป็นปาหี่ทางการเมือง
เพราะวิธีการทำแบบนี้ นอกจากจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าและมีโอกาสที่ผลการสืบสวนสอบสวนจะไม่เที่ยงตรงแล้ว ยังส่งผลให้ประชาชน (ทั่วๆ ไปในสากลโลก) ขาดความมั่นใจต่อการรับมือสถานการณ์ของทางรัฐบาล สับสนกับข่าวสาร ว่าสรุปแล้วเป็นเช่นไรกันแน่ การทำเช่นนี้โดยมากแล้วมันมักจะจบลงที่เป็นการทำลายความมั่นใจที่ประชาชนมีให้ต่อรัฐของตนเอง ว่าจะรับมือและคุ้มครองประชาชนของตนเองได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนตื่นกลัวกับเหตุการณ์มากเป็นพิเศษ เพราะจะพึ่งรัฐ ก็พึ่งไม่ได้ และมันจะเป็นการส่งเสริมเป้าหมายของผู้ก่อเหตุ ที่ต้องการกระจายและเพิ่มความเข้มข้นของความหวาดกลัวอยู่แล้วอีกทางหนึ่งด้วย
The MATTER : ในวันที่โลกเต็มไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง การก่อการร้าย เราจะรับมือหรือจัดการกับความหวาดกลัวท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างไร?
กฤดิกร : วิธีการรับมือที่ดีที่สุดในฐานะประชาชนโดยทั่วไปในทางสากลก็คือ การไม่ตื่นกลัวจนเกินเหตุ และอยู่บนฐานของการพยายามทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีวุฒิภาวะและเหตุผล การที่บอกว่าไม่ตื่นกลัวจนเกินเหตุนั้นไม่ได้หมายความว่า ‘ห้ามไม่ให้กลัว’ การก่อการร้ายมันทำให้เราตายได้ การจะกลัวมันเป็นเรื่องปกติ
แต่เราต้องเข้าใจพร้อมๆ กันไปว่า ภัยที่เรียกว่าการก่อการร้าย ในฐานะ ‘อันตรายต่อชีวิต’ ของเรานั้น มีโอกาสที่เกิดต่ำพอๆ กับอุกกาบาตตกใส่ หรือฟ้าผ่าตาย อันนี้เรื่องจริง ไม่ใช่โวหาร
ฉะนั้นจงกลัวมัน เหมือนที่เราเองก็กลัวฟ้าผ่าใส่เรา หรือถ้าอุกกาบาตจะตกใส่ คือมันเป็นความกลัวที่แม้เราจะกลัวมัน แต่ก็ไม่ได้มาทำให้เราต้องตื่นตระหนกกับมัน จนไม่อาจจะใช้ชีวิตตามวิถีอันเป็นปกติของเราไปได้
เราเดินถนนอยู่ทุกวันได้อย่างเป็นปกติ ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะมีอุกกาบาตตกมาใส่หัวตอนไหนก็ไม่รู้ได้ เราก็ต้องปฏิบัติตัวในสภาวะการก่อการร้ายมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราสามารถรับมือได้
นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการมีความตื่นตัว (Awareness) ต่อภัย รับรู้เสมอว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการก่อการร้ายได้ ฉะนั้นการมีความระมัดระวังตัวต่อสิ่งรอบตัวบ้าง ในระดับที่ไม่ได้ทำให้ความเป็นปกติของชีวิตเราพังทลายลง ก็เป็นสิ่งที่พึงมีอยู่กับสติของตัวเราเอง
ที่ว่ามานั้นคือสิ่งที่การรับมือแบบมาตรฐานของมนุษย์ในสากลโลกเขาทำกัน แต่ประชากรไทยดูจะใช้วิธีการอื่นในการรับมือ นั่นคือการ “เพิกเฉย ไม่แยแส ไม่สนใจ ลืมๆ มันไป” เข้ามาแทนที่ แน่นอนว่ามันทำให้เราผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์ไปได้ โดยไม่เกิดความตื่นกลัวจนล้นเกิน แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ทำให้ปัญหา และภัยอันตรายนี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
The MATTER : การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องการก่อร้ายหรือศาสตร์แห่งการก่อการร้ายมันมีความสำคัญหรือเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างไร?
กฤดิกร : การทำความเข้าใจเรื่องการก่อการร้าย คือ วิธีการรับมือก่อการร้ายที่ดีที่สุดที่สังคมหนึ่งๆ จะทำได้ อย่างไรก็ดีการพูดแต่เพียงว่า ‘ทำความเข้าใจ’ นั้นมันก็คงจะไม่มีประโยชน์อะไร และใครๆ ก็พูดได้ แต่การพูดเหล่านั้นจะไร้ความหมายไปในทันที หากขาดเงื่อนไขที่จำเป็นมากๆ อย่าง ‘การยอมรับความเป็นจริง’ เสียก่อน การทำความเข้าใจในแบบที่ควรจะเป็นจึงจะเกิดขึ้นได้
ปัญหาสำคัญมากๆ ประการหนึ่งของสังคมไทยที่ใช้ในการแก้และจัดการกับวิกฤติ (Crisis management) นั้นก็คือ เราเลือกที่จะใช้วิธีซุกปัญหาไว้ใต้พรม แล้วบอกว่า เราลืมอดีตที่ขมขื่นเหล่านั้นไปเสียเถอะ แล้วก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
เพื่อความสมานฉันท์สามัคคี แน่นอนว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ อาจจะทำให้เกิดความสงบได้โดยอาศัยการไม่แยแสและความทรงจำที่หดสั้นลงเรื่อยๆ ของสังคมเข้าแก้ไข
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ สังคมไม่เคยได้มีโอกาสในการ ‘ทำความเข้าใจ’ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เลย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการก่อการร้าย แต่ความรุนแรงทางการเมืองแทบทุกเรื่อง เราใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้หมด ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ ปี 2535 จนถึงพฤษภาเลือดในปี 2553 นี่คือวิธีการแก้ปัญหาต่อเนื่องตลอดมาของรัฐไทย
วิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำเอาโวหารทางการเมืองมาวิ่งเถลไถลไปมา แล้วสร้างเงื่อนไขของสภาวะสังคมแยแสที่เลือกจะปิดตาตัวเองต่อหน้าปัญหาตรงหน้า แล้วหลอกตัวเองไปว่า ‘ข้างหน้าตนไม่มีปัญหา’ ไปเรื่อยนั้น มันเริ่มมาจากสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘การไม่ยอมรับความจริง’ ของรัฐและสังคม
ภาวะการณ์ไม่ยอมรับความจริงจนเข้าขั้นหลอกตัวเองของสังคมไทยนี้เอง ที่กลายเป็นปราการสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถ ‘ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์-วิกฤติอย่างที่ควรจะเป็นได้’
อย่างในเรื่องการก่อการร้ายนี้ เราเป็นประเทศที่อยู่กินกับการก่อการร้ายมาตลอด 12-13 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราก็ใช้วิธีเลี่ยงโวหารแบบที่เราถนัด บอกว่ามันไม่ใช่การก่อการร้าย เป็นแค่การก่อความไม่สงบ
วิธีการเลี่ยงโวหารแบบนี้ ปรากฏต่อมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จนกระทั่งเหตุการณ์ระเบิดต่อเนื่องล่าสุดในช่วงวันที่ 10-12 สิงหาคม 2559 ที่เพิ่งผ่านมา
เมื่อรัฐไทยไม่เคยยอมรับว่าประเทศตัวเองคือ ‘ประเทศที่เสี่ยงกับภัยการก่อการร้าย’ เราจึงไม่เคยเตรียมการรับมือกับมันในฐานะประเทศที่ต้องอยู่กับภัยเสี่ยงนี้
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว สังคมย่อมรู้สึกว่าภัยนี้เป็นสิ่งที่ไกลตัว ไกลตัวมากขนาดที่ว่าต่อให้เรามีเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันเหตุการณ์ได้ดีอันดับต้นๆ ในอาเซียน ไม่นับ GT200 นะ
แต่หากสังคมยังไม่รู้สึกถึงความเสี่ยงที่เราอาจจะต้องพบเจอ มีเครื่องไม้เครื่องมือดีไปมันก็เท่านั้น เราก็ยังสามารถเห็นเจ้าหน้าที่นั่งเม้าท์มอย หรือนั่งซดมาม่าขณะที่กระเป๋าผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์ โดยที่สายตาของพวกเขาบ่อยครั้งแทบไม่ได้สนใจกับหน้าจอ, สนามบินในต่างจังหวัด มีสักกี่สนามบินที่มีการตรวจตราเป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นจริงๆ คอมพิวเตอร์ แล็บท็อป ยังไม่ต้องเอาออกจากกระเป๋าเลย
The MATTER : การที่เจ้าหน้าที่ตามรถไฟฟ้าส่องไฟฉายแค่สามวินาทีหรือไม่ค้นเลยจึงไม่ใช่แค่เรื่องโจ๊ก แต่เป็นความเมินเฉย ไม่แยแส ไม่สนใจซึ่งเป็นปัญหาต่อการป้องกันการก่อการร้ายมาก?
กฤดิกร : ความไม่แยแสหรือรู้สึกห่างเหินจากภัยในโลกจริงนี้เองที่ทำให้กระบวนการทำความเข้าใจและเตรียมการรับมืออื่นๆ ของสังคมไทยถูกแช่นิ่ง ทั้งๆ ที่ภัยอย่างการก่อการร้ายนั้น ‘การรับมือมีความสำคัญกว่าการป้องกันมาก’ เพราะต่อให้คุณมีเทคโนโลยีการป้องกันที่สูงมากปานใด มีหน่วยข่าวกรองที่ทรงประสิทธิภาพขนาดไหน อย่างสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย หรืออิสราเอล
สุดท้ายก็ไม่มีทางป้องกันได้ทั้งหมดอยู่ดี การป้องกันการก่อการร้ายได้ทั้งหมดในทางปฏิบัตินั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่มีดทำครัว หรือรถยนต์ รถบรรทุก หรือแม้แต่ก้อนหิน ก็สามารถนำมาใช้ก่อเหตุได้ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญมากๆ จึงมาอยู่ที่การรับมือสถานการณ์ ที่สังคมจะต้องเข้าใจต่อตัวภัยที่เกิดขึ้น และภาครัฐต้องมีการจัดการที่ถูกต้องเป็นระบบ อย่างที่ได้พูดถึงในคำถามก่อนๆ ไปแล้ว ไม่ใช่เป็นอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตอนนี้ ที่หากบอกตามตรงก็คือแย่มาก เพราะมันคงไม่มีประเทศใด(นอกเขตสงคราม)ในโลกนี้หรอก ที่มีระเบิดลูกที่หนึ่ง ลูกที่สองมาแล้ว ยังยอมให้เกิดระเบิดหรือการวางเพลิงอีกกว่าสิบครั้งในวันเดียวได้
นอกจากนี้ จากปากคำของ ผบ.ตร. และรองนายกรัฐมนตรีเอง ที่ออกมายอมรับว่าได้ยินข่าวระแคะระคายมาก่อนบ้าง แต่ไม่รู้วันที่ เวลา หรือพื้นที่ชัดเจน คำถามมันก็ง่ายๆ เลยว่าทำไมไม่ประกาศเตือน?
บอกให้คนระวังตัวสิ นี่ไม่เลย สมมติว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย และมีโอกาสสัก 10% ที่จะเกิดสึนามิขึ้นได้ที่ภาคใต้ของเรานะ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลยก็คือ เราต้องแจ้งเตือนประชาชน ให้ระวังตัว หลีกเลี่ยงชายฝั่ง ชายหาด และพยายามขึ้นที่สูงไว้ ต่อให้สุดท้ายแล้วไม่เกิดสึนามิขึ้น การประกาศเตือนก็ต้องมีอยู่ดี
การก่อการร้ายก็เช่นกัน การทำแบบนี้ จะทำให้สังคมมีการเตรียมตัวกับภัยที่อาจต้องเจอได้มากขึ้นมาก รับมืออย่างมีวุฒิภาวะขึ้นมาก แต่เราไม่ทำ “เพราะเราไม่เคยยอมรับความจริงที่กำลังเกิดกับตัวเราอยู่เลย” และสังคมเอง ‘ก็ไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น’
The MATTER : แล้วมันมีเหรอประเทศที่มีความสามารถในการจัดการวิกฤตได้ดีมาก?
กฤดิกร : อยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ แบบนี้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสามารถในการจัดการกับวิกฤต (Crisis management) ที่ดีที่สุดในโลก
ประเทศของเค้าอยู่กับภัยเสี่ยงสารพัด ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฯลฯ และสิ่งแรกที่เค้าต้องทำก็คือ “ยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้ และจะอยู่กับมันอย่างไร มันมีธรรมชาติอย่างไร จะรับมือกับมันอย่างไร” นี่คือการทำความเข้าใจ
เมื่อรัฐยอมรับความจริงแล้ว รัฐบอกกับสังคมของตนให้ยอมรับและเข้าใจความจริงนี้ ว่าคุณเป็นประชากรของประเทศนี้นะ คุณต้องอยู่กับความเสี่ยงเหล่านี้ แต่เราจะหาทางอยู่กับมันให้ได้ แล้วรัฐบาลก็มีการจัดทำเวิร์คช็อปต่างๆ เข้าสอน เข้าฝึกประชาชน ให้รู้วิธีการรับมือ เมื่อเกิดภัยขึ้นมาจริงๆ สังคมก็เข้าใจ และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ของไทยคืออะไร? เราพิมพ์คู่มือวิธีการรับมือกับการก่อการร้ายออกมา แต่มันจะมีสักกี่คนที่รู้ ที่สนใจ ไม่มีหรอก อย่าว่าแต่ความคิดที่จะเริ่มทำความเข้าใจเลย เพราะแม้แต่ความคิดที่จะยอมรับและตระหนักรู้ว่า ภัยอยู่ใกล้กับตัวเรานั้นยังไม่มีเลย แม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้น ถี่เสียยิ่งกว่าประเทศญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวก็ตามที หากยังไม่ยอมรับความจริงกันแบบนี้อยู่ พิมพ์เอกสารเพื่อสร้างความเข้าใจอีกกี่สิบกี่ร้อยเวอร์ชั่น คนมันก็ไม่สนใจอะไรขึ้นมา ยอมรับความจริงก่อน สร้างวุฒิภาวะให้กับตัวเอง และสังคม จากนั้นขั้นตอนการทำความเข้าใจก็จะตามมา
ซึ่งมันสำคัญมากๆ รัฐเองควรลงมือโปรโมต ไปสอน ไปอธิบาย จัดสัมมนาต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักให้ได้ มันก็เท่านั้น และจะให้ดี เปิดรับคำอธิบายที่หลากหลายด้วย เพราะการทำความเข้าใจคือ การผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วด้วย เพราะการอนุญาตเฉพาะข้อมูลฉบับทางการให้เรียกว่า ‘ความเข้าใจ’ นั้น มันก็ไม่ต่างอะไรจากการจับยัดให้ประชาชนท่องมนต์ ท่องคาถาไปวันๆ นั่นเอง
การรับมือกับความกลัว วิกฤตต่างๆ หรือแม้แต่การก่อการร้าย จึงเริ่มต้นง่าย ๆ ที่เรารู้จักยอมรับความจริงว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร ทำความเข้าใจสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ใกล้ตัว มากกว่าการบอกตัวเองว่าที่นี่ปลอดภัย ที่นี่สงบสุข
รวมถึงรัฐเองที่ไม่ควรซุกปัญหาไว้ใต้พรมแล้วตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการบอกว่าใครเป็นคนทำ แต่จะดีกว่าไหมหากมีการประกาศเตือนประชาชนให้เตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ
ความไม่แยแสหรือรู้สึกห่างเหินจากภัยในโลกจริงนี้เองที่ทำให้กระบวนการทำความเข้าใจและเตรียมการรับมืออื่นๆ ของสังคมไทยถูกแช่นิ่ง ทั้งๆ ที่ภัยอย่างการก่อการร้ายนั้น ‘การรับมือมีความสำคัญกว่าการป้องกันมาก’