1–2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาหารมาแรง โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่คนต้องทำงานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรีกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไม่ใช่แค่ในหัวเมืองใหญ่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา สนามธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่จับจองของหลายๆ ทุน
ล่าสุด airasia food ของ AirAsia เจ้าของสายการบินราคาประหยัดทั้งภายในและภายนอกประเทศ (ซึ่งตอนนี้งดให้บริการบินตลอดเดือนสิงหาคม เนื่องจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มของรัฐบาล) ได้ประกาศเปิดตัว พร้อมลุยทดสอบระบบ และอัดโปรส่งฟรี
โดยข้อมูลจาก airasia food ระบุว่า จะเปิดให้เดลิเวอรีอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น airasia พร้อมกับโปรโมชั่นส่งฟรี 6 กิโลเมตรแรกทุกออร์เดอร์ ตั้งแต่ 1–15 สิงหาคมนี้ และจ่ายได้ผ่านบัตรเครดิต e-wallet และการโอนเข้าบัญชีเท่านั้น
แต่ในระยะแรกนี้ยังเป็นช่วงทดสอบระบบ จึงให้บริการแค่ในพื้นที่หนาแน่นในกรุงเทพฯ เท่านั้น คือ เขตจตุจักร ลาดพร้าว ห้วยขวาง ดินแดง เพื่อเก็บข้อมูล เตรียมเปิดบริการเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้
โดย AirAsia จะใช้ ‘teleport by airasia’ บริการโลจิสติกส์ด้านขนส่งโดย airasia Digital มาเป็นเบื้องหลังระบบส่งสินค้าต่างๆ ของ AirAsia ซึ่งที่มาเลเซียก็ใช้ teleport ให้บริการส่งของส่งอาหารอยู่แล้ว
ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ AirAsia ก็ได้เข้าซื้อกิจการ Gojek Thailand เมื่อต้น กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาซูเปอร์แอพลิเคชั่น โดยจะผนึก Gojek เข้ามาอยู่ในแอพพลิเคชั่น ของ AirAsia ซึ่งจะทำให้ Gojek หันไปทุ่มเทการลงทุนในตลาดอื่น เช่น เวียดนาม หรือสิงคโปร์ ได้มากขึ้น
ดังนั้นวันคิกออฟ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ไรเดอร์ของ Gojek จะเปลี่ยนผ่านมาทดสอบระบบกับ airasia โดย ‘Brand Inside’ รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า ระบบ teleport จะมีการแสดงงานค้างบนบอร์ดรวมงาม กรณีที่ในพื้นที่นั้นไม่มีไรเดอร์รับงาน ซึ่งจะทำให้ไรเดอร์ประเมินได้ด้วยว่า ตรงไหนมีความต้องการสั่งอาหารมาก
ส่วนเรื่องโครงสร้างรายได้ของไรเดอร์ที่ทาง airasia ให้ข้อมูลมานั้น คือ ค่ารอบงาน 42 บาทต่องาน ค่าชั่วโมงเร่งด่วน 5 บาทต่องาน และโบนัส โดยหากรับงาน 8–14 งาน จะได้รับเงินเพิ่ม 100 บาทต่อวัน และถ้ารับเกิน 15 งานจะได้เพิ่มอีก 100 บาทต่อวัน เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นจาก Gojek ประมาณ 20% ดังนั้นสูงสุด ทำเต็มเวลามีโอกาสรับเงิน 800 บาทต่อวัน และพาร์ตไทม์ (วิ่งให้ได้ 8–12 งาน) จะมีรายได้ประมาณ 400 บาทขึ้นไป
นอกจากบริการส่งอาหาร คาดว่า teleport by airasia จะทำอีก 3 บริการใหม่ คือ ‘Grocer’ ระบบขายสินค้าอุปโภค บริโภค บนออนไลน์ ‘Xpress’ ขนส่งด่วน และบริการ ‘Ride’ เรียกรถรับส่งผู้โดยสาร ในประเทศไทยเร็วๆ นี้
ถือว่าเป็นช่วงที่เราเห็นความเคลื่อนไหวในวงการเดลิเวอรีอาหารบ้านเราอย่างมาก ยูโรมอนิเตอร์เคยประเมินว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยจะเติบโตราว 10% ต่อปี โดย
ปี พ.ศ.2564 จะมีมูลค่ารวม 74,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2565 จะมีมูลค่ารวม 82,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2566 จะมีมูลค่ารวม 90,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2567 จะมีมูลค่ารวม 99,000 ล้านบาท
ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์ถือเป็นตลาดขาขึ้น และเป็นเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่กลายมาเป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายทุนอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เค้ก’ ก้อนนี้ โดยจะเห็นว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็มีทั้ง Robinhood ของไทยพาณิชน์, Eatable ของกสิกรไทย (ยังทดสอบระบบ), Shopee Food อี-คอมเมิร์ซที่หันมาจับตลาดเดลิเวอรีอาหาร และ true food ของโทรคมนาคมรายใหญ่ ที่ตบเท้าเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ร่วมกับ Grab, Food Panda, Lineman x Wongnai ที่อยู่ในสนามมาหลายปี
อ้างอิงข้อมูลจาก