ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว สายธารแห่งประชาธิปไตยอันไหลเชี่ยวมิอาจหยุดยั้งได้ และเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ราษฎรจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
นี่คือหนึ่งในข้อความจากแถลงการณ์ที่ถูกอ่านหน้าสถานทูตเยอรมนี ใน #ม็อบ26ตุลา ปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในการชุมนุมที่มีผู้ถูกแจ้งหมาย ม.112 มากที่สุด ถึง 12 คน รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่มาช่วยอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาต่างๆ อย่างภาษาอังกฤษ และเยอรมัน
The MATTER พูดคุยกับ เดียร์ รวิสรา เอกสกุล หนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน ที่จากเพียงหนึ่งคนที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นประจำ กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีร้ายแรงอย่าง ที่ชี้ความผิดถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เดียร์ เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาได้เกือบ 3 ปีแล้ว โดยตอนนี้เธอทำงานเกี่ยวกับการแปล ซึ่งตรงกับสายที่เรียนจบมา เดียร์เล่าว่าเธอเป็นคนนึงที่สนใจการเมืองมาซักพักแล้ว และดีใจที่ภาพในการเมืองวันนี้ ต่างไปจากที่ผ่านมา
“เหมือนพอเราเรียนจบ เราก็เข้ามาสังคมของการทำงาน มันทำให้เราเห็นว่าสังคมนี้มีปัญหาเยอะมาก เช่น อย่างเราจบจุฬาฯ เรารู้สึกว่าเราได้สิทธิพิเศษที่มากกว่าคนอื่นเยอะมาก ทั้งๆ ที่มีคนที่เขาเก่งกว่าเรา แต่เขาไม่ได้จบจุฬาฯ เขาก็ได้โอกาสน้อยกว่า เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เป็นความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้โดยโครงสร้างของรัฐบาล เราก็เลยตั้งคำถาม ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองมากขึ้น แล้วปีที่แล้วพอมีกระแสม็อบออกมา เราก็เลยเห็นด้วยกับสิ่งที่ม็อบเรียกร้อง เราก็เลยเป็นคนที่ออกไปแสดงความเห็น”
“เราก็ดีใจที่วันนี้ทุกคนมีความกล้าหาญที่จะออกมาพูด สมัยก่อนเราคิดว่า คนอาจจะไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่ได้ออกมาพูด กลัวติดคุก กลัวถูกปรับทัศนคติ ทำให้การออกมาลงถนนเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ เราก็เลยดีใจที่ทุกวันนี้มีคนที่กล้าหาญเพิ่มมาอีกเยอะเลย”
จากบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไป เดียร์มีโอกาสไปม็อบเป็นประจำ ซึ่งทำให้ใน #ม็อบ26ตุลา เธอได้กลายมาเป็นคนหนึ่งที่ช่วยร่วมอ่านแถลงภาษาเยอรมัน
“ช่วงนั้นเรายังอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็พยายามไปให้ได้ทุกม๊อบ เราก็ไปร่วมปกติ ไม่ได้คาดคิดว่าจะขึ้นไปทำอะไร แล้วอยู่ๆ ก็มีเพื่อนทักมาว่า มีคนตามหาคนอ่านแถลงภาษาเยอรมัน สนใจหรือเปล่าเพราะทุกคนรู้ว่าเราได้ภาษาเยอรมัน เราก็เลยติดต่อคนที่ประสานงานไป แล้วก็ได้ขึ้นไปอ่าน”
“ตอนนั้นเรามีกันอยู่ 5 คนที่จะอ่านแถลงภาษาเยอรมัน เราก็เลยนับกันว่ามีกี่ย่อหน้า ตอนนั้นเราได้อ่านเพียงแค่พาร์ทของเรา ส่วนพาร์ทอื่นเราก็จะต้องใช้เวลานั่งแปลก็เลยเอาไว้ก่อน ส่วนในพาร์ทที่เราอ่าน เราก็รู้สึกว่ามันก็จริงที่เขาเขียนไว้ ซึ่งพูดถึงว่า มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน แล้วตั้งคำถามว่ามีใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำในครั้งนี้ เป็นการทำที่เกินขอบเขตหรือเปล่า ซึ่งตอนนั้นเราเองก็เป็นคนนึงที่อยู่ที่แยกปทุมวันในวันนั้นเหมือนกัน เราก็สงสัยว่าทำไมต้องมาทำร้ายเรา”
เดียร์ถูกดำเนินคดี ม.116 และ ม.112 จากการร่วมอ่านแถลงการณ์ โดยในตอนแรกกลุ่มคนที่อ่านภาษาไทย จะได้รับหมาย ม.116 ก่อนจะได้รับหมาย ม.112 ตามมาภายหลัง ขณะที่เดียร์บอกว่ากลุ่มคนที่อ่านภาษาเยอรมันได้หมายรอบเดียวพร้อมกันทั้ง 2 ข้อหาเลย ซึ่งเธอยังมองอีกว่า ในแถลงการณ์นั้น ไม่มีส่วนไหนที่เธอคิดว่าผิด ม.112 ได้เลย
“การอ่านแถลงวันนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะได้รับหมายเรียกแล้วก็ถูกดำเนินคดี ทั้งเรารู้สึกว่ามันไม่มีตรงไหนที่ทำให้เราต้องได้รับหมาย ม.112 เลย เพราะว่าต่อให้ตรงพาร์ทสุดท้ายที่มีการถามถึงว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยมีการใช้อำนาจนอกเขตประเทศหรือเปล่า เราคิดว่าตรงนี้เป็นแค่การตั้งคำถามของพวกเราแค่นั้นเอง เป็นสิ่งที่เราอยากรู้ ทำไมจึงไม่สามารถตั้งคำถามได้”
“เรารู้ว่ามันตลก ตรงที่ว่าเราเป็นแค่คนธรรมดาคนนึงที่อาสาออกไปส่งสาร เพื่อส่งจดหมายนี้เพื่อให้สารมันออกไปได้ไกลกว่าเดิม มันตลกในความพยายามที่เขายัดคดีให้เรา มันมีความที่ไปโปร่งใสของรัฐบาลที่พยายามจะทำให้ประชาชนเงียบ
“แน่นอนว่าพอโดนคดี เราก็ต้องระวังตัวให้มากขึ้น เหมือนทางครอบครัว คนรอบตัวก็จะเป็นห่วงเรา ก็จะไม่อยากให้เราไปทำอะไรที่จะโดนหมายอีกรอบนึง แต่ถามว่าจริงๆ แล้วเรากลัวไหม เราก็ไม่กลัวนะ เราคิดว่าการที่เขาให้ 112 เรา เขามีจุดมุ่งหมายจะทำให้เรากลัว และทำให้เราล้มเลิก ถ้าเราเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เขาก็จะสำเร็จ แต่เราไม่อยากให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ เราไม่ได้อยากจะเป็นคนที่ยอมให้เขาปิดปากด้วยกฎหมาย เราก็จะสู้ต่อไปในแบบของเรา” เดียร์บอก
เดียร์ออกมาเรียกร้อง ร่วมชุมนุม และเธอบอกว่าเธอเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทุกอย่าง รวมถึงมุมมองของเธอเองต่อ ม.112 ก็เหมือนกับที่หลายๆ คนชี้ว่า มาตรานี้มีปัญหา และควรถูกยกเลิกไปได้แล้ว
“เรามองว่ามันเป็นมาตราที่ควรจะถูกยกเลิกไปได้ตั้งนานแล้ว เพราะว่ามันล้าสมัยมากๆ แล้ว ถ้าสมมติเราจะบอกว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คนทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมดจริงๆ แต่ว่าทำไมเราถึงมีกฎหมายอันนี้ เพื่อคุ้มครองคนอยู่กลุ่มเดียว แล้วบางทีมันไม่ได้เอาไว้ใช้เพื่อคุ้มครองคนกลุ่มนี้เท่านั้น แต่มันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เอาไว้ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามมากว่า มันผิดหลักการไปหมดเลย ก็เลยคิดว่ามาตรานี้ไม่ควรมีอยู่แล้ว
เราไม่คิดว่าเราเข้าข่าย โดยเฉพาะพาร์ทที่เราอ่าน มันไม่เข้าข่ายการจาบจ้วง อาฆาตมาดร้าย เราก็สงสัยเหมือนกันว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน เพราะมันก็เป็นหนึ่งปัญหาของมาตรานี้ ที่ตีความได้กว้างมากจนเกินไป จนสามารถเอามาใช้ในทางที่ผิด”
แน่นอนว่าแม้เธอจะไม่มีความกลัว แต่กระบวนการถูกดำเนินคดีก็เป็นอุปสรรคในชีวิตของเธอบ้าง รวมถึงอนาคตที่วางแผนไว้
“ถ้าเป็นชีวิตประจำวันในตอนนี้ มันก็ไม่ได้กระทบเท่าไหร่ เพราะงาน เราทำที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องลางานเพื่อไปรายงานตัว แต่มันกระทบกับชีวิตในระยะยาวเพราะเราไม่สามารถที่จะวางแพลนชีวิตในอนาคตได้เลย เราจะรู้ได้แค่เดือนต่อเดือนเท่านั้นว่า มีเวลาอยู่เมื่อไหร่ คือเราไม่รู้เลยว่า ถ้าไปรายงานตัวสัปดาห์หน้า จะถูกฝากขังหรือเปล่า มันก็กระทบในส่วนการแพลนชีวิต แพลนต่างๆ ที่คาดหวังที่วางไว้ ก็ต้องพักไว้ก่อน”
“ด้านครอบครัวให้กำลังใจหนักมาก เพราะว่าทุกคนก็อยู่ข้างเรา เขาก็บอกว่าจะเป็นกำลังใจให้เรา ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะอยู่ข้างเราตลอดเวลา เพื่อนๆ ทุกคนก็เข้าใจเรา เหมือนมีรอบนึงที่เพื่อนสนิทเราทักมาให้กำลังใจเรา ว่า ‘สู้ๆ รักมึงนะ จะไม่หยุดสู้จนกว่าจะรู้ว่ามึงปลอดภัย’ เราก็รู้สึกว่าประทับใจมาก
จริงๆ เราเตรียมพร้อมไว้แต่ครั้งที่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันที่ 25 มีนา 64 (การรายงานตัวรอบก่อน แต่อัยการสั่งเลื่อน) เราเตรียมเอกสาร คุยกับที่ทำงาน ถ้ามันในกรณีว่ามีอะไรเกิดขึ้น และถูกฝากขัง เราก็สามารถเข้าไปได้ โดยเตรียมทุกอย่างแล้ว พอมันถึงเวลาแล้วถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ มันเป็นความรู้สึกอยากให้จบไปซักที”
ซึ่งเดียร์บอกกับเราว่า แม้ถูกฝากขังก็จะสู้คดีต่อไป “เราเตรียมทั้งตัว ทั้งใจ และทุกอย่างแล้ว” เธอบอก
ในระหว่างที่คดีของเธอถูกเลื่อนไป มีเหตุการณ์ และคดีเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเธอในฐานะคนที่ต้องฝากความหวังไว้ในกระบวนการนี้ก็ยอมรับว่า เธอเห็นปัญหาเช่นกัน แต่ก็ยังไม่อยากหมดหวัง และหวังถึงความเป็นธรรมอยู่
“เรามองว่าระบบยุติธรรมในประเทศไทยมันค่อนข้างจะมีปัญหา มีปัญหาในแง่ที่ว่า มันทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว คือมันก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขามีใบสั่งมาหรือเปล่า แต่ว่าการกระทำของเขา มันก็เป็นคำตอบให้ประชาชนประจักษ์มากๆ อยู่แล้วว่ามันจริง หรือไม่จริง แล้วเขาทำงานกันอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคนเห็นชัดเจนแล้วว่ามันไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมยังไง
เราก็รู้อยู่แล้วว่ากระบวนการนี้มันเป็นยังไง แต่เราก็ไม่อยากที่จะเป็นคนที่สิ้นหวัง เรายังคาดหวังว่ามันจะต้องมีความเป็นธรรมกับเราบ้าง หรือคนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นมนุษย์หลงเหลือให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่บ้าง”
ซึ่งไม่เพียงความหวังในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น สุดท้ายเดียร์ยังบอกว่า เธอยังมีความหวังในการออกมาร่วมเคลื่อนไหว และอนาคนของประเทศด้วย