เมื่อเราทำงานหนักเกินกำลังร่างกายของเราเริ่มไม่ไหวเราน่าจะรู้ตัวอยู่
ปวดหลัง ซึมเซา ท้องไส้ทำงานไม่ปกติ บางครั้งรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกได้ แต่ทำไม่เหตุการณ์เช่นการเสียชีวิตของพนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันเป็นเวลานานในวัยไม่ถึง 50 ปีนั้นถึงเกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน
ในปัจจุบัน ขณะที่เราพูดคุยกันเกี่ยวกับการมี work-life-balance ที่ดี การมีเวลาที่เราจะตัดขาดจากเรื่องงาน มีการให้เวลาตัวเอง ไม่ทำให้งานเป็นทั้งหมดในชีวิต การตั้งคำถามในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการงาน ไม่ว่าจะค่าจ้างหรือภาระงาน ทำไมกันเมื่อเรามองไปรอบตัวเรา หลายๆ ครั้งก็ที่ตัวเราเอง ที่ยังต้องติดกับกับชีวิตการทำงานที่ผลักให้เราไปถึงขีดจำกัดของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า?
ถ้าเรารู้ตัว อะไรกันที่นำไปสู่การหักโหมเหล่านั้น? และถ้าเรารู้ว่าการทำงานแบบไหนดีหรือไม่ดีกับเรา ทำไมเรายังต้องไปติดอยู่ในบ่วงเหล่านี้? อาจต้องเริ่มดูจากที่ที่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันสูงมากในระดับประเทศ อย่าง ‘ญี่ปุ่น’
ถ้าเราจะรู้จักอะไรสักอย่างเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น คงเป็นเรื่องของความทุ่มเทของพวกเขาต่อสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หนึ่งในนั้นคือเรื่องงาน และเมื่อราวๆ ช่วงปี 1990 ความ ‘ทุ่มเท’ นั้นๆ ถูกวางกรอบให้เปลี่ยนไปในความเข้าใจของคน
นั่นคือโลกได้รู้จักกับคำว่า ‘คาโรชิ’
หรือความตายจากการทำงานหนักนั่นเอง
หลังวิกฤตการณ์น้ำมันปี 1973 บริษัทและองค์กรในประเทศญี่ปุ่นมีการปรับโครงสร้างและวิธีคิดในการทำงานให้เพิ่มเวลาทำงานของบุคคลากรมากขึ้นเป็นราวๆ 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เวลาและแรงที่ต้องลงในระดับนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติและบ่อยครั้งเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังต้องเข้าร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ที่ทำงานคาดหวังให้พวกเขาทำ เช่น การออกไปสังสรรค์หลังเลิกงาน
เราอาจโยงเส้นตามหาแนวคิดการทำงานหนักนี้ไปได้ถึงช่วงปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เราเรียกกันว่า ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากผ่านแนวคิดการทำงานหนักเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะพูดถึงบริษัท หรือพูดถึงประเทศญี่ปุ่นโดยรวมด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้ง แนวคิดของการให้คนวัยทำงานทั้งประเทศแบกรับมันเอาไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจะกลับมากับมันด้วย
แต่ผลพวงของค่านิยมการทำงานหนักในระดับโครงสร้างลากยาวมาเป็นเวลาสิบๆ ปีย่อมมีผลต่อประชากรของประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว คาโรชิเป็นคำที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากการเกิดข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือโรคหัวใจในพนักงานที่ถูกเชื่อมโยงไปยังการทำงานหนัก ในขณะที่ช่วงปีนั้นตามสถิติประเทศจะบอกว่ามีพนักงานเสียชีวิตจาก ‘อุบัติเหตุในที่ทำงาน’ ชื่อคาโรชิราวๆ 200 ราย นักกิจกรรมยืนยันว่ามีกว่า 10,000 รายที่เสียชีวิตจากโรคนี้
ในงานวิจัยโดยคิตานากะ จุนโกะ (Kitanaka Junko) ชื่อ Depression in Japan: Psychiatric cures for a society in distress มีการเชื่อมโยงเหตุผลที่โรคดังกล่าวเพิ่งมาเป็นที่รู้จักกันในสังคมญี่ปุ่นในช่วงปีนั้นๆ ทั้งๆที่มันเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเหตุผลมีอยู่ว่าในขณะที่ศาสตร์จิตเวชนั้นเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1888 แล้ว แต่ศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้รับการเปิดรับจากสังคมหมู่มาก และจะถูกนำมาใช้สำหรับการรักษาคนไข้ที่มีอาการหนักเท่านั้น หากจะให้เปรียบกับวัฒนธรรมไทยก็ใกล้เคียงกับการแปะป้ายว่าโรงพยาบาลศรีธัญญาคือที่ของ ‘คนบ้า’ นั่นเอง
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวชไม่ถูกรับการพัฒนาในญี่ปุ่นเนื่องจากราวๆ ช่วงปี 1960 มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านจิตเวชศาสตร์ เพราะเชื่อว่ามันเป็นเครื่องมือจาก ‘ตะวันตก’ ที่มีความพยายามในการจัดระเบียบสังคมของญี่ปุ่น ในระดับที่เป็นที่เชื่อกันว่าโรคซึมเศร้านั้นเกิดขึ้นน้อยมาก น้อยเกินกว่าบริษัทยาจะสามารถนำยา เช่น Prozac เข้ามาขายได้เพราะไม่มีตลาดผู้ซื้อ และเมื่อช่วงปี 1990 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นจากความเก็บกดในระดับสังคม ส่งผลให้มีเคสเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าพุ่งทะยาน
ทั้งนี้จะบอกว่าญี่ปุ่นหายขาดจากวัฒนธรรมการทำงานดังกล่าวก็ยังไม่ได้ เนื่องจากรากของวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบนั้นฝังลงลึกไปในภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว และมันแสดงออกมาผ่านคนรูปแบบหนึ่งในสังคมของพวกเขา
นั่นคือเหล่า Salaryman นั่นเอง
จะให้แปล Salaryman ตรงตัวว่ามนุษย์เงินเดือนคงไม่ถูก เนื่องจากความหมายของมันมากกว่าพนักงานกินเงินเดือน ใส่สูท ถือกระเป๋า แต่มันมีความหมายหยั่งลงไปยังตัวตนของพวกเขา Salaryman คือคนที่ถูกทำให้เชื่อว่าความสำเร็จของบริษัทนั้นสำคัญกว่าตัวของเขาเอง เขาเชื่อว่าเมื่อเขาเข้าไปทำงานบริษัทสักที่เขาจะต้องทำที่นั่นไปตลอดชีวิต และในมุมมองอนุรักษนิยมญี่ปุ่นนี่คือหนทางเดียวสำหรับผู้ชาย
ความเชื่อรูปแบบดังกล่าวอาจนำไปสู่สถิติที่น่าสนใจ เช่น จากการเก็บสถิติโดย Expedia Japan ในปี 2017 พบว่าจากทุกประเทศที่เก็บข้อมูล คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ใช้วันหยุดน้อยที่สุด และรู้สึกผิดที่จะใช้มันมากที่สุดในทุกประเทศ และความรู้สึกว่าเราจะต้องทำงานที่เดียวไปทั้งชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่ของเราที่เปลี่ยนงานเพื่อหนีบรรยากาศการทำงานเป็นพิษกันตลอดเวลาขนลุกซู่ ฉะนั้นหากจะพูดโดยสรุป เราอาจเรียกได้ว่าเราเองไม่ได้เป็นคนเลือกเส้นทางการเดินของเราทั้งหมดเมื่อพูดถึงการทำงาน เพราะค่านิยมทางสังคม ค่านิยมการทำงาน และอีกมากมายมีอิทธิพลต่อตัวเลือกนั้นๆ ในหลายๆ กรณีเรามองไม่เห็นความย่ำแย่ของมันเสียด้วยซ้ำ
แต่ว่าพูดมาทั้งหมดเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น มันจะเกี่ยวกับเราได้จริงๆ หรือ? สถิติเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเห็นต่างออกไป นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศประเทศเดียว
ในช่วงเวลาระหว่างปี 2000 – 2016 World Health Organization หรือ WHO เก็บสถิติระดับโลกเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปร่วมกับ International Labour Organization (ILO) พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจราวๆ 745,000 รายในปี 2016 ซึ่งเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2000
ผู้เสียชีวิตรูปแบบดังกล่าวที่สูงที่สุดคือผู้ชายวัยทำงานจนถึงวัยกลางคนจากพื้นที่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้เสียชีวิตมักเป็นคนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปในช่วงอายุ 45-74 ปี
ปัญหาเหล่านี้ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ความขาดชื่อเรียก การศึกษา เรียนรู้ และเผยแพร่มันอย่างแพร่หลาย อาจทำให้เราเดินตามรอยญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้วได้อย่างง่ายดายในทางที่เลวร้าย โดยเฉพาะในยุคของการทำงานจากบ้านหรือ gig economy ที่ทำให้คนทำงานฟรีแลนซ์สูง นำไปสู่การทำงานที่ไร้ขอบเขต เมื่อไรคือพักเมื่อเราไม่มีเวลาเลิกงาน? ที่ไหนคือที่ทำงานเมื่อมันคือบ้านด้วย? ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วการทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเกินไปเลย
เรื่องที่ขำขื่นที่สุดคือเมื่อเราย้อนมาตั้งคำถามว่าแล้วเราเลือกอะไรได้บ้างหรือไม่? เมื่อลองเทียบค่าครองชีพยุคปัจจุบัน เรทเงินเดือน สภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ ต่อให้เรารู้ว่าหัวหน้าที่ดีควรหน้าตาเป็นอย่างไร รู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีควรเป็นยังไง มีภาพในหัวว่าเราจะแบ่งเวลาชีวิตของเรายังไงให้ดีที่สุด สุดท้ายทางที่เราสบายใจไม่นำค่าตอบแทนที่ตอบโจทย์การเอาชีวิตรอดของเรา เราเลือกอะไรได้บ้าง?
ทางออกของการมีชีวิตการทำงานที่ดีในสังคมไม่ใช่ปัญหาที่ไขได้โดยแรงงานรู้เรื่องเท่านั้น แต่มันต้องแก้ไขไปตั้งแต่รากของปัญหา ทั้งค่านิยมเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ไปจนนโยบายที่คุ้มครองคุณภ่าพชีวิตของแรงงาน
อ้างอิงข้อมูลจาก