ว่ากันตามตรง ประเด็นของบทสัมภาษณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วงหลังมานี้ ใครต่อใครพูดถึงโรคทางจิตเวชจนช้ำไปหมดแล้ว อีกทั้งคำถามก็ไม่ได้ถูกคิดขึ้นอย่างคมคายอะไรหรอก โดยคร่าวๆ ก็ประมาณนี้
สรุปว่าฉันป่วยหรือไม่ป่วย
ป่วยแล้วรักษายังไง ฉันต้องกินยาไหม
ถ้าไปหาหมอ ฉันจะถูกมองเป็นคนบ้าหรือเปล่า
แล้วทำไมต้องใช้ธรรมะมาเป็นเครื่องมือในการทำจิตบำบัดด้วย
ในฐานะคนทำงาน ผมพยายามสวมบทบาทเป็นคนทั่วๆ ไปเพื่อตั้งคำถาม บวกกับชวนให้มิตรสหายหลายท่านช่วยคิดด้วย (แหม เหมือนคนขี้เกียจเลย) ตั้งแต่กดเปิดเครื่องบันทึกเสียงไปจนกดปิด ผมตื่นตัวไปกับทุกๆ คำตอบของ ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำพูดตลอดชั่วโมงกว่าเป็นทั้งคำตอบที่น่าสนใจ และระหว่างบรรทัดยังชวนให้มองบางแง่มุมที่บางครั้งไม่ทันได้สังเกต
ไม่ต้องเกริ่นนำให้มากความหรอก ลองอ่านเลยละกัน
หลายกรณีเส้นแบ่งไม่มีอยู่จริง การทำงานทางการแพทย์ สิ่งที่เรา concern คือผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
The MATTER : ช่วงหลังๆ ในโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงโรคทางจิตเวชอยู่บ่อยๆ ทั้งโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ ฯลฯ อาการแบบนี้คือป่วย อาการแบบนี้คือไม่ป่วย คนเลยวินิจฉัยตัวเอง อยากรู้ว่าในทางการแพทย์ เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนป่วย หรือคนไหนคล้ายจะป่วย แต่จริงๆ แค่คิดมาก
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เรื่องนี้เป็นปัญหาของสาขาอาชีพผมเลยครับ เพราะหลายกรณีเส้นแบ่งไม่มีอยู่จริง การทำงานทางการแพทย์ สิ่งที่เรา concern คือผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เทียบกับคนคิดมากแบบเจ้าตัวรู้ตัวว่าคิดมากนะ เป็นมานาน เป็นนิสัยประจำตัว ถ้าวันนึงคิดมากจนใช้ชีวิตไม่ได้ แล้วอ่านเจอจากที่อื่นว่าแบบนี้ถือว่ามีแนวโน้มเป็นโรควิตกกังวล ก็แค่ไปรักษา มันอาจเป็น ‘แบบเดิมที่หนักขึ้น’ หรือเป็น ‘สิ่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน’ อาจเป็นเจ้าตัวที่รู้ตัว หรืออาจไม่รู้ แต่คนรอบข้างสังเกตเห็นว่าไม่เหมือนเดิม
The MATTER : คนอกหัก หรือคนผิดหวังกับชีวิตในเรื่องต่างๆ ทุกคนต้องมีภาวะที่แปลกไปจากปกติเสมอไม่ใช่เหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่เสมอครับ เวลาเราคิดว่าอะไรเสมอไป อาจจะไม่จริงแล้ว อกหักไม่ใช่สถานการณ์ปกติ นอกจากบางคนจีบบ่อยแล้วแห้วบ่อยนะ (ยิ้ม) เช่น ผมโดนผู้ร้ายจับไปทารุณกรรม หรือเห็นคนโดนรถชนต่อหน้าต่อตา ถ้าเป็นแบบนั้น สุขภาพจิตผมควรเป็นยังไง ก็ต้องกระเทือนกันบ้างไหม แต่นั่นผมเจอสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่สถานการณ์ที่เจอทุกๆ วัน
The MATTER : ถ้าคนอกหักแล้วเศร้าเป็นเดือนๆ แบบนี้เข้าข่ายป่วยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เศร้าเนี่ย นิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ บางคนบอกเศร้าจังเลย ยังชวนเพื่อนไปกินเหล้าขำๆ ได้ กลับมานอน คิดถึงแฟนเก่า แล้วร้องไห้ แบบนี้อารมณ์มันยังขึ้นๆ ลงๆ แต่ถ้าเศร้าแล้วพูดน้อย เดินตาลอย หน้าอมทุกข์ อารมณ์แย่อย่างแน่นิ่ง มันเป็นอีกแบบ
ชื่อโรคซึมเศร้าคือ depression มันไม่ใช่ sad นะครับ sad มันอารมณ์ปกติมนุษย์ต้องมี
The MATTER : แบบหลังเป็นนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าป่วย
ผศ.นพ.ภุชงค์ : มันไม่ใช่ตัดแค่เวลาเสมอไป มันเป็นเรื่องความหนักด้วย ชื่อโรคซึมเศร้าคือ depression มันไม่ใช่ sad นะครับ sad มันอารมณ์ปกติมนุษย์ต้องมี ซึ่งเจ้าตัวจะรู้ว่าแค่ไหนเยอะกว่าปกติ คือเป็นจากสมองส่วนอารมณ์เสียเลย ตอนเศร้าจะดิ่งท้อแท้ เซ็ง หาความสุขไม่ได้เลย และคิดไปว่าชีวิตต้องเป็นแบบนี้ ไม่มีทางดีขึ้นหรอก คิดบวกไม่ขึ้นเลย
เวลาหมอจะบอกว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย เราตัดสินในระดับพฤติกรรมครับ เราไม่วินิจฉัยในระดับความคิด เพราะความคิดมันอะไรก็ได้
The MATTER : คนคิดว่า ‘ไม่มีใครรักฉัน’ คิดอยู่เรื่อยๆ คิดอยู่ตลอด มีแนวโน้มว่าป่วยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่หรอกครับ ต้องดูเหตุผล ความคิดเดี่ยวๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าการคิดว่าไม่มีใครรักตลอดเวลา แล้วใช้ชีวิตไม่ได้ เป็นอีกเรื่องนะครับ เอาจริงๆ เราแน่ใจได้ยังไงว่าเขาโตมาแล้วไม่ได้เจอแบบนั้นจริงๆ เช่น คนเกิดมาเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เอาไปทิ้งถังขยะแต่ทารก จะแปลกมากไหมถ้าเขารู้สึกว่าไม่มีใครรักเขา
The MATTER : ถ้าเขาคิดแบบนั้นซ้ำไปซ้ำมา ไม่ถือว่าป่วยเหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่ป่วยครับ เป็นแค่ความเชื่อ ไม่ต่างจากการเชื่อว่ามีคนรักหรอกมั้ง ความเชื่อนั้นจริงไม่จริงหรือมีผลยังไงกับชีวิตก็ว่ากันไป เวลาหมอจะบอกว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย เราตัดสินในระดับพฤติกรรมครับ เราไม่วินิจฉัยในระดับความคิด เพราะความคิดมันอะไรก็ได้
The MATTER : ถ้าคนๆ นั้นรู้สึกว่า ‘ชีวิตไม่มีค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่’ แต่ทำงานได้ปกติทุกวัน ถือว่าป่วยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่ป่วยครับ จนกว่าจะมีข้อมูลอื่นๆ
The MATTER : แต่หลายคนที่ป่วยก็ใช้ชีวิตได้ปกติได้ไม่ใช่เหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ใช้ชีวิตยังไงก็มีหลายระดับอีกครับ ถ้าคุณมีเงิน วันๆ เดินไปเซเว่น ซื้อข้าว แล้วกลับมานั่งเล่นโทรศัพท์ ไปเซเว่น ซื้อข้าวเย็น กินอิ่ม แล้วก็นอน แบบนี้เรียกว่าใช้ชีวิตไหม ก็ใช้ แต่ฟังก์ชั่นมันน้อย แต่ถ้าคุณเป็นครีเอทีฟ กำกับหนัง เขียนบท ช่วงซึมเศร้าเขียนอะไรไม่ออกเลย อันนี้ก็อีกแบบ เจ้าตัวคงมองว่าใช้ชีวิตไม่ได้
The MATTER : แสดงว่าป่วยหรือไม่ป่วย อยู่ที่การใช้ชีวิตว่า ปกติ หรือ ไม่ปกติ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เป็นปัจจัยนึงครับ ที่ถามนี้กำลังถกว่าอะไรปกติหรือไม่ปกติ แต่การทำงานของผมมีอีกเลเวล คือดูที่ทุกข์ไหม สบายใจดีหรือเปล่า ชีวิตอิสระดีไหม เช่น หมอคนนึงอาจเครียดอะไรสักอย่างแล้วมาปรึกษาผม อาจไม่ได้ปรึกษาว่าเป็นโรคอะไร แต่คุยปัญหาชีวิตเขา แล้วดูกันว่าเขาติดขัดตรงไหน ก็แนะนำเขา
เวลามีคนมาหา ถ้าผมมองว่าเขาไม่ป่วย เขาก็ไม่ป่วย ทุกข์เรื่องอะไรก็คุยกันไป ถ้าเขาคิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่ผมเห็นว่าเขาป่วย ก็บอกไป
The MATTER : การไปหาจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่าต้องป่วยเสมอไป
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ใช่ครับ (หน้าตามั่นใจมาก)
The MATTER : แต่ในบ้านเรา การไปหาจิตแพทย์ คนทั่วไปมักมองว่า เป็นคนบ้า
ผศ.นพ.ภุชงค์ : คนอื่นคิดยังไง เป็นภาพสะท้อนจากที่เราคิดยังไง ถ้าเราไม่คิดแบบนั้น ใครคิดยังไงก็เรื่องของเขา เราต่างหากที่ไปคิดว่าเขาคิด เวลามีคนมาหา ถ้าผมมองว่าเขาไม่ป่วย เขาก็ไม่ป่วย ทุกข์เรื่องอะไรก็คุยกันไป ถ้าเขาคิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่ผมเห็นว่าเขาป่วย ก็บอกไป “คุณเข้าข่ายโรคซึมเศร้าแล้วนะ ลองทานยาดูไหม มันจะช่วยปรับสมอง” ถ้าเขาบอกว่า ไม่ครับหมอ ผมจะลองแก้ปัญหาชีวิตดู ผมโอเค ไม่บีบบังคับ จนกว่าความป่วยนั้นถึงขั้นวิกลจริต เช่น เขาได้ยินเสียงหูแว่วมีคนคุยด้วยตลอดเวลา จะตามไล่ฆ่าแต่หาตัวไม่เจอ เขาเครียดมาก นั่งคุยกับผมหันซ้ายหันขวาตลอดเวลา แบบนี้ผมต้องบังคับรักษาแล้ว มันหลุดเกินเรียลลิตี้ไปแล้ว ปล่อยออกไปข้างนอกก็เสี่ยงต่อตัวเอง เสี่ยงกับคนอื่น
เคยมีเคสนึง เจ้าตัวคิดว่าไม่ป่วย ผมบีบเขารักษา ตาม รปภ. มาจับ เขาชี้หน้าผมเลยนะ “อย่าให้กูออกไปได้นะ มึงตาย” เคสนั้นผมตั้งใจรักษามาก เพราะกลัวเขามาฆ่า (หัวเราะ) พอเขาหาย ได้คุยกันเขาก็ขอโทษผมนะ ตอนแรกเขาระแวงผม เขาคิดว่าผมเป็นพวกเดียวกับมัน มันที่อยู่ในความคิดเขา เคสที่เล่านี่เป็นงานอีกแบบของผม แบบป่วยเลย
The MATTER : แบบทดสอบในอินเทอร์เน็ตที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการ เรานำมาวินิจฉัยตัวเองได้เลยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : แบบทดสอบทางการแพทย์มี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือแบบทดสอบเพื่อคัดกรองคนที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ใช่หรือไม่ใช่อีกเรื่อง เช่น ผมเป็นผู้กำกับหนัง อยากได้พระเอกคนใหม่ เลยประกาศไปว่า “รับสมัครนักแสดงชาย หน้าตาดี อายุ 20 เล่นเปียโนได้” ผมคงได้มาเป็นร้อยคน แล้วมาดูทีละคน เวลากรมสุขภาพจิตลงชุมชน แทนที่จะไล่คุยทุกคน เราแจกกระดาษไปก่อน ติ๊กดู ใครคะแนนเยอะก็ชวนมาคุย แต่ปัญหาอยู่ตรงที่บางคนรู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่ไม่ติ๊กเพราะไม่อยากโดนจับได้ ไม่อยากเสียเวลามา ส่วนพวกติ๊กเวอร์คะแนนเยอะ พอมาคุยจะรู้ว่าไม่ใช่ไง
แบบที่สอง เครื่องมือวัดระดับอาการต่างๆ เช่น ระหว่างรักษา ผมคิดว่าเขาดีขึ้นแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าคนไข้ดีขึ้นไหมอย่างมีหลักฐานก็ใช้เครื่องมือวัดระดับซึมเศร้า เข้ามาใหม่ๆ อาการหนักเต็ม 30 รักษาไปหนึ่งสัปดาห์คะแนนความรุนแรงเหลือ 20 รักษาไปอีกเหลือ 15 พอเหลือ 10 ก็โอเคแล้ว กลับบ้านได้ แต่ตัวเลขนี้อันนี้สมมตินะ
The MATTER : เวลาคนไข้มาหา สิ่งที่จิตแพทย์จะถาม หนึ่ง สอง สาม สี่ คืออะไร
ผศ.นพ.ภุชงค์ : คำถามทั่วๆ ไปเลยครับ เป็นอะไรมา อยากให้ช่วยอะไร เรื่องเป็นยังไง ค่อยๆ คุยไป ถ้าเขาบอกว่าเศร้ามาก เศร้ามาตั้งแต่เมื่อไร เป็นมาหนึ่งเดือน เดือนที่ผ่านมาชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง เราถามทั้งเรื่องที่ทำให้เป็น และที่เป็นคือเป็นยังไงบ้าง เช่น นอนไม่หลับเลย คือนอนไม่หลับทั้งคืน หรือไปง่วงตอนตีสามตีสี่ หรือหลับแล้วตื่นนอนต่อไม่ได้ หรือถ้าเขาบอกว่าเบื่ออาหาร ผมก็ถามถึงขนาดน้ำหนักว่าน้ำหนักลดเลยไหม หรือบอกว่าไม่อยากอยู่ ผมก็ถามถึงขั้นวางแผนลงมือทำอะไรเลยไหม ผมทำความเข้าใจอาการต่างๆ ว่าหนักหนาแค่ไหน เป็นมานานหรือยัง แต่คงไม่ได้มีขั้นๆ ชัดเจนหนึ่งสองสามสี่นะ
The MATTER : ถ้าคุยแล้วรู้สึกว่ามีแนวโน้มจะป่วย สิ่งที่จะทำต่อคืออะไร
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ผมก็บอกเขาว่า “หมอสันนิษฐานว่า คุณกำลังป่วย ลองกินยาดูไหม แล้วดูว่าผลเป็นยังไง” การกินยาไม่ได้อันตรายนะครับ ต่อให้คนอกหัก หงุดหงิดตัวเอง กินยาไปยังดีขึ้นเลยครับ ผู้หญิงที่อารมณ์ไม่ดีตอนมีประจำเดือน บางทีกินยาแล้วสงบนะครับ ผมรู้ว่ายามันปรับสมองได้ก็แนะนำ
The MATTER : ในทางการแพทย์ ยาโรคซึมเศร้า ใครกินก็ได้เหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : คงไม่มีใครกินเล่นหรอกครับ มันไม่ใช่ยาแก้เครียดแบบกินเหล้าแล้วหายเครียดนะ มันต้องกินต่อเนื่องสักพัก ระบบการทำงานสมองที่ผูกกับอารมณ์ในทางลบถึงจะดีขึ้น
The MATTER : ถ้าเขาบอกว่า ยังไงก็ไม่กินยา หมอก็ไม่บังคับเหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ใช่ครับ แต่ถ้าผมอยากเชียร์ก็จะเกลี้ยกล่อม กินเถอะ ลองดู ถามเขาว่าไม่อยากกินเพราะอะไร กลัวตับพังไตพังเหรอ ไม่พังหรอก กลัวติดยาเหรอ ไม่ติดหรอก ไม่ใช่ยาเสพติด
The MATTER : ถ้าสุดท้ายเขาไม่กินอยู่ดีล่ะ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : คนทุกข์คือเขาครับ บางคนต้องการพิสูจน์ตัวเอง “กูไม่พึ่งยา!” ได้ พิสูจน์เลย ถ้าดีได้หมอก็ดีใจด้วย ถ้าไม่ได้ก็ลองกินยาไหม สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ผมต้องมีความสัมพันธ์กับเขา ถ้าเริ่มมาก็ไปบีบบังคับแล้ว ความสัมพันธ์ก็ไปต่อไม่ได้
The MATTER : เวลารู้ว่าคนตรงหน้าป่วย เราเลือกยังไงว่าคนไหนกินยา คนไหนทำจิตบำบัด
ผศ.นพ.ภุชงค์ : มันไม่มีเกณฑ์ตายตัว ต้องดูก่อน สมมุติว่าคนนึงเป็นโรคซึมเศร้า เข้าเกณฑ์ครบ เจ้าตัวไม่รู้ว่าประเด็นที่ติดขัดคืออะไรเลย ผมจับประเด็นไม่ได้เลย ก็อาจให้ลองกินยา ขณะที่ผู้หญิงโดนแฟนทิ้ง ซึมเศร้ามาสองสัปดาห์ ผมอาจลองคุยเพื่อเวิร์กประเด็นนี้ก่อน หรือบางคนนอนไม่ได้ หน้ามึนมาเลย คุยด้วยแล้วน้ำตาไหลพรากๆ อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ผมคงชวนกินยา
โรคซึมเศร้า ถ้ากินยาตัวแรกแล้วไม่หาย ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นโรคซึมเศร้านะ อาจกินตัวที่สองแล้วหายก็ได้ เวลาเปลี่ยนยาผมก็ดูจากอาการของเขา
The MATTER : คนไข้บางคนกินยาแล้วเห็นความแตกต่าง รุ่งขึ้นรู้สึกดีขึ้นเลย ขณะที่บางคนกินยาแล้วไม่เห็นความต่าง หมอบางคนแนะนำให้หยุดยา บางคนบอกให้กินต่อ บางคนให้เปลี่ยนยา ทฤษฎีบอกไว้หลากหลาย เราจะรู้ได้ยังไงว่าควรไปทางไหน
ผศ.นพ.ภุชงค์ : หมอก็อยากรู้ครับ (ยิ้ม) ทั้งหมดที่มีเป็นแค่ข้อมูล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณจริงๆ ไม่มีใครรู้ ถ้าข้อมูลบอกไว้ คุณลองเชื่อตามนั้น แล้วสังเกตตัวเองดู มันอาจเป็นหรือไม่เป็นตามนั้นก็ได้ ถ้ากินยาตัวนึงแล้วไม่ดีขึ้น ในทางการแพทย์มียาเป็นร้อยตัว ไม่ได้แปลกเลยที่ยาตัวนึงจะไม่เวิร์กกับบางคน อย่างโรคซึมเศร้า ถ้ากินยาตัวแรกแล้วไม่หาย ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นโรคซึมเศร้านะ อาจกินตัวที่สองแล้วหายก็ได้ เวลาเปลี่ยนยาผมก็ดูจากอาการของเขา มันอาจบอกลักษณะของสารเคมีในสมองได้ อยากได้ยาแนวง่วงๆ หรือตื่นๆ หรือถ้ามีประวัติว่าแม่เคยป่วย ก็ถามว่ากินยาอะไรแล้วหาย ก็อาจสั่งตัวเดียวกันให้ตามกรรมพันธุ์
The MATTER : ถ้าคนๆ หนึ่งเศร้าบ่อยจนกลายเป็นค่ามาตรฐาน ความเศร้าไม่ใช่ความผิดปกติของเขาหรือเปล่า
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เรื่องนี้ตอบได้หลายมุมมอง ถ้ามองมุมบวก ที่เขามีชีวิตได้จนทุกวันนี้แสดงว่าการเศร้าทำให้เขาสมดุล ต่อให้ไม่ใช่สมดุลที่ดีนักมันก็คงฟังก์ชั่นและมีประโยชน์ในบางด้าน แต่ถ้ามุมมองการแพทย์ ก็ต้องดูว่าป่วยหรือไม่ป่วยแบบชัดเจน นั่นคือเขาป่วยมาตลอดแหละแต่มันยังไม่หนักพอให้เขาเป็นอะไรมาก
The MATTER : ถ้าคนๆ นึงป่วยมาตลอด แต่ชีวิตก็อยู่มาได้ปกติ เขาจำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองป่วยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ความจำเป็นที่ถามนี่ใครตัดสินล่ะครับ ถ้ามีไม้ล้มอยู่ในป่า ไม่มีคนได้ยิน มันก็ไม่มีใครรู้เลยใช่ไหม (หัวเราะ) ในทางการแพทย์เราไม่ได้ไล่ดูว่าใครปกติ งานของผมคืออยู่ที่โรงพยาบาลแล้วมีคนมาหา สมมติฐานของคำถามนี้มาจากจินตนาการ ถ้าไม่มีใครบอกว่าเขาผิดปกติ เขาเองไม่เดือดร้อน มันจะเกิดโจทย์ข้อนี้ได้ยังไง
The MATTER : หลักสูตรการเรียนจิตเวชศาสตร์ มีการพูดถึงธรรมะในฐานะเครื่องมือการบำบัดยังไงบ้าง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : หลายปีที่ผ่านมา การบำบัดแบบ Mindfulness บูมขึ้นทั้งในระดับวิชาการของวงการแพทย์ระดับสากล หรือในไทย อาจารย์แพทย์อาวุโสหลายท่านหันหาธรรมะแล้วมีความสุขกับการปฏิบัติ อยากให้ลูกศิษย์ได้ลิ้มรสบ้าง เริ่มชักชวนให้ลอง อาจารย์ก็มีความสุขที่ได้เผยแพร่ ค่อยๆ เริ่มแทรกไว้ในหลักสูตร
ผมจำปีไม่ได้ ไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมาหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านของจิตเวชมีการอบรมจิตบำบัดแนวพุทธ จากการรวมตัวของอาจารย์แพทย์จำนวนหนึ่ง พยายามโชว์ให้แพทย์ประจำบ้านเห็นว่า เราจะเอาพุทธศาสนามาใช้กับการบำบัดได้ยังไง
ถ้าเขาเรียนซิกมันด์ ฟรอยด์ได้ ทำไมถึงเรียนของลอร์ดบุดด้าไม่ได้ล่ะ… แต่ผมว่ามันเกิดปัญหา เมื่อมีการระบุว่านี่คือธรรมะ! นี่คือพุทธ! จริงๆ มันไม่จำเป็น ก็แค่คอนเซ็ปต์ที่นักปรัชญาชาวอินเดียชื่อบุดด้าค้นพบ
The MATTER : การรวมตัวของอาจารย์แพทย์เพื่อสอนวิธีนำธรรมะมาเป็นส่วนหนึ่งกับการบำบัด ส่งผลดีต่อการบำบัดไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ผมคิดว่าส่งผลดีครับ เป็นโอกาสที่ทำให้น้องหมอรุ่นหลังได้เจอธรรมะบ้าง ส่วนจะชอบไม่ชอบ จะไปต่อกับแนวนี้ไหมก็แล้วแต่เขา แต่เขามีโอกาสได้รู้ว่าอาจารย์ที่ใช้พุทธศาสนาในการบำบัดว่าใช้ยังไง เราไม่ได้ชวนไปทำพิธีพุทธมามกะ เราแค่อธิบายว่าลอร์ดบุดด้าว่าไว้ยังไง ถ้าเขาเรียนซิกมันด์ ฟรอยด์ได้ ทำไมถึงเรียนของลอร์ดบุดด้าไม่ได้ล่ะ
The MATTER : ธรรมะแนวพุทธช่วยในการบำบัดจริงไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : จริงครับ แต่ผมว่ามันเกิดปัญหา เมื่อมีการระบุว่านี่คือธรรมะ! นี่คือพุทธ! จริงๆ มันไม่จำเป็น ก็แค่คอนเซ็ปต์ที่นักปรัชญาชาวอินเดียชื่อ บุดด้า ค้นพบ
The MATTER : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์มีมานานแล้ว ทำไมจู่ๆ ถึงมีการผนวกพุทธเข้ากับการทำจิตบำบัด
ผศ.นพ.ภุชงค์ : การเรียนการสอนมันขึ้นกับอาจารย์ เราคิดว่าอะไรดี เราก็อยากให้ลูกศิษย์เรียน ถ้าเจออาจารย์ธรรมะธัมโมมาก แล้วคุณรู้สึกว่าที่อาจารย์ดูมีความสุขเพราะการปฏิบัติ อาจารย์ชวนเลยลองดู คุณเกิดประจักษ์แจ้งแก่ใจ ซึ้งรสพระธรรมไปตามอาจารย์ มันเป็นรูปแบบการสอน นั่นคือประสบการณ์หนึ่งต่อหนึ่ง แต่สาขาจิตเวชเป็นวงการเล็กๆ ถ้าอาจารย์ท่านที่สอนพุทธศาสนาเก่งอยู่รามาฯ อยู่เชียงใหม่ เด็กจุฬาฯ ก็อาจอดเรียน เลยต้องจัดเป็นเวิร์กช็อปเพื่อให้แพทย์ประจำบ้านจากที่ต่างๆ ทุกที่ได้เจอ
The MATTER : ในยุโรปหรืออเมริกา มีจิตวิทยาแนวคริสต์บ้างไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : มักจะไม่มีครับ ระบบวิชาการของต่างประเทศพยายามจะไม่ขึ้นกับศาสนา การกำเนิดของ Oxford หรือ Cambridge คือการหนีอำนาจรัฐและอำนาจศาสนจักร ในวงการทางตะวันตกเขาพูดกันเรื่องหลักฐานทางการแพทย์ ใช้งานวิจัย สมมติผมไปพูดกับฝรั่งว่า “จิตวิทยาแนวพุทธดีนะ” เขาตอบว่า “เหรอ ไหนหลักฐาน ขอดูเปเปอร์” ถ้าหลักฐานวิจัยดี เขาคิดว่าผมไม่มั่วเขาก็เห็นด้วย แต่สไตล์ไทยมักเริ่มต้นด้วยศรัทธา ต่อให้ผมทำเปเปอร์ออกมาว่าใช้การบำบัดแนวพุทธแล้วคนไข้ไม่ค่อยดีขึ้น คนก็ตั้งคำถามว่า “คุณทำเป็นหรือเปล่า คุณพุทธแท้ไหม”
The MATTER : วิธีหนึ่งเชื่อในหลักฐานจับต้องได้ อีกวิธีเชื่อในสิ่งที่ตัวเองค้นพบ มันบอกได้ไหมว่าอะไรดีกว่าอะไร
ผศ.นพ.ภุชงค์ : จริงๆ แบบบ้านเราก็มีหลักฐาน แต่เป็นหลักฐานที่เจ้าตัวประจักษ์แจ้งแก่ใจ เป็นปัจจัตตัง คำถามคุณทำให้ผมต้องพยายามเอาให้ชัด ซึ่งไม่อยากตอบแบบนั้นครับ เหตุปัจจัยมันซับซ้อน เช่น ถ้าคุณไม่สบาย คุณอยากไปหาหมอที่มีเปเปอร์ว่ารักษาคนได้เยอะ หรือไปหาหมอที่เพื่อนบอกว่าคนนี้เก่งล่ะ
The MATTER : หมอที่เพื่อนแนะนำ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : แบบนี้คุณก็ไม่เชื่อหลักฐานสิ เพื่อนคุณแค่เสียงเดียวนะ แต่ถามว่าคุณผิดเหรอ ไม่ผิด สุดท้ายต้องไปลองเอง ซึ่งอยู่ที่ว่าคุณถูกใจสไตล์อาจารย์ท่านนั้นหรือเปล่า หรือวันนั้นอาจารย์ท่านนั้นพร้อมหรือเปล่า ถ้าวันนั้นหมอเพิ่งทะเลาะกับเมียมาก็อาจไม่มีอารมณ์ช่วยคุยมากก็ได้
The MATTER : คนป่วยจำนวนไม่น้อยไปหาจิตแพทย์ แล้วมีปัญหากับการใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ หมอมองเรื่องนี้ยังไง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่เสมอไปครับ คนไข้บางคนชอบนะ คนที่ศรัทธาอยู่ก่อน พอพูดคีย์เวิร์ดธรรมะหน่อยนี่ตาเป็นประกายนะ เหมือนบอกรหัสว่าเป็นพวกเดียวกัน มันมีทั้งคนชอบ ไม่ชอบ และเฉยๆ
The MATTER : การที่หมอคนหนึ่งโยนแนวทางแบบธรรมะให้ผู้ป่วย ถือว่าเป็นปัญหาไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่ครับ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณตอนโยนไป ถ้าคนไข้กำลังจะจมน้ำ โยนไปแล้วเขาเห็นว่าเป็นห่วง เกาะได้ ก็ดี มันอาจจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็ได้ การคิดว่าต้องใช้ธรรมะหรือต้องไม่ใช้ธรรมะ (ทำมือเป็นสองฝั่ง) นี่เป็นปัญหา มันสุดโต่งเกิน ผมไม่ได้พูดในนามของอะไร แต่การคิดว่าใช้ธรรมะไม่ได้ มันตัดโอกาส เพราะไม่ใช่ว่าได้แน่ หรือไม่ได้แน่ ถ้าไม่ถูกใจ เป็นอารมณ์ของคุณ ผมไม่แย้ง แต่ถ้าจะบอกว่าธรรมะไม่ช่วยให้ดีขึ้นหรอก อันนี้เราสรุปไปเองนะครับ
The MATTER : ถ้าคนไข้เจอหมอที่ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ แล้วไม่ชอบเลย อึดอัด ไม่เอาแล้ว เขาควรทำยังไง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่ชอบก็ไม่ชอบ จะเปลี่ยนหมอก็ได้ หรือจะลองเปลี่ยนใจไหม ลองบ้างก็ได้นี่
The MATTER : หมอใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการบำบัดบ้างไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : อยู่ที่ระดับการตีความ บางอย่างที่ผมพูด คิดไปคิดมาก็คล้ายธรรมะ ผมไม่ได้คิดว่าต้องใช้หรือต้องไม่ใช้ ดูเป็นขณะไป วันนี้ตอนนี้นึกอะไรออกแล้วพูด
The MATTER : เคยพูดให้คนไข้ไปเข้าวัดไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เคยครับ แต่เวลาพูด ผมไม่ได้บอกว่า “คุณต้องไป!” ผมแค่แนะนำ เช่น นิสิตแพทย์บอกว่าตัวเองอารมณ์ร้อนมาก ฝึกไงดี ผมบอกไปว่า “ถ้ารู้ตัว มันระงับได้เร็วขึ้น คุณลองเข้าคอร์สเจริญสติไหม” บอกเท่านี้แหละครับ ทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่เขา ผมไม่ได้บอกทุกราย ดูแนว ดูสถานการณ์
The MATTER : ถ้าคนนั้นคลุมฮิญาบมาเลย คนละศาสนาแน่ๆ หมอจะใช้ธรรมะไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ก็ปรับภาษาให้เข้ากับเขา ไม่บาลี ถ้าเป็นสัจจธรรม เดี๋ยวก็เจอว่ามันจริงเอง
The MATTER : มีการเก็บสถิติทำงานวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในการใช้ธรรมะมาบำบัดบ้างไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องวิจัยอยู่แล้ว ไม่ได้มีใครทำหลักฐานแบบสรุปได้ชัดสุดๆ แต่ก็อย่างว่า คนชอบทำบำบัดก็มักไม่ใช่คนชอบวิจัย ถ้ามีเวลาเขามักคิดว่าไปคุยกับคนไข้ดีกว่าทำกระดาษ แต่การไม่มีงานวิจัยก็ไม่ได้สรุปว่าไม่เวิร์กนะครับ ถ้ามันเป็นยา ผมจะเอายาอะไรไม่รู้ไม่มีวิจัยรองรับมาให้คนไข้กิน มันผิด แต่การคุยไม่ใช่ยา มันขึ้นอยู่กับแต่ละประโยค แต่ละขณะ แต่ละบรรยากาศ
คนให้คงคิดว่า คนทุกข์กายคงต้องทุกข์ใจ อ่านหนังสือธรรมะแก้ปัญหา เลยมีหนังสือธรรมะเยอะมาก พอเขาเอาหนังสือธรรมะมาให้ ถ้าไม่รับ เราก็เป็นฝ่ายอธรรม
The MATTER : ทำไมหนังสือธรรมะในโรงพยาบาลถึงมากเป็นพิเศษ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : จริงๆ แล้วโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณสำหรับหนังสือเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลรัฐบาล เป็นหนังสือบริจาคทั้งนั้น คนที่ให้ต่างหากที่มองว่าธรรมะช่วยอะไร โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ศาสนา ถ้าไปโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เซนต์หลุยส์ เขาก็มีหนังสือไปทางคริสต์ ส่วนอิสลามผมไม่เคยไป ของพุทธมีตั้งแต่หนังสือสวดมนต์ หลวงพ่อท่านต่างๆ แนวธรรมกายก็มี คนให้คงคิดว่า คนทุกข์กายคงต้องทุกข์ใจ อ่านหนังสือธรรมะแก้ปัญหา เลยมีหนังสือธรรมะเยอะมาก พอเขาเอาหนังสือธรรมะมาให้ ถ้าไม่รับ เราก็เป็นฝ่ายอธรรม (หัวเราะ) โอเค วางไว้ บางครั้งผมก็ห่วงเรื่องคอนเซ็ปต์หนังสือไม่คงที่นะ บางทีได้หนังสือท่องสวรรค์ท่องนรก ปาฏิหาริย์ไปไหม ถ้าเผอิญไปเจอเล่มที่เสี่ยง บอกคนไข้ต้องทำบุญวิธีนั้นวิธีนี้ ชวนกินสมุนไพรหมอพระแนวๆ ผมก็บอกพยาบาลให้เก็บออก
The MATTER : บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการหนังสือเหล่านั้นเหรอ
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ไม่ใช่ไม่มีอำนาจ ผมว่าเขาไม่แคร์ เขาไม่ได้คำนึงถึง อย่างวารสารแนวสุขภาพช่วงที่ขายแล้วเหลือสต็อกก็มีคนเอามาบริจาค อาจมีโฆษณาแฝงที่หลอกขายของ ตรงนี้เป็นจุดที่ผู้บริหารโรงพยาบาลคิดน้อย มีอะไรมาวางไว้ก็โอเคแล้ว หรือบางทีเป็นนิตยสารแฟชั่นที่คุณพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อยากเอามาให้คนไข้ได้อ่าน ไม่ใช่เรื่องความตั้งใจหรอก แต่จริงๆ ในยุคปัจจุบัน ผมไม่ค่อยเห็นใครอ่านหนังสือ คนไข้นั่งรอก็เล่นมือถือ เลยคิดว่าไม่ใช่จุดที่ส่งผลมากนัก
The MATTER : บุคลากรทางการแพทย์ ควรคิดเรื่องการจัดการหนังสือเหล่านี้ไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ควรครับ แต่ผมไม่ใช่คนมาควบคุมโดยรวม ทำได้แค่โซนของตัวเอง
The MATTER : การต้องฟังเรื่องคนอื่นบ่อยๆ ส่งผลต่อหมอยังไงบ้าง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เอ็นจอยดีนะครับ ได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย บางกรณีก็สะท้อนเข้าตัวที่เราเป็นอยู่ว่าดีหรือไม่ดี (เงียบ) เหมือนคุณชอบอ่านหนังสือแล้วได้เป็นบรรณารักษ์ ผมชอบเรียนรู้คน มันเป็นอาชีพที่ทำมีคนมาให้เรียนรู้อยู่บ่อยๆ
The MATTER : ฟังเรื่องเศร้าบ่อยๆ ส่งผลยังไงบ้าง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ผมอาจรู้สึกว่า เทียบแล้วชีวิตตัวเองดี๊ดี หรือบางวันก็ได้คิดว่า โลกนี้ สังคมนี้น่าเศร้าว่ะ หรือบางรายก็ไม่รู้สึกอะไร แค่งาน หรือฟังแล้วอยากช่วยทำให้สังคมดีขึ้น มันขึ้นๆ ลงๆ ใจเป็นยังไง ผมก็ดูไป ไง ดูพุทธมั้ย
The MATTER : จิตแพทย์จำเป็นต้องแยกตัวเองออกจากเรื่องเล่าของคนไข้ไหม ไม่อินเกินไป รับฟัง บำบัด ทำงาน แล้วแยกย้าย
ผศ.นพ.ภุชงค์ : นั่นเป็นการมองโลกอย่างไม่เห็นเหตุปัจจัย การแยกตัวออกมาไม่ใช่เรียลลิตี้ เป็นความคิด โดยเฉพาะอาชีพจิตแพทย์ ผมไม่คิดว่าตัวเองต้องแยกขาดๆ แต่เวลารู้สึกอะไรขึ้นมา ผมดูที่ใจตัวเอง ไม่โทษว่าทุกข์เพราะคนอื่น แต่ดูเรื่องของเขามีความหมายอะไรในใจเรา ผมจะตอบสนองตัวเองยังไง มันไม่ใช่การพยายามตัดขาดๆ ว่า นี่ฉัน-นั่นเขา ความเป็นจริงมนุษย์ส่งผลถึงกันและกัน
The MATTER : เคยฟังเคสที่เศร้ามากๆ แล้วเศร้าไปด้วยไหม
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เคยครับ บางทีก็อึ้งๆ ไป แต่เศร้าของผมไม่ได้หลุดไปจากกฎธรรมชาติ ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แนวพุทธหน่อยนะ (ยิ้ม) ผมก็ไม่ได้เศร้าตลอด เดี๋ยวมันก็ดับไป ถ้าไม่ดับ ก็สงสัยเพราะผมเลือกที่จะคิดต่อ
ผมไม่คิดว่าการฟังเป็นทักษะล้วนๆ มันเป็นทัศนคติ… คำถามคือเราเลือกที่จะฟังคนตรงหน้าเราไหม บางทีเราสรุปเสร็จในใจหมดแล้ว คำพูดทั้งหมดของเขาเลยเป็นแค่ข้อแก้ตัวในมุมมองเรา ดังนั้นเราต้องอยากฟังก่อน
The MATTER : ทุกวันนี้การรับฟังกันเป็นสิ่งขาดแคลน อาชีพจิตแพทย์ต้องอยู่กับการฟังตลอด อยากให้ช่วยแนะนำว่าเราจะฝึกทักษะนี้ได้ยังไง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : (เงียบคิด) เวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร มันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ เช่น เราจะใช้เวลาตรงนี้กี่นาทีดี เรามีอะไรต้องทำมากมาย การฟังต้องใช้เวลา พอรู้สึกว่าต้องใช้เวลา เราเลยเริ่มไม่โอเค ถ้าต้องฟังไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะจบเมื่อไร ใจเราก็จะเร่งๆ ร้อนๆ เราฟังเพื่อแค่รอว่าเมื่อไรเขาจะพูดจบ เพื่อได้ตอบสนองสิ่งที่เราจะทำ ตอนนั้นสภาวะจิตสนแต่ตัวเอง ความใส่ใจเราไม่ได้อยู่กับความปรารถนาของเขา แต่ถ้าเราตั้งใจมาฟัง เผื่อเวลามาพอสมควร การฟังเป็นทักษะที่ทุกคนทำได้
ผมไม่คิดว่าการฟังเป็นทักษะล้วนๆ มันเป็นทัศนคติ คุณอยากฟังไหม เราไปฟังโน้ต อุดมพูดเป็นชั่วโมง เพราะเราอยากเอ็นจอย คำถามคือเราเลือกที่จะฟังคนตรงหน้าเราไหม บางทีเราสรุปเสร็จในใจหมดแล้ว คำพูดทั้งหมดของเขาเลยเป็นแค่ข้อแก้ตัวในมุมมองเรา ดังนั้นเราต้องอยากฟังก่อน
The MATTER : หมอคิดว่ามนุษย์เราอยู่เพื่ออะไร
ผศ.นพ.ภุชงค์ : นี่คือปัญหาของการตั้งคำถาม พอมีคำถาม เราเลยต้องหาคำตอบ จริงๆ ถ้าเราสงบ ใช้ชีวิตไปตามเหตุปัจจัย มันก็อยู่ไปได้ พอตั้งคำถาม มันก็ดิ้น ทั้งหมดนี้เป็นแค่การคิด คิดว่าจะอยู่เพื่ออะไร ไม่ใช่การอยู่จริงๆ
The MATTER : การอยู่จริงๆ เป็นยังไง
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ตอนนี้ (ขณะสัมภาษณ์ตอนบ่ายแก่ๆ ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง) เรานั่งอยู่ กินน้ำ กินขนม เดี๋ยวสักพัก ผมกลับบ้านไปกินข้าวเย็น เล่นกับลูก ดูเฟซบุ๊ก ตอบคนนั้นคนนี้ ง่วง แล้วก็นอน มันอาจเป็นชีวิตที่ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ผมพอใจ ก็อยู่ไป แล้วอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าล่ะ คิดแล้วก็ฟุ้งครับ ผมอาจโดนรถชนตายเดือนหน้าจากการปั่นจักรยานในเมืองก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าต้องไม่คิด หรือต้องคิดนะครับ (ทำมือแยกฝั่ง) ถ้าต้องไม่คิด คือหนีปัญหานะครับ กูไม่รับรู้ ไม่คิดๆๆ ผมจะคิดก็ได้ โอเค อยู่เพื่อลูก เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียให้มีความสุข เป็นพลเมืองดีของสังคม ผมเองก็หาความสุขของผมไป ตระเวณชิมโน่นนี่ เก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่น เที่ยวยุโรป ตรวจคนไข้ สอนหนังสือ
The MATTER : ทำไมคนในยุคปัจจุบันถึงหาความสุขยาก
ผศ.นพ.ภุชงค์ : เพราะหาไงครับ (ยิ้ม) พอรู้เยอะขึ้น มันง่ายมากที่เราไม่พอใจชีวิต เมื่อก่อนเราไม่รู้อะไรเยอะ เราใช้ชีวิตไปก็พอใจ เช่น ถ้าผมไม่เคยกินอาหารญี่ปุ่น มาวันนึงเพื่อนแชร์ภาพอาหารญี่ปุ่น เฮ้ย น่ากิน อยากไป เซ็ตโอมากาเสะ สี่พันกว่าบาท แพงว่ะ แต่สักหน่อยละกัน ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่เวลาผ่านไป มีอีกร้าน ครั้งหนึ่งในชีวิตอีกรอบ ไปๆ มาๆ ไปหลายครั้งหนึ่งในชีวิตแล้ว
The MATTER : กิเลสล้วนๆ เลย
ผศ.นพ.ภุชงค์ : กิเลสไม่ใช่เรื่องเป็นศัตรูอะไร ไม่ต้องต่อต้านขนาดนั้นก็ได้ พอเรารู้ว่าคิดไปเยอะ ไม่ค่อยสงบเท่าไร ผมว่าก็ไม่ต้องเกลียดตัวเองที่คิดหรอกครับ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ผมว่ามันง่ายมากที่เราจะรู้สึกว่าไม่โอเคที่ได้แค่นี้ ยุคนี้ทางเลือกมันเยอะ เรียกว่า ทุกข์ของการมีทางเลือก (หัวเราะ) กลัวไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด สังคมบริโภคนิยมผลักดันกันด้วยความอยาก มันเลยปลูกถ่ายกิเลสให้เรา เราอยู่กันมา วันนึงเจอสินค้านึง ก็อยากได้ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองควรมีตั้งนานแล้ว เมื่อก่อนเคยพอ ต่อมาก็ไม่พอ ต้องมีแล้ว
The MATTER : มุมมองของศาสนาบอกว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป หมอมองว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่ควรฆ่าตัวตาย
ผศ.นพ.ภุชงค์ : ควรหรือไม่ควรเป็นระบบความคิด ไปดูสาเหตุของการอยากฆ่าตัวตายก่อน ชีวิตไม่โอเคใช่ไหม ก็ทำชีวิตให้โอเคขึ้นสิ ถ้าเรารักใคร เราไม่อยากฆ่าหรอก ทำไมไม่รักตัวเองล่ะ ระดับลึกๆ ไม่มีใครไม่อยากรักตัวเองหรอก บางทีเขาอาจลืมไป
เราไม่ได้ใช้อารมณ์ความรู้สึก แต่ใช้ความคิดมาตั้งเกณฑ์ว่า เราต้องดีแค่ไหน เก่งแค่ไหน ทำตัวยังไง ถึงจะรักได้
The MATTER : คนที่ไม่รักตัวเอง จะฟื้นความรักตัวเองกลับมาได้จากอะไร
ผศ.นพ.ภุชงค์ : จากตัวเอง (ตอบทันที) โมเมนต์นั้น เราไม่ได้ใช้อารมณ์ความรู้สึก แต่ใช้ความคิดมาตั้งเกณฑ์ว่า เราต้องดีแค่ไหน เก่งแค่ไหน ทำตัวยังไง ถึงจะรักได้ การรักแบบมีเงื่อนไขไม่ได้พลังรักหรอกครับ เป็นพลังบีบคั้นและกดดัน ผมมีลูก ผมรักลูก อยากให้เรียนหนังสือเก่งก็อยากนะ แต่ถ้าเรียนไม่เก่ง ผมก็รัก สมมุติว่าในอนาคตลูกเกิดเสียคน เกิดติดยา ผมก็เสียใจนะ อาจจะโกรธนะ แต่ถ้าระลึกได้ว่า เรารักลูกนี่ คงต้องให้อภัยกันไปและหาทางช่วยเขา
ถ้าเรารักตัวเอง ถึงจะล้มเหลว เฮงซวยห่วยแตกแค่ไหน เราต้องช่วยสิครับ ทำให้ดีขึ้น ทำให้มีความสุข ไม่ใช่เกลียดตัวเองซ้ำ แต่อันนี้เป็นแค่ระดับไอเดียนะ ล้มเหลวก็อย่าเกลียดตัวเองสิ ถ้าคุณกำลังเฟลอยู่ แค่ผมพูด คุณคงไม่เปลี่ยนหรอก แต่คุณจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อคุณเห็นด้วย ต่อเมื่อมีทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า คนมีปัญหาเพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองเลือกได้ และไม่รู้ว่าจะสร้างทางเลือกใหม่ยังไง
ในภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange ซึ่งตัวหนังก็ไม่ได้อะไรมาก แต่ผมจำบทสนทนาได้อันนึง ตัวละครหนึ่งพูดว่า “ผมไม่มีทางเลือก” คนที่คุยด้วยบอกว่า “ไม่หรอก แค่จินตนาการคุณมีน้อยไป” พอคิดทางเลือกได้ก็ได้เลือก ทางเลือกไม่ได้มีเพียงอยู่หรือตาย ไม่ได้เพียงสุขกับทุกข์ ดีกับแย่ ระหว่างสองชั้วนั้นมีอะไรอื่นๆ อีกมากมาย พอเรารู้สึกว่ามีทางให้เลือก มันโล่งขึ้นนิดนึงนะ ใจมันเริ่มเปิดพื้นที่ พอเราเป็นผู้เลือก เรารู้สึกว่าตัวเองมีพลัง แต่พอเรารู้สึกต้องเลือกทางเลือกก็มีทั้งสองทาง แย่ทั้งคู่ด้วย เราเลยรู้สึกไม่มีพลัง