การเมืองสำหรับใครหลายคนอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ ดูไกลตัว นำมาพูดคุยกันที่ไรก็มีแต่ขัดแย้ง แต่ถ้าลองสังเกตกันจริงๆแล้ว จะเห็นว่ามีการเมืองไม่ได้อยู่ห่างไกลจากชีวิตเราไปเลย แต่กลับอยู่ในทุกที่ ทุกสังคม และเชื่อมโยงกับเราอยู่ในทุกระดับ
อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ เพื่อเปิดเวทีให้ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเมืองในหลายแง่มุม โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในงานได้แบ่งพูดคุยเป็น Panal ต่างๆที่เพื่อเจาะลึกในทุกๆประเด็นการเมืองที่ครอบคลุมทั้งไทย และโลก
มองการเมืองโลก: เมื่อจีนทะยานท้าทายสหรัฐฯ
ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาวิชาการต่างประเทศและจีนศึกษา มาพร้อมกับงานวิจัยเรื่อง ‘แสนยานุภาพทางทหารและบทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ’ ที่ฉายภาพพัฒนาการด้านการทหารของจีนหลังยุคสงครามเย็น
งานวิจัยนี้ ระบุว่า แสนยานุภาพของกองทัพจีนถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลังการพัฒนาเศรษฐกิจยุคเติ้งเสี่ยวผิง โดยจีนหันมาพัฒนากองทัพจีนที่ถูกมองว่าล้าหลัง ที่สำคัญคือมีกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นจากพัฒนาด้านความคิดความเชื่อ ก่อนขยายไปสู่ อาวุธ บุคลากร และโครงสร้างทางการทหาร
จีนหันมาทุ่มเทกับการพัฒนากองทัพ ด้วยการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากหลายชาติ และเรียนรู้จากโมเดลของต่างชาติ นำมาถอดประกอบใหม่ ซึ่งในตอนนี้จีนมีได้การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการพัฒนา สร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน ในทุกๆ 5 ปี ทำให้ในปี 2021 จีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งหมด 5 ลำ ซึ่งจะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินโดยใช้ระบบนิวเคลียร์ ที่ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพและแข่งขันกับกองทัพสหรัฐฯ ทั้งจีนยังมีการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านนิวเคลียร์ เพื่อใช้ต่อกรกับข้อพิพาทต่างๆ ทางด้านพื้นที่กับญี่ปุ่น หรือในด้านอวกาศ จีนก็ได้ทำการพัฒนา เริ่มส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า และสร้างสถานีติดตามดาวเทียมในอาร์เจนตินาแล้วด้วย
อ.จุลชีพ ยังชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ได้เพียงแค่พัฒนาศักยภาพทางทหารแต่ในเพียงประเทศตัวเอง แต่ยังเพิ่มความร่วมมือทางการทหารกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยการริเริ่มและเพิ่มการฝึกซ้อมรบระหว่างกันมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะประเทศอาเซียน รวมถึงไทยที่ก็ได้มีการฝึกซ้อมรบกันไปในปี 2016 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่นั้น จีนยังได้เริ่มการสร้างฐานทัพทางทหารของตนเองในต่างประเทศ เช่นประเทศจิบูตีในแถบแอฟริกาด้วย
ทั้งในปี 2015 จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพครั้งใหญ่ทั้งหมด ยุบรวมกองทัพทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศมารวมกัน โดยมีศูนย์กลางในการบริหารงานอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลาง เพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดี สามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น
โดยในปี 2021 จะเป็นการครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนจะถึงเวลานั้น เราคงได้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและทะยานขึ้นของจีนในด้านกำลังทางการทหาร เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกอีกแน่
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายประเทศที่มองการทะยานขึ้น และพยายามแสวงหาอำนาจของจีนในเวทีโลก ว่าไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามเช่นกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข พูดถึงเรื่องนี้ในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-อินเดีย และโครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยนไป’ โดยชี้ให้เห็นถึงการผนึกกำลังร่วมกันของญี่ปุ่นและอินเดียที่มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลการมีอำนาจในภูมิภาคเอเชีย จากยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมทางบกและทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งครอบคลุมเส้นทางธุรกิจทางรถไฟ และทางเดินเรือ ล้อมรอบอินเดีย และทั้งสองประเทศเองก็ไม่ได้มีส่วนในยุทธศาสตร์นี้ จึงเกิดเป็นโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาคานอำนาจจีนในการเมืองโลกนี้ด้วย
มองการเมืองไทย: เมื่อนอกเมืองไม่นอกการเมือง
ส่วน Panal ของสาขาวิชาปกครอง กับการเมืองในประเทศไทยของเรา ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘นอกเมืองไม่นอกการเมือง : พฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทย พ.ศ.2545 – พ.ศ.2554’ ซึ่งได้ชวนเสวนาและชี้ให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทย
งานวิจัยได้นี้ได้ศึกษาพื้นที่เล็กๆ หรือกลุ่มคนในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ที่ทำให้พฤติกรรมในการมีส่วนร่วมของคนเปลี่ยนแปลงไป ที่น่าสนใจคือ ในอดีตคนไทยมักมีความเชื่อว่าคนในชนบทมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะถูกจ้างมาด้วยเงิน ไม่ได้เข้าร่วมเพราะมีแรงขับเคลื่อนอย่างอื่น แต่ในปัจจุบันนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เรื่องความสนใจทางการเมือง และจิตวิทยาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแค่สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียว
จากการวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 70-75% และการออกไปเลือกตั้งยังเป็นพฤติกรรมทางการเมืองที่ง่ายที่สุดด้วย นอกจากนั้นจากสถิติ คนไทย 9 คนใน 100 คน ต่างก็เคยเข้าร่วมประท้วงหรือเดินขบวนทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในแบบของการประท้วง และเดินขบวนเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยด้วย
แต่จะเห็นได้ว่าคนที่เข้าร่วมทางการเมืองบางคนก็มีส่วนร่วมแบบมาๆ หายๆ และอีกกลุ่มก็จะเข้าร่วมแบบกระตือรือร้น ซึ่งจากปีพ.ศ. 2545 และ 2549 แสดงให้เห็นว่าคนมักเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้น แต่พอมาในปี 2553 และ 2557 คนมีแนวโน้มที่จะเบื่อการเมือง ปลีกตัวออก และไม่ค่อยเข้ามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่
ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยตัวแปรเดียวของพฤติกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 12 ปีของงานวิจัยนี้คือ การเข้าร่วมกลุ่มทางการเมือง และปัจจัยเรื่องชนบทนั้นก็ไม่สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมของคนไทยได้แล้ว เพราะในช่วงปี 2545-2553 คนในชนบทถูกปลุกมากขึ้น แต่ในปี 2553 คนเมืองกลับเข้ามามีส่วนร่วม รวมกลุ่มเป็นกระบวนการต่อต้านของชนชั้นกลางอีกครั้ง
อ.อรรถสิทธิ์ยังได้สรุปผลของงานวิจัยนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ คือการปล่อยให้เกิดการรวมกลุ่ม เพราะจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยขัดเกลาสังคม ทั้งยังเป็นสิ่งที่สร้างและรักษาประชาธิปไตย ให้คนเรียนรู้บรรทัดฐานการแลกเปลี่ยน เข้าใจกันและกันด้วย