การจ่ายตลาดดูจะเป็นกิจกรรมเก่าแก่ของมนุษย์ แน่ล่ะว่าเราต้องการวัตถุดิบที่สดใหม่ การไปเลือกซื้อของสดจึงเป็นทักษะ ความสนุกสนาน และความภูมิใจอย่างหนึ่ง ดังนั้น สำหรับคนทำอาหารหรือแม่บ้าน การมีสายตาและผัสสะที่แหลมคมจึงเป็นทักษะสำคัญในการเลือกซื้อของเข้าบ้าน สิ่งที่เรามักจะทำเวลาไปตลาดคือการเปิดประสาทการรับรู้ของเราให้กว้าง เราใช้การมอง จับ สัมผัส ดมกลิ่น เคาะ และการลิ้มรส เพื่อเลือกซื้อสิ่งที่สดใหม่และมีคุณภาพสูงสุดเข้าบ้าน
ตลาดเป็นพื้นที่แห่งความโกลาหล เป็นดินแดนที่ปลุกเร้าประสาทสัมผัสของเราได้อย่างเต็มที่ แต่พอถึงโลกสมัยใหม่นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของซูเปอร์มาร์เก็ต โลกสมัยใหม่ต้องการการจัดการ ต้องการระเบียบ ของสดใหม่ต่างๆ ที่กองสุมรอให้คนมาเลือกจึงเริ่มถูกคัด จัดสรร ใส่ห่อ และวางแยกบนชั้นอย่างเป็นระเบียบ ดูเหมือนว่า ในการจ่ายวัตถุดิบที่สดใหม่ เราจะใช้ประสาทสัมผัสของเราต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าน้อยลงเรื่อยๆ
ในประเทศจีน ดินแดนที่เราเคยคิดว่าเป็นสถานที่อันอึกทึกและแสนโกลาหล ล่าสุดจีนค่อนข้างรับและใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ เพื่อสร้างระบบและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต เงินสดก็เริ่มใช้กันน้อยจนแทบไม่ใช้เลย ทุกอย่างถูกจ่ายด้วยระบบออนไลน์ เทคโนโลยีสำคัญๆ ล้ำยุค เช่น ระบบตรวจจับใบหน้า การใช้ big data ในการบริหารจัดการข้อมูลที่ส่งผลในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระบบ AI มีคลังสินค้าที่ปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์อยู่ในนั้น จีนที่เคยโกลาหล – ในเมืองใหญ่ๆ ตอนนี้ – กำลังถูกจัดการด้วยเทคโนโลยีและระบบระเบียบที่มีประสิทธิภาพ
ดูเหมือนว่าเราค่อยๆ เข้าใกล้โลกที่วรรณกรรมไซไฟได้จินตนาการไว้ขึ้นทุกที
ว่าด้วยความสดในโลกออนไลน์
ถ้าเราบอกว่าการจ่ายตลาดน่าจะเป็นเรื่องของโลกออฟไลน์ เป็นดินแดนของของสดที่แสนวุ่นวาย และเราต้องใช้ความสามารถส่วนบุคคลในการแยกแยะจับจ่ายและเลือกซื้อ แต่เมื่อโลกเริ่มเปลี่ยนไป เราอาจจะไม่มีเวลาว่างในการไปจ่ายของอีกต่อไป และบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่สามารถใช้พลังของเทคโนโลยีในการเข้าจัดการกับการค้าที่แสนยาก – การค้าของสด
เมืองจีนถือเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมอาหารเข้มแข็งและเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก คนท้องที่บอกว่า คนจีนไม่กินของที่ไม่สด ทางบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนเองก็เริ่มลงมาจับการขายของสดและทำซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น เช่น JD.com หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซเองก็ใช้เทคโนโลยีและ big data เพื่อเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าสดด้วย
ทางบริษัทบอกว่า ด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่และระบบอัลกอริทึ่มที่บริษัทมี ทำให้สามารถจัดการทุกอย่างได้จากส่วนกลาง สามารถกะประเมินได้ว่าจะต้องลงของสดเท่าไหร่ถึงจะพอดีและมีอัตราเสียทิ้งน้อยที่สุด และด้วยความที่เป็นการชอปปิ้งออนไลน์ ข้อมูลของสินค้าทุกชิ้นจึงถูกใส่ไว้ในระบบ
ผักผลไม้และเนื้อสัตว์มีข้อมูลประกอบอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้เรารู้ได้ว่าผักนี้มันสดขนาดไหน ความสดถูกชี้วัดด้วยข้อมูลรายล้อมว่า เจ้าผักว่ามันมาจากที่ไหน ถูกตัดในตอนไหน ถูกขนมายังไง ด้วยรถหมายเลขทะเบียนอะไร
ด้วยรูปแบบการซื้อของและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เรารับรู้ความสดใหม่ผ่านตัวเลข ผ่านจินตนาการที่เรานึกถึงว่าสิ่งมีชีวิตนั้นๆ มันมีที่มาที่มาอย่างไร
‘การจับสัมผัสเป็นไปเพื่อความสนุก’ – โลกออนไลน์บนพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจริง
ด้วยความที่บริษัทจับสินค้าประเภทของสดแล้ว การค้าปลีกประเภทของสดจะมาออนไลน์อย่างเดียวมันก็ไม่ครบครัน อย่ากระนั้นเลย เลยเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นมาด้วย หลักๆ แล้วส่วนหนึ่งคือเติมเต็มประสบการณ์การจับจ่ายที่โลกออนไลน์ให้ไม่ได้ เช่น การซื้ออาหารและปรุงสุกรับประทานทันที
เจ้าซูเปอร์มาร์เก็ต 7Fresh นี้ก็ถือเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตล้ำสมัยอีกที่หนึ่งของจีน มีระบบการจัดการสินค้าด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ มีระบบจัดส่งสินค้าถึงบ้าน การันตีเวลาถึงในระยะสามกิโลเมตรภายในครึ่งชั่วโมง ในซูเปอร์มาร์เก็ตมีระบบสายพานเพื่อให้พนักงานส่งสินค้าไปสู่การจัดส่งได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ การเช็กสินค้าและจ่ายเงินด้วยระบบสแกนใบหน้า แถมทางบริษัทกำลังพัฒนารถเข็นอัตโนมัติที่เดินตามคนซื้อและจัดการสินค้าในตะกร้าไปพร้อมกันได้ ความล้ำนี้เป็นสิ่งที่คนจีนในเมืองใหญ่ๆ ค่อนข้างชินแล้ว เพราะบริษัทอีคอมเมิร์ซอื่น เช่น Alibaba ก็มี Hema Supermarket
ความสดเป็นจุดขายสำคัญ สินค้าเช่นผักบางประเภทจะอยู่บนชั้นแค่วันเดียวเท่านั้น (ที่ทำแบบนี้ได้เพราะ big data) และพวกสินค้าของสดต่างๆ จะมีวันที่ระบุชัดเจน มี QR code ให้เราสแกนเพื่อดูและรับรองว่าของในมือเรานี้สดใหม่และมาจากแหล่งไหน ขนาดของสดเช่นปลา คือตัวมันเองก็แสนจะสดเพราะว่ายน้ำอยู่ ปลาและอาหารทะเลบางตัวมีการฝังแถบแม่เหล็กไว้ ซึ่งเราสามารถเอามือถือไปส่องดูข้อมูลสินค้าของเจ้าปลาตัวนั้น
ในโลกของ big data ในการจับจ่ายของสด ดูเหมือนว่า เราจะไม่ต้องใช้ประสาทสัมผัสของเราในการคัดเลือกและคัดแยกอีกต่อไป ดูเหมือนว่าขนาดคุณป้าๆ ที่ชินกับการสัมผัสของสดเพื่อรับรู้ความสดใหม่ ในซูเปอร์กึ่งออนไลน์นี้ก็ไม่ค่อยเอามือไปแตะ ไปจับผักผลไม้กันเท่าไหร่
ก็จริงอยู่ที่เดี๋ยวนี้เราแทบไม่ต้องจับสัมผัสหรือพิสูจน์ความสดอะไรด้วยตัวเองเลย ข้อมูลต่างหากเป็นสิ่งที่การันตีว่าสินค้าที่มีอยู่สดขนาดไหน การจับสัมผัสของสดนั้นดูจะเป็นสิ่งที่ทำ ‘เพื่อความสนุก’ มากกว่าจะเป็นฟังก์ชั่นอย่างที่เราเคยทำกันในตลาด
เคยมีนิทานเรื่องหนึ่งว่าด้วยการทำแผนที่ เมื่อเจ้าเมืองให้ช่างสร้างแผนที่ใหญ่และเทียบเท่ากับของจริงเข้าเรื่อยๆ จุดหนึ่งแผนที่เลยกลายเป็นขนาดหนึ่งต่อหนึ่งและปกคลุมเมืองนั้น นักคิดชี้ให้เห็นการทับซ้อนกันของ ‘โลกเสมือน’ และ ‘โลกแห่งความจริง’
เราอาจเคยเจอว่าเราดูกูเกิลแมปแต่มันดันไม่ตรงกับถนนตรงหน้า เราจะเชื่อถนนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าหรือเชื่อในข้อมูลจากโลกดิจิทัล – ยอมรับเถอะว่าหลายครั้งที่เราลังเลและอยากจะไว้ใจข้อมูลในโลกเสมือนมากกว่า
ในโลกดิจิทัลเรารับรู้และประมวลผลโลกแห่งความจริงด้วยปัจจัยที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
ตอนนี้ แม้แต่กิจกรรมที่แสนจะออฟไลน์ในที่สุดก็ยุ่งขิงปะปนไปกับโลกเสมือน (virtual) พฤติกรรมของผู้คนก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ขนาดความสดใหม่ที่เป็นเรื่องของเนื้อหนัง ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงหน้า เรากลับมีสิ่งอ้างอิงเป็นข้อมูลในโลกเสมือน ปัจจัยที่เราจะสัมผัสความสดใหม่ได้อาจไม่ใช่เรื่องของวัตถุตรงหน้า แต่คือการตีความข้อมูลที่ถูกเก็บบันทึกเอาไว้ในระบบ
โลกเทคโนโลยีเต็มขั้นอาจจะฟังดูน่าหวาดหวั่นนิดหน่อย ท่ามกลางคำถามเรื่องความเป็นส่วนตัว การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนการถูกจับจ้องในทุกฝีก้าว แต่สุดท้ายการรับเอาวิทยาการ เอาเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เป็นระบบขึ้น ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความก้าวหน้า’ (progress) ของเรา พร้อมกันนั้น พฤติกรรมเดิมๆ บางอย่างก็อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
วันหนึ่งเราอาจจะไม่ชอบสัมผัส ชอบจับกันอีกต่อไป เราอาจจะชอบอะไรที่สะอาด เป็นระบบ เป็นระเบียบ มากกว่าความยุ่งเหยิง เลอะเทอะ เอ๊ะ หรือว่าความเลอะเทอะก็จำเป็น เพราะเราก็ยังชอบสัมผัสและความสนุกอยู่ดี…หมายถึงการไปจ่ายของสดเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Simulacra and Simulation by Jean Baudrillard