ความกลัวและการไม่กล้าเสี่ยงคืออุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ความกลัวทำให้สิ่งที่เป็นไปได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และมักถูกสร้างขึ้นมาล้อมกรอบความคิดของตนเอง และหยุดยั้งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
คนส่วนใหญ่ยับยั้งความคิดของตัวเองเพียงเพราะสรุปเอาเองโดยไม่รู้ตัวว่า มีอุปสรรค ข้อจำกัด ขอบเขต และข้อบังคับ ทั้งที่มันไม่ได้มีอยู่จริง Jack Foster ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงโฆษณาซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มายาวนานกว่า 40 ปี เคยให้นักศึกษาพับเครื่องบินกระดาษและปาข้ามไปยังผนังห้องอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 20 ฟุต พวกเขาพับเครื่องบินสารพัดแบบ แต่ไม่มีชิ้นไหนเลยที่สามารถพุ่งไปถึงผนังห้องอีกด้านหนึ่งได้ ในที่สุดเขาก็ขยำกระดาษจนเป็นก้อนกลมๆ แล้วขว้างไปยังผนังอีกด้านหนึ่งได้สำเร็จ ใครบอกล่ะว่าเครื่องบินกระดาษต้องหน้าตาเหมือนเครื่องบินกระดาษ?
ถ้ามัวแต่กลัวก็จะไม่ได้เริ่ม และถ้าไม่ได้เริ่มก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะความกลัวเป็นตัวขัดขวางศักยภาพของเราอย่างรุนแรง ความกล้าที่จะเสี่ยงและทดลองสิ่งใหม่จึงสำคัญมาก แม้แต่ Brian Tracy นักพูดมืออาชีพ ผู้ฝึกอบรม และที่ปรึกษาชื่อก้องโลก ยังเคยกล่าวถึงหนทางสู่ความสำเร็จไว้ว่า “การเอาชนะความกลัวคือสิ่งที่ต้องทำเพื่อความสำเร็จ อนาคตเป็นของผู้กล้าเสี่ยง ไม่ใช่ผู้มองหาความมั่นคง” ก็อย่างที่ว่า หากไม่กล้าที่จะเสี่ยงก็จะติดอยู่แต่ในสิ่งเดิม ใช้ในวิธีการหรือแนวทางเดิมๆ ผลก็คือไม่ได้พัฒนาไปไหน การยึดติดกับสิ่งที่มีอาจจะมีความมั่นคง แต่คาดเดาได้ จึงขาดความน่าตื่นเต้น ถ้าไม่กล้าที่จะเสี่ยง สิ่งที่แน่นอนก็คือจะไม่เสียอะไรแต่ก็จะไม่ได้อะไรเช่นเดียวกัน
ทำไมถึงต้องอยู่ในกรอบ?
ความกลัวทำให้เรากำหนดกรอบความคิดของตัวเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่การทำอะไรโดยไม่ติดอยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ หรือที่เรียกว่าการคิดนอกกรอบเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพราะเมื่ออยู่นอกกรอบแล้วเราจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ขึ้นมาได้ การยึดติดอยู่กับข้อจำกัดต่างๆ มันออกจะตายตัวเกินไปหน่อย จนเป็นตัวปิดกั้นความคิดที่น่าสนใจออกไปมากมาย
คนส่วนใหญ่ยับยั้งความคิดของตัวเองเพียงเพราะสรุปเอาเองว่า มีขอบเขต ข้อจำกัด แต่บางครั้งเราเองนั่นแหละที่เป็นคนสร้างข้อบังคับเหล่านั้นขึ้นมา หากเปรียบกับการถ่ายภาพสักภาพ หลายๆ คนก็คงคุ้นชิน (โดยไม่รู้ตัว) กับกรอบความคิดที่ว่าต้องถ่ายภาพตอนทุกสิ่งหยุดนิ่ง ไม่งั้นเราคงไม่ต้องเก๊กหน้า ยิ้มแช่ หรืออยู่นิ่งๆ ค้างไว้จนกว่าคนถ่ายจะกดแชะ! แต่อันที่จริงการกดบันทึกภาพเวลาสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองเคลื่อนไหว มันก็สวยไปอีกแบบหรือเปล่านะ ถึงแม้บางครั้งภาพมันจะเบลอก็ตาม แต่อย่างน้อยมันก็จะเป็นภาพที่แตกต่างจากคนอื่นๆ แน่ๆ
ทำไมถึงต้องกลัว?
เคยถามตัวเองมั้ยว่าถ้าไม่กลัวเราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้บ้าง ไปได้ไกลกว่านี้สักแค่ไหน ถ้ามัวแต่กลัว หรือกังวลไม่กล้าทำสิ่งใหม่ เราก็จะไม่มีวันรู้เลยว่าตนเองมีศักยภาพมากแค่ไหน การเผชิญหน้าความเสี่ยงจะทำให้เราได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาไปได้ไกลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเราไม่ต้องจมอยู่แต่กับความเคยชินและความปลอดภัยเดิมๆ หลายคนไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวความผิดพลาด แต่คนที่ไม่เคยทำอะไรต่างหากเสี่ยงล้มเหลวมากที่สุด
อย่าให้ความไม่กล้าและความกลัวทำให้เราพลาดอะไรหลายๆ อย่างไป เช่น หากคุณกลัวความมืดและเคยชินกับการถ่ายภาพในเวลาที่มีแสงสว่าง กลัวว่าความมืดจะทำให้ภาพของคุณเต็มไปด้วยนอยซ์หรือเกรนไม่สม่ำเสมอในภาพ คุณก็จะพลาดการเก็บภาพความทรงจำในช่วงเวลานั้นๆ และสีสันของแสงยามราตรีไปอย่างน่าเสียดาย
ทำไมถึงต้องอยู่ในจุดที่ปลอดภัย?
การกลัวที่จะออกจากจุดที่ปลอดภัยจะทำให้เราหยุดอยู่กับที่ กลายเป็นความเคยชิน ไม่พัฒนา ไม่คิดอะไรใหม่ ในขณะที่สมองของคนเราเต็มไปด้วยรูปแบบของการตีความ และตอบโต้ต่อสถานการณ์มากมายหลากหลายรูปแบบ แต่กลับกลายเป็นว่าคนจำนวนมากเพียงแค่หยิบรูปแบบเดิมๆ มาใช้ซ้ำๆ เท่านั้นเอง ด้วยการกระทำซ้ำๆ ความคิดแบบเดิมๆ เราก็จะเคยชินกับพฤติกรรมเหล่านั้น และในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นกรอบล้อมรอบตัวเรา เพื่อแสดงขอบเขตของพฤติกรรมที่เคยชินและพึงพอใจ ที่เรียกว่าพื้นที่สุขสบาย (comfort zone) และทำให้เราไม่ได้พัฒนาความสร้างสรรค์ไปไหนเลย
ความน่ากลัวของการอยู่ในจุดที่ปลอดภัยเกินไปคือมันทำให้เราไม่ไปไหน ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ให้เกิดขึ้น ลองคิดดูสิว่าภาพถ่ายในวันที่ฝนตกของคนที่กล้าลงไปตากฝนเปียกปอน กล้าที่จะออกจากการหลบฝนโดยไม่กลัวที่จะเปียก ภาพที่ได้จะออกมามหัศจรรย์กว่าคนที่มัวแต่เก็บกล้องกลัวฝน หลบอยู่ในที่ปลอดภัยของตัวเองสักแค่ไหน ดีไม่ดีถ้ามัวแต่กลัวก็อาจจะไม่ได้ภาพอะไรติดไม้ติดมือกลับไปเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถึงเวลาออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยกันได้แล้วนะ
ทำไมถึงจะเป็นไปไม่ได้?
ความกลัวเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วการคิดใหม่ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ คือจุดเริ่มที่จะทำให้เราก้าวเข้าสู่โลกแห่งการคิดต่างและสร้างสรรค์ เมื่อคิดโดยไม่มีข้อแม้ จะทำให้พบกับอะไรน่าสนใจและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สักหน่อย
หากเราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันก็จะเป็นไปไม่ได้ และหากเราคิดว่ามันเป็นไปได้ มันก็จะเป็นไปได้แน่นอน สำคัญที่สุดคือตัวเราเองต้องเชื่อก่อนว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ เราไม่จำเป็นต้องหยุดนิ่งหรือเชื่อในความคิดของคนอื่น เทคโนโลยีสมัยนี้ก็พัฒนาไปถึงไหนต่อไหน อะไรที่เมื่อก่อนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็พิสูจน์ให้เห็นมากมายแล้วว่ามันสามารถเกิดขึ้นจริงได้แล้ว อย่าหยุดตั้งคำถามและพิสูจน์มัน ก็น่าสงสัย ทำไมต้องถ่ายภาพเฉพาะบนบก ทำไมกล้องจะเอาลงไปถ่ายใต้น้ำไม่ได้ ทำไมเราต้องถ่ายแต่อะไรเดิมๆ ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำอะไรที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ
คุณจะกลัวทำไม? ถึงเวลาเล่นสนุกกับการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ฉีกกรอบและกฎเกณฑ์เดิมๆ เริ่มง่ายๆ ด้วยการบันทึกภาพและเรื่องราวของคุณแบบไม่ต้องเหมือนใคร ทำไมต้องบันทึกภาพที่หยุดนิ่ง? ทำไมต้องถ่ายภาพตอนมีแสงสว่างจ้า? ทำไมฝนตกแล้วต้องเก็บกล้อง? ทำไมไม่ลงไปถ่ายในน้ำ? ทำไมต้องถ่ายแต่อะไรเดิมๆ? ลืมข้อจำกัดในการถ่ายรูปทั้งหลาย แล้วมาถ่ายรูปเก็บเรื่องราวของตัวเองในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนกันดีกว่า
กล้าที่จะเสี่ยง ทดลองสิ่งใหม่ๆ และออกจากอะไรเดิมๆ มันส์กว่ากันเยอะ!
VIDEO :
อ้างอิง
ดลชัย บุณยะรัตเวช. คิดยังไงให้ไอเดียกระฉูด. กรุงเทพฯ : เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล, 2555.
ดลชัย บุณยะรัตเวช. ไอเดีย โนไอเดีย A-Z. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจมีเดีย, 2555.
ทันตแพทย์สม สุจีรา. เดอะท็อปซีเคร็ต. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ธรรมะ, 2551.
นเรศร์ มหาคุณ. คิดบวก คิดต่าง ระเบิดพลังสมองอัจฉริยะ. กรุงเทพฯ : ริช, 2554.
https://www.gotoknow.org/posts/576300