หลังจากทำงานมาเหนื่อยทั้งวัน พอกลับมานอนเล่นมือถือ เคยไหมที่โพสต์อะไรบางอย่างด้วยความเกรี้ยวกราด แล้วต้องมานั่งเก็บกวาดอารมณ์ตัวเองในตอนเช้า หรือกดสั่งของพร้อมกดจ่ายเงินรวดเร็วราวกับที่บ้านพิมพ์แบงก์ใช้เอง แล้วก็มานั่งเครียดตอนของมาส่งว่าเราทำอะไรลงไป
แม้ว่าตอนกลางคืนจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองอย่างเงียบสงบ และได้ทำอะไรที่เราอยากทำ บางคนก็บอกว่าตอนกลางคืนเป็นตอนที่หัวโล่ง เหมาะจะคิดงานที่สุด แต่แท้จริงแล้วในทางวิทยาศาสตร์ การถ่างตาทำอะไรสักอย่างจนดึกดื่นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ สมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ชีวิตใต้แสงจันทร์ แม้ว่าเราจะคิดงานได้ลื่นไหลแค่ไหนก็ตาม
ผลที่ตามมาของการนอนดึกหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้า ความง่วง และความต้องการกาแฟที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นการทำงานของสมองที่สะดุด และทำให้เราตัดสินใจอะไรได้แย่ลง นั่นเลยเป็นคำตอบว่าทำไมในตอนดึกเราถึงทวีตอะไรที่ดูเกรี้ยวกราด ซื้อของเหมือนเป็นเศรษฐี หรือสั่งพิซซ่าถาดใหญ่สุดมานั่งกินคนเดียว
ความเหนื่อยล้าในตอนกลางวันกำลังกัดกินใจเรา
เหตุผลแรกเป็นเรื่องของ ‘การเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ’ เพราะวันทั้งวันเราเจอกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างวันนี้จะใส่เสื้อสีอะไรไปทำงาน ระหว่างก๋วยเตี๋ยวกับข้าวจะกินอะไรดี ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับงาน การตัดสินใจเหล่านี้มันเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในวันๆ หนึ่ง จนทับถมกันเป็นก้อนใหญ่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนที่โดยปกติแล้วเป็นคนมีเหตุผลและใจเย็นมาก แต่ทำไมอยู่ๆ ถึงทำอะไรด้วยความเกรี้ยวกราดขึ้นมาเหมือนเป็นคนละคน ซึ่งมันแตกต่างจากความเหนื่อยล้าทางกายที่เราสามารถรับรู้ได้ แต่การเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจนี่เราไม่สามารถรู้ได้เลย
ยิ่งเราตัดสินใจเรื่องต่างๆ เยอะขึ้นระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด (เรื่องเล็กน้อยนี่แหละตัวดี) เมื่อเวลาล่วงเลย สมองของเราจะเริ่มรู้สึกว่าการตัดสินใจมันยากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กมาก และสมองจะเริ่มมองหาทางลัดในการตัดสินใจ ซึ่งมักจะมีอยู่สองทางก็คือ
‘ช่างแม่ง’ ที่เราจะตัดสินใจแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่คิดถึงผลที่จะตามมา อย่างการโพสต์อะไรเกรี้ยวกราดลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งระหว่างพิมพ์ เราอาจจะต้องเอ๊ะขึ้นมานิดนึงว่า จะมีใครได้รับผลกระทบจากโพสต์นี้ไหม เราจะผิดใจกับใครที่มาอ่านโพสต์นี้หรือเปล่า แต่แล้วไง ช่างแม่งสิ หน้าไหนก็มาเถอะ แล้วสุดท้ายพอเราตื่นมาในตอนเช้าวันใหม่ เราจะเริ่มคิดว่า ลบดีกว่าไหม แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะพบว่า ไม่ทันแล้ว
ส่วนอีกทางหนึ่งคือ ‘ช่างมัน’ คือไม่ตัดสินใจเลย ปล่อยมันทิ้งไปเลย อย่างการหยิบของใส่ตะกร้าเอาไว้ในแอปฯ ช็อปปิ้ง แต่ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะใช้โค้ดส่วนลดที่มีอยู่โค้ดเดียวกับร้านไหน ก็ไม่ซื้อมันเลยละกัน แล้วสุดท้ายเราก็พบว่าโค้ดส่วนลดโค้ดนั้นหมดไปแล้ว ไม่ได้ใช้กับร้านไหนทั้งนั้นแหละ นี่เป็นแค่ตัวอย่างของการช่างมันที่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรามาก แต่เรื่องบางเรื่องก็อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้ แต่สมองของเราล้าเกินจะคิดถึงปัญหาในอนาคตแล้ว
เกิดอะไรขึ้นในสมองเราหลังเที่ยงคืน
อีกเหตุผลหนึ่งคือ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่มองว่านาฬิกาชีวิตของมนุษย์นั้นมีผลกับการตัดสินใจ นาฬิกาชีวิตคือแพตเทิร์นการตื่นและหลับของเราตลอดวัน สมองของเรารับสัญญาณจากสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิเพื่อสั่งการหลั่งของฮอร์โมน ปรับอุณหภูมิของร่างกาย เร่งหรือลดการทำงานของระบบเผาผลาญ เพื่อทำให้เรารู้สึกตื่นหรือหลับตามเวลา
ตามนาฬิกาชีวิตโดยปกติ เราจะเริ่มรู้สึกง่วงนอนก่อนเวลาเที่ยงคืน เพราะเมลาโทนินที่หลั่งออกมา และเวลาที่เราเหนื่อยล้าที่สุดจะเป็นช่วงตีสองถึงตีสี่ ซึ่งถ้าเราไม่ยอมนอนสักทีและปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนถึงตอนที่เราเหนื่อยล้าที่สุดนั้นไม่ดีแน่
นักวิจัยกลุ่มนี้ตั้งสมมติฐานที่เรียกว่า ‘Mind After Midnight’ และอธิบายรายละเอียดไว้ในเปเปอร์ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Network Physiology ว่า เมื่อเราตื่นอยู่ในช่วงที่ควรจะหลับตามนาฬิกาชีวิต (ส่วนใหญ่คือหลังเที่ยงคืน) จะมีการเปลี่ยนแปลงในสมองที่ทำให้การกระทำของเราเปลี่ยนไป โดยเฉพาะโดยเฉพาะการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแรงกระตุ้นในสมอง การประมวลผลรางวัลของสมอง และการประมวลผลข้อมูลของสมอง
บวกกับร่างกายของเราจะหลั่งโดปามีนมากขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมองก็ยิ่งแล้วใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของสมองนี้ทำให้เรามองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น มีตัดสินใจแบบรวดเร็วตามแรงกระตุ้น มีแนวโน้มที่จะทำสิ่งอันตรายมากขึ้น และทำอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการทะเลาะเบาะแว้ง กินอาหารตามใจปาก ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการใช้สารเสพติด การพนัน การใช้ความรุนแรง การทำร้ายตัวเอง และแม้แต่การฆ่าตัวตายก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่สมองของเราเปลี่ยนแปลงไป
แล้วถ้าต้องตัดสินใจตอนนั้นล่ะ
ถ้ามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจในตอนดึก การหลีกเลี่ยงไม่ให้สมอง ‘ช่างแม่ง’ และ ‘ช่างมัน’ คือการจดเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน แล้วพยายามนอนหลับให้สบาย ตื่นเช้ามาเราลองตัดสินใจเรื่องนั้นดูอีกที หรือถ้ามันต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ลองหาเพื่อนที่ไว้ใจได้มาช่วยออกความคิดเห็นอีกคนหนึ่ง ถ้าเราเผลอตัดสินใจอะไรที่มันบ้งขึ้นมา เพื่อนจะได้คอยห้ามกันได้
Roy F. Baumeister นักจิตวิทยาสังคม ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า “คนที่ตัดสินใจทุกเรื่องได้ดีที่สุด คือคนที่รู้ว่าเวลาไหนที่เขาไม่ควรเชื่อตัวเอง” ในระหว่างวัน การตัดสินใจทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่นั้นปั้นรวมกันเป็นก้อน และมันไม่มีสัญญาณบอกด้วยว่าแรงใจของเราเหลือน้อยแล้ว เรากำลังเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจมาตลอดทั้งวันแล้ว
เขายังบอกอีกว่าคนที่มีปัญญามากที่สุดยังตัดสินใจพลาดในเวลาที่พวกเขาเหนื่อยล้าเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่หลังจากสี่โมงเย็น หรือถ้าจะต้องตัดสินใจในตอนนั้น ลองกินข้าวให้อิ่มก่อน อย่างน้อยมันก็จะช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
เราเข้าใจว่าทุกการตัดสินใจ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดไหน) เป็นเรื่องยากเสมอ แค่เรารู้ว่าเวลาไหนที่เราเชื่อตัวเองไม่ได้ ก็ช่วยในการตัดสินใจได้มากแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong