พูดถึงมังกรแล้วนึกถึงอะไร?
เมื่อปีมะโรงมาถึง การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของมังกรก็กลับเข้ามาอยู่ในบทสนทนาของเรากันอีกครั้ง ท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายในโลกของเรา บ่อยครั้งก็เกิดความคาบเกี่ยวขึ้นในความแตกต่างเหล่านั้น หากลองให้ใครนึกถึงมังกรแล้วให้เขาอธิบายมันออกมา คำตอบของคนคนนั้นก็มักแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัฒนธรรม ห้วงเวลาที่เขาเกิดและเติบโต รวมไปถึงสถานที่เกิดของเขา ฯลฯ
เราต่างคนต่างเข้าใจความหมายของมังกรมากพอว่า มันคือ ‘งูใหญ่’ ในปกรณัม ตำนาน หรือเรื่องเล่าพื้นบ้าน แต่รายละเอียดต่างๆ ของงูใหญ่เหล่านั้นแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง วันนี้ The MATTER จึงชวนไปดู 5 ประเภทของมังกรในต่างวัฒนธรรมกัน
มังกรยุโรป (European Dragon & Drake)
ในตอนเด็ก หากพ่อหรือแม่เล่านิทานเกี่ยวกับอัศวินขี่ม้าขาว ผู้ต่อสู้กับมังกรเพื่อช่วยโลกให้เราฟัง บริบททางวัฒนธรรมของฉากหลังปราสาท เจ้าหญิง และอัศวิน มักทำให้เรานึกถึงมังกรในวัฒนธรรมยุโรป ซึ่งถูกนำเสนอจำนวนมากผ่านงานวรรณกรรม ภาพยนตร์ ซีรีส์ ฯลฯ มังกรเป็นสัตว์เลื้อยคลาน มี 4 ขา มีปีกทำให้บินได้ และพ่นไฟได้ มังกรรูปแบบนี้จึงมักเป็นตัวแทนของมังกรแบบตะวันตกในความคิดของเรา แต่มันมีที่มาที่ไปมาจากไหน?
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับมังกรประเภทนี้ ย้อนกลับไปยังเอกสารยุโรปตะวันตกราวๆ ปี 1236 มีการสันนิษฐานว่า เอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Beastiary ที่ถูกเขียนโดยวิเลียม เพอรัลดัส (William Peraldus) หนังสือรวมสัตว์ที่รวบรวมตั้งแต่สัตว์ที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสัตว์ร้ายในเรื่องเล่าและตำนานต่างๆ มีเอกสารหน้าที่ปรากฏเกี่ยวกับมังกรชื่อว่า Harley MS 3244, F. 59r. ซึ่งถูกเก็บรักษาเอาไว้โดยหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (British Library)
อเล็กซี โบวี (Alixe Bovey) นักวิชาการและนักวิจัยเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมยุคกลาง จากสถาบัน Courtald Institute of Art ตีความไว้ว่า มังกรในวัฒนธรรมยุโรปเป็นตัวแทนของปีศาจ โดยใน Medieval Monsters บทความเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดยุคกลางของเธอ มีการเขียนประกอบภาพมังกรของเพอรัลดัสว่า “มังกรมักเป็นตัวแทนของปีศาจ และมักปรากฏตัวขึ้นในหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) ฉากสุดท้ายหรือฉากสิ้นโลกในไบเบิล มังกรคือศัตรูร่วมของนักบุญ ซึ่งเรื่องราวของนักบุญและมังกรที่โด่งดังที่สุดคือ นักบุญจอร์จ นักรบผู้ฆ่ามังกร” ความน่าสนต่อมุมมองเกี่ยวกับมังกรดังกล่าว จึงอาจจะตรงกันข้ามกับมังกรในวัฒนธรรมอื่นที่เราจะพูดต่อจากนี้
ไวเวิร์น (Wyvern)
มองไปยังไวเวิร์น เผินๆ เราอาจจะคิดว่า “มันก็เหมือนกับมังกรยุโรปนี่” แต่จุดยืนของมังกรทั้งหมดในลิสต์นี้กลับแตกต่างกันอย่างมาก ไวเวิร์นเป็นมังกรอีกรูปแบบหนึ่งที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากัน ความคล้ายคลึงของมันกับมังกรยุโรป ทำให้นักเขียนจำนวนมากเรียกไวเวิร์นว่ามังกรเลยด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น มังกรทั้งหมดในซีรีส์ Game of Thrones และ House of Dragon ในทางเทคนิคแล้วนั่นก็คือไวเวิร์น เนื่องจากพวกมันมีเพียง 2 ขา และรยางค์อีกคู่ที่เป็นปีก
ทว่าหน้าตาของไวเวิร์นกลับแตกต่างไปจากมังกรยุโรปเพียงเล็กน้อย และไวเวิร์นรูปแบบแรกก็ถูกค้นพบอยู่ใน Beastiary ฉบับเดียวกันกับมังกรยุโรป แต่ดูเหมือนว่าไวเวิร์นจะพัฒนาจากสัตว์ปีศาจ ไปเป็นอย่างอื่นโดยสิ้นเชิงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากราวๆ ศตวรรษที่ 16 ประเทศในสหราชอาณาจักรปัจจุบันเช่น สกอตแลนด์ เวลส์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ เริ่มมีการตั้งชื่อเรียกใหม่ โดยให้มังกร 2 ขานี้แยกออกมาจากมังกร 4 ขาที่มีก่อนหน้า พร้อมทั้งให้มุมมองแง่บวกต่อสัตว์ประหลาดตัวนี้ด้วย
ในขณะที่มังกรเป็นตัวแทนของปีศาจ ไวเวิร์นกลับกลายเป็นส่วนสำคัญของมุทราศาสตร์ (Heraldry) ศาสตร์การออกแบบตราประจำตระกูลหรือแคว้นในสหราชอาณาจักร เนื่องจากบ่อยครั้งพวกมันนำเสนอความแข็งแกร่ง พละกำลัง และการปกป้อง ซึ่งดูเหมือนว่าการเฝ้ามองความหลากหลายในงูใหญ่เพียงภูมิภาคเดียวของทวีปเดียว ก็อาจทำให้เราเห็นถึงธรรมชาติของความลื่นไหลทางวัฒนธรรมได้
เวิร์ม (Wyrm)
มองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป เราจะพบเข้ากับอีกหนึ่งรูปแบบของมังกรที่เราเรียกว่า เวิร์ม มังกรตัวยาวที่บินไม่ได้ มักอาศัยอยู่ในน้ำ อาจมีหรือไม่มีแขน-ขา และอาจมีหรือไม่มีปีกก็ได้ โดยมังกรรูปแบบนี้จะปรากฏตัวอยู่ในเรื่องเล่าพื้นเมือง หรือปกรณัมของผู้คนในวัฒนธรรมเจอร์แมนิก (Germanic)
ประวัติของมังกรประเภทนี้ก็ลึกลับเป็นพิเศษ เนื่องจากมันอยู่ในปกรณัมที่มีเอกสารน้อยมากๆ และกระจัดกระจายมากๆ ที่ชื่อว่า Edda บทร้อยแก้วและร้อยกรองปกรณัมนอร์ส เช่น Jörmungandr อสรพิษกินหางที่พันตัวรอบโลก ตัวแทนของวัฏจักรความสิ้นสุด และการถือกำเนิดใหม่ไม่รู้จบของโลก หรือ Fafnir มังกรโลภมากผู้เป็นต้นแบบของตำนานมังกรหวงสมบัติมากมาย เช่น Smaug ในหนังสือชุด The Hobbit
มังกรจีน (Chinese Lung)
ลองข้ามทวีปกันมาใกล้ตัวมากขึ้น มังกรทางฝั่งเอเชียนั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงกับฝั่งตะวันตก ในบทความภาพลักษณะของมังกร โดยเศรษฐพงษ์ จงสงวน รองประธานแผนกวัฒนธรรมและการศึกษา รองประธานแผนกควบคุมดูแลอนุสรณ์สถานสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านความเชื่อพุทธศาสนามหายาน เขาแจกแจงลักษณะของมังกรจีนเอาไว้ว่า มีเขาคล้ายกวาง ตาคล้ายกระต่าย หัวคล้ายอูฐ คอคล้ายงู เกล็ดคล้ายปลามังกร ท้องคล้ายกบ ฝ่าเท้าคล้ายเสือ กรงเล็บคล้ายเหยี่ยว ซึ่งมังกรของจีนนั้นจะไม่มีปีก แต่เหาะเหินเดินอากาศได้ และไม่ได้แตกต่างจากมังกรตะวันตกเพียงหน้าตาเท่านั้น ทว่ารวมถึงความหมายที่ผูกมัดมันเอาไว้ด้วย
งานวิจัยที่เราจะใช้อ้างอิงถึงมังกร 2 รูปแบบสุดท้ายนี้คือ การเปรียบเทียบพญานาคกับมังกรในมุมมองของศาสนาและความเชื่อ โดยนพพล จันทร์กระจ่างแจ้ง และศิริวรรณ เรืองศรี จากสาขาวิชาภาษาจีน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้วิจัยอธิบายไว้ว่า มังกรอยู่ในความเชื่อของชาวจีนมาประมาณ 8,000 ปี ทั้งยังเป็นสัตว์ที่อยู่ในเครื่องแต่งกาย และสถานที่สำคัญของราชวงศ์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากมังกรเป็นสัตว์ประเสริฐที่แสดงออกถึงความเป็นสิริมงคล ความช่วยเหลือเรื่องน้ำ และการปกป้องภัยอันตราย
พญานาค (Great Naga)
พญานาคมีลักษณะเป็นงูตัวยาว มีเกล็ดเหมือนปลาและสีแตกต่างกันตามแต่ละตระกูล มีหงอนสีทอง ไม่มีขา และจำนวนหัวขึ้นอยู่กับบารมี ในขณะที่มังกรจีนมาจากความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน แต่พญานาคนั้นมาจากความเชื่อในพุทธศาสนาเถรวาท เช่นเดียวกันกับศาสนาพุทธทั้ง 2 นิกาย มังกรจีนและพญานาคจึงถือเป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน
ความแตกต่างของพญานาคและมังกรจีนหลักๆ แล้วอยู่ที่อิทธิฤทธิ์ มังกรจีนสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่พญานาคอาศัยอยู่ในน้ำและสามารถพ่นไฟกับพิษได้ อย่างไรก็ดี แก่นของความเชื่อต่องูใหญ่ทั้ง 2 รูปแบบนี้ก็มีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นในงานวิจัยการเปรียบเทียบพญานาคกับมังกรในมุมมองของศาสนาและความเชื่อ ทั้งมังกรจีนและพญานาค จึงเป็นสัตว์ที่นำเสนอการหลุดพ้นจากการเป็นสัตว์ผ่านการฟังพระธรรมคำสอน ต่างเพียงในรูปแบบและเรื่องเล่า ซึ่งพญานาคจะมาพร้อมกับการไต่ลำดับบารมีในแต่ละภพชาติ
เรื่องราวของงูใหญ่เหล่านี้ทำให้เราเห็นได้ถึงธรรมชาติของวัฒนธรรม มนุษย์แม้จะห่างไกลกัน แต่เราก็มีความคิดคล้ายกันผ่านการทำงานของสมองหรือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เมื่อเวลาผ่านเลยไป บางครั้งสิ่งที่เคยเป็นและเราเคยเชื่อก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ความเชื่ออาจลอกคราบ กำเนิดขึ้นซึ่งความหมายใหม่ในร่างที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก
นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างเล็กๆ ในฟันเฟืองความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้นของมนุษย์
อ้างอิงจาก