จะเป็นอย่างไรเมื่อภาพฝันสวยงามของถนนเลียบแม่น้ำในเมืองที่เราอยู่อาศัย ซึ่งเราหวังว่าจะได้ไปจูงมือกับคนรักในวันหยุด กลับสะท้อนถึงโครงสร้างที่ล่มสลายของทั้งประเทศ…
ตั้งแต่ปี 2015 มีโครงการที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ ผุดขึ้นมาในแผนงานของ กทม. แรกเริ่มมันคือโครงการสร้างถนนบน 2 ฝั่งแม่น้ำยาวกว่า 50 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม3 – สะพานพระนั่งเกล้า ด้วยวงเงินลงทุนมหาศาลกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 500-600 ล้านบาท!
แน่นอน อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับหลายคน แต่ภายใต้ความตื่นเต้นนั้นกลับมีความไม่ชอบมาพากลแฝงอยู่ เพราะเมื่อโครงการนี้ถูกรวบรัดและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดวิสัย ทั้งไร้การศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจตามมา เสียงคัดค้านจึงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ดังจนเกิดเป็น สมัชชาแม่น้ำ (River Assembly) ที่รวมตัวจากภาคประชาชนเพื่อสร้างแคมเปญต่อต้านทางเลียบน้ำเฟสแรกระยะทาง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้า-พระราม7 ด้วยเงินภาษีประชาชน 14,000 ล้านบาท
แต่แล้วในเดือนมีนาคม ปี 2017 กทม.ก็ได้ประกาศออกมาว่าจะเริ่มเปิดประมูลเฟสแรกในเดือนเมษายนนี้ ด้วยสัญญา 8.4 พันล้านบาท แม้วงเงินการก่อสร้างจะลดลง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เสียงคัดค้านจะเงียบอยู่แค่นั้น
โดยเฉพาะกับสถาปนิกชื่อดังอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ร่วมคัดค้านโครงการนี้มาตลอด ด้วยมุมมองที่ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของถนน 14 กิโลเมตร แต่มันคือภาพสะท้อนระบบอันล่มสลายของประเทศ ประเทศที่ห้ามพูดสิ่งที่คิดอยู่ในใจอย่างตรงไปตรงมา
The MATTER : สิ่งที่น่าอึดอัดใจที่สุดสำหรับประเด็นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาคืออะไร
ดวงฤทธิ์ : ก็คือพูดแล้วเขาไม่ฟัง จริงๆ แล้วในกลไกของการเมืองที่ไม่มีการเมือง ที่เรียกว่ารัฐบาลเผด็จการตอนนี้ ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะพูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง คือสิ่งที่เขาจะทำเนี่ยคือทางในแม่น้ำนะครับ ไม่ใช่ทางเลียบแม่น้ำ ซึ่งคนอาจจะมองว่า ก็ดีแล้วนี่มีทางเดินอยู่ริมแม่น้ำ ผมก็บอกมันดี แต่อันนั้นคือทางเดินที่อยู่ริมตลิ่ง แต่ที่เขาจะทำไม่ใช่ เขาทำถนนลงไปในแม่น้ำเลย นี่คือสิ่งที่ไม่มีใครเขาทำกัน มันไม่ใช่การพัฒนาริมแม่น้ำที่พูดแล้วดูสวย แต่มันเป็นการมักง่าย คุณทำลงในแม่น้ำเลย แม่น้ำหายไปสิบเมตร ยี่สิบเมตร แบบนี้มันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เป็นความชุ่ยในแง่การก่อสร้าง การคิด กระบวนการทุกอย่างผิดหมดเลย คนที่มีความรู้ นักวิชาการทุกคนเขาก็บอกว่ามันไม่ดี ชาวบ้านไม่ได้อยากได้ แต่ก็จะดื้อทำกันให้ได้
The MATTER : การสร้างสิ่งปลูกสร้างแบบนี้ในแง่สถาปัตยกรรมมันจะส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง
ดวงฤทธิ์ : จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโดยตรงนะครับ พูดง่ายๆ คือ คุณมีแม่น้ำ แต่คุณสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในแม่น้ำ ผมถามว่ามันโหดร้ายไหมล่ะ คือทุกวันนี้เราห้ามคนสร้างอะไรลงไปในแม่น้ำ กรมเจ้าท่าก็บอกผิดกฎหมาย ชาวบ้านทำอะไรต้องไล่รื้อ แต่ตัวเองกลับสร้างเอง ผมก็ถามว่าแล้วอะไรคือหลักการที่ถูกต้องกันวะ (หัวเราะ) คุณบอกว่าสร้างอะไรลงไปในแม่น้ำไม่ดี แต่นี่คุณจะทำ 14 กิโลเมตรลงไปในแม่น้ำทั้งก้อน แปลว่าสิ่งที่ถูกหรือผิดไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำแล้ว มันเกี่ยวกับคน ถ้ากทม. ทำก็ถูก แต่ถ้าชาวบ้านทำก็ผิด ไม่มีหลักการอะไรเลย
The MATTER : สุดท้ายถ้าสร้างไป มันจะกลายเป็นเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยไหม
ดวงฤทธิ์ : ไม่เคยมีใครทำในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ ดังนั้นไม่มีใครตอบได้จริงๆ ว่าผลกระทบคืออะไร ทุกอย่างคาดเดาหมด แต่ผมถามว่าแล้วเราจะทำโดยที่เราไม่รู้เหรอ ผมถามคนที่เขาจะทำดีกว่า ว่าสิ่งที่คุณจะสร้าง 14 กิโลเมตรเนี่ยมันมีผลกระทบอะไรบ้าง คุณศึกษามาครบถ้วนหรือยังว่าอุทกพลศาสตร์ของแม่น้ำมันจะเปลี่ยนยังไง กระแสน้ำจะเปลี่ยนแค่ไหน สิ่งมีชีวิตจะเป็นยังไง มึงจะตอกเสาเข็มอยู่แล้วเนี่ย มึงศึกษากันหรือยัง ประเด็นคือไม่ แล้วผมถามว่าวิธีนี้มันถูกต้องไหม มึงไม่ถามใครเลย แล้วเอาภาษีประชาชนไปทำ ไม่มีการทำการบ้าน หาวงเงินกู้เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงินภาษีประชาชน มึงไม่แคร์อะไรเลย เพราะฉะนั้นไอ้ทางเลียบแม่น้ำ เราคุยกันในเรื่องดีไซน์หรือเรื่องของเมืองไม่ได้หรอก
“เขาอยากทำโปรเจ็กต์แบบนี้เพราะมีโอกาสคอรัปชั่น 14,000 ล้านบาท คุณลองมาถอดเป็นตารางเมตรดูสิ มันแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่านะ แล้วไอ้ส่วนต่างมันไปอยู่ที่ไหนล่ะ”
The MATTER : ถ้ามองแบบโลกสวย ทางเลียบแม่น้ำมีผลดีบ้างไหม
ดวงฤทธิ์ : ผลมันจะดีต่อเมื่อมีคนมาใช้ แต่การที่จะมาใช้ไอ้ถนนนี้ได้มันต้องมีการเข้าถึง แต่ผมก็ถามอีกว่า แล้วมันจะเข้าถึงยังไงเหรอ ในเมื่อโครงสร้างของที่ดินที่อยู่ริมแม่น้ำของบ้านเรามันจะเป็นที่ดินของเอกชนเกือบทั้งหมด อาจมีของราชการบ้าง แต่มันไม่ใช่ที่สาธารณะโดยกำเนิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะมีจุดที่เข้าถึงทางเดินตรงนี้ได้น้อยจุดมาก เมื่อมันมีน้อยจุดคำถามคือจะรองรับคนที่มีเยอะมากได้ยังไง เพราะคุณทำ 14 กิโลเมตร คนต้องมาเป็นหมื่นๆ นะถึงจะคุ้ม แล้วคนจะมาตรงนี้มายังไง นั่งรถเมล์มา ขับรถ หรือเดินเหรอ มาแล้วต้องไปเข้าตรงใต้สะพานพระปิ่นเกล้าเหรอ สะพานพระรามเจ็ดเหรอ แล้วมันจะจอดรถที่ไหน จะกลับยังไง เรื่องของการเข้าถึงไม่มีใครคิด จะสร้างๆ กันอย่างเดียว แค่ช้อปปิ้งมอลล์คนมาห้าหกพันคนรถยังติดเลย แล้วคุณบอกตรงนี้อยากให้คนมาใช้เยอะๆ แล้วรถมันจะไม่ติดเหรอ ไม่รู้เอาสมองส่วนไหนคิด บริบทโดยรอบไม่ดูเลย ผมบอกเอาแบบมาดูสิ ก็ไม่ให้ดูแบบอีก ประเทศนี้มันเป็นยังไงกันเหรอ
The MATTER : ทำไมเขาถึงดึงดันที่จะทำ
ดวงฤทธิ์ : เงินมันเยอะ ผมเพิ่งคุยกับสภาเก่าของกทม. กินข้าวกัน ผมก็ถามเขาว่า ทำไมเขาถึงต้องทำให้ได้ล่ะครับ เขาก็ตอบเลยเงินมันเยอะ ที่เหลือเราก็คิดต่อเอาเองละกัน ถ้าคุณคิดว่าคุณอยู่ในโลกที่สวยหรู ประเทศนี้ไม่มีคอรัปชั่นเลยแม้แต่บาทเดียวคุณก็บ้าแล้วล่ะ เขาอยากทำโปรเจ็กต์แบบนี้เพราะมีโอกาสคอรัปชั่น 14,000 ล้านบาท คุณลองมาถอดเป็นตารางเมตรดูสิ มันแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่านะ แล้วไอ้ส่วนต่างมันไปอยู่ที่ไหนล่ะ จริงๆ ผมคิดว่าโปรเจ็กต์นี่อย่างมากก็ไม่ถึง 10,000 ล้านน่ะ เขาก็จะมาบอกว่าเขาไม่ได้ทำ 14,000 ล้าน เอ้า แต่มึงของบประมาณไปแล้วนี่ ครม.อนุมัติไปแล้ว
The MATTER : พอมีทางที่จะหยุดได้ไหม
ดวงฤทธิ์ : เขาไม่หยุดครับ เขามีอำนาจเต็ม เราทำได้แค่ต่อต้านไป นี่คือระบอบการปกครองตอนนี้ สมาชิกสภามีใครเข้าข้างประชาชนบ้าง ไปดูเขาโหวตกฎหมายสิ กลไกของประเทศตอนนี้เขาไม่ฟังเสียงประชาชนเลย นี่คือความหายนะของการปกครองที่เราอยู่
The MATTER : และถนน 14 กิโลเมตรก็คือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดอย่างหนึ่ง?
ดวงฤทธิ์ : คุณอนุญาตให้เขาปกครองประเทศนี้อยู่ไง นี่คือผลลัพธ์ที่คุณต้องยอมรับ ผมไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่เขาไม่ฟังคุณ เขาไม่ฟังคุณเลย 14 กิโลเมตรคือตัวอย่างที่ดีมาก จากจุดที่มีรัฐประหารมาถึงตรงนี้ประเทศชาติก้าวหน้าอะไรบ้าง คุณมีเงินเยอะขึ้นไหม จนลงใช่หรือเปล่า เศรษฐกิจก็ห่วยแตก ตั้งแต่พวกคุณรัฐประหารเข้ามา ประเทศนี้มีอะไรปฏิรูปบ้าง สิ่งที่คุณได้คืออะไร เรือดำน้ำ? ถนน 14 กิโลเมตร? คุณได้อะไรที่คุณอยากได้หรือเปล่า ก็เปล่า แล้วเมื่อไหร่ล่ะ พวกคุณแม่งบ้าว่ะ (หัวเราะ)
The MATTER : พอจะมองเห็นความหวังไหมว่า คนจะตื่นและตระหนักกับผลลัพธ์จากการที่พวกเขาอนุญาต
ดวงฤทธิ์ : มันไม่มีกลไกอะไรเลยนะ อย่างทาง 14 กิโลเมตรก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่เก็ต เขาจะเก็ตต่อเมื่อเริ่มสร้างว่า เชี่ย นี่เป็นความหายนะ แต่มันสายเกินไปแล้วไง เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าใจ นักวิชาการออกมาแซ่ซ้องเป็นเอกฉันท์ว่ามันห่วยแตกก็มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคนมองไม่เห็น แต่มีประโยชน์ต่อเมื่อมันเริ่มสร้าง คนจะบอกว่า โอโห้ โคตรน่าเกลียดเลย แม่น้ำของฉันเสียหาย แล้วถ้าเราเกิดสร้าง แล้วต้องหยุดกลางทางเหมือนโครงการโฮปเวลล์ อะไรจะเกิดกับแม่น้ำ ต้องเสียเวลามารื้อมันออกอีกใช่ไหม คือมันไม่มีกลไกอะไรเลยในแง่รัฐศาสตร์ที่จะทำให้เราหยุดโครงการนี้ได้
The MATTER : ในเชิงการเมือง ถ้าตอนนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเราพอจะหยุดเขาได้ไหม
ดวงฤทธิ์ : ได้ ก็มาดีเบตกัน ในแง่กลไกประชาชนก็เรียกร้องผ่าน ส.ส. ซึ่งก็ต้องมีสักสองสามคนล่ะวะที่ขึ้นไปดีเฟนด์ให้เรา แต่ตอนนี้เราไม่มีส.ส. และเราอยู่ในกระบวนการที่เขากำลังทำให้ส.ส. สูญพันธ์ ตอนนี้เราไม่มีพรรคการเมือง แล้วคุณก็ไม่ใช่แค่ทำให้พรรคเพื่อไทยหมดไปจากประเทศ แต่คุณทำให้ทุกพรรคการเมืองหมดจากประเทศ คือถ้าเป็นระบบเก่าคุณก็จะมีนักการเมืองที่เอาใจผม เพราะอยากได้คะแนนเสียงจากผม ถ้าผมด่ามัน มันก็ไม่แฮปปี้ ต่อรองได้ไหม ศึกษาเพิ่มเติมได้ไหม เข้าสู่กระบวนการในสภาไป โหวตกันไป คือถ้า ส.ส. ทั้งประเทศเห็นว่าโครงการ 14 กิโลเมตรนี้ดี มึงก็โหวตผ่าน แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการของสภาครับ เงิน 14,000 ล้าน เข้าสู่ครม. แล้วครม. อนุมัติก็จบเลย กระบวนการบิดเบี้ยวไปหมด ไม่ใช่แค่เรื่อง 14,000 ล้าน แต่มันมีเรื่องอื่นๆ เต็มไปหมดเลย แต่คุณอนุญาตเขาไง
“นี่คือผลลัพธ์ที่คุณต้องยอมรับว่า เพราะคุณอนุญาตให้ทหารปกครองประเทศ ผมไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่เขาไม่ฟังคุณ เขาไม่ฟังคุณเลย”
The MATTER : คนบางส่วนก็ไม่ได้อนุญาตนะครับ
ดวงฤทธิ์ : (หัวเราะ) ผมก็ไม่อนุญาตเหมือนกัน แต่ที่เหลือที่อนุญาตทำอะไรกันอยู่วะ เฮ้ย พวกมึงกำลังจะไม่มีจะแดกนะเว้ย แล้วคุณรู้ไหมว่าเศรษฐกิจไม่มีทางจะดีขึ้นได้หรอกครับ ต่อให้มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 20 คนก็ทำให้เศรษฐกิจดีไม่ได้ เพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจที่คือ ‘เสรีภาพ’ มันถูกทำลายแล้ว อูเบอร์ยังทำไม่ได้เลย คอรัปชั่นเข้าไปทุกหัวระแหง ประเทศนี้นี่คืออะไร มีโมเดลที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่พอมึงไม่ได้ประโยชน์ กูก็ทำไม่ได้ ทุกวันนี้ถ้าคุณอยากทำคอนโด คุณก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้หน่วยงานราชการอนุญาต ทุกวันนี้ค่าจ่ายเงินแม่งสูงมากนะ เพราะไม่มีใครหยุดมันได้แล้ว พอเราออกไปพูด มันก็บอก อ่อ ดวงฤทธิ์มึงพูดเหรอ งั้นตึกมึงกูไม่ให้สร้าง กลไกมันเป็นแบบนี้ มันเลยไม่มีใครกล้าออกมา เอาจริงๆ ประเทศนี้นักการเมืองโกงน่ะส่วนหนึ่ง แต่ข้าราชการประจำนี่ตัวแสบเลยนะ ดังนั้น คุณบอกว่านักการเมืองโกง แต่ตอนนี้ไม่มีนักการเมืองมา 3 ปีแล้ว แม่งก็ยังคอรัปชั่นอยู่
The MATTER : เรามักพูดกันว่านักการเมือง ข้าราชการโกง แล้วตัวประชาชนเองโกงด้วยไหม อย่างการรุกล้ำเข้าไปในพื้นสาธารณะ หรือตั้งแผงลอยยึดทางเท้าไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
ดวงฤทธิ์ : มันจะมีพื้นที่ที่เรียกว่า political space และ physical space ซึ่งเวลาแผงลอยตั้งบนทางเท้าเนี่ยมันจะเกี่ยวข้องกับ political space ถามว่าทำไม คำตอบคือ มันอยู่ได้เพราะมีคนซื้อ ดังนั้นพรมแดนของพื้นที่ในเมืองเนี่ยมันจะถูกอธิบายและต่อรอง (negotiation) ในฐานะ political space ซึ่งในบางพื้นที่คนก็แฮปปี้นะเว้ย แต่บางพื้นที่ก็ไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าบริบทตรงพื้นที่นั้นๆ เกิดการต่อรองแบบไหนขึ้นมา ถ้าเกิดมีแผงลอยตั้งกันเยอะขวางทาง แล้วคนไม่แฮปปี้ political space ตรงนั้นก็จะเกิดต่อรองระหว่างคน แล้วมันจะอยู่ไม่ได้เอง
แต่บางพื้นที่มันแฮปปี้ทั้งคู่ คนซื้อก็อยากซื้อ คนขายก็อยากขาย ทีนี้เราไม่เคยออกแบบโดยมีการคำนึงถึงการต่อรองตรงนี้ เราก็นิยามกันไปว่าโอเค physical space ในตำรา หรือกฎหมายเขียนไว้ว่า นี่คือพื้นที่สาธารณะ มึงล้ำไม่ได้ เราไม่อนุญาตให้มันเกิดการเคลื่อนไหวของ political space สุดท้ายถ้าเป็นแบบนั้นเมืองก็จะตาย มันก็จะกลายเป็นเมืองแห้งๆ คืออย่างในสิงคโปร์เนี่ย เขาเริ่มยอมรับ political space มากขึ้น เขาพยายามทำให้เกิดการต่อรองของพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้เมืองมันเกิดสีสัน อย่างย่านถนนออร์ชาร์ด เนี่ยเขาก็อนุญาตให้คนไปตั้งแผงขายนะ แต่เขาทำเป็นเรื่องเป็นราว แน่นอนว่ามากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี
The MATTER : จะใช้แค่กฎหมายไม่ได้?
ดวงฤทธิ์ : ถ้าเราใช้แค่กฎหมายมาบริหาร อธิบายพื้นที่ในประเด็นของทรัพย์สินอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึง political space มันก็จะทำให้เมืองเป็นอีกแบบ มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเรื่องแผงลอย ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ขึ้นอยู่ที่คุณจะมองมุมมองไหนมากกว่า
The MATTER : แล้วถ้าเป็นการต่อเติมบ้านออกไปนอกพื้นที่ มีการเอากระถางต้นไม้มาวางบนถนนหน้าบ้าน แบบนี้เป็นพื้นที่แบบไหน
ดวงฤทธิ์ : สำหรับผมต้องดูว่า มีคนที่เสียผลประโยชน์จากการนั้นหรือเปล่า มันมองได้หลายแบบมาก เช่น มีคนเอากระถางต้นไม้วางลงไปเพื่อกันเป็นที่จอดรถหน้าบ้านตัวเองตอนกลางคืน มันมีคนเสียประโยชน์ไหม ถ้ามีคนเขาจะเดินผ่านและเดินไม่ได้ อันนั้นเสียประโยชน์แน่นอน หรือถ้ามีคนเอากระถางไปวางนอกพื้นที่ก็จริง แต่มันเป็นร่มเงาให้คนเดินผ่านไปผ่านมา แบบนั้นมันก็เวิร์กใช่ไหม มันอยู่ที่บริบทของการกระทำด้วย ไม่สามารถตัดสินได้แบบเดียว มันจะโง่มากถ้าเราตีความตามกฎหมายอย่างเดียว คือทางเราไม่อนุญาตให้เกิดการต่อรองของ political space เนี่ยเมืองก็จะแห้งมาก เพราะฉะนั้นคนที่บริหารเมืองต้องฉลาด ต้องคิดกลับไปกลับมาดีๆ ต้องมีลีลานิดหนึ่ง ใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์ต้องคำนึงให้รอบด้าน
The MATTER : ตอนนี้ ถ้าไม่ใช่ทางเลียบแม่น้ำ สิ่งที่ประเทศของเราต้องการที่สุดคืออะไร
ดวงฤทธิ์ : ผู้นำที่ดี ผมไม่ได้พูดถึงผู้นำประเทศอย่างเดียวนะเว้ย ผมพูดถึงผู้นำชุมชน ผู้นำของทุกภาคส่วน เราต้องการคนที่เป็นผู้นำและมีภาวะผู้นำ เราไม่สามารถจะทำให้ประเทศนี้เดินไปได้ด้วยการมีผู้นำเพียงคนเดียว ผมไม่ได้บอกว่าที่มีอยู่ดีหรือเลวนะ แต่เรามีไม่พอ คือในสังคมไทยน่ะ มันเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ผู้นำก่อกำเนิดขึ้น สังคมไทยไม่อยากให้มีผู้นำเกิดขึ้น เพราะกูอยากกดมึงเอาไว้ ให้แน่ใจว่ามึงจะไม่โผล่หัวขึ้นมา ให้แน่ใจว่าคุณเป็นตะปูบนไม้กระดานที่เราจะตอกหัวคุณลงไปจนมิด เพื่อให้คุณไม่โผล่ขึ้นมาตำตีนผม
ถ้าคุณสังเกต ตั้งแต่เด็กจนโต อย่างในโรงเรียน อาจารย์ชอบเด็กนักเรียนที่ลุกขึ้นมาท้าทายครูไหม ไม่ใช่ไหม และส่วนใหญ่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งที่ทำงาน เขาไม่ชอบให้คุณเป็นผู้นำหรอก เพราะมันปกครองยาก ชอบให้คุณอยู่นิ่งๆ เรียบร้อยๆ ควบคุมง่าย ดังนั้นคุณไม่เคยรู้หรอกว่า ศักยภาพของพวกคุณมันถูกกำจัดไว้มหาศาลมาก ไม่ให้คุณคิด ไม่ให้คุณริเริ่มอะไร คุณเคยได้ยินคำว่า ‘เกรงใจ’ ใช่ไหม คุณรู้ไหมว่าสมัยก่อนไม่มีคำว่าเกรงใจ แต่มันถูกสร้างขึ้นในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” นั่นคือคำที่สร้างขึ้นให้กลายเป็นรากทางวัฒนธรรมเพื่อกดคุณไว้ คุณจะต้องเกรงใจผู้ใหญ่ เพราะเป็นเรื่องที่ดี และคุณก็จะไม่เถียงผมนะเพราะคุณคิดว่าผมแก่กว่า
ดังนั้นคุณไม่รู้หรอกว่า 20% ของวัฒนธรรมที่คุณอาศัยอยู่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมพวกคุณให้อยู่ในจารีต แล้วคุณก็ตกอยู่ในกับดักนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผู้นำขึ้น นั่นคือสังคมที่ถูกปกครองโดยผู้มีอำนาจ กลไกของเรามันกดคุณมาตั้งแต่ต้น คุณรู้ไหมว่า คนเกลียดผมขนาดไหน คนเกลียดผมเยอะมากนะ เพราะผมพูดหรือด่าออกไปอย่างตรงไปตรงมา คนก็จะบอกว่าดวงฤทธิ์ดีมาจากไหนวะ มึงเก่งมาจากไหน มึงมาว่าคนนู้นคนนี้ ไม่ ผมไม่ได้เก่งมาจากไหนเลย แต่ผมคิดแล้วพูดเว้ย คุณจะดูถูกว่าผมโง่ สติปัญญาผมตื้นเขินก็ได้ แต่อย่างน้อยผมพูดสิ่งที่ผมคิด นั่นคือสิ่งสำคัญ คือถ้าใครบอกว่าสิ่งที่ผมพูดโง่ ผมก็จะยอมรับตรงนั้นนะ ผมใจกว้างพอ แต่จะห้ามผมพูด ผมว่าไม่ใช่
“สังคมไทยไม่อยากให้มีผู้นำเกิดขึ้น เพราะกูอยากกดมึงเอาไว้ ให้แน่ใจว่ามึงจะไม่โผล่หัวขึ้นมา ให้แน่ใจว่าคุณเป็นตะปูบนไม้กระดานที่เราจะตอกหัวคุณลงไปจนมิด เพื่อให้คุณไม่โผล่ขึ้นมาตำตีนผม”
The MATTER : ดังนั้นโครงสร้างทั้งหมดที่บิดเบี้ยวของสังคมเราคือรากของการ ‘ไร้เสรีภาพในการพูด’?
ดวงฤทธิ์ : ตั้งแต่เกิดมาถึงตอนนี้คุณมีอิสระที่จะพูดไหมล่ะ ลองถามเพื่อนในร้อยคนมีกี่คนที่มีอิสระที่จะพูด จริงๆ แล้วเราควรเป็นสังคมที่ถามร้อยคนก็ควรจะเป็นสังคมที่มีอิสระที่จะพูด
The MATTER : แม้กระทั่งระดับเล็กๆ ระหว่าง เพื่อนกับเพื่อน เราก็มักถูกข้อกำจัดของคำว่า ‘มิตรภาพ’ ยั้งปากเอาไว้
ดวงฤทธิ์ : ใช่ เพื่อนที่เรียนด้วยกัน โตมาด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจก็ไม่มีใครที่จะมีอิสระในการพูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันถูกห้ามปรามกันในระดับของสังคมทีเดียวแหละ มันหล่อหลอมขึ้นมาจากระบบของสังคม หรือการศึกษาเพื่อไม่ให้เรามีผู้นำ
The MATTER : ฟังดูหดหู่พอสมควร
ดวงฤทธิ์ : คุณควรจะหดหู่เว้ย เพราะสังคมของเราตอนนี้มันน่าหดหู่มาก คุณอาจจะแกล้งเริงร่ามีความสุขได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่คุณต้องเข้าใจว่ารากฐานของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นถนน 14 กิโลเมตรก็ดี หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือมันไร้เหตุผลที่เหมาะสมของตัวโปรเจ็กต์เหล่านั้น แต่มันเป็นผลกระทบจากการบิดเบี้ยวของรากฐานทางสังคมที่โคตรใหญ่ แล้วเราก็มัวเมามาก จนลืมไปว่า ไอ้เชี่ย นี่แม่งกำลังเกิดอะไรอยู่ น่ากลัวมากนะเว้ย จริงๆ น่ากลัวมาหลายปีแล้ว แต่เราก็ยังอนุญาตให้เขาทำ เพราะถ้าผมพูดไม่ดีเกี่ยวกับเขา ผมก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเสื้อแดงและทักษิณทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เข้าใจว่าสังคมนี้เป็นเหี้ยอะไรกันไปหมดแล้ว ถ้าเกิดคุณพูดอะไรที่เขาไม่อยากให้คุณพูด คุณจะกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามทันที มันจำเป็นเหรอว่ะ กูไม่คิดเหมือนมึงได้ไหม กูก็มีความคิดที่ 3 ที่ 4 5 6 ได้ไหม
ประเด็นคือหดหู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่คุณต้องกล้าที่จะพูด คุณอยากทำให้สังคมดี หรือแย่ลงล่ะ เราจะไร้เดียงสาไปอีกนานแค่ไหน เราจะมองแต่โลกในแง่ดีไปอีกนานแค่ไหน เชี่ย นี่พวกมึงจะลงนรกกันอยู่แล้วนะเว้ย
The MATTER : ถ้าเรามีผู้นำที่เหมาะสม เราจะรู้ได้อย่างไรว่า โครงการต่างๆ ที่เราคิดว่าดีและสร้างสรรค์ เช่น เทศกาลศิลปะ (ซึ่งมักถูกทรีตว่าเป็นรสนิยมของคนอีกชนชั้น) ที่เราพยายามใส่ลงไปในพื้นที่นั้นๆ เป็นสิ่งที่คนต้องการจริงๆ
ดวงฤทธิ์ : เขาไม่ต้องการหรอก แต่เขาก็ไม่ได้ขัดแย้ง คือต้องเข้าใจว่าตรงนี้มันเป็นเรื่องของผู้นำ ถ้าคุณเอาประชาธิปไตยไปใช้ผิดประเภทมันจะไม่เวิร์ก นี่ไม่ใช่การที่เราไปถามทุกคนว่า เห็นด้วยไหม ให้ทุกคนมาโหวตว่าเห็นด้วยแล้วถึงทำ มันเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่ต้องการคนคนหนึ่งมานำ และคนที่มานำก็ต้องไม่มานำเพราะเป็นประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องนำเพราะเป็นผลประโยชน์ของชุมชน ซึ่งเมื่อเรายืนยันให้มันเกิดขึ้น และชุมชนบอกว่า เออ ดี เราได้ประโยชน์ เขาก็จะสนับสนุนให้เราทำ
บางครั้งเราไปถามเขาก่อนไม่ได้ เพราะเขาจะไม่เห็นภาพ แต่ผู้นำต้องแสดงให้เห็นก่อน เราต้องทำให้คนอื่นเห็นหนทางน่ะ ต้องนำไปก่อน ทำให้เห็นภาพว่า อ่อ มันจะเป็นแบบนี้นะ แล้วเขาก็จะโอเค แต่ต้องสื่อสารกับชุมชนตลอดนะครับ อย่างตอน The Jam Factory ตอนมาสร้างแรกๆ คนในตลาดก็เดินมาดูนะ เขาจะคิดว่า เฮ้ย มันจะทำตลาดแข่งกับฉันหรือเปล่า แต่พอเขารู้ว่าไม่ใช่ เขาก็โอเค
“ถ้าเกิดคุณพูดอะไรที่เขาไม่อยากให้คุณพูด คุณจะกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามทันที มันจำเป็นเหรอวะ กูไม่คิดเหมือนมึงได้ไหม…หดหู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่คุณต้องกล้าที่จะพูด”
The MATTER : โฟกัสแค่ในกรุงเทพ ตอนนี้ มันจะมีกระแสหนึ่งคือการ ‘หนีกรุง’ ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองจนเกิดกระแสอยากหนีไปอยู่ต่างจังหวัด คืออะไร
ดวงฤทธิ์ : ยอมแพ้ครับ คุณลองคิดถึงสังคมที่เขาไม่ได้สร้างให้คุณเป็นผู้นำ สังคมที่กดคุณเอาไว้ และไม่ว่าจะทำอะไรคุณจะถูกตัดสินด้วยความ ‘ถูก’ ‘ผิด’ ตลอดเวลา แล้วคุณลองคิดถึงสิ่งเหล่านี้ที่มันถาโถมกดทับคุณมากขึ้น เวลาคุณทำอะไรบางอย่าง มันจะผิดตลอดเวลา หรือมีความถูกต้องหนึ่งเดียวที่ชัดเจนกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าคุณลาออก ไม่เรียนมหาวิทยาลัย คุณก็ผิดแล้ว คุณจบมหาวิทยาลัย คุณไม่มีงานทำ คุณก็ผิดอีกแล้ว สังคมเมืองตอนนี้มี ‘การตัดสินถูกผิด’ สูงมาก และมันไม่อนุญาตให้คุณเป็นผู้นำชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ แล้วเวลาที่คนถูกบอกว่าผิดบ่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการยอมแพ้ และเมื่อเรายอมแพ้ สิ่งที่เป็นอัตโนมัติคือความรู้สึกอยากหนีไปจากเมือง
ถ้าคุณอยู่ที่ไหนแล้วคุณรู้สึกว่าคุณกำลังชนะคุณก็จะไม่ไปไหนหรอก เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นเทรนด์ มันเป็นการยอมแพ้แบบหมู่