นอนเซ็งๆ อยากมีความสุขจังเลย เหล่ากูรูทั้งหลายก็บอกว่าต้องทำนู่นทำนี่สิ ออกไปวิ่งมาราธอน ไปเล่นโยคะ เดินทางท่องเที่ยว ปีนเขา ดำน้ำ ดูปะการัง… หูย การจะมีความสุข ฝึกสมอง เติมเต็มหัวใจทำไมมันยากจัง
คิดเสร็จก็ลุกขึ้นไปล้างจานในอ่างที่กองๆ ไว้
ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากทำหรอก ล้างจาน พอล้างๆ ไป ใจก็อยู่ที่การค่อยๆ ขัดจาน วนๆ ฟองไปจนทั่ว ทำเสร็จก็ล้าง เรียงจาน พอเห็นจานสะอาดก็รู้สึกว่า เอ้ย! ไอ้กิจกรรมในชีวิตประจำวันแบบนี้ พอทำดีๆ ก็รู้สึกว่าดีกับความรู้สึกเหมือนกันนะ บางทีกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำได้ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ก็มีประโยชน์ต่อจิตใจ ต่อสมอง ต่อความรู้สึกได้ สะดวกยิ่งกว่าชงมาม่า
ความง่ายๆ หาได้รอบตัว ทำได้ทันทีและทำได้ทุกวัน ทำแล้วสุขสบายใจไม่พอ ยังส่งผลดีกับสมอง กับความรู้สึก แถมยังได้ฝึกฝนทักษะอื่นๆ อีก งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์บอกว่าการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ อย่างการทำขนมปังหรือถักผ้าพันคอนำไปสู่ความรู้สึกที่ดีได้ ผู้วิจัยบอกว่าการที่ทำกิจกรรมต่างๆ นี้เป็นประจำนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีมีความสุขในวันต่อๆ ไป ซึ่งถ้ายังคงทำไปเรื่อยๆ ก็เลยจะยิ่งสุขต่อๆ เนื่องขึ้นไปในแต่ละวัน
ล้างจาน
ใครๆ ก็ต้องล้างจาน ล้างจานน่าเบื่อจะตาย ดองไว้เป็นกองๆ ค่อยล้างทีเดียว แต่ถ้าลงมือล้างแล้วเอาใจไปจดจ่อกับการล้าง การค่อยๆ ทำให้จานแต่ละใบสะอาดอย่างถี่ถ้วน บางทีเราอาจจะไม่ได้ล้างแค่จาน แต่เรากำลังล้างใจอยู่ด้วย ฟังดูเวอร์ไปหน่อย แต่ในทางวิทยาศาสตร์เองมีงานวิจัยยืนยันนะว่า ถ้าเราล้างจานอย่างมีสติ จะช่วยลดความเครียด และทำให้ความรู้สึกของเราดีขึ้นด้วย
Adam Hanley นักศึกษาปริญญาเอกที่ Florida State University ศึกษาการทำกิจกรรมน่าเบื่อๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการล้างจานบอกว่า คนที่ล้างจานโดยที่เอาใจใส่ – ล้างอย่างมีตื่นรู้ – คือล้างไปก็รับรู้กลิ่นของยาล้างจาน รับรู้อุณหภูมิของน้ำ สัมผัสจานแต่ละใบไปจนตลอดการล้างจานนั้น ผลคือคนที่ล้างจานด้วยสตินี้รู้สึกดีมีแรงบันดาลใจขึ้น 25% เครียดลดลง 27% ในขณะที่กลุ่มทดลองอีกกลุ่มล้างไปงั้นๆ ก็จะไม่ได้รับผลบวกอะไรเลย ผู้วิจัยสรุปว่าการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ถ้าทำด้วยความสนใจใส่ใจ คนทำก็จะได้ประโยชน์ทางจิตใจและความรู้สึก (แถมงานเสร็จด้วยนะ)
ปรุงอาหาร
อาหารดูจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่สามารถเยียวยาจิตใจเราได้ การปรุงอาหารถือว่าเป็น ‘กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์’ ที่ต้องอาศัยสมาธิและการเอาใจใส่อย่างสูง คือโอเค เราบอกว่าการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ (creative-productive) แต่ไม่ใช่ทุกคนเนอะที่จะลุกขึ้นวาดภาพ ถักไหมพรมได้ แต่การทำอาหารนี่แหละที่เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราๆ ท่านๆ ต่างก็ต้องเคยทำกันมาบ้าง นักวิจัยบอกว่าการทำอาหารและอบขนมถือเป็นกิจกรรมให้ผลดีกับความรู้สึก ได้สร้างของขึ้นมาด้วย นึกภาพการที่เราค่อยๆ ชั่งตวงวัด ค่อยๆ สัมผัส และใส่ใจไปกับอาหารที่ตัวเองปรุงขึ้นมา แถมพอทำเสร็จแล้ว เรามักจะภูมิใจในตัวเองเนอะ ถ้ามีเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง การทำอาหารนำไปสู่บทสนทนา ถือเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ไปอีก… ส่วนทำอร่อยไม่อร่อย ก็อยู่ที่การฝึกฝน ก็ว่ากันไป
อ่านออกเสียง
การอ่านเป็นกิจกรรมที่ดี แต่จะให้สนุกและได้ฝึกฝนทักษะและสมอง ลองชวนคนใกล้ตัวหรือเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือแบบออกเสียงกัน ระบบการทำงานของสมองนั้นทำงานไม่เหมือนกันระหว่างการอ่านเงียบๆ กับการอ่านออกเสียง ยิ่งถ้าเราชวนเพื่อนมาอ่านด้วยและลองเล่นสนุกกับสิ่งที่อ่านไปด้วย เราก็จะได้รับบทบาทเป็นทั้งคนอ่านและคนฟัง ไปจนถึงได้ลับสมองลองเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ พร้อมได้ความสนุกสนานและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นมาเป็นของแถมอีกด้วย
ระบายสี
ราวๆ ปี 2012 กิจกรรมการระบายสีดูจะไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กน้อยอีกต่อไป เรามีสมุดภาพระบายสีสำหรับคนโตๆ มาให้เหล่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้ลงมือถมสี ฝึกฝนกล้ามเนื้อ ความแม่นยำของนิ้วมือและสายตา ได้ใช้ความคิด ใช้จินตนาการว่าตรงนี้จะสีอะไร ไล่สียังไงให้สวยงามสมจริง การระบายสีเลยเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ส่งผลต่อทางอารมณ์ ลดความวิตกกังวล และได้ฝึกฝนสมาธิในระหว่างและหลังทำงานเสร็จ แถมระบายเสร็จก็ได้ความภูมิใจเล็กๆ ด้วยเนอะ
เขียนด้วยลายมือ
เมื่อหน้าจอและแป้นพิมพ์เข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ ดูเราจะจับปากลงมือขีดเขียนสิ่งต่างๆ น้อยลง การขีดเขียนด้วยมือถือเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสมอง นึกภาพการที่เราต้องกวาดสายตาทำงานไปพร้อมกับกล้ามเนื้ออุ้งมือ ค่อยๆ จับปากกาลากวนไป จากตัวอักษร ประกอบขึ้นเป็นคำ เป็นประโยค เป็นย่อหน้า การเขียนด้วยลายมือจึงเป็นกิจกรรมที่สมองและร่างกายได้ทำงานร่วมกันในหลายระดับด้วยความซับซ้อน นอกจากนี้การเขียนยังมีความเป็นศิลปะและให้เราได้เป็นศิลปินได้ง่ายๆ การที่เราค่อยๆ ลากและออกแบบลายมือของเราเอง จะเอามน กลม หรือใส่สัญลักษณ์บางอย่าง การจัดวางหน้ากระดาษด้วย มีงานศึกษาที่พบว่าการจดโน้ตด้วยมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความทรงจำได้มากกว่าการพิมพ์ แถมความรู้สึกที่ได้ขีดเขียนลงบนหน้ากระดาษก็โรแมนติกดี
แปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
แปรงฟันเป็นอะไรที่เราทำทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที ทำมาจนชิน แปรงๆๆๆ ไป ตอนแปรงฟันเลยถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ฝึกสมอง ด้วยการลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการแปรงฟัน มีงานศึกษาพบว่าการได้ใช้อีกฝั่งของสมองเป็นการเพิ่มและฝึกสมองส่วนควบคุมและการประมวลข้อมูลจากการใช้มืออีกข้าง การที่อยู่ๆ ลองทำสิ่งที่สามัญที่เราทำจนไม่มีความหมายอะไร ด้วยวิธีที่แปลกออกไป ก็เป็นการเรียนรู้และความท้าทายที่สนุกดี
เปิดหน้าต่างขณะนั่งรถ
เราใช้เวลาอยู่บนรถ นานบ้างไม่นานมากกันทุกวัน นั่งเซ็งๆ แต่ถ้าวันไหนอากาศดีๆ รถไม่เยอะมาก การเปิดหน้าต่างขับรถก็ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศง่ายๆ สมองส่วน hippocampus เป็นสมองส่วนที่สามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยสัมผัสต่างๆ ด้วยกลิ่น เสียง และการมองเห็น การที่เปิดหน้าต่างรับรู้สัมผัสสิ่งต่างๆ ที่วิ่งผ่านเราไป ก็สามารถกระตุ้นสมองและการทำงานของสมองจากสิ่งรอบตัวได้ง่ายๆ
สื่อสารกับผู้คน
เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราอยู่กับเครื่องมือ สื่อสารกับผู้คนผ่านตัวกลาง ผ่านหน้าจอมากกว่าที่จะได้เจอกับคนจริงๆ ร้านค้าและบริการต่างๆ ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อกลางแทนผู้คน หลายที่เริ่มขายสินค้าและให้บริการผ่านระบบอัตโนมัติ ผ่านตู้แลกเหรียญ ผ่านเสียงแห้งๆ ทางลำโพง นักวิจัยบอกว่าการที่เราขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมส่งผลเสียต่อทักษะโดยรวมทางการรับรู้และการคิด (cognitive abilities) ดังนั้นการกลับไปสื่อสารกับผู้คนตัวเป็นๆ เช่น ตามท้องถนนหรือร้านค้า ก็ถือเป็นกิจกรรมง่ายๆ ให้เราได้ใช้ทักษะในการสื่อสาร แถมการได้เชื่อมต่อกับผู้คนที่มีเลือดมีเนื้อก็ย่อมส่งผลดีกับความรู้สึก โดยเฉพาะในโลกเหงาๆ ใบนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก