‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆ
เพราะนอกจากมันจะเป็น ‘ผลลัพธ์’ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบรวยกระจุกจนกระจายแล้ว มันยังเป็น ‘ต้นตอ’ ของปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกในสังคม การลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษา รวมถึงไปฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
บทความนี้จะพาไปมองความเหลื่อมล้ำในอีกรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับความเป็นเมืองซึ่งซ่อนมิติด้านสถาปัตยกรรมอยู่ พร้อมเสนอมุมมองว่างานด้านสถาปัตยกรรมมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในปัญหานี้
ถ้าให้นักเศรษฐศาสตร์อธิบายความเหลื่อมล้ำ ร้อยทั้งร้อยก็คงจะพูดถึงตัวชี้วัดอย่างดัชนีจีนี (Gini index) มาประกอบการอธิบาย แต่ถ้าถามคนทั่ว ๆ ไป ความเหลื่อมล้ำอาจเป็นเรื่องง่ายกว่านั้น—เพราะมันปรากฏอยู่ตรงหน้า
เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การจับจ่ายใช้สอยและการผลิต กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่(Spatial Inequality)’ จึงเกิดขึ้น
มันคือการที่ทรัพยากรของประเทศกระจายอย่างไม่เท่าเทียมในแต่ละพื้นที่ ถ้ามองในระดับโลก ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่สะท้อนจากมีประเทศร่ำรวย (เช่น การกระจุกตัวของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม) และประเทศยากจน (เช่น การกระจุกตัวของแรงงานไร้ฝีมือ) ถ้ามองแคบลงมา ภาพของคอนโดมิเนียมราคาแพงที่เรียงรายในพื้นที่เดียวกับชุมชนแออัดสะท้อนเรื่องของความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในภาพที่แสดง Spatial Inequality ที่มีชื่อเสียง คือ ภาพถ่ายของ Tuca Vieira ช่างภาพชาวบราซิลที่ถ่ายภาพสลัมในเมือง Paraisópolis ที่มีอาณาเขตติดกับย่านร่ำรวยที่มีชื่อว่า Morumbi
ภาพถ่ายนี้ไม่เพียงสะท้อนความแตกต่างของลักษณะทางกายภาพของที่อยู่อาศัย แต่ยังสื่อให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ต่างกันของประชากรที่อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร
เมื่อเป็นเรื่องของ ‘พื้นที่’ และ ‘ผู้คน’ มันจึงเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมโดยตรง แต่ดูเหมือนว่าบทบาทของสถาปนิกต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอาจถูกจำกัดด้วยลักษณะของงาน
ทุกวันนี้ เราถูกเสิร์ฟให้เห็นแต่อะไรที่สวย เราพยายามไปแก้ไขโซนสลัม จากที่ไม่สวยให้กลายเป็นสวย หลายๆ โปรเจ็กต์ที่พยายามเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีคิดของคนนอก เช่น สลัมแนวตั้ง สลัมคอนโด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายถูกวิจารณ์ว่าเป็นแค่การ romanticize ปัญหาความยากลำบากของชุมชนคนจน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มันฝังราก การแก้ไขแบบนี้เหมือนแก้ที่ปลายเหตุ เป็นศัลยกรรมตกแต่งปัญหาแต่โรคยังคงอยู่
ความตื้นเขินเหล่านี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยเรียน หนึ่งในโจทย์ที่พบได้บ่อยในหลักสูตรสถาปัตยกรรม คือโปรเจ็กต์ไปแก้ไขชีวิตคนจนด้วยการออกแบบ หรือโจทย์อย่าง Architecture of Happiness ซึ่งสถาปัตยกรรมจะทำให้คนมีความสุขได้อย่างไรถ้ายังเป็นคนจนและสิ่งเดียวที่คิดในหัวคือจะอยู่รอดในแต่ละวันได้อย่างไร
ดังนั้น สถาปัตยกรรมช่วยได้เพียงบางส่วน เพิ่มความงามให้จิตใจผ่อนคลาย แต่รากของปัญหายังคงอยู่ การสร้างสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมา งานของสถาปนิกสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนไม่ได้ หรือ ไม่มีคุณค่า Alejandro Aravena สถาปนิกชาวชิลี (หนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก) เจ้าของรางวัล Pritzker Prize คือหนึ่งในสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบที่มีผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน พื้นที่สาธารณะ รวมถึงการขนส่งสาธารณะ
เขากล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมของสถาปนิกชาวออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 2017 ว่า “สถาปนิกจำเป็นที่จะต้องเข้าใจผู้คนและสถานที่ เมื่อความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการแบ่งแยกชนชั้นคือปัญหาของโลกใบนี้ สถาปนิกสามารถนำทักษะที่ตัวเองมีมาใช้แก้ไขปัญหาได้ผ่านการผสมผสานระหว่างความฉลาดหลักแหลมและการใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น”
ในมุมมองของ Aravena งานของสถาปนิกและนักออกแบบจึงไม่ได้จบอยู่ที่การออกแบบตึกรามบ้านช่องให้สวยงาม แต่ยังหมายรวมถึงการคำนึงถึงความท้าทายที่สังคมกำลังเผชิญ
อีกหนึ่งสถาปนิกที่หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมคือ Michael Murphy ผู้ก่อตั้ง Mass Design Group ได้พูดใน TED TALK เมื่อปี ค.ศ.2016 ถึงแนวคิด ‘Lo-Fab’ (ย่อมาจาก Locally Fabricated) ในงานออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน (Local engagement)
หลักการสำคัญของ Lo-Fab มีด้วยกัน 4 ข้อ คือ การจ้างงานในท้องถิ่น, การใช้วัตถุดิบในภูมิภาค, การฝึกฝนอบรมคนในชุมชนให้สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับพื้นที่ที่ออกแบบ
แต่ละโปรเจ็กต์จึงมีประเด็นให้ขบคิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอะไรคือสิ่งที่ชุมชนและคนบริเวณนั้นต้องการ อะไรคือทักษะที่คนที่ต้องดูแลงานก่อสร้างในอนาคตจำเป็นต้องรู้ ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในบริเวณใกล้เคียงจะเป็นเช่นไร
อย่างไรก็ตาม เรามองว่า โจทย์ใหญ่ของ Lo-Fab คือ ความยั่งยืนในเรื่องการจ้างงาน การได้ทำงานที่มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามทักษะและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจคือหัวใจของการลดความยากจน แต่เมื่อเสร็จสิ้นโปรเจ็กต์การก่อสร้าง คนในชุมชนจะกลับไปว่างงานและกลับไปเป็นคนยากจนเช่นเดิมหรือไม่—ไม่มีใครตอบได้
อีกหนึ่ง ‘พื้นที่ร่วม’ ของงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์คือเรื่อง ‘Inclusive Design(การออกแบบที่นับรวม)’ ซึ่ง รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่าเป็นการออกแบบสำหรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย รองรับคนได้ในวงกว้าง (ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในชื่อ ‘Public Goods’ หรือสินค้าสาธารณะ) แต่แนวคิดดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการออกแบบที่มีพื้นฐานบนผู้ใช้งานที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน – คนรวยและคนจน
สถาปัตยกรรมที่นับรวมควรผนวกเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นคนมีรายได้สูง เรื่องน่าเศร้าก็คือว่า ความเหลื่อมล้ำที่สูงของสังคมไทยทำให้เรามองไม่เห็นพื้นที่ที่คนจนและคนรวยใช้ร่วมกันได้ รายได้ที่แตกต่างมีบทบาทในการกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มนึงให้ได้รับประโยชน์จากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
จาก Public Goods ก็เลยเป็น Exclusive Goods และจาก Inclusive Design สุดท้ายก็เหลือแต่ Exclusive Design
และแม้สถาปัตยกรรมคือจุดบรรจบของพื้นที่และผู้คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับความพึงพอใจเท่ากันแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร? แน่นอนว่าความแตกต่างของมาตรฐานการครองชีพ (living standards) ของคนเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ผู้แพ้ในสนามแข่งขันแบบทุนนิยมจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
แม้ว่างานด้านสถาปนิกจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาความรู้สึกลบต่อความเหลื่อมล้ำ แต่นั่นอาจไม่มากพอที่จะเข้าไปถึงแก่นของความปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ โรงเรียนสถาปัตย์สามารถตั้งโจทย์เพื่อคนจนได้อย่างไม่จำกัดแต่ก็ต้องไม่ลืมว่าอะไรคือต้นตอของปัญหา ในขณะเดียวกัน แม้นักเศรษฐศาสตร์จะรู้จักกับเครื่องมือที่ใช้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่นั่นไม่อาจสร้าง ‘ความรู้สึก’ แห่งความเท่าเทียมได้ หากความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ยังคงปรากฎให้เห็นเด่นชัด
การใช้นโยบายเพื่อแก้ไขต้นตอของความเหลื่อมล้ำ (เช่น การปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, การขยายความช่วยเหลือไปยังคนยากไร้) ควรเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการใช้ความรู้ทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมมาทำให้เมืองน่าอยู่และมอบความรู้สึกแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
กว่าสองทศวรรษ จากภาพถ่ายก้องโลกของ Tuca Vieira ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ใน Sao Paolo ยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากงานของ John Miller ช่างภาพข่าวชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ชื่อว่า ’Unequal Scenes’ ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มแสดงสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในหลายมุมของโลก
สิ่งที่ต่างออกไป คือสภาพทางกายภาพของฝั่งชุมชนแออัดที่ ‘ดูเหมือน’ จะดีขึ้นด้วยถนนตัดใหม่ ต้นไม้ที่โตขึ้น และอาคารบ้านเรือนที่ดูมั่นคงแข็งแรงขึ้น
แม้ความเหลื่อมล้ำจะยังคงปรากฏอยู่ แต่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตของคนคงแตกต่างกันน้อยลงไปบ้าง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสถาปนิกและนักออกแบบมีส่วนช่วยไม่มากก็น้อย ในการที่จะลดความเหลื่อมล้ำและผลกระทบของมัน
การผสมทั้งศาสตร์และศิลป์ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในสังคมไทย…ที่เหลื่อมล้ำสุดขีดไม่แพ้บราซิล