ลองมองย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1937 ที่เมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นทั่วทั้งเมืองกำลังเผชิญโรคระบาดในหมู่เด็กๆ คือ โรคโปลิโอ (Polio) ทำให้โรงเรียนในเมืองชิคาโก้ออกกฎระเบียบต้องปิดเรียนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโปลิโอระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก และการเปิดภาคเรียนจึงต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างที่ไม่มีการเรียนการสอน นักการศึกษาหลายคนจึงร่วมกันสอนหนังสือผ่านวิทยุ (radio broadcast) ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมากๆ ในยุค 1930 ท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด เด็กๆ ต้องเรียนที่บ้านผ่านการฟังวิทยุหมุนคลื่นหา 3–4 สถานีที่รับผิดชอบสอนแต่ละวิชา โรคระบาดได้บังคับให้ลูกหลานต้องเรียนที่บ้าน (homeschooling) แต่อย่างน้อยก็เป็นเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น
เหตุการณ์ระบาดโปลิโอได้เปลี่ยนมุมมองต่อการศึกษามาแล้วครั้งหนึ่งในระยะเวลาสั้นๆ แต่เทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ระบาดไวรัส COVID-19 ในปี ค.ศ.2020 ที่ไม่ได้ระบาดเพียงแค่เมืองใดเมืองเดียว แต่กลับสร้างผลกระทบไปทั่วทั้งโลก การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ เทคโนโลยีอะไรที่เรามี จะถูกขวนขวายหามาใช้หมดเพื่อให้การถ่ายทอดความรู้ราบรื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ (ผู้เขียนยังต้องเรียนรู้โปรแกรม Zoom เพื่อสอนผ่านออนไลน์ กว่าจะใช้คล่องแคล้วก็ปล่อยไก่ไปไม่รู้กี่เล้า และการสอนออนไลน์ ‘เหนื่อยและเครียด’ กว่าที่คิด)
โรคระบาดทำให้การวางตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนสิ้นเชิงไป โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่การต้องกักตัวในบ้าน เรียนทางไกล และต้องใช้ smart device นี่อาจจะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลกใบนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หลัง COVID-19 จะก่อให้เกิดการผลักดันทางเทคโนโลยีการเรียนการสอนชนิดเร่งด่วน มันอาจทำให้ชีวิตดีขึ้นก็ได้ หรือยากกว่าเดิมเมื่อเด็กส่วนหนึ่งตามไม่ทัน แต่ไม่ว่าโลกจะก้าวกระโดดเช่นไร จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังจากการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเสมอ
เรียนที่บ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้เรียน
โรงเรียนที่เคยคึกคักไปด้วยเสียงหัวเราะ ขณะนี้เป็นโครงสร้างปูนที่เงียบงัน มีโรงเรียนกว่า 100 ประเทศที่ปิดทำการชั่วคราวจากเหตุการณ์ระบาด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนของเด็กกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก มีเด็กจำนวนน้อยคนเท่านั้นที่โชคดีหน่อยพอมีโอกาสเรียนที่บ้านจากทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ แต่เด็กส่วนใหญ่นั้น ภาระกลับตกไปที่พ่อแม่ผู้ปกครองเสียมากกว่าที่จะได้เรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
อย่างในสถิติของสหรัฐอเมริกาเองก็น่าเป็นห่วง เพราะมีเด็กเพียง 1.7 ล้านคนเท่านั้นที่ได้เรียนผ่าน e-learning ขณะที่มีเด็กในช่วงวัยเรียนอยู่จริงๆ ในประเทศถึง 56.6 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้และขาดโอกาสเรียนรู้ไปโดยปริยาย
ทุกวันนี้ห้องเรียนทั่วโลกเปลี่ยนจากสภาพทางกายภาพเป็นดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มของเหล่าบริษัทนวัตกรรมอย่าง Microsoft หรือ Google และที่มาแรงอย่าง Zoom แม้กระทั่งในอังกฤษยังมีการสอนวิชาพละศึกษาผ่านยิมเสมือน (virtual gym) ที่ให้เด็กลุกมาออกกำลังกายที่บ้าน และถือว่าได้เรียนในวิชาพละไปด้วย เด็กในจีนกว่า 120 ล้านคนเรียนผ่านโทรทัศน์ที่รัฐบาลเป็นผู้เผยแพร่ ส่วนที่ประเทศเลบานอนครูยังต้องสั่งการบ้านออนไลน์โดยการที่ให้นักเรียนออกกำลังกาย และถ่ายคลิปส่งกลับมาให้เพื่อตรวจนับคะแนน นี่จึงเป็นสัญญาณว่า เด็กต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ และการพัฒนาสื่อเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งหากฝากความหวังให้ฝั่งรัฐเป็นผู้ออกแบบเนื้อหาทั้งหมดก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเนื้อหาที่มาจากกระทรวงศึกษาอาจจะช้าไปในการเรียนรู้สภาพแวดล้อมการสอนใหม่ ครูเองก็ไม่มีสื่อที่ง่ายพอจะให้กับนักเรียน
สิ่งที่ตามมาอันน่าสนใจคือ กลุ่มนักการศึกษาเอกชน คนทำคลิปสื่อความรู้ กลุ่มนักคนทำคอนเทนต์ด้านการศึกษา จะมาเป็นกลุ่มขับเคลื่อนสร้างสื่อความรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าให้รัฐทำเพียงฝ่ายเดียว สังคมต้องมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้กับภาครัฐ ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือการเป็น partnership ที่จะเติบโตมากขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า เพราะโรคระบาดที่นอกเหนือจาก COVID-19 อาจจะมาระบาดอีก หรือแม้แต่ COVID-19 ก็ยังวนเวียนอยู่เรื่อยๆ จนทำให้การเรียนการสอนมีอุปสรรค ซึ่งก่อนหน้านี้การศึกษาภาคบังคับจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ในยุคต่อไปเนื้อหาจะมาจากการร่วมมือกับกับภาคเอกชนและภาคประชาคม นี่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการศึกษา คือการออกแบบเนื้อหาร่วมกัน
การร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน โดยกระทรวงศึกษาธิการของจีนจะเป็นโต้โผที่ไปดึงกลุ่มนักพัฒนาเลือดใหม่ กลุ่มบริษัทเอกชน เข้ามาพัฒนาโครงสร้างการศึกษาที่รับผิดชอบโดย กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐบาลจีน (MIIT) แต่คุณก็เดาได้ว่า เนื้อหาจะถูกควบคุมที่เข้มงวดโดยรัฐบาลจีนอยู่ดี
ส่วนที่ฮ่องกง เกิดการตั้งสมาคมหลักที่รวมเอาองค์กรทางด้านการศึกษากว่า 60 หน่วยงาน รวมไปถึงบริษัทสื่อเอกชน คนทำคอนเทนต์กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มาร่วมกันสร้าง assets ทางการศึกษามากกว่า 900 รายการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนผ่านดิจิทัล มีทั้งวิดีโอคลิป หนังสือและนิทรรศการออนไลน์ ที่ทุกคนใช้งานได้ฟรี สมาคมนี้ก็ยังรวมกลุ่มต่อไปแม้ COVID-19 จะควบคุมได้แล้ว
กลุ่มนักสร้างนวัตกรรมการศึกษาจะกลายเป็น key maker ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาใหม่ที่น่าตื่นเต้นในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ตอนนี้พวกเราจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาผ่านเนื้อหาออนไลน์ อย่างกลุ่มเฟซบุ๊ก หรือคลิปยูทูบ แต่ในอนาคตเราจะมีเนื้อหาที่กว้างออกไปมาก และเหมาะสำหรับเด็กมากขึ้น เข้ากับเนื้อหาที่พวกเขากำลังเรียน มันอาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่ชื่นชอบการเรียนรู้ใหม่ๆ และต้องเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่เทคโนโลยี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงเนื้อหาเหล่านี้ล่ะ การศึกษาของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
ปากเหวที่กว้างขึ้นของการเรียนรู้
หลายโรงเรียนมีความพร้อมก็กระโจนสู่โลกดิจิทัลไม่ยากเย็นนัก เพราะเด็กส่วนหนึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่โรงเรียนเหล่านี้มักเป็นโรงเรียนอันดับต้นๆ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มน้อยของโรงเรียนจากทั้งหมดทั่วประเทศ โลกดิจิทัลอาจเป็นปากเหวที่กว้างยิ่งขึ้นสำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมให้ผลัดตกจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกถึง 60% ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีออนไลน์ แม้ห้องเรียนดิจิทัลกำลังจะมาเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ แต่ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีพวกนี้คืออะไร ค่าอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ และค่าบริการข้อมูลจากผู้ให้บริการที่จะเข้าช่วยเหลืออย่างไร
แม้มีแนวโน้มว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังไม่ช่วยปิดรอยแยกของช่องว่างของเศรษฐฐานะของเด็กแต่ละคน หากเนื้อหาการเรียนการสอนดิจิทัลจะพัฒนาและอัพเดทใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด เช่นมีการใช้ 3D มาเกี่ยวข้อง ทำห้องเรียนเสมือนจริง (virtual classroom) หรืออาจนำระบบ VR เข้ามาทำให้การเรียนเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาและไม่สามารถรันได้ด้วยเครื่องเก่า อุปกรณ์ที่เคยซื้อไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วอาจใช้การไม่ได้ ครอบครัวอาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นตามมาอีกมาก
ภาระครูที่มากขึ้น
แม้ไม่ต้องสอนที่โรงเรียน ก็ไม่ได้ทำให้งานครูง่ายขึ้น ตรงกันข้ามกลับเป็นการเพิ่มภาระใหม่ที่ท้าทายครู (และอาจเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ครูอีก) สอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นภาระที่เหนื่อยเอาการ สถาบันสร้างครูต่างๆ ยังไม่มีแผนการสร้าง ‘ครูพันธุ์ดิจิทัล’ โดยตรง ครูส่วนใหญ่ยังอบรมมาให้มีปฏิสัมพันธ์จริงกับเด็กในสภาพแวดล้อมห้องเรียน การสอนผ่านออนไลน์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีและจิตวิทยาเฉพาะทาง มันคงเหมือนกับเอาประเจมาไขน็อต พอเครื่องมือที่แตกต่างกันก็ยากจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ มีครูเพียง 60% เท่านั้นที่เข้าถึงสื่อเทคโนโลยีใหม่ นอกนั้นต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง
ภาระอีกอย่างของครู คือการเตรียมเนื้อหาหลักสูตรบังคับของกระทรวงศึกษาให้มาอยู่ในสื่อดิจิทัลที่ไม่ใช่การ copy & paste แต่ต้องเข้ากับธรรมชาติกับการเรียนรูปแบบใหม่ ซึ่งสื่อกลางเหล่านี้ไม่สามารถมาจากรัฐโดยตรง เพราะครูจะรู้จักนักเรียนมากที่สุดว่าควรใช้เครื่องมือใดในการเข้าถึง การเตรียมสื่อการสอนอาจเป็นการเพิ่มภาระและเบียดบังรายได้ของครู ให้ควักกระเป๋าตัวเอง กระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิต
นักเรียนกลุ่มเปราะบางจะขาดโอกาสสำคัญในชีวิต
ต่อให้นวัตกรรมการเรียนก้าวหน้าไปมากแค่ไหน ต้องไม่ลืมว่าสังคมเรายังมีกลุ่มคนเปราะบางร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนที่จะต้องเผชิญอุปสรรคทวีคูณ กลุ่มนักเรียนเปราะบางเหล่านี้อาจเป็นเด็กพิเศษ เด็กพิการ กลุ่มเด็กพัฒนาการช้า เด็กที่มีอาการ Autism Spectrum เด็กเหล่านี้ยังจำเป็นต้องเรียนแบบเห็นหน้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และต้องได้รับการช่วยเหลือของครู เครื่องมือการเรียนการสอนอาจไม่สามารถตอบสนองได้เลย และการเรียนออนไลน์อาจมีประสิทธิภาพลดลง
นอกจากนั้นยังมีเด็กที่ด้อยโอกาส มีฐานะยากจน เด็กที่ประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ ที่การเรียนกับมนุษย์โดยตรงจะช่วยลดความบั่นทอนทางจิตใจ ครูที่ดูแลจะสามารถเข้าช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้ดีกว่า
ในขณะนี้ทุกประเทศกำลังไล่ล่าเทคโนโลยีทุกชนิดเพื่อทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้น ครูเองก็ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างสื่อเรียนรู้ นักเรียนก็ต้องดิ้นรนได้ให้อุปกรณ์ในการเข้าถึง มันจึงอาจเป็นการชักกะเย่อไปมาที่ทำให้มือไม้พองกันไปหมด เทคโนโลยีการเรียนในยุคต่อไปจะต้องไม่มากไป เพราะหลัง COVID-19 เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ ไม่ได้ฟื้นขึ้นเร็วอย่างที่หวังไว้ การ ‘ตื่นเทคโนโลยี’ อาจผลาญเงินเพื่อลองผิดลองถูก เราอาจต้องการเทคโนโลยีที่น้อยลง แต่สื่อการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
The impact of poverty on educational outcomes for children
A helping hand: Education responding to the coronavirus pandemic
The future of education is now